แหกทุกโผ กมธ.ร่วมฯ โหวตตาม "ยงยุทธ" ห้ามทำ"ป่าชุมชน" ในป่าอนุรักษ์พิเศษ

ประชาไท - 15 ก.ย.48 "ไม่มีชุมชนไหนถูกต้องที่สุด เป็นตัวแทนของทั้งประเทศได้ จึงต้องกันพื้นที่อนุรักษ์พิเศษไว้ งานนี้ผมยืนยันว่าไม่มีใบสั่ง ถ้าเกิดเสียหายผมรับผิดชอบเอง ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล"

นายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ลงมติให้มีการกำหนด "พื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" ซึ่งไม่สามารถขอจัดตั้งป่าชุมชนได้ โดยการประชุมครั้งนี้ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวร่วมสังเกตการณ์ และที่ประชุมใช้เวลาเพียง 10 นาทีในการโหวต

นายยงยุทธ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการร่วมฯ กล่าวว่า ที่ประชุมลงมติ 11 ต่อ 4 ซึ่งเป้าหมายของการพิจารณาเรื่องนี้คือ ทำอย่างไรจะเพิ่มศักยภาพชุมชนที่ดูแลป่าอย่างดี และปกป้องคนที่แอบแฝงเข้าไปทำลายป่า โดยทางกระทรวงจะเร่งให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสำรวจเพื่อกันพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ 19 ล้านไร่ออกจากพื้นที่อนุรักษ์ราว 85 ล้านไร่ แต่หากมีชุมชนอยู่มาก่อนในพื้นที่ดังกล่าวก็ต้องค่อยๆ ขยับ โดยให้ระยะเวลาในการปรับตัว เบื้องต้นคาดว่าประชาชนอาศัยอยู่ราว 40,000 คน

ทั้งนี้ ผู้ที่ลงมติไม่เห็นด้วยให้มีการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ ได้แก่ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. กรุงเทพฯ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ขณะที่กรรมาธิการสายประชาธิปัตย์ อาทิ นายอลงกรณ์ พลบุตร คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช เดินทางมาลงคะแนนไม่ทัน แต่ฝากมติมายังที่ประชุม ซึ่งนายผ่องระบุว่า เป็นการผิดระเบียบจึงไม่นับเสียง เพียงแต่บันทึกไว้ว่า ไม่เห็นด้วย



นายผ่อง เล้งอี้ ประธานกรรมาธิการร่วมฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้เปิดให้มีการอภิปรายกันหลายครั้ง ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าพื้นที่อนุรักษ์พิเศษจะไม่ให้จัดตั้งป่าชุมชน แต่หากพื้นที่อนุรักษ์ไปประกาศทับที่ทำกินของชาวบ้านที่อยู่มาก่อนโดยมีพฤติกรรมดูแลรักษาป่าตามกฎหมายกำหนด ก็ต้องให้สิทธิชาวบ้านขอจัดทำป่าชุมชน ส่วนขั้นตอนต่อจากนี้ คาดว่าจะหารือในรายละเอียดกันอีก 1-2 ครั้ง และน่าจะส่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กลับคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณาได้ภายในเดือนต.ค.นี้

น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว กรรมาธิการร่วมฯ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ที่ว่าจะเขียนกฎหมายอย่างไรให้ประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยตนเสนอที่ประชุมว่า กรณีที่ท้องถิ่นอยู่มาก่อนและมีพฤติกรรมการดูแลรักษาป่าตามที่กำหนดในกฎหมาย พื้นที่อนุรักษ์พิเศษ 19 ล้านไร่ก็ไม่ควรไปทับซ้อนกับพื้นที่ป่าชุมชนของชาวบ้าน โดยอาจต้องยอมขยับเขตที่จะกันไว้เป็นพื้นที่อนุรักษ์พิเศษออกไป

ด้านนายสุรพล ดวงแข กรรมาธิการร่วมฯ กล่าวว่า การลงมติครั้งนี้นับว่าแปลกประหลาดมาก เพราะที่ประชุมยังไม่มีความชัดเจนในนิยามของ "พื้นที่อนุรักษ์พิเศษ"จำนวน 19 ล้านไร่ ประกอบกับที่ประชุมได้เรียกร้องข้อมูลจากทส.ไปหลายครั้งเกี่ยวกับรายละเอียดของพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ และจำนวนชุมชนที่อาศัยอยู่ในนั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนแต่อย่างใด แต่กลับมีการกำหนดให้ลงมติในเรื่องนี้แล้ว โดยทางทส.รับปากจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาให้ที่ประชุมพิจารณาในการประชุมครั้งหน้า

"ในกรรมาธิการก็มีการทักท้วงว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะเขียนพื้นที่อนุรักษ์พิเศษลงไป เพราะเหมือนเป็นการเขียนกฎหมายใหม่ กรรมาธิการร่วมควรพิจาณาเฉพาะข้อขัดแย้งเรื่อง "พื้นที่อนุรักษ์" ที่สภาล่างและสภาบนขัดแย้งกัน จนในที่สุดก็เป็นที่เข้าใจกันแล้ว และยอมรับการให้ทำป่าชุมชนในป่าอนุรักษ์แล้ว แต่อยู่ๆ เรื่อง "พื้นที่อนุรักษ์พิเศษ"ก็มาโผล่ตอนท้าย" นายสุรพลกล่าว

นายสุรพลกล่าวด้วยว่า ความต้องการป้องกันรักษาป่าเป็นเรื่องดี แต่ควรไปปรับปรุงกฎหมายอุทยาน กฎหมายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะกฎหมายป่าไม้ ซึ่งมีช่องโหว่ให้บุกรุกป่าได้มากในเรื่องนิยามของป่าเสื่อมโทรม นอกจากนี้ต้องบังคับใช้กฎหมายให้ได้จริง

นายเดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงานเครือข่าวป่าชุมชนภาคเหนือ กล่าวว่า คาดว่าเรื่องดังกล่าวคงสร้างความไม่พอใจให้ชาวบ้านในหลายพื้นที่ ซึ่งในเร็วๆ นี้จะมีการพบกันกันของเครือข่ายป่าชุมชนทั้ง 4 ภาคเพื่อหารือเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีกระแสจากชาวบ้านที่จัดทำป่าชุมชนในพื้นที่ต่างๆ หลายระดับ บางกลุ่มเสนอว่าควรยุติความสัมพันธ์กับภาครัฐในการดูแลป่าไปเลย ใครจะลักลอบตัดไม้ก็จะไม่ยุ่งเกี่ยวแล้ว บางกลุ่มคิดว่าไม่ต้องสนใจกฎหมาย และให้ทำหน้าที่ดูแลป่าต่อไปจนกว่าสังคมจะเข้าใจ ขณะที่บางกลุ่มให้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการเข้าชี้แจงกับผู้มีอำนาจ รวมถึงบางส่วนเสนอให้มีการถวายฎีกา

ด้านฝ่ายตัวแทนจากมูลนิธิธรรมนาถ ซึ่งมีจุดยืนคัดค้านการทำป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ แสดงความไม่เห็นด้วยกันมติของกรรมาธิการร่วมฯ ที่ห้ามทำป่าชุมชนเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์พิเศษ 19 ล้านไร่ แทนที่จะห้ามทำในเขตป่าอนุรักษ์ทั้งหมด 85 ล้านไร่

อย่างไรก็ดีในวันพรุ่งนี้(16 ก.ย.) ศูนย์เศรษฐศาสตร์นิเวศ จะจัดให้มีเวทีเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นดังกล่าว ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ บรรยากาศในการประชุมวันนี้ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก และมีตัวแทนชาวบ้านอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ในนามสมาพันธ์อนุรักษ์ต้นน้ำภาคเหนือ เดินทางมายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการร่วมฯ ถึงหน้าห้องประชุมชั้น 2 ตึกวุฒิสภา โดยในหนังสือระบุว่าขอคัดค้านการจัดทำป่าชุมชนในป่าอนุรักษ์ และไม่ให้มีบทเฉพาะการใดๆ ที่เปิดโอกาสโดยเด็ดขาด อีกทั้งขอสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับที่ผ่านวุฒิสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท