Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 11 ก.ย. 48     นายแพทย์ หม่อมหลวง สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้ป่วยทางจิตของไทยรุนแรงขึ้น โดยในปัจจุบันมีปริมาณเพิ่มขึ้น  เทียบได้กับ 1 คน ต่อประชากร 1,000 คน หรือประมาณกว่าหมื่นราย ซึ่งสาเหตุของผู้ป่วยทางจิตส่วนใหญ่มาจากสิ่งแวดล้อม ครอบครัว และที่สำคัญคือ จิตใจที่ได้รับการพัฒนาพื้นฐานทางอารมณ์หรือการเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็กก็มีส่วนสำคัญในการส่งผลทางจิต


 


อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมสุขภาพจิต ยืนยันว่า ผู้ที่ป่วยทางจิตส่วนใหญ่ไม่ได้มีอารมณ์รุนแรงที่คิดจะทำร้ายผู้อื่นเสมอไป


 


ส่วนกรณีของ น.ส.จิตรลดา ตัณติวาณิชยสุข หรือเป็ด ผู้ต้องหาคดีพยายามฆ่า นักเรียนโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ 4 คนนั้น ทางกรมสุขภาพจิตได้ออกมาระบุว่า น่าจะเกิดจากโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวงซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้อื่น เพราะอาจถูกผู้ป่วยทำร้ายได้ แต่ทางกรมสุขภาพจิต ก็ยืนยันว่าโรคจิตชนิดนี้มีผู้ป่วยเป็นน้อยมาก


 


ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข เคยแถลงตัวเลขคนฆ่าตัวตายในประเทศไทยโดยพบว่า สถานการณ์


การฆ่าตัวตายในประเทศไทย อยู่ในอันดับ 71 ของโลก โดยมีแนวโน้มลดลง เฉลี่ยพบปีละ 4,622 ราย หรือวันละ 13 คน โดยอัตราการฆ่าตัวตายลดจากแสนละ 7.1 คนในปี 2546 เหลือแสนละ 6.9 คนในปี 2547


 


ทั้งนี้ตลอดปี 2547 ทั่วประเทศมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,296 คน เป็นชายมากกว่าหญิงในอัตรา 3 ต่อ 1 โดยภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในประเทศ


 


โดยกลุ่มที่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่า 90% ได้แก่ ผู้ที่เจ็บป่วยทางจิต โดยเฉพาะโรค ซึมเศร้าและการติดเหล้าหรือสารเสพติด พบมากถึงร้อยละ 35 และ 50 ตามลำดับ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net