ติง กปส. ละเมิด กม. บีบวิทยุชุมชนทำผิด

ประชาไท - 16 ก.ย. 48  ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวในเวทีไต่สวนสาธารณะ "ธรรมาภิบาลกับสถานการณ์วิทยุชุมชน"ที่รัฐสภา ติง กรมประชาสัมพันธ์ละเมิดกฎหมาย กรณีเข้ามาควบคุมการตั้งวิทยุชุมชน จนทำให้ประชาชนต้องทำผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่มีสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เพราะตามกฎหมายการตั้งวิทยุชุมชนต้องมีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) เพื่อร่วมกันกำหนดแผนแม่บทคลื่นความถี่ และทำตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ก่อนที่แต่ละองค์กรจะนำแนวทางไปใช้ แต่ตอนนี้มีเพียง กทช. เพราะ กสช.ยังไม่เกิด ซึ่งไม่เป็นธรรมที่จะให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นตัวแทน กสช.ไปประชุมร่วม และกำหนดนโยบายกับ กทช. เพราะตอนนี้มีกฎหมาย 2 ฉบับที่เห็นต่างกันอยู่

 

"กฎหมายปี 2530 ไม่อนุญาตให้ประชาชนทำวิทยุ แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิของประชาชน ซึ่งกลไกต่างๆ ทำให้ กทช. ต้องตกเป็นจำเลย เพราะความชอบธรรมมีเพียงแค่ครึ่งเดียว ดังนั้นวิทยุชุมชนต้องประกาศจุดยืนทั่วประเทศเพื่อให้รับรู้ว่ากรมประชาสัมพันธ์ ต้องการทำอะไร เพราะการให้เข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล หรือของกรมประชาสัมพันธ์ก็คือการละเมิดสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนมีภายใต้รัฐธรรมนูญ

 

ทั้งนี้วิทยุชุมชนจะปิดตัวชั่วคราว 30-45 วัน เพื่อให้องค์กรทำหน้าที่สรรหา กสช. ทำหน้าที่ให้แล้วเสร็จ หากเสร็จไม่ทันตามเวลา ก็ต้องปิดตัวเองเช่นกัน" ดร.เจษฎ์ กล่าว

 

ดร.เจษฎ์ ยังตั้งคำถามกับ ดร.กณพ เกตุชาติ ผู้แทนของนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ว่า กทช.และรัฐบาลยึดถือกฎหมายตัวใดที่จะไปจับวิทยุชุมชน เพราะมีกฎหมาย 2 ฉบับที่ต่างกันอยู่ ซึ่งก็ยังได้คำตอบที่ไม่ชัดเจน

 

ขณะที่ นายมนัส ทรงแสง รองเลขาธิการ กทช. ยืนยันว่า กทช. สนับสนุนการเกิดขึ้นของวิทยุชุมชนภาคประชาชน แต่สำหรับปัญหาที่มีสถานีเกิดใหม่จำนวนมากนั้น กทช.ได้เคยเสนอทางออกไปยังกรมประชาสัมพันธ์ และนายสุรนันทน์ แล้ว โดยขอให้ยกเลิกวิทยุชุมชนก่อนเพื่อหาทางแก้ปัญหา และต้องไม่มีโฆษณา แต่ก็ไม่มีการตอบรับใดๆ กับข้อเสนอดังกล่าว

 

สำหรับปัญหาการรบกวนนั้น เกิดจากได้รับการร้องเรียนจากนักบินที่ได้รับผลกระทบ และเมื่อไปตรวจสอบก็พบว่ามีคลื่นรบกวนจริงๆ จึงต้องทำหนังสือเตือน และสั่งปิด แต่ระดับการรบกวนจะทำให้เป็นอันตราย หรือมีผลต่อความปลอดภัยหรือไม่ ยังไม่มีข้อมูล" นายมนัส กล่าว

 

ขณะที่นายคทาทอง สุวรรณทัต นักบินการบินไทย กล่าวยืนยันว่า ตนเองบินมากว่า 8 เที่ยวต่อวัน หรือเดือนละไม่ต่ำกว่า 50 เที่ยวบิน ที่ผ่านมามีการรบกวนจากคลื่นวิทยุเพียง 1 ครั้ง  ซึ่งนายถนิต พรหมสถิต นักบินจากการบินไทยอีกท่านหนึ่ง ก็ยืนยันตรงกันว่า การรบกวนจากคลื่นวิทยุเกิดขึ้นได้ แต่ไม่มีทางกระทบจนเป็นอันตรายต่อการบิน

 

ด้าน น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวปิดเวทีการไต่สวนสาธารณะ โดยยืนยันว่า กรมประชาสัมพันธ์ และ กทช. ไม่มีสิทธิที่จะใช้อำนาจสั่งปิดวิทยุชุมชน เพราะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน นอกจากนี้สิ่งที่รัฐบาลควรต้องเร่งดำเนินการคือสร้างเวทีการหารือ การเรียนรู้ร่วมกัน และแยกความแตกต่างให้ชัดเจนระหว่างวิทยุชุมชนกับวิทยุภาคประกอบการ และต้องเป็นการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

 

ส่วนในการประชุมวันที่ 21 ก.ย.ที่กรมประชาสัมพันธ์จะจัดหารือนั้น ควรจะได้ข้อสรุปให้ตั้งคณะกรรมการไตรภาคี (ภาครัฐ, นักวิชาการ และประชาชน) เพื่อต่อยอดเวทีในแต่ละประเด็นปัญหา เช่น เทคนิค ประเภทการประกอบการ และขอให้เป็นความเห็นจากผู้แทนที่เป็นตัวจริง ที่สามารถสะท้อนปัญหาได้จริง น.พ.นิรันดร์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท