Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 14 ก.ย.48      หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับหลักการของร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.48 และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำไปพิจารณา  เพื่อนำเสนอกลับเข้าสู่ ครม.อีกครั้งนั้น ล่าสุด คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ วุฒิสภา ได้เชิญตัวแทนจากหลายหน่วยงานให้ข้อมูลความคืบหน้า


 


นายพิเชฐ พัฒนโชติ ประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า นอกจากอนุกรรมาธิการฯ จะต้องการทราบความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว ยังต้องการทราบความเชื่อมโยงกับร่าง พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมฉบับใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ....ที่เริ่มยกร่างขึ้นแล้ว เนื่องจากในตอนแรกรัฐบาลระบุวัตถุประสงค์การยกร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษว่า เพื่อการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม สนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กฎหมายฉบับเดียว


 


นายจินตพันธุ์ ทังสุบุตร ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาที่พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานได้ประชุมกันไปแล้ว 22 ครั้ง และมีการแก้ไขเนื้อหาหลายส่วนที่ประชาชนมีความกังวลใจ อาทิ ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ การได้มาของพื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาแก้ไขปรับปรุงไม่ต่ำกว่า 6 เดือน


 


นายจินตพันธุ์กล่าวด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการสนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนร่าง พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่..) พ.ศ....นั้นเป็นเรื่องที่พิจารณากันก่อนที่จะมีแนวคิดเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างไรก็ตาม ทางกฤษฎีกายังเห็นควรให้ดึงเรื่องนิคมอุตสาหกรรมไปอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และหากร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษมีผลบังคับใช้ก็จะต้องยกเลิก พ.ร.บ.การนิคมฯ


 


นอกจากนี้ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายังกล่าวถึงวาระการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า  วาระแรกจะเป็นการกำหนดประเด็น วาระที่สองเป็นการหาทางออก และวาระสุดท้ายเป็นการปรับแก้ในรายมาตรา หลังจากนั้นจะเริ่มต้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน


 


เมื่ออนุกรรมาธิการฯ ถามถึงความเชื่อมโยงของข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ นายจินตพันธุ์กล่าวว่า ทางกฤษฎีกาได้ตระหนักถึงความสำคัญเอฟทีเอ โดยเฉพาะกรณีของสหรัฐที่กำหนดว่าไม่ให้ลดหย่อนการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อดึงดูดนักลงทุนหลังเปิดเอฟทีเอ อีกทั้งทางกฤษฎีกายังต้องระมัดระวังในการร่างกฎหมายไม่ให้ผิดพันธกรณีที่มีต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ระบุไม่ให้ประเทศสมาชิกอุดหนุนการส่งออกด้วย


 


ด้านตัวแทนจากการนิคมอุตสาหกรรมประเทศไทย (กนอ.) ระบุว่าร่าง พ.ร.บ.การนิคมฉบับใหม่เกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของ WTO ซึ่งกำหนดไม่ให้อุดหนุนการส่งออก ขณะที่นายธวัชชัย ฟังอังกูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการสนามบินสุวรรณภูมินั้น เพิ่งเริ่มยกร่าง และนายกฯ ได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง


 


ทั้งนี้ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า แนวโน้มที่มีการออกกฎหมายบริหารจัดการพื้นที่ต่างๆ แต่ละพื้นที่นั้นสอดคล้องกับข้อเสนอของหลายฝ่ายที่ต้องการให้ออก พ.ร.บ.แต่ละพื้นที่ไป เพราะการทำเช่นนั้นต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในทุกกรณี ต่างจากการออกเป็นกฎหมายแม่บทเศรษฐกิจพิเศษฉบับเดียวแล้วให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ใดก็ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net