Skip to main content
sharethis

ระหว่างวันที่ 9 - 10 กันยายน 2548 ผู้สื่อข่าว "ประชาไทออนไลน์" ได้เดินทางเข้าไปสำรวจบรรยากาศในรัฐกลันตันประเทศมาเลเซีย ตามหมู่บ้านต่างๆ บริเวณชายแดนมาเลเซีย ด้านตรงข้ามกับอำเภอสุไงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส


            จากการพบกับคนไทยจำนวนมาก ที่เข้าไปพักอาศัยอยู่ในหลายหมู่บ้าน บริเวณแนวพรมแดน ฝั่งตรงกันข้ามอำเภอสุไหงโก-ลก เพื่อติดต่อขอพบกับชาวมุสลิมที่ลี้ภัยเข้ามาอาศัยอยู่กับญาติ หรือคนรู้จัก ได้รับคำบอกเล่าจากชาวมุสลิมจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เข้าอยู่อาศัยทำมาหากินในฝั่งมาเลเซียเกือบ 20 ปีว่า มีคนจากฝั่งไทยเข้ามาขอความช่วยเหลือ ขอให้หาที่หลบภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถนำผู้สื่อข่าวไปพบได้ เพราะเกรงจะได้รับความเดือดร้อน ถูกกดดันจากทางการไทยและมาเลเซียในภายหลัง


            ในจำนวนผู้อพยพข้ามฝั่งที่ผ่านมา มีชาวบ้านหลายรายจากอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อเดือนตุลาคม 2547 รวมอยู่ด้วยด้วย ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ยอมกลับไปจังหวัดนราธิวาส เพราะเกรงจะถูกทางการไทยจับกุม


            อีกส่วนหนึ่งเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านที่ถูกปล้นปืน แต่กลับถูกทางการไทยสงสัยว่า ร่วมมือกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ นำปืนของทางการไปใช้ก่อความไม่สงบ


จากการตรวจสอบถึงสาเหตุที่คนมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลบหนีเข้าไปยังรัฐกลันตันพบว่า มี 3 ประการคือ เกรงว่าตกเป็นผู้ต้องสงสัยของทางการไทย แล้วจะถูกยิงทิ้ง หรือไม่ก็ถูกอุ้ม หรือจะถูกจับกุมดำเนินคดี


            "ช่วงนี้มีคนมลายูจาก 3 จังหวัดเข้ามาในกลันตันมาก บางคนเข้ามาหาข่าว มาสอบถามว่ามีคนไทยมุสลิมเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านไหนบ้าง พวกเราไม่มั่นใจว่าคนที่มาเป็นใคร มาจากไหน ทางที่ดีที่สุด ก็คือ ไม่เปิดเผยข้อมูลให้กับใครเลยจะดีกว่า" มุสลิมจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เข้าไปทำงานในรัฐกลันตันรายหนึ่งกล่าวกับ "ประชาไทออนไลน์"


            ชายคนหนึ่งอายุประมาณ 35 ปี ซึ่งเป็นชาวมุสลิมจากภาคใต้ ซึ่งเข้าอาศัยอยู่ในหมู่บ้านมาแจ ในรัฐกลันตัน เล่าว่าตอนนี้ทางการไทยจ้างคนมลายูจาก 3 จังหวัด เป็นสายลับเข้ามาหาคนที่ทางการไทยสงสัยว่า อยู่ที่ไหน เรื่องนี้เพื่อนที่อยู่ด้วยกันกับตนเจอด้วยตัวเอง


            "สายลับเข้ามาหาคนที่เขาต้องการ พอรู้ว่าอยู่ที่ไหน ก็ให้สินบนตำรวจมาเลเซีย ซึ่งเห็นแก่เงินไปจับตัวเวลากลางคืน แล้ววางยาสลบมัดมือจับใส่กระโปรงท้ายรถเก๋ง ข้ามไปฝั่งไทย เพื่อนคนนี้รู้จักกับตำรวจมาเลเซีย 2 คนที่รับเงิน แล้วบังเอิญไปเปิดฝากระโปรงหลังรถคันนั้นเข้า" ชายคนดังกล่าว ยืนยัน


ประชาชนในรัฐกลันตันคาดการณ์ว่า จะมีคนอพยพจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ามาเรื่อยๆ แต่ส่วนใหญ่จะหลบไปทำงานกับญาติ ทั้งในรัฐกลันตันและรัฐตรังกานู


ชาวมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้ามาอยู่ในรัฐกลันตันมานานอีกราย กล่าวว่า ตอนนี้คนรัฐกลันตัน โดยเฉพาะในหมู่บ้านตามแนวชายแดนหวาดระแวงคนแปลกหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะกับคนที่มาจากประเทศไทย เพราะเกรงว่าจะได้รับความเดือดร้อน ถูกตรวจสอบว่ามีคนไทยเข้ามาหลบภัยหรือไม่ หากทางการมาเลเซียเข้ามาตรวจสอบ จะพบว่ามีคนไทยเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านบริเวณแถบชายแดนมานานแล้ว บางคนเข้าอยู่อย่างผิดกฎหมาย บางคนถือ 2 สัญชาติ แต่ละคนจึงหวั่นว่า จะถูกทางการมาเลเซียถือโอกาสนี้จัดการกับพวกตนด้วย


            "คนที่อพยพมา เพราะอยู่ในหมู่บ้านไม่ได้ เขากลัวเจ้าหน้าที่รัฐ จริงอยู่ว่ามีพวกแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดภาคใต้จริง แต่คนพวกนั้นเขาจะจัดการกับเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นไม่ยิงมั่ว คนที่อพยพเข้ามามีมาก ที่เข้าไปอยู่กับญาติในกัวลาลัมเปอร์ก็มากเช่นกัน เพราะถ้าอยู่แถวรัฐกลันตัน ทางการไทยส่งสายลับเข้ามาสืบหาได้ง่าย"  ชาวมุสลิมผู้นี้ กล่าว


            ขณะที่ชาวมาเลเซีย ในเมืองรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ฝั่งตรงกันข้ามเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก กล่าวว่า สาเหตุของปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ของไทย มาจากความไม่เป็นธรรมมากกว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน สถานการณ์ในภาคใต้ของไทย ไม่ใช่เป็นการต่อสู้ทางศาสนา เพราะหากต่อสู้เพื่อศาสนา คนที่ก่อเหตุคงไม่ทำร้ายชาวบ้านที่ดีๆ แน่นอน คนที่จะถูกทำร้าย คือ เจ้าหน้าที่รัฐ กับคนที่เป็นสายให้กับรัฐเท่านั้น แค่ความสงสัยและหวาดระแวง ก็อาจจะทำให้มีการทำร้ายคนบริสุทธิ์ได้เช่นกัน ความหวาดระแวงขณะนี้ขยายเข้ามาในกลันตันแล้ว เพราะฉะนั้น คนที่เข้ามาหาข้อมูลในกลันตัน จึงมักจะถูกมองว่า เป็นสายลับของทางการไทย หรือเป็นฝ่ายก่อความไม่สงบเอง


            จากการตระเวนตามหมู่บ้านต่างๆ บริเวณใกล้ชายแดนมาเลเซีย - ไทย พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ มักจะมองคนแปลกหน้าด้วยสายตาหวาดระแวง โดยเฉพาะคนไทยที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านตามแนวพรมแดน


            นอกจากนี้ ยังพบว่า บางหมู่บ้านเริ่มมีการหารือกัน เพื่อเตรียมรับชาวมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คาดว่าจะอพยพเข้ามาอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม ต้นเดือนตุลาคม 2548 จะมีการก่อเหตุครั้งใหญ่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย จำเป็นต้องเตรียมรับมือผู้อพยพอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้อพยพที่เป็นผู้หญิง เด็ก และคนชรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net