Skip to main content
sharethis

สถานีวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย ได้เสนอข่าวในช่วงข่าวภาคค่ำ วันที่ 7 กันยายน 2548 ว่า สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ หรือ UNHCR ได้ออกแถลงการณ์ว่า กำลังสัมภาษณ์คนไทยมุสลิมจากภาคใต้ 131 คน ที่ข้ามพรมแดนผิดกฎหมายเข้าไปในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว


ในแถลงการณ์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ UNHCR 11 คน จากกัวลาลัมเปอร์ ได้ไปสัมภาษณ์กลุ่มคนเหล่านี้ ที่ศูนย์กักกันผู้ลี้ภัย เพื่อระบุถึงสาเหตุที่ทำให้คนเหล่านี้เดินทางหลบหนีออกจากประเทศไทย


เจ้าหน้าที่แบ่งผู้เข้าเมืองออกเป็น 51 กลุ่ม โดยมีทั้งกลุ่มที่เดินทางมาเป็นครอบครัว และกลุ่มที่เดินทางมาคนเดียว ทั้งชายและหญิง โดยในวันที่ 7 กันยายน 2548 ได้สัมภาษณ์ไปแล้ว 8 กลุ่ม คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 วัน ในการสัมภาษณ์คนที่เหลือ ก่อนจะสรุปสถานภาพของคนกลุ่มนี้


เจนนิเฟอร์ พาโกนิส โฆษกของ UNHCR บอกว่า การที่หน่วยงานของสหประชาชาติเข้าไปสัมภาษณ์คนเหล่านี้ ตามขั้นตอนปฏิบัติทั่วไป


"รัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องอนุญาตให้ UNHCR เข้าถึงกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าลี้ภัย เพราะเกรงจะถูกคุกคาม หรือว่าถูกนำตัวไปลงโทษ"


โฆษก UNHCR บอกว่า เป็นธรรมเนียมปฎิบัติที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ ถ้ามีคนขอลี้ภัย  จากนั้น UNHCR จะประเมินสถานภาพของบุคคลเหล่านี้ว่า เข้าข่ายที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองภายใต้อาณัติของ UNHCR หรือไม่


ส่วนความกังวลของทางการไทยที่ว่า การที่หน่วยงานของยูเอ็นเข้าตรวจสอบสถานภาพคนเหล่านี้ แล้วจะกลายเป็นเรื่องการเมืองนั้น เจนนิเฟอร์ พาโกนิสบอกว่า ไม่น่าจะกังวล


ด้านนายนิโคลัส ฮาวเอ่น เลขาธิการของคณะกรรมาธิการยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ ในฐานะอดีตผู้แทนด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ในเมืองไทย อธิบายกับบีบีซีว่า ในการประเมินว่า คนเหล่านี้สมควรได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติหรือไม่นั้น UNHCR จะพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่าง


ผู้เชี่ยวชาญกฏหมายระหว่างประเทศ กล่าวว่า ข้อพิจารณาประการแรก คือ ถ้าคนเหล่านี้ถูกส่งตัวกลับเมืองไทย จะถูกลงโทษ หรือโดนคุกคามทางด้านสิทธิมนุษยชนหรือไม่


นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาความเป็นไปได้ว่า คนเหล่านี้จะตกอยู่ในอันตราย ไม่ว่าจะจากการถูกคุมขังโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือจะตกเป็นเป้าหมายของการคุกคาม ไม่ว่าจะจากทางการ หรือว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหรือไม่


อีกด้านหนึ่ง คงจะต้องพิจารณาสถานการณ์ในพื้นที่ ว่าทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวแค่ไหน ในฐานะที่อยู่ตรงกลางระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มก่อการ


นายฮาวเอ่นบอกต่อว่า ไม่ว่าการตัดสินใจของ UNHCR จะออกมาเป็นยังไง ก็จะมีผลกระทบต่อทั้งมาเลเซียและไทย


"ถ้า UNHCR เสนอว่า คนเหล่านี้ควรได้รับสถานะผู้ลี้ภัย ก็มีความหมายโดยนัยว่าสถานการณ์ในภาคใต้ของไทย ไม่ปลอดภัยพอที่จะส่งคนเหล่านี้กลับไป" เลขาธิการไอซีเจกล่าว


ส่วนมาเลเซีย ซึ่งกักตัวคนเหล่านี้อยู่ ก็จะต้องตัดสินใจว่า จะให้ที่พักพิงกับคนไทย 131 คนนี้หรือไม่ เขาเห็นว่า การที่มีองค์กรระหว่างประเทศเป็นคนกลางในกรณีนี้ น่าจะช่วยผ่อนคลายปมทางการเมืองระหว่างไทยกับมาเลเซีย


นายฮาวเอ่นมองว่า ไม่ว่า UNHCR จะมีบทบาทในกรณีนี้หรือไม่ก็ตาม สถานการณ์ในภาคใต้ของไทยก็เป็นเรื่องระดับภูมิภาค และอยู่ในความสนใจของนานาชาติอยู่แล้ว


 


ที่มา : http://www.bbc.co.uk/thai/news/story/2005/09/050907_1235g_070905.shtml

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net