Skip to main content
sharethis

"ชาวบ้านอย่างพวกเฮามีหนี้ติดหลังทั้งนั้น จะหื้อเลิกการเกษตร ก็ไม่มีตังค์ใช้หนี้ ยกเลิกหนี้ให้เฮาได้ก่ ส่งลูกเฮาเรียนจนจบได้ก่ แค่นั้นพวกเฮาก็บ่ทำก็ได้อาชีพเกษตร"  ธีรพงศ์ วัฒนจำจร ชาวบ้านอ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ตั้งคำถามไปยังรัฐบาล หลังจากบรรยายสภาพวิถีชีวิตคนปลูกกระเทียมที่ล่มสลาย ภายหลังจากประเทศไทยเปิดเสรีทางการค้าประเทศผักและผลไม้กับประเทศจีน เมื่อ 1 ต.ค. 2546


 


ธีรพงศ์ เล่าว่า เกษตรกรใน อ.ไชยปราการ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ตลอดจนบางส่วนของ จ.แม่ฮ่องสอน ปลูก "หอมขาว" หรือที่คนภาคอื่นเรียก "กระเทียม" มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ราว 30-40 ปีมาแล้ว และที่ผ่านมามีรายได้ค่อนข้างดี โดยมีดัชนีชี้วัดที่ "เสื้อใหม่" ซึ่งเด็กๆ จะได้ไว้ใส่ในวันปีใหม่ตลอดมา


 


กระทั่งปี 2545 ที่มีการทำข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน รัฐบาลได้ขอให้เกษตรกรลดพื้นที่การเพาะปลูกหอมขาว โดยระบุจะให้ค่าชดเชยให้ไร่ละ 2,500 บาท แม้ชาวบ้านไม่รู้ชัดนักว่าสิ่งที่รัฐบาลทำคืออะไร แต่ก็เชื่อตามท่านผู้นำ กระนั้นก็ตาม สภาพการณ์ก็ยังไม่ดีนัก โดยก่อนปี 45 ราคากระเทียมแห้งอยู่ที่ 25-30 บาท/ก.ก. แต่หลังปี 45 เหลือ 20-23 บาท/ก.ก.


 


"มาถึงวันนี้ราคามันลงไปเหลือ 15-17 บาท ทั้งที่ต้นทุนอยู่ที่ 18-21 บาท"


 


หลังจากชาวบ้านได้รู้ฤทธิ์เอฟทีเอไทย-จีนแล้ว  ช่วงเดือนก.พ.48 เกษตรกรปลูกกระเทียมใน จ.เชียงใหม่ จึงชุมนุมกันที่ศาลากลางจังหวัดเรียกร้องให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ จากนั้นคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) จึงรับปากว่าจะแทรกแซงราคาให้อยู่ประมาณ 21-25 บาท/ก.ก. โดยจะให้เงินกู้แก่สหกรณ์ในท้องถิ่นเพื่อรับซื้อ แต่สหกรณ์ส่วนใหญ่ต่างก็ไม่กล้าลงทุนท่ามกลางราคาที่ดิ่งเอาๆ  เพราะเกรงจะขาดทุน


 


เดือนเม.ย.48 เกษตรกรจาก จ.แม่ฮ่องสอนออกโรงเคลื่อนไหวบ้าง คราวนี้เรียกร้องให้รัฐช่วยรับซื้อกระ เทียมแห้งในราคา 30 บาท/ก.ก. ซึ่ง คชก. ก็มีมติในวันที่ 27 เม.ย.48 ตกลงจะซื้อในราคานั้น แต่แบ่งจ่าย 2 งวด คือ ปีนี้จ่าย 18 บาท และอีก 12 บาทจะให้ในปีหน้า


 


เมื่อเกษตรกร จ.เชียงใหม่เห็นดังนั้นก็เรียกร้อง 30 บาท/ก.ก.บ้าง ซึ่งผลสรุปก็ได้ตามมติของคชก.เมื่อวันที่ 27 เม.ย.48 หากแต่มีข้อต่างอย่างสำคัญ คือ 18 บาทจ่ายปีนี้ อีก 12 บาทจ่ายปีหน้า ซึ่งในส่วน 12 บาทนี้ จะให้หลังจากฤดูการผลิตผ่านไปแล้ว และเกษตรที่จะเข้าโครงการับเงินดังกล่าวต้องไม่ปลูกพืช 6 ชนิด


 


"ส้ม ลำไย สิ้นจี่ หอมขาว หอมแดง หอมใหญ่ เขาห้ามปลูก แต่มันเป็นวิถีชีวิตของคนบ้านเฮาทั้งหมด แล้ว 12 บาท ก็ยังขอแบ่งจ่าย 3 ปี"


 


ธีรพงศ์ย้ำว่า มติดังกล่าวนำเสนอในสมัยนายเนวิน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


 


"มติอย่างนี้มันออกมาได้จะใด มันบ่ค่อยเข้าท่า มันเป็นมติจ้างให้ชาวบ้านเลิก แล้วชาวบ้านจะปลูกอะหยังล่ะครับ"


 


สำหรับสถานการณ์ล่าสุด เขาระบุว่าปีนี้ชาวบ้านหลายส่วนมีการปรับตัวแล้ว โดยเปลี่ยนจากปลูกกระเทียม ไปปลูกมันฝรั่ง ให้กับบริษัทผลิตมันฝรั่งทอดกรอบยักษ์ใหญ่ ในรูปแบบของเกษตรพันธะสัญญา หรือ contract farming !


 


"เดี๋ยวนี้ก็ยังบ่ฮู้ว่ามันจะออกมาอีท่าไหน" ขณะเดียวกันธีรพงศ์ก็ยอมรับว่าชักเริ่มไม่แน่ใจในพืชตัวใหม่นี้เสียแล้ว เพราะจากเดิมที่บริษัทสัญญาจะรับซื้อ 12 บาท/ก.ก. พอเห็นว่าชาวบ้านปลูกกันมากเข้าๆ บริษัทก็เริ่ม "เปลี๊ยนไป๋" โดยให้ 12 บาทตามคำมั่น แต่ขอจำกัดปริมาณซื้อแค่ไร่ละ 500 ก.ก.ชาวบ้านจึงได้แต่เป็นงงว่า ที่เหลือจะให้เอาไปไหน ?


 


"ชาวบ้านบ่ค่อยฮู้เรื่อง ร่นหนีไปปลูกอย่างอื่นก็ยังโดนบีบอีก"


 


ท้ายที่สุด เกษตรกรจากยอดดอยนำเสนอข้อเสนอแนะไว้ง่ายๆ สั้นๆ 3 ประการ



  1. ขอให้รัฐบาลยกเลิกเอฟทีเอเกี่ยวกับผัก ผลไม้ .. ได้ก่ ?
  2. ถ้ายกเลิกทั้งหมดไม่ได้ เอากระเทียมสงวนเป็นพืชอ่อนไหว...ได้ก่ ?
  3. ถ้าทำทั้งหมดไม่ได้เลย รัฐบาลก็น่าจะมีมาตรการในการชดเชยช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ อย่างที่นักวิชาการหลายๆ คน เคยนำเสนอ.....ได้ก่ ?????????

หันดูข้อมูลใน "ตลาด" จากพีระพงศ์ สาคริก กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยแอคโกรเอ็กเชนจ์ จำกัด หรือตลาดไท ระบุว่า หลังจากเปิดการค้าเสรีกับจีน ระลอกแรกเกษตรกรไทยที่ปลูกผลไม้อาจบาดเจ็บหนัก แต่ระลอกสองนั้นจะเป็นเรื่องของ "ผัก" เพราะจากเดิมที่จีนส่งออกผักมาประเทศไทยเพียง 3 ชนิด คือ กระเทียม แครอท หอมใหญ่ ขณะนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 12 ชนิดแล้ว อาทิ แครอท มันฝรั่ง หอมแดง บร๊อคเคอรี่ เห็ดเข็มทอง ผักกาดแก้ว คะน้า ฯ


 


"ในระยะยาวประเทศไทยสาหัสแน่ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อม"


 


นอกจากนี้เขายังยกตัวเลขราคา "กระเทียมกลีบ" ในตลาดไท เปรียบเทียบระหว่างจีนกับไทยด้วยว่า ก่อนเปิดเอฟทีเอ กระเทียมกลีบจีนราคา ก.ก.ละ 24.50 บาท กระเทียมกลีบไทย ก.ก.ละ 42 บาท ต่อมาปี 47 กระเทียมกลีบจีน ก.ก.ละ 21.31 บาท กระเทียมกลีบไทย ก.ก.ละ 36 บาท ล่าสุดปี 48 จีน ก.ก.ละ 21.23 บาท ไทยก.ก.ละ 25.26 บาท


 


"และเมื่ออาทิตย์ก่อนนี้ มีข้อมูลช่วงหนึ่งว่ากระเทียมจีน ก.ก.ละ 26.50 บาท กระเทียมไทย ก.ก.ละ 24.30 บาท ที่เป็นอย่างนี้เพราะกระเทียมจีนขาดตลาด แต่คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับพฤติกรรมผู้บริโภค ทำไมไม่ซื้อกระเทียมไทย ที่เคยคิดว่าอย่างน้อยกระเทียมไทยก็ไม่กระทบ เพราะรสชาติดีกว่ามันยังจริงอยู่หรือไม่" ตัวแทนจากตลาดไทกล่าว


 


ท้ายที่สุด พีระพงศ์ นำเสนอทางออกว่า การแปรรูปเป็นหัวใจสำคัญในการหาทางออกเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต่างประเทศตื่นตัวกับกระแสอาหารเพื่อสุขภาพกันมาก รัฐบาลจึงควรสนับสนุนงานวิจัยด้านอาหารให้เป็นที่ยอมรับ ให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้เรื่องนี้เพื่อนำไปแข่งขันได้มากขึ้น ไม่ใช่การแปรรูปเพียงการอบแห้ง หรือผลกระป๋อง อย่างที่ผ่านมา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net