Skip to main content
sharethis

ทั้งนี้  หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ยกเลิกประกาศของนายอำเภอแม่อาย จ.เชียงใหม่ โดยให้คืนสัญชาติไทยให้กับชาวบ้าน 1,243 ราย เมื่อ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นเวลากว่า 3 ปีมาแล้ว หลังจากที่ชาวบ้านถูกถอนสัญชาติมาตั้งแต่ 5 ก.พ. 2545  


 


วันรุ่งขึ้นหลังมีประกาศคำพิพากษา นายศิวะ แสงมณี อธิบดีกรมการปกครอง ร่วมกับนักวิชาการ  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาชิกวุฒิสภา และตัวแทนชาวบ้าน อ.แม่อาย ได้แถลงข่าว ณ สภาทนายความ  ถนนราชดำเนิน โดยกล่าวว่า กรมการปกครองได้สั่งการให้อำเภอแม่อายปรับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชนให้มีรายการเดิม เฉพาะชาวบ้าน 1,121 คนที่เหลือ ไม่รวมบุคคลที่ได้สัญชาติไปแล้ว 122 คนในระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยจะแจ้งให้ชาวบ้านนำทะเบียนบ้าน (ทร.14) มาตรวจสอบแก้ไขรายการให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน



อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมการปกครองระบุในวันนั้นด้วยว่า ชาวบ้านจะได้รับสัญชาติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด  โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลหลักฐานการถือสัญชาติไทยอีกครั้งเป็นรายบุคคลจากอำเภอแม่อาย  เพื่อป้องกันผู้ที่แอบอ้างอันจะทำให้เกิดผลกระทบด้านความมั่นคงได้


 


"เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้รับการร้องเรียนว่ามีบางรายได้ขอสิทธิอย่างไม่ถูกต้องตามกระบวนการหรืออาจทุจริต ดังนั้น นายอำเภอจะเรียกคนกลุ่มนี้ให้นำหลักฐานมายืนยันเป็นรายๆ ไป คนไหนที่มีหลักฐานชัดเจน น่าเชื่อถือ นายอำเภอจะไม่เพิกถอนสิทธิ แต่ถ้าพยานหลักฐานไม่พอ จะประสานว่ามีส่วนใดที่จะหาหลักฐานเพิ่มเติมได้บ้าง ถ้าหาเพิ่มเติมมาแล้วยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ นายอำเภอก็จะเพิกถอนอีกครั้ง"


 


ทั้งนี้ นายศิวะ อธิบายเรื่องนี้ว่า ไม่ได้ตัดสิทธิที่จะไปร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งสามารถกระทำได้อีก โดยเรื่องนี้ยืนยันว่านายอำเภอจะเพิกถอนได้ก็ต้องมีหลักฐานชัดเจนว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีสัญชาติไทยอย่างแท้จริง

ด้านตัวแทนชาวบ้านแม่อาย กล่าวภายหลังการแถลงจากกรมการปกครองว่า หากกรมการปกครองจะทำการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิเป็นรายบุคคล ทำให้ความดีใจลดน้อยลงไปมาก เพราะสิ่งที่รัฐควรกระทำหลังมีคำพิพากษาของศาล นอกจากจะต้องคืนสัญชาติแล้ว ควรจะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อเยียวยาช่วยเหลือชาวบ้านแม่อายในระหว่างที่ถูกเพิกถอนสัญชาติเป็นเวลา 3 ปีด้วย โดยตัวแทนชาวบ้านดังกล่าวเรียกร้องว่า ชาวบ้านไม่ได้หวังเงินทอง แต่ต้องการให้อธิบดีกรมการปกครองไปประสานนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งผู้แทนจากคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายชาวบ้าน เพื่อตรวจสอบว่าระหว่างที่ชาวบ้านถูกเพิกถอนสิทธิได้รับความเดือดร้อนอย่างไรบ้าง  และต้องมีหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว


 


"ผมอยากถามว่า ทุกวันนี้ที่ชาวบ้านสู้ๆ ในฐานะที่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ถ้าถามว่าเขาเป็นคนไทยหรือไม่ ตัวเขารู้เองว่าเป็นไทยหรือไม่เป็นไทย โดยทุกวันนี้ชาวบ้านรับกรรมมา 3 ปี รู้สึกเจ็บปวด ผมเป็นครูอัตราจ้างของโรงเรียน เพื่อนผมได้รับการบรรจุหมดแล้ว แต่ทำไมผมไม่ได้" ตัวแทนชาวบ้านแม่อาย กล่าว

ด้าน รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ชาวบ้านดีใจได้เพียงวันเดียว แต่วันนี้กรมการปกครองจะให้พิสูจน์เป็นรายบุคคลอีก ทำให้ชาวบ้านเสียขวัญและกำลังใจ  อยากให้กระบวนการในเรื่องนี้ดำเนินอย่างสร้างสรรค์มากกว่าจะตรวจสอบอีกเป็นระลอกสองที่จะเน้นหนักตรวจสอบเป็นรายบุคคลหลังจากคืนสิทธิให้แล้ว ทั้งนี้ ไม่ได้ปฏิเสธการตรวจสอบแต่อย่างใด หากทุกคนที่ได้รับการตรวจสอบเป็นภัยต่อแผ่นดิน หรือค้ายาเสพติด

นอกจากนี้  อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ผู้นี้ยังเรียกร้องให้นายกฯเข้ามาจัดการปัญหานี้ และมีมาตรการเยียวยา  โดยขอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจชำระเกณฑ์ความเป็นไทยขึ้นมาตรวจสอบ รวมทั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหาย ทั้งนี้  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ประสานจะให้มีคณะกรรมการดังกล่าวแล้ว โดยมีตัวแทนชาวบ้านและกรมการปกครองเข้าร่วม เพื่อตรวจพิสูจน์ความเสียหาย ที่ชาวบ้านต้องเสียสิทธิไปหลายอย่างก่อนหน้านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net