Skip to main content
sharethis








 

 

 

 

 

 

เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน

หลังจาก "ประชาไทออนไลน์" ได้นำเสนอบรรยากาศในหมู่บ้านบริเวณชายแดนมาเลเซีย - ไทย ฝั่งรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ด้านอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2548 ไปแล้ว


 


ผมได้กลับเข้าไปสำรวจบรรยากาศในเมืองโกตาบารู เมืองหลวงของรัฐกลันตัน ด้านด่านตาบา อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสอีกครั้ง


           








 

 

 

 

 

 

ด่านตาบา


ด่านตาบา ปกติจะเปิดด่านตั้งแต่เวลา 08.00 - 18.00 น. ต่างจากที่ด่านสุไหงโก-ลก ที่เปิดเวลา 06.00 - 21.00 น. ด่านนี้มีคนผ่านเข้าออกน้อยกว่า ข้อน่าสังเกต ก็คือ มีคนผ่านด่านเข้ามาเลเซีย มากกว่าเข้าประเทศไทย


 


จากการสอบถามว่า พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิมจากจังหวัดปัตตานี เข้าไปทำงานในมาเลเซีย มีทั้งผ่านเข้าไปทำงานในรัฐกลันตัน และในกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย


           


พ่อค้าขายปลาสดในตลาดชายแดนตาบา "มะยี สะแลแม" ยืนยันว่า ยังไม่มีคนในอำเภอตากใบ อพยพเข้าหนีเหตุการณ์ความไม่สงบอพยพเข้ามาเลเซีย คนที่อพยพส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านแถวอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส


 


ในทางกลับกัน นั่นหมายความว่า คนอำเภอตากใบยังพออยู่กันได้


 








 

 

 

 

 

ด่านปึงกาลันกูโบร์

การผ่านเข้าออกด่านนี้ ต้องขึ้นเรือข้ามฟาก ข้อที่น่าสังเกตอย่างยิ่ง ก็คือ ด่านฝั่งไทยไม่มีการตรวจใดๆ เลย ขณะที่ด่านปึงกาลันกูโบร์ ฝั่งมาเลเซีย ซึ่งอยู่ตรงกันข้าม กลับมีการตรวจค้นค่อนข้างละเอียด เช่นเดียวกับด่านตรวจบนทางหลวง ที่มุ่งหน้าไปเมืองโกตาบารู เมืองหลวงของรัฐกลันตัน


          


ที่เมืองโกตาบารู ผมได้พบกับ "โมฮาเม็ดไซนัลอาบีดีน บิน ฮูซิน" รัฐมนตรีท้องถิ่นแห่งรัฐกลันตัน ผู้ดูแลด้านการเคหะและสาธารณสุข


 



"โมฮาเม็ดไซนัลอาบีดีน บิน ฮูซิน" นำผมตระเวนดูสถานที่ต่างๆ ในเมืองโกตาบารูอย่างทั่วถึง


 


"เมืองโกตาบารูมีคนไทยเข้ามาอยู่น้อย คนไทยที่เข้ามาส่วนใหญ่อาศัยอยู่มานานจนกลายเป็นคนมาเลเซียไปแล้ว เกือบทั้งหมดเข้ามาเปิดร้านอาหาร ปกติแล้วคนไทยมุสลิม ใช้รัฐกลันตันเป็นทางผ่าน เดินทางต่อไปยังเมืองหลวงของมาเลเซีย"


 


เป็นคำบอกเล่าของ "โมฮาเม็ดไซนัลอาบีดีน บิน ฮูซิน" ผู้ยืนยันว่า


 


"ผมไม่ค่อยได้ยินว่า มีคนมุสลิมจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เข้ามาอาศัยอยู่กับญาติหรือคนรู้จัก ถ้ามีคนไทยเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตำรวจมาเลเซียต้องจับกุม นำตัวไปไว้ที่ศูนย์ควบคุมคนเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ใช้ควบคุมมุสลิมจังหวัดนราธิวาส 131 คนอยู่ตอนนี้"


           


ตามมาด้วยคำอธิบายที่ว่า ปัญหาการอพยพของคนมุสลิม 131 คน เป็นปัญหาระดับชาติ การตัดสินใจอยู่ที่รัฐบาลกลาง ท่าทีของรัฐบาลท้องถิ่น จึงขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลกลางมาเลเซีย สิ่งที่รัฐบาลท้องถิ่นทำได้ คือ ให้ความช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชนเท่านั้น


 


ส่วนข่าว "นิกอับดุลอาซิซ นิกมัต" มุขมนตรีแห่งรัฐกลันตัน เรี่ยไรเงินช่วยเหลือคนมุสลิมจากจังหวัดนราธิวาส 131 คน "โมฮาเม็ดไซนัลอาบีดีน บิน ฮูซิน" ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง และไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลกลันตัน แต่ยอมรับว่า มีประชาชนบางกลุ่มกำลังเรี่ยไรเงินช่วยเหลือมุสลิมจากชายแดนภาคใต้ของไทยกลุ่มนี้อยู่


           


ผมมีโอกาสติดตาม "โมฮาเม็ดไซนัลอาบีดีน บิน ฮูซิน" ไปยังปาเซร์ ปูเต๊ะห์ ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ชายแดนรัฐกลันตันกับรัฐตรังกานู เพื่อพบกับแกนนำพรรคปาส ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของมาเลเซียที่นั่น


           


ที่นี่ ผมได้คุยกับแกนนำพรรคปาส 3 คน ทุกคนล้วนต่างสอบถามถึงสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ด้วยท่าทีสนอกสนใจอย่างยิ่ง แต่ละคนยืนยันตรงกันว่า ในช่วงนี้ ไม่มีมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองปาเซร์ ปูเต๊ะห์ ส่วนคนที่เข้ามาก่อนหน้านี้แล้วหลายปี ส่วนใหญ่ย้ายไปทำงานในเมืองกัวลาลัมเปอร์


          


แกนนำพรรคปาสนาม "อุสตาซมะ" วิเคราะห์ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยว่า คงแก้ไขได้ยาก เพราะรัฐบาลไม่เข้าใจประชาชน แถมยังกดขี่ข่มเหงอีกต่างหาก เวลาจับกุมคนมุสลิม ก็ไม่รู้นำตัวไปไว้ที่ไป ศพก็หาไม่เจอ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ประชาชนจะไม่พอใจ


           


"มุสลิมจากจังหวัดนราธิวาสทั้ง 131 คน ถ้าส่งกลับไปประเทศไทยแล้ว ถ้าเกิดหายตัวไปอีก คนพวกนี้ก็ต้องหนีเข้ามาเลเซียอีกแน่นอน" เขากล่าว


           


ประเด็นที่น่าสนใจ อยู่ที่ "โมฮาเม็ดไซนัลอาบีดีน บิน ฮูซิน" ที่มองว่า คนกลันตันไม่ทราบต้นตอปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า มาจากสาเหตุอะไร แต่ในความเข้าใจของคนกลันตัน คือ มุสลิมในภาคใต้ของไทย ต่อสู้กับรัฐบาลไทยพุทธมานานแล้ว เพียงแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ แปลกกว่าที่ผ่านมา ไม่รู้ว่าความแตกต่างทางศาสนาจะเป็นสาเหตุด้วยหรือไม่


           


"จะว่าเป็นการก่อเหตุของขบวนการพูโลก็ไม่น่าจะใช่ เพราะเท่าที่ทราบวันนี้พูโลมีแต่ลมหายใจเท่านั้น ไม่น่าจะทำอะไรได้อีกแล้ว เพียงแต่อาจจะใช้โอกาสนี้โปรโมทตัวเอง กลุ่มคนที่มีความรู้เขาเข้าใจกันอย่างนี้ แต่ระดับชาวบ้านเขายังเข้าใจว่า รัฐไทยเป็นรัฐอธรรม ไม่เช่นนั้นชาวบ้านคงไม่กลัวทหารหรือตำรวจ" เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายจากปากรัฐมนตรีหนุ่มแห่งรัฐกลันตันผู้นี้


           


ผมเดินทางต่อไปยังศูนย์ควบคุมคนเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่เมืองตาเนาะห์แมเราะห์ สถานที่ควบคุมคนมุสลิมจากจังหวัดนราธิวาสทั้ง 131 คน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองโกตาบารูประมาณ 50 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางผ่านเมืองรันเตาปันยัง ซึ่งเป็นเมืองชายแดน ฝั่งตรงกันข้ามอำเภอสุไหงโก-ล ก


           


คราวนี้ ผมเดินทางไปกับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์รายปักษ์ "ฮารอกัต" นาม "รีซัล" ก่อนออกเดินทาง "รีซัล" ชวนผมไปดูสถานกงสุลไทยในรัฐกลันตัน น่าเสียดาย ผมได้พบเจ้าหน้าที่ไทยเพียงคนเดียว ส่วนกงสุลไม่อยู่


 


ปากคำจากเจ้าหน้าที่รายนี้ทำให้ผมรู้ว่า ก่อนหน้านี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาขอวีซ่าเข้าประเทศไทยแต่ละวันจำนวนมาก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ จำนวนที่มากก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ จนถึงขณะนี้เกือบจะไม่มีชาวต่างชาติมาขอวีซ่าเข้าประเทศไทยอีกเลย


           


ระหว่างเดินทางไปตาเนาะห์ แมเราะห์ "รีซัล" บอกว่า รัฐกลันตันได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไม่มากนัก ส่วนที่ได้รับผลกระทบอยู่บ้าง น่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่ลดลงจาก 2 ปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด


           


คำยืนยันจากปาก "รีซัล" ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ก็คือ ไม่เคยได้ยินชื่อ "องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งปัตตานีมลายู" หรือ "PMHRO" ที่ถูกรัฐบาลไทยระบุว่า อยู่เบื้องหลังการอพยพของคนมุสลิมจากจังหวัดนราธิวาส 131 คน


           


เมื่อไปถึงศูนย์ควบคุมคนเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต ผมพบว่า มีลักษณะเหมือนกับคุกในเมืองไทย มีลวดหนามวางไว้รอบๆ อย่างแน่นหนา


           


เมื่อผมเข้าไปที่ศูนย์ เพื่อจะขออนุญาตเข้าเยี่ยมผู้อพยพก็พบว่า ศูนย์แห่งนี้เป็นสถานที่ "ห้ามเข้า" และ "ห้ามถ่ายรูป"


 


ผมได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ว่า บริเวณรอบๆ มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเฝ้ารักษาความปลอดภัยจำนวนมาก ซึ่งอาจจะเป็นจริง เพราะจากการสังเกตุอย่างตั้งใจ ผมมองเห็นชายฉกรรจ์ยืนอยู่เป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 3 - 4 คน


           


จากการตระเวนรัฐกลันตัน ผมพบว่าคนมาเลเซียวิตกกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่น้อยกว่าคนในประเทศไทย


           


เป็นความวิตกกังวล อันสืบเนื่องมาจากความผูกพันเกี่ยวดองเป็นญาติสนิท เป็นมิตรสหาย และเป็นผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลามด้วยกัน


           


อันเป็นความผูกพัน ที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง เปราะบางอย่างยิ่ง ต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net