Skip to main content
sharethis

"เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถาม" การค้นหาคำตอบในทุกครั้งก็จำเป็น เพราะกระบวนยุติธรรมเปรียบเสมือนตราชั่ง หากตาชั่งไม่เที่ยงตรงคนก็หมดสิ้นทางออก และนั่นคือวิกฤติที่นำไปสู่ความรุนแรง


 


ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสียงลือถึงความไม่เที่ยงของตราชั่งแพร่สะพัดไปทั่ว ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริงแต่นั่นคงไม่สำคัญ เพราะอย่างไรเสีย "ความไม่ไว้วางใจ" ได้เกิดขึ้นแล้ว นานแล้ว และนั่นยังคงเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐบาลต้องปวดเศียรเวียนเกล้ามากขึ้นและมากขึ้น


 


ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย นักวิชาการประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอิสระเพื่อความสามานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ให้ไปหาคำตอบในเรื่องดังกล่าว และกลายเป็นหัวหน้าคณะศึกษาปัญหากระบวนการยุติธรรม ปัญหาที่กำลังถูกตั้งคำถามในภาคใต้ขณะนี้


 


ในที่สุดวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา ดร.จุฑารัตน์ ได้นำ "คำตอบ" เบื้องต้นมาเสนอสู่สาธารณะ ไม่เพียงแค่นั้น ทีมคณะศึกษา ยังได้สร้าง "ยุทธศาสตร์กระบวนยุติธรรม" เพื่อแก้ไขปัญหา "ตราชั่งเอียง" ในภาคใต้ มาให้สังคมได้วิพากษ์กันพอหอมปากหอมคอ ก่อนที่จะสรุปเป็นร่างรายงานที่สมบูรณ์เพื่อเสนอต่อ กอส.และรัฐบาลต่อไป


 


"ประชาไท" เห็นว่าการนำเสนอ "คำตอบ"และ"ยุทธศาสตร์" ดังกล่าว อาจมีส่วนในการคืนความเที่ยงตรงให้ "ตราชั่ง" ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ช่วยลดทอนสภาวะ "ความไม่ไว้วางใจ" ให้คืนสู่ "ความไว้วางใจ" ได้ จึงได้หาโอกาสสนทนากับหัวหน้าคณะศึกษาผู้นี้


 


---------------------------------------------


 


อาจารย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องภาคใต้ได้อย่างไร และมีวิธีการทำงานอย่างไร


ตอนแรกก็มองปัญหาภาคใต้แบบคนที่อยู่ภาคกลาง คือไม่รู้ว่าในพื้นที่เกิดอะไรขึ้น ฟังข่าวจากสื่อมวลชน แล้วก็นึกตามไปว่า มันคงน่ากลัว ที่มาเกี่ยวข้องก็เพราะคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ตั้งอนุกรรมการแล้วอนุก็มีคณะทำงาน 3 ชุด พอเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม ก็เลยได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการในชุดนั้นด้วย


 


พอได้รับแต่งตั้งอยู่ในคณะกรรมการชุดนั้น ก็ดำเนินวิธีหาข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเสนอ กอส.แต่ว่าในคณะนี้ คงจะอุ้ยอ้าย เทอะทะ ถ้าทุกคนต้องมาทำงานกันทั้งหมด ก็เลยจัดให้มี 3 คน 5 คนขึ้นมาเป็นนักวิชาการคนกลางช่วยหาข้อมูลแทน แล้วเอาข้อมูลเหล่านั้นมาเสนอกับคณะทำงาน ซึ่งทุกคนก็ให้ข้อมูลต่างๆ มา อย่างเช่น ทนายใน 3 จังหวัดก็ส่งตัวแทนมาคนละจังหวัด แล้วส่วนกลางก็เป็นคนที่ช่วยติดต่อพาไปยังแหล่งข้อมูล


 


ในส่วนตัวเองก็ทำงานและสอนหนังสือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว จึงถูกดึงเข้ามาทำในฐานะนักวิชาการ


 


เราเริ่มจากการตั้งคำถามให้ชัดก่อนว่า ลงไปจะไปทำอะไรบ้าง ในตอนนั้นตั้งคำถามวิจัยไว้ 3 คำถาม คำถามแรกก็คือมีอะไรบ้างที่กระบวนการยุติธรรมไม่ควรทำแต่ไปทำ คำถามต่อมาก็คือ มีอะไรบ้างที่ควรทำ แต่ยังไม่ได้ทำ ให้มันเป็น Possitive ยิ่งขึ้น ส่วนคำถามที่ 3 มันมีกฎหมาย ระเบียบหรือกลไกอะไรที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้มันดำเนินไปได้ไม่ตลอด


 


จะเห็นว่าแนวคำถามเป็นแนวที่ต้องไปแคะเอาปัญหา ต้องไปดึงเอาปัญหา เนื่องจากเราไม่ได้ถามว่า อะไรบ้างที่กระบวนการยุติธรรมควรทำแล้วทำ ซึ่งอย่างนั้นมีเยอะแยะและควรทำอยู่แล้ว ไม่ใช่ปัญหาอะไร


 


ดังนั้น พอไปจับตรงนี้ แล้วต้องไปเจอตัวปัญหา เราก็ถามต่อว่า ปัญหาตรงนั้นมีความรุนแรงแค่ไหน หรือมันจะแก้ได้ในระดับใด เป็นปัญหาทั่วประเทศหรือเฉพาะถิ่น หรือมีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น


 


จะทำให้ผู้ให้ข้อมูลเชื่อใจได้อย่างไร และมีการชั่งน้ำหนักอย่างไร


 


การได้ข้อมูลนั้น ส่วนหนึ่งจะขอไปยังหน่วยงานรัฐบาล แต่ยังไม่ได้รับกลับมาเลยจนปัจจุบัน สองก็หาข้อมูลจากพื้นที่ เป็นวิธีทำวิจัย คือลงไปถาม ไปดูสภาพจริงๆ จากคนที่เป็นผู้กระทำผิด เป็นผู้เสียหาย เป็นญาติ หรือจะเรียกว่าเหยื่ออาชญากรรม กับเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมก็ได้


 


ดังนั้นบางทีก็เป็นเหยื่ออาชญากรรมตัวจริง บางทีก็เป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง หรืออะไรก็แล้วแต่ร่วมกันทำ หรือทำโดยตอบคำถามข้อที่หนึ่ง คือไม่ควรทำแต่ไปทำ


 


กับอีกกลุ่มเป็นกลุ่มญาติของผู้กระทำผิด อย่างเช่นคดีที่ตัวพ่อถูกฆ่าที่กรือเซะ แต่เมียกับลูกที่เหลืออยู่และเป็นหม้าย กลุ่มพวกนี้จะหลุดออกไปจากกรอบกระบวนการยุติธรรมโดยสิ้นเชิง กระบวนยุติธรรมไม่สนใจคนพวกนี้ เพราะถือว่านี่เป็นลูกเมียของผู้ร้ายว่าง่ายๆ


 


ดังนั้นกลุ่มพวกนี้เป็นกลุ่มที่หลุดออกไปจากกรอบคิด แต่เป็นกลุ่มซึ่งได้รับผลกระทบ เช่น เรามองเห็นว่า ลูกที่เป็นเด็กกำพร้า ถ้าเราไม่เยียวยาโดยมองว่าไม่เข้าข่าย ปัญหาที่ตามมาอีก 15-20 ปี เด็กพวกนี้ก็จะเรียนรู้เรื่องราวจากแม่ของเขา ว่าพ่อเขา หรือลุง หรือปู่ ตา ถูกกระทำอย่างไร ซึ่งน่าจะเป็นผลเสียต่อประเทศเราโดยรวมมากกว่า เพราะฉะนั้น กลุ่มที่เป็นกลุ่มไม่เกี่ยวแต่ได้รับผลกระทบจึงเป็นกลุ่มที่เราต้องลงไปดูในพื้นที่


 


อีกกลุ่มหนึ่งก็คือ กลุ่มผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไปต้องโทษโดยไม่ได้ประกัน ก็จะมีอยู่สองสามอย่าง ส่วนที่ได้ประกันก็อย่างเช่น คดีตากใบ ได้ประกันตัว ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ประกันก็อยู่ในเรือนจำ


 


 อย่างของตากใบทางทนายความ 3 จังหวัดก็ช่วยประสานงานให้ กลุ่มตากใบจะพบว่ามีปัญหาบางอย่าง คือ เขาชุมนุมตามสิทธิรัฐธรรมนูญ แต่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ปรากฏว่าเมื่อศาลให้ประกันตัวเพราะเป็นคดีที่ไม่ต้องติดคุก แต่การจะประกันตัวได้ เขาต้องมีเงินหรือหลักทรัพย์ตามที่กำหนด จึงต้องไปกู้เงินเพื่อเอาเงินไปเช่าโฉนดจากนายทุนหรือใครก็ตามเพื่อเอามาประกันตัว


 


กลายเป็นว่า นี่มันมีข้อด้อยข้อต่างเกิดขึ้น แล้วก็เกิดความรู้สึกว่ามันโหดร้ายไง มีอย่างนี้ประมาณ 10 กว่าราย


 


เข้าใจว่าตอนนี้ คุณหมออนันตชัย ไทยประธาน เอาไปเสนอ กอส.แล้ว กอส. อาจมาช่วยรองรับในจุดนี้แทน อย่างไรก็ตามกรณีอย่างนี้มันน่าจะไม่ถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรม กลายเป็นว่าคนที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในภาวะอย่างนั้น ทั้งๆ ที่อยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำ แต่กลายเป็นไม่มีแต้มต่อ และจะต้องทุกข์ทรมานมากกับสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เราจะมอง เพื่อจะหาวิธีแก้ไข


 


เรื่องการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะมีผลกระทบอย่างไร


 


ใน พ.ร.ก. คิดว่าชั้นนี้ยังเป็นชั้นที่เขาเฝ้ามองอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของภาคประชาชน หรือ กอส.หรือทีมงานเครือข่ายก็มาช่วยเฝ้ามองชนิดที่ต้องพิถีพิถันมากขึ้น เพื่อดูว่ามีอะไรที่ไม่ชอบมาพากล ในกลุ่มนั้นบ้าง


                                 


แต่ถ้าพูดในแง่ปัญหาที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมค่อนข้างจะนิ่งลงไป ลักษณะที่มีการซ้อมหรือทำร้ายอะไรอย่างนั้นไม่ปรากฏอีก แต่จะมีลักษณะการถูกกักตัวไว้ตาม พ.ร.ก.


 


พูดง่ายๆ คือ ถูกกระทำโดยกฎหมายแทน ไม่ใช่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่


 


พ.ร.ก.เป็นเรื่องพิเศษ ตอนแรกที่เราทำการวิจัย ยังไม่มี พ.ร.ก. ก็ไม่อยู่ในเรื่องที่เราศึกษา เราสนใจในเรื่องกฎอัยการศึก ระหว่างทางยกเลิกก็เกิดอันใหม่มา ก็เลยออกมาเป็นเชิงป้องกันอย่างที่บอกว่าจะทำเป็นคู่มือเป็นอะไรพวกนี้ แต่ตอนนี้ยังอยู่ในชั้นเฝ้ามอง


 


พอจะยกตัวอย่างปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนได้หรือไม่


อย่างที่บอก เราศึกษาโดยไม่จ้องที่จะบอกว่าใครเป็นคนทำ ใครทำผิด ใครทำถูก แต่จะศึกษาว่าเขาทำอะไรกันอย่างไรจึงได้เกิดผลอย่างนี้ เพื่อการเรียนรู้ว่า อย่าไปทำกันอย่างนั้นอีก ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลอย่างนี้ คือเราสนใจกระบวนการที่เขากระทำ เราไม่ได้สนตัวคน นั่นเป็นประเด็นที่หนึ่ง


                


ประเด็นที่สอง เราจะไม่ไปดูว่า คดีที่พิสูจน์แล้วมีใครผิดใครถูก และปัญหาตัวหนึ่งที่พบเมื่อลงไปคือปัญหาส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี มีคดีที่ศาลยกฟ้องแล้วประมาณ 2-3 คดี เช่น คดีหมอแว


 


เมื่อคดียังไม่เสร็จสิ้น จากประสบการณ์ที่เคยคลุกคลีการเข้าคุกเข้าตะราง ทำสัมภาษณ์พวกนี้บ่อย ทั้งชีวิต ดังนั้น จุดที่พบก็คือ ผู้กระทำผิดจะมีลักษณะคล้ายกัน อาจจะต้องใช้ดุลยพินิจ คือไม่ได้หมายความว่าเขาผิดจริง แต่หมายความว่า คำพูดบางอย่างก็ต้องให้การที่เป็นคุณแก่ตัวเขาเอง จะไม่ให้น้ำหนักในการรับฟังตรงนั้น เพียงแต่อาจจะฟังได้ว่า เขามีความยากลำบากอย่างไร


 


ดังนั้นจุดที่ลงไปในเรือนจำ คือ มุ่งหาว่ามีอะไรที่ถูกกระทำแล้วไปกระทบกับความอ่อนไหวต่อความเชื่อและศาสนา เช่นการใส่โซ่ตรวนแล้วทำให้เขาละหมาดไม่สะดวก เป็นต้น


 


อย่างเช่น ช่วงเช้าก็ต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 ละหมาดหลายคนพร้อมกัน เสียงโซ่ก็ดัง เวลานอนกับคนไทยพุทธอื่นๆ คนไทยพุทธก็วีนขึ้นมา ก็อย่างว่านะคนต้องมาอยู่รวมกัน ถ้าเงียบๆ ก็ไม่เป็นไร แต่เขาเงียบไม่ได้เพราะเหตุว่ามีโซ่ตรวน


 


เราจะเข้าไปดูในลักษณะที่ทำให้เขารู้สึกว่า ไม่ได้ถูกลงโทษซ้ำมากไป รุนแรงมากไปจากเครื่องพันธนาการ แต่อย่างว่าจากประสบการณ์ ในส่วนที่เขาให้ข้อมูลช่วงต้นมันยังใช้อ้างอิงไม่ได้ เพราะไม่มีใครให้การเป็นโทษแก่ตัวเองสักคน สิทธิของจำเลยคือสิทธิที่จะให้การเท็จ แต่สิทธิของพยานไม่มีการให้การเท็จ พยานต้องให้แต่ความจริงเท่านั้น มิฉะนั้นผิดกฎหมาย


 


จะมีแนวทางต่อไปอย่างไรที่จะทำให้ร่างยุติธรรมสมานฉันท์เป็นรูปธรรมมากขึ้น


ตอนนี้ทุกคณะ เท่าที่ท่าน อานันท์ ปันยารชุน บอกไว้ก็คือ สิ้นสิงหาคมจะระดมกันสักรอบหนึ่ง ตอนนี้ก็เสนอเป็นบทสรุป ที่เสนอไปก็ประมาณ 5 หน้า ในนามของคณะทำงาน ไม่ใช่ของคณะศึกษา แล้วต้องผ่านหลายกระบวนการ ทั้งท่าน กิตติพงษ์ กิตตยารักษ์ ท่านพงศ์เทพ  เทพกาญจนา ท่านจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานก็คงกรองหลายชั้น แล้วคงมารวมข้อมูลกันอีกที


 


แต่งานยังไม่จบ เพราะยังมีส่วนที่เป็นเสียงสะท้อนและผลกระทบจะต้องตามเก็บต่อ ทั้งจากคนในกระบวนการยุติธรรมมองกันเอง หรือว่ากลุ่มทหาร กลุ่มพนักงานปกครอง อาจจะเป็นครูโรงเรียน กลุ่มเหยื่อ ต้องเก็บให้ครบ


 


ที่เก็บไปแล้วคือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คือเป็นกลุ่มคนเฝ้ามอง คือ กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้กระทำถูกไหม และมีผู้ถูกกระทำ คณะกรรมการสิทธิฯ กับผู้ตรวจการรัฐสภาถือเป็นกลุ่มเผ้ามอง ที่จริงต้องตรวจสอบกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการสิทธิฯ ก็มีแอคชั่นพอสมควร  แต่ตรวจการรัฐสภายังเงียบอยู่ ถ้ามาช่วยกันตรวจสอบมากยิ่งขึ้นก็จะดี คือไม่ใช่พิจารณาคดี แต่พิจารณาการจัดการให้มันคล่องตัวขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของการเฝ้ามองก็มีอีกชุด คือชุดของประชาสังคม


                                                  


เห็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทั้งในภาพรวมและในภาคใต้อย่างไร


ต้องดูว่าเทียบกับอะไร ถ้าเทียบกับหลังปี 2540 ที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นต้นมา ถือว่าดีขึ้น ในแง่ที่ว่า พอแยกศาลกับกระทรวง ทำให้รัฐเข้าไปจัดการกระทรวงยุติธรรมได้มากขึ้น คือทำให้การบริการพื้นฐานด้านงานยุติธรรมเริ่มเป็นระบบ และชัดเจนขึ้น


 


แต่ว่าดีในระดับที่พอใจหรือแก้ปัญหาในเชิงรุกของประเทศได้รึยัง อันนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ คือต้องใช้เวลาและกลไกอีกหลายอย่างในการจัดระเบียบ ตอนนี้ก็มี  พ.ร.บ.ใหม่ คือ พ.ร.บ.พัฒนาการบริหารกระบวนการยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ.... ที่อยู่ในชั้นวุฒิสภา สำนักงานกิจการกระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ร่าง ซึ่งกำลังนำมาใช้บริหารกระบวนการยุติธรรมในภาพกว้าง


 


แต่ตอนนี้เป็นช่องว่างระหว่างที่ตรงนี้ยังไม่ออก ก็จะมีประสานงานกระบวนยุติธรรมเดิม เลยเป็นอะไรที่ค่อนข้างไม่ทันงาน


 


ในแง่ของภาคใต้ต้องมีแผนเฉพาะกิจ แผนเชิงรุก มีว็อชด็อกอะไรขึ้นมา ตอนนี้ยังไปไม่ถึงจุดนั้น


 


โมเดลกระบวนการยุติธรรมในภาคใต้ที่ว่าต้องมีแผนเฉพาะกิจ คิดว่าน่าจะเป็นอย่างไร


ควรใช้กระบวนการยุติธรรมปกตินั่นแหละ แต่ในลักษณะที่ต้องปัดฝุ่นให้มีความกระชับเร่งรัดมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างกระบวนการยุติธรรมทางเลือกให้ด้วย ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เปลี่ยนโมเดล ไปอีกโมเดลยังไม่คิด อย่างนี้ไม่ได้


 


คือโมเดลของมันต้องไปอิงกับระบบการบริหารราชการแผ่นดินด้วยเหมือนกัน ถ้ารื้อระบบใหญ่เลยก็เป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าไม่รื้อ ก็ต้องทำให้กระชับ และต้องทำให้ได้มาตรฐานหรือเกินมาตรฐาน อย่างน้อยที่สุดคนที่ถูกบังคับก็น่าจะได้เข้ามาอยู่ในเกมมากขึ้น


 


ส่วนที่เป็นทางเลือกคือ บางเรื่องที่ไม่ควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็สามารถใช้วัฒนธรรมเชิงจารีต หลายคนก็เสนอ กฎหมายชารีอะห์ ก็จะมีลักษณะเหมือนกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คือเป็นแนวคิดที่ว่า ถ้าเป็นคดีเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจจะไกลเกลี่ยดูแลกันเอง ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม


 


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันดูน่าจะเป็นโมเดลทางเลือกในเหตุการณ์ปกติ ยังไม่สามารถใช้กับเหตุการณ์ที่ไม่ปกติแบบนี้ได้ ต้องทำตรงนี้ให้นิ่งสักนิดก่อน


 


ถามว่าตรงนี้จะนิ่งได้ยังไง ตรงนี้จะนิ่งได้ก็ต่อเมื่อชุมชนไว้ใจรัฐบาล เพราะชุมชนจะเป็นแหล่งพยาน หลักฐานอะไรทั้งปวง ตอนนี้เงื่อนไขยังไม่หมด เช่น สมมติว่า สเกลสูงสุดคือเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเลย แต่ในขณะเดียวกันในจุดตรงนี้ คนอาจจะต้องการแค่พัฒนาบางอย่างให้ดีขึ้น แค่ไม่ละเมิดสิทธิของเขา ไม่ต้องให้เขายกเลิกบางอย่างจนเป็นการสร้างเงื่อนไข คนพวกนี้ก็อาจจะพอใจก็ได้


 


แต่ในอีกกลุ่มไม่ได้เลย ต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต้องแบ่งแยกดินแดน คือถ้าทำให้คนอีกกลุ่มพอใจได้บ้าง ซึ่งที่ผ่านมาเขารู้สึกกดดัน หรือถูกบังคับ มันก็จะทำให้เหตุการณ์ไม่ต้องรุนแรงขึ้น กลุ่มเปอร์เซ็นแยกดินแดนโดยเด็ดขาดก็จะลดน้อยลง คือไม่มีเสียงสนับสนุน แต่ถ้าเผื่อเงื่อนไขยังอยู่ กลุ่มแยกดินแดนก็จะมีแนวร่วม


                            


คิดว่า หลังจากเสนอร่างยุทธศาสตร์ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์แล้ว รัฐบาลจะรับแนวทางไปปรับใช้แค่ไหน


ไม่ได้คาดหวัง เพราะในแง่ของกระบวนการยุติธรรมปัญหาชายแดนภาคใต้ มีปัญหาหลายองค์ประกอบ กระบวนการยุติธรรมเป็นเงื่อนไขหนึ่งหรือเรื่องหนึ่งเท่านั้นเอง เพียงแต่ว่า ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเพื่อเคลียร์ตรงนี้ให้มันเห็นภาพชัดเจน เป็นเงื่อนไขอย่างไรอะไรบ้าง แต่เงื่อนไขอื่นๆ ยังมีอีกเยอะ ดังนั้นตอบไม่ได้หรอกว่า ถ้ารัฐมาแก้แค่ตรงนี้ตรงเดียวแล้วจะทำให้เงื่อนไขเหล่านั้นหมดไป


 


มีข้เสนออะไรอีกบ้างใหม่ในแผนนี้ที่ควรจะให้ผู้คนได้คิดได้มีความหวัง


พูดถึงแนวคิดใหม่ๆ ในที่ประชุมนำเสนอร่างยุทธศาสตร์ยุติธรรมสมานฉันท์ มีผู้เสนอว่า น่าจะเปลี่ยนให้เป็นเขตปลอดอบายมุข อันนี้น่าคิด คือสมมติให้เลือกระหว่างเป็นศูนย์กลางอาหารอิสลาม กับเขตปลอดอบายมุขนี่ อันหลังเวิร์คกว่า


 


เพราะศูนย์กลางอาหาร สิ่งที่ได้ก็คือนายทุนได้ประโยชน์ คนที่มาทำงานก็อาจจะได้ 50 บาท 100 บาทต่อวัน มันไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่เขาชอบ แต่ถ้าเกิดเป็นเขตปลอดอบายมุขของโลก อันนี้น่าคิด ถ้าจะเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสแล้วทำตรงนั้นไปเลยก็จะต้องสร้างเงื่อนไขใหม่ เช่น นิรโทษกรรมเป็นไปได้ไหม จับมือกันใหม่ สร้างอีกแบบไปเลย ทางโน้นก็ลดลงส่วนหนึ่ง ทางนี้ก็ลดลงส่วนหนึ่ง เหล่านี้เป็นเรื่องน่าคิด


 


 


อ่านข้อมูลเก่า


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=551&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms01&ContentID=238&SystemModuleKey=SepcialReport&SystemLanguage=Thai


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net