Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 14 ก.ย. 48 นักวิชาการกฎหมายมหาชน เชื่อกรณีแกรมมี่ซื้อหุ้นมติชน - โพสต์ เกี่ยวข้องผูกขาดอำนาจรัฐ แนะถ่วงดุลซื้อหุ้นเพื่อชาติ


 


ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "จรรยาบรรณ ประโยชน์สาธารณะ และการคุกคามสื่อจากรัฐ-ทุนในกรณี Bangkok Post" เกี่ยวกับกรณีที่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย อนุมัติซื้อหุ้น บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ว่า


 


"ผมเชื่อว่า ในกรณีของแกรมมี่ซื้อหุ้นมติชน หรือบางกอกโพสต์ มองได้ 2 มุม มุมหนึ่งคือเป็นเรื่องปกติที่ทุนจะต้องขยายออกทั้งด้านกว้าง และด้านลึก แต่ในอีกมุมหนึ่งนี่คือการผูกขาดอำนาจรัฐ เป็นการใช้วิถีทางที่ปราดเปรื่องในการที่จะยึด ดึงเอาหนังสือพิมพ์เข้ามาเป็นพวก ตลอดเวลาที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามในการแบ่งขั้ว พยายามที่จะทำให้เห็นว่าสื่อมีปัญหา ไม่รักชาติ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งก็ยังคงเชื่อถือสื่อ


 


"เมื่อเป็นอย่างนี้จึงไม่มีวิธีการอื่น มันเหมือนกับว่า ถ้าคุณไม่สามารถบังคับให้คนๆ หนึ่งทำตามคุณได้ คุณก็ต้องกำจัดคนนี้ออกไป ถ้าคุณไม่สามารถกำจัดคนๆ นี้ออกไปได้ คุณก็ต้องมีวิธียังไงที่จะผูกโยง ให้คนๆ นี้ปิดปาก ให้คนๆ นี้ถูกดึงไปที่ใดที่หนึ่ง หรือเข้ามามีอำนาจเหนือโดยสิ้นเชิง นี่คือบริบทของการเข้าคุมหุ้น" ดร.เจษฎ์ กล่าว


 


ดร.เจษฎ์ ยังกล่าวต่อไปว่า บางทีแกรมมี่อาจจะคิดเรื่องของการซื้อหุ้นครั้งนี้ว่า เป็นการซื้อหุ้นเพื่อชาติ


ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ใครก็ตามที่ถือหุ้น 40-50% หรือใครก็ตามที่ยังถือหุ้นส่วนใหญ่อยู่ ก็สามารถถ่วงดุลการซื้อหุ้นเพื่อชาติครั้งนี้ได้


 


"บุคคลทั้งหลายที่อาจจะตกลงไปแล้วกับแกรมมี่ หรือยังไม่ได้ตกลง คุณอาจจะต้องพิจารณาถือหุ้นเพื่อชาติอีกครั้งหนึ่ง เพราะการปล่อยให้การเข้าครอบงำกิจการเกิดขึ้น เราไม่อาจจะแน่ใจได้ว่า คำว่าเพื่อชาติ บริบทของคำว่าชาติ นิยามของคำว่าชาติมันกว้างแค่ไหน แล้วมันเป็นชาติของใคร เป็นชาติในลักษณะใด" คณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.สยาม กล่าว


 


ส่วนในกรณีที่บรรณาธิการ Bangkok Post ถูกไล่ออกอันเนื่องมาจากการนำเสนอข่าวรอยร้าวบนรันเวย์ สนามบินสุวรรณภูมิ ดร.เจษฎ์ แสดงความเห็นว่า ข่าวรอยร้าวบนสนามบินนั้นไม่แตกต่างกับการที่ ตุ๊ก ตุ๊ก คนหนึ่งถูกจับเพราะข้อหาว่าเขาไปข่มขืนสตรีสาวชาวไต้หวัน หนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงข่าว บุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่ในรัฐบาลวิ่งไปพร้อมจัดการกับคนๆ นี้ และพร้อมที่จะพาคนๆ นี้ไปดำเนินคดีทุกที่ พร้อมที่จะพาเข้าคุกเข้าตาราง 2 วันต่อมาปรากฏว่า คุณคนนี้ไม่ผิดเลย ผู้หญิงคนนั้นเป็นคนสร้างเรื่องทั้งหมด แต่ข่าวนั้นกลับไม่เห็นมีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบ ดร.เจษฎ์ ยังยกตัวอย่างด้วยว่า


 


"ทำไมขณะที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ มีคนมาบอกว่า มันคือโจรกระจอกแล้วท้ายที่สุดปรากฏว่ามันไม่ใช่โจรกระจอก ทำไมเวลาที่พูดว่าจะใช้เวลาเพียง 3 เดือนในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่เวลาล่วงมา 3 ปี ทำไมเวลาที่ชี้นำว่าจะทำให้ประชาชนมีกินมีใช้ แล้วปรากฏว่าประชาชนเป็นหนี้ ทำไมหลายสิ่งหลายอย่างที่ออกมาจากปากของผู้นำ หรือออกมาจากปากของคนที่สามารถจะคุมอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศนี้ได้ ทำไมไม่มีการเยียวยาและแสดงความรับผิดชอบด้วยการพิจารณาตัวเองลาออก


 


"ผมเชื่อว่าไม่มีใครในโลกไม่เคยทำผิด แต่ถ้าหากว่า ทำผิดเนื่องจากการนำเสนอสิ่งที่ประชาชนควรรู้ให้กับประชาชน การไปลงโทษก็เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ถ้าหากในสังคมเรายอมรับในสิ่งนี้ ถ้ามองว่าเป็นสิ่งธรรมดา ผมคิดว่ามันเกิดรอยร้าวขึ้นในสังคม" ดร.เจษฎ์ กล่าว


 


ด้าน นายกวี จงกิจถาวร อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของสื่อ หลังจากมีการซื้อหุ้นมติชน และโพสต์ ว่า หลังจากที่มีการนำสื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็ต้องมีเงินจากข้างนอก เมื่อต้องเอาเงินจากข้างนอก สื่อก็หมดอิสรภาพ


 


 สิ่งที่สื่อต้องทำต่อจากนี้ คือ สื่อต้องยกระดับให้ประชาชนเข้าใจว่า เสรีภาพของสื่อที่ถูกตัดตอน เป็นเสรีภาพของประชาชนเอง นอกจากนี้ สื่อจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้มากขึ้น เพราะสื่อมวลชนเป็นศาสตร์ เป็นวิชาชีพที่มีความคลาดเคลื่อนได้มาก แต่สิ่งที่ดีคือ ถ้าข้อมูลถูกแล้วจะสร้างคุณค่าให้สังคมได้มหาศาล


 


ดังนั้นสื่อต้องพิสูจน์ ต้องพัฒนาตนเองให้มีความสามารถรอบตัว เราต้องฝึกนักข่าวให้รอบรู้ทุกๆ เรื่อง นักข่าวจำเป็นต้องพัฒนาตนเอง ต้องรู้ว่ากำลังทำอะไร ไม่ใช่เขียนข่าววันต่อวัน เพราะข้อมูลข่าวมันเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่เขียนถึงใบไม้ทุกใบ แต่ไฟไหม้ป่าไม่รู้เรื่อง นายกวี กล่าว


 


ด้าน รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า วันนี้เราตกใจมากที่มีข่าวการซื้อหุ้นมติชน และโพสต์ โดยแกรมมี่ ในฐานะนักวิชาการ เราเกรงว่าการซื้อหุ้นจะก่อให้เกิดการครอบงำสื่อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางความคิด จนทำให้สื่อขาดเสรีภาพในการนำเสนอข้อเท็จจริง


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net