Skip to main content
sharethis

รายงานการวิจัยจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ชัดแบบเรียน สื่อหนังสือพิมพ์ และโฆษณาในสังคมไทย สร้างทัศนคติต่อการรับรู้เรื่องราวและความเข้าใจต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สวนกระแสกับความเป็นจริงในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการสร้างความสัมพันธ์อันดีในภาคประชาชนระหว่างประเทศในเอเชียอาคเนย์ และเป็นอุปสรรค์ต่อการรวมตัวเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้มแข็งในสังคมโลก


 


รายงานการวิจัยหัวข้อ "อุษาคเนย์ในการรับรู้ของสังคมและความเข้าใจของสังคมไทยร่วมสมัย" จัดขึ้น ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา มีความมุ่งเน้นให้เห็นถึง "ช่องว่าง" ระหว่างความรู้ที่ถูกผลิตขึ้นในสังคมไทยกับอุษาคเนย์ในโลกแห่งความเป็นจริงที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยรู้จักและเคยเข้าใจ


 


อาทิความรู้เกี่ยวกับประเทศกัมพูชาที่มุ่งเน้นถึงภาวะอันเป็นปรปักษ์ โดยเฉพาะสงครามที่เกิดขึ้นในอดีตแต่แรกสถาปนาสุโขทัยเป็นต้นมา ในขณะที่ภาพของประเทศกัมพูชาในโลกที่เป็นจริงในปัจจุบันสังคมยังไม่อาจเยียวยาบาดแผลอันเกิดจากสงครามและปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคเขมรแดงเรืองอำนาจ


 


ขอบเขตความรับรู้และการศึกษาที่มองประเทศเพื่อนบ้าน โดยยึดเอา "ไทย" หรือ "โลกตะวันตก" เป็นศูนย์กลาง ส่งผลให้องค์ความรู้เกี่ยวกับชุมชน ผู้คน บ้านเมืองในอุษาคเนย์ ถูกผลิตเพื่อสนองประโยชน์หรืออย่างน้อยก็ตอบคำถามของประเทศและ/หรือพันธมิตรตะวันตกเป็นที่ตั้ง


 


ภายใต้เพดานความคิดเช่นนี้ จึงทำให้พม่ามิได้มีความสำคัญเกินไปกว่าการเป็นประเทศคู่สงครามของไทย และประวัติศาสตร์ก็ตอกย้ำอยู่กับเหตุการณ์สงครามครั้งต่างๆ ซึ่งทุกบทตอนถูกนำมาใช้เป็นบทเรียนเพื่อตอกย้ำความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในชาติ (ไทย) ขณะที่ในอีกมิติหนึ่งคนไทยถูกทำให้เข้าใจพม่า ในฐานะประเทศที่ไร้ความสงบมั่นคง ขาดความเป็นประชาธิปไตย และละเมิดสิทธิมนุษยชน


 


เพดานความคิดเดียวกัน ยังทำให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและกัมพูชา เป็นตัวอย่างของประเทศที่ครั้งหนึ่งมีความสำคัญเพียงเป็นประเทศราชของไทยที่คอยติดแยกตนเป็นอิสระ ขณะที่ในปัจจุบันมิได้มีความสำคัญเกินไปกว่าประเทศด้อยพัฒนาในทุกด้าน แต่หนาแน่นด้วยทรัพยากรให้ตักตวง


 


นายกรกิต ชุ่มกรานต์ นักวิจัยในคณะผู้วิจัยหัวข้อ "อุษาคเนย์ในแบบเรียนของไทย" ระบุว่า"ความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านในแบบเรียนไทย นับตั้งแต่มีหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานครั้งแรกเมื่อปี 2503 เป็นการกล่าวถึงอุษาคเนย์โดยผูกติดเรื่องราวของตัวเอง (ประเทศไทย) เข้าไปในเกือบทุกๆ ด้าน มิได้ศึกษาเพื่อนบ้านแบบเป็นเอกเทศหรือกล่าวถึงเรื่องของเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ"


 


ฉะนั้นในสถานการณ์ที่ภูมิภาคอุษาคเนย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วฉับพลัน นับแต่สิ้นสุดการเผชิญหน้าของมหาอำนาจภายใต้การใช้พื้นที่อุษาคเนย์เป็นสมรภูมิทำสงครามลัทธิระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยและสังคมนิยม มาถึงการเติบโตขยายตัวของโลกทุนนิยมที่แผ่ผ่านอิทธิพลสู่ภูมิภาคนี้ในยุคโลกาภิวัตน์


 


พัฒนาการขององค์ความรู้ด้านอุษาคเนย์ที่ก่อเกิดและเติบโตภายใต้ "ระบบการศึกษา" ที่ภาครัฐไทยมีบทบาทควบคุมกำหนดยังไม่สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เกิดช่องว่างระหว่างองค์ความรู้ในระบบการศึกษากับโลกแห่งความเป็นจริง


 


ตัวอย่างรูปธรรมคือเกิดความล้าหลังของข้อมูลข่าวสารที่ใช้ในระบบการศึกษาโดยเฉพาะในหลักสูตรและแบบเรียน และยังมีปัญหาทับซ้อนที่เกิดจากดูดซับและเรียนรู้ผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อบันเทิง สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ของโลกสมัยใหม่ ที่มุ่งเน้นสร้างภาพลักษณ์ของเพื่อนบ้านเฉพาะส่วนเฉพาะด้าน ส่งผลกระทบต่อการรับรู้และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความจริงในยุคสมัยใหม่ของประชาคมไทยต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้


 


นางสาวพรพิมล ตรีโชติ นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะวิจัยหัวข้อ "สื่อหนังสือพิมพ์ไทยกับการสร้างภาพลักษณ์อุษาคเนย์" กล่าวว่า "โครงสร้างในการนำเสนอเรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้านในสื่อ โดยเฉพาะในหนังสือพิมพ์ที่นับว่าเป็นสื่อที่ก้าวหน้ามากแล้วในสังคมไทย ยังเต็มไปด้วยภาพแง่ลบ อคติ และการแสวงหาผลประโยชน์"


 


ในขณะที่สื่อโฆษณาที่มีความใกล้ชิดกับโลกยุคใหม่มากกว่าสื่ออื่นๆ และมีอิทธิพลต่อทัศนคติของคนในสังคมสมัยใหม่เป็นอย่างยิ่ง นักโฆษณาก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจต่อประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลต่อเนื้อหาในภาพยนตร์โฆษณา ซึ่งหลายครั้งสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ เช่นโฆษณาที่พูดถึงสงครามระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า


 


ฉะนั้นรายงานการวิจัยของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จึงมุ่งวิพากษ์ "ระบบความรู้" และ "กระบวนการรับรู้" ต่ออุษาคเนย์ที่มีในสังคมไทยปัจจุบัน


 


เพื่อให้เกิดการ "ตั้งหลัก" ที่มั่นคงต่อการกำหนดก้าวย่างทางการศึกษาทั้งในและนอกระบบ ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน และสร้างความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป


 


ทั้งนี้ ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ ผู้วิจารณ์งานวิจัยที่รายงานในวันนี้ กล่าวว่า "ปัญหาต่อการรับรู้และเข้าใจต่ออุษาคเนย์ของสังคมไทย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของแบบเรียน หลักสูตรการศึกษา หรือสื่อต่างๆ ต่างเกิดจากอคติ และงานวิชาการทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ต้องวิพากษ์อคติเหล่านี้ออกมาให้ล่อนจ้อน เพื่อสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นจริงกับยุคสมัย"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net