Skip to main content
sharethis

อียิปต์เสร็จสิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปแล้วเมื่อวันพุธที่ผ่านมา( 7 กันยายน และผลก็คาดว่าจะเป็นไปตามความคาดหมายที่ว่า นายฮอสนี มูบารัค ประธานาธิบดีที่ครองอำนาจมานาน 24 ปี ก็ได้รับการเลือกตั้งให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกสมัยหนึ่ง  โดยผลอย่างไม่เป็นทางการที่ออกมานั้นคาดว่ามูบารัคจะได้คะแนนเสียงถึง 70-75%


 


กระนั้นมีสิ่งใหม่ที่ได้เห็นที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวนี้และแสดงให้เห็นว่ามีจังหวะก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยของอียิปต์ก็คือ  ในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งมากกว่า 1 คน แต่เดิมนั้นการไปออกเสียงของชาวอียิปต์นั้นจะโหวตเพียงบอกว่ารับรองหรือไม่รับรองผู้สมัครคนนั้นเท่านั้น แต่ในครั้งนี้ก็มีผู้สมัครรับเลือกตั้งมากถึง 10 คน


 


นอกจากนี้ แม้ว่าจะคาดหวังกันอยู่แล้วว่า มูบารัค จะชนะการเลือกตั้งแน่นอน แต่นี่ก็เป็นครั้งแรกที่มูบารัคได้มีประสบการณ์ในการออกมารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งแข่งกับคนอื่น


 


ภาพที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนก็คือการที่มีผู้สมัครแข่งขันด้วย คือ ได้ออกมากล่าวว่าว่า มูบารัคนั้นโกงการเลือกตั้งและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ ถึงแม้ว่าคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งได้ปฎิเสธข้อร้องเรียนนี้ออกไปโดยให้เหตุผลว่าไม่มีหลักฐาน แต่ก็นี่ก็เป็นการปรากฎตัวว่า ในการบริหารประเทศของมูบารัคในอนาคตอันใกล้นี้ มูบารัคจะต้องมีฝ่ายค้านขึ้นมาถ่วงดุลแน่นอน ซึ่งจะทำให้การทำงานนั้นแตกต่างออกไปจากเดิมบ้างเล็กน้อย


 


ถึงแม้ว่าตามคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการได้ปรากฏออกมาแล้วว่าฝ่ายค้านคนสำคัญอย่างนาย ไอมาน นูร์ จากพรรค กาด จะได้คะแนนเสียงเสียงร้อยละ 12 อาจวัดไม่ได้กับคะแนนความนิยมที่ประชาชนมีต่อมูบารัคว ที่มีมากกว่ากันอย่างเทียบไม่ได้ ทว่าหากเทียบจากคะแนนเดิมที่มูบารัคเคยได้ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2542 ที่เขาได้รับการโหวตรับรองถึงร้อยละ 93.79 ก็นับว่าประชาชนเองก็อาจเริ่มทอดสายมองหาผู้นำใหม่บ้างแล้วเช่นกัน


 


กระนั้น ในส่วนของภาคประชาชนเองนั้น อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับการเลือกตั้งแบบนี้หรือยังไม่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งนัก  ดังนั้นการออกมาใช้สิทธิใช้เสียงจึงค่อนข้างจะบางตา คือมีผู้มาใช้สิทธิเพียง ร้อยละ 33 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเท่านั้น กระนั้น ผู้ที่ออกมาใช้สิทธินั้นก็มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้ที่เข้าใจและเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งจริงๆ ดังนั้นการพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบของอียิปต์ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ในอนาคต


 


เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะลืมไม่ได้ก็คือ การเปิดให้มีการเลือกตั้งเสรีในอียิปต์ในครั้งนี้นั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากความกดดันจากสหรัฐฯที่อยากเห็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในอียิปต์ ดังนั้นการเปิดการเลือกตั้งแม้ว่าในจังหวะก้าวแรกนั้นก็ดูว่าจะไม่ " free and fair"  หรือ บริสุทธิ์ยุติธรรมจริง  แต่ทางสหรัฐฯก็มีทีท่าว่าพอใจที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ด้วยเห็นว่าอย่างน้อยๆอีบิปต์ได้พยายามทำอะไรบ้างแล้ว ดังนั้น การกระทำของอียิปต์ในครั้งนี้จึงเป็นการช่วยคลายความตึงเครียดออกไปอีกเปราะหนึ่ง และทำให้สหรัฐฯได้ลดความกดดันที่มีต่ออียิปต์ออกไปได้บ้าง


 


อย่างไรก็ตาม นี่ก็อาจจะเป็นจังหวะก้าวแรกของอียิปต์ในการเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองให้มีมากขึ้นในรูปแบบของประชาธิปไตย แต่ว่า สำหรับอนาคตข้างหน้า เรื่องของประชาธิปไตยในอียิปต์นั้นคงต้องขึ้นกับภาคประชาชนเองว่าจะมีการตื่นตัวกันมากแค่ไหน ฝ่ายค้านเองนั้นคงต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนมากขึ้นหากจะเห็นการพัฒนาด้านประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบในอียิปต์ ไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เท่ากับว่าจะเป็นเพียงการกระทำเพื่อหลอกล่อให้สหรัฐฯสบายใจเท่านั้นเอง หาใช่ทางที่จะก้าวไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่


-----------------------------------------


โดย สุทธิดา มะลิแก้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net