Skip to main content
sharethis

ประชาไท—13 ก.ย. 48 นักกฎหมายเดินหน้าสู้ทุกกระบวนท่า หวังให้คดีแม่อายขยายสู่การยุติปัญหาสัญชาติระยะยาว ชี้กรณีคล้ายภาคใต้ต้องเยียวยาและสมานฉันท์ เตรียมแถลงข่าวกันกรมการปกครองยุกยิก พร้อมเตรียมข้อเสนอยื่นนายกรัฐมนตรี


คดีแม่อาย แม้ศาลปกครองสูงสุดจะชี้ขาดให้ชาวบ้านชนะคดีและให้ทางอำเภอคืนสัญชาติให้ชาวแม่อายแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนเรื่องจะยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ เนื่องจากกรมการปกครองเลือกปลดล็อคให้เฉพาะราย โดยอ้างว่าบางคนไม่มีสัญชาติไทย ทำให้หลายฝ่าย อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความ สมาชิกวุฒิสภา และนักวิชาการ ต้องมาระดมสมองหาช่องทางช่วยเหลือชาวบ้านกันอีกครั้ง


ทั้งนี้เมื่อ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายมองสถานการณ์ข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นกับชาวแม่อายเพื่อให้ชาวบ้านได้เตรียมตัว โดยจะต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งก่อนอื่นจะต้องเข้าใจก่อนว่า การชนะคดีในครั้งนี้ชาวบ้านชนะในกฎหมายสัญชาติ แต่ไม่ใช่กฎหมายทะเบียนราษฎร ดังนั้นกรมการปกครองจะกลับไปตรวจสอบหลักฐานทางสัญชาติได้อีก


"การตัดสินคดีครั้งนี้แสดงว่าการเป็นไทยยังไม่เป็นที่สุด ยังต้องมีการพิสูจน์กันต่อไป ซึ่งก็อยู่ที่กรมฯ จะหยิบขึ้นมาหรือไม่ อย่างไรก็ตามกรมการปกครองต้องมีเหตุผลเพื่อรองรับการพิสูจน์ในครั้งนี้ด้วย" รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าว


นอกจากนี้ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ยังกล่าวอีกว่า ตามความเห็นทางกฎหมายแล้ว จะต้องทำให้ปัญหาเช่นแม่อายไม่กลับมาอีกในระยะยาว จึงต้องมีการพิสูจน์ชุมชน โดยมีการทำหนังสือบันทึกพิสูจน์จากผู้เชี่ยวชาญ บันทึกปากคำและเซ็นเป็นพยานหลักฐานไว้ให้ชาวบ้าน เพื่อทำเป็นประวัติด้านการพิสูจน์สัญชาติเผื่อไว้ในอนาคต


ขณะที่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าวอีกว่า "เราต้องยอมรับความจริงว่า มีชาวบ้านที่ไม่มีองค์ประกอบว่าเป็นสัญชาติไทยจริงปะปนอยู่ด้วย ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ปฏิเสธที่จะถูกตรวจสอบเพียง แต่มีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่ค่อยมีหลักฐานนักก็จะกลัวการถูกตรวจสอบเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนเรื่องการเยียวยานั้น ความจริงแล้วทางราชการควรจะเยียวยาช่วยเหลือโดยไม่ต้องรอให้ชาวบ้านเรียกร้อง


ทั้งนี้ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ มีข้อเสนอต่อที่ประชุมว่า "นี่คือโอกาสรุกต่อฝ่ายปกครอง เพื่อให้ทำการเพิ่มชื่อและลงรายการสถานะบุคคล และเรียกร้องให้ชำระกฎเกณฑ์ด้านสัญชาติ ด้วยการตั้งคณะกรรมการตรวจชำระกฎเกณฑ์ขึ้นมา"


นอกจากนี้ ในลำดับต่อไป ต้องให้รัฐตั้งกฎเกณฑ์ในการชดเชยค่าเสียหายและการเยียวยาที่ไปละเมิดสถานะของบุคคล ซึ่งมาถึงขณะนี้ชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากรัฐ โดยนักกฎหมาย มธ. ผู้นี้เห็นว่า จำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการในลักษณะคล้ายกับคณะกรรมการเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เพื่อเข้ามาสำรวจความสูญเสียที่เกิดกับชาวบ้านในระหว่างที่เสียสิทธิไป แล้วส่งมอบเป็นหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม ที่ต้องรับผิดชอบต่อ ซึ่งเท่ากับเป็นการดัดนิสัยภาครัฐ ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า มาตรการทั้งหมดนี้จะได้จัดทำข้อเสนอยื่นต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net