Skip to main content
sharethis


           


 


            


ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา  ต้องเรียกว่าเป็น "สัปดาห์แห่งการเรียนรู้ของวงการสื่อมวลชน"


            โดยเฉพาะจากกรณีที่บริษัทแกรมมี่ซื้อหุ้นกิจการในเครือมติชนและในเครือบางกอกโพสต์   ซึ่งน่าจะทำให้สังคมได้คิด ชั่งใจ  ตระหนัก และ "รู้ทันสื่อ" ดังต่อไปนี้


 


            1. หลังจากที่มีการเปิดเผยข่าวว่า แกรมมี่พยายามจะเข้าเทคโอเวอร์บริษัทมติชน โดยวิธีการรวบซื้อหุ้นอย่างเงียบๆ  เพื่อให้ตนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทมติชน แซงหน้า "พี่ช้าง" ขรรค์ชัย บุนปาน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและบุกเบิก  ก็ปรากฏว่า เกิดกระแส "ต่อต้านแกรมมี่" จากภาคสังคม นักวิชาการ ปัญญาชน และคนทำสื่อ  ถึงขนาดว่ามีการรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อสนับสนุนผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมของมติชน และในท้ายที่สุด เมื่อชัยชนะเป็นของผู้ถือหุ้นคนเดิม เราเองก็แอบดีใจไปด้วย


            2. ในขณะเดียวกัน ก็มีการเปิดเผยว่า แกรมมี่ได้ซื้อหุ้นของบางกอกโพสต์ (เจ้าของหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวัน บางกอกโพสต์ และโพสต์ทูเดย์ ) ไปถือครองไว้ในสัดส่วน 23%  กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เรียบร้อยแล้ว และกำลังจะเจรจากับผู้ถือหุ้นเดิมเพื่อซื้อหุ้นเพิ่ม และวางแนวทางการบริหารจัดการร่วมกันต่อไป


            3. น่าแปลกใจ  กรณีของการซื้อหุ้นมติชน กลายเป็นที่สนใจในวงกว้างยิ่งกว่ากรณีการซื้อหุ้นบางกอกโพสต์ ทั้งๆ ที่ ในระยะที่ผ่านมา หากเปรียบเทียบดูความ "เข้มข้น" และท่าทีของความเป็นอิสระของหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกนำเสนอประเด็นข่าวสาร การติดตามขุดคุ้ย การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การพาดหัวข่าว ฯลฯ  แม้มติชนจะสั่งสมชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือมายาวนาน  แต่ระยะหลัง ดูเหมือนว่าหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ จะทำหน้าที่ได้อย่างน่าชื่นชมยิ่งกว่า  เพราะฉะนั้น ถ้าคิดว่ามีการเมืองที่ต้องการ "ปิดปากสื่อ" อยู่เบื้องหลังจริงๆ ก็น่าจะคิดว่า การเมืองนั้นน่าจะต้องการมุ่งเป้าหมายไปที่ "บางกอกโพสต์" มากกว่า "มติชน" ซึ่งได้รับคำชมเชยจากนายกรัฐมนตรีให้เข้าใจว่า หน้า 3 มติชน เขียนชมรัฐบาลได้อย่างแยบคายด้วยซ้ำไป


และอย่าลืมว่า "บางกอกโพสต์"  เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ซึ่งมักจะถูกอ้างอิงข่าวสาร ข้อมูล ตลอดจนทัศนะ เพื่อแพร่ขยายต่อไปโดยสื่อต่างประเทศ  ดังนั้น ถ้าใครต้องการจะ "สร้างชื่อระดับโลก" หรือ "โก อินเตอร์" (Go Inter) ก็คงจะต้องจับบางกอกโพสต์ให้มั่นคั้นให้ตาย ซึ่งต่อไปนี้ก็อาจจะตายจริง โดยที่ประชาชนโหมสนใจแต่กลเกมในการซื้อมติชน


 


4. หากพิจารณากลยุทธ์ของแกรมมี่ในการเข้าซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์ครั้งนี้ จะมองเห็นความคล้ายคลึงกับกลวิธีของนักธุรกิจที่เคยใช้เข้าเทคโอเวอร์พรรคการเมืองในอดีต จะเห็นได้ว่า


ประการแรก  นักธุรกิจที่ต้องการจะมีหนังสือพิมพ์ไว้ครอบครองในครั้งนี้ กับนักธุรกิจที่ต้องการจะมีพรรคการเมืองไว้ในครอบครองในอดีต  ตัดสินใจใช้วิธีคล้ายๆ กัน คือ ใช้เงินซื้อ  ไม่ก่อร่างสร้างขึ้นมาใหม่


ประการที่สอง เห็นว่า ก่อนหน้าที่จะมีพรรคไทยรักไทย  นักธุรกิจผู้ร่ำรวยคิดจะเข้าสู่วงการเมือง เคยวางกลยุทธ์ในการเข้าเทคโอเวอร์พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม โดยเลือกว่าจะเข้าไปยึดครองพรรคการเมืองขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ คล้ายกันกับนักธุรกิจที่จะต้องเลือกว่าจะ "ฮุบ" หนังสือพิมพ์ขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่  จะเอาเล่มไหนที่ "สมประโยชน์" หรือ "บรรลุตามจุดมุ่งหมาย" ง่ายที่สุด ซึ่งในอดีตนักธุรกิจการเมืองได้เลือกเทคโอเวอร์พรรคการเมืองที่ "พอจะมีทุนทางสังคมเหลืออยู่" เช่นเดียวกับนักธุรกิจสื่อที่ครั้งนี้เลือกหนังสือพิมพ์ที่สังคมยังมีความเชื่อถืออยู่


ประการที่สาม นักธุรกิจการเมืองในอดีต เคยใช้กลวิธีให้ประโยชน์แก่หัวหน้าเก่าจนพอใจ แล้ว "ตีท้ายครัว" แอบเข้าหา "หลังบ้าน" ของพรรคการเมือง    แอบใช้ "หนอนบ่อนไส้" ซึ่งครั้งนั้นก็ได้แก่กลุ่มนักการเมืองหญิง และกลุ่มคนที่มีปูมหลังความน่าเชื่อถือเดิมๆ อยู่สายวัด สายห้าสลึง เป็นคนเดือนตุลา เป็นนักเคลื่อนไหวต่อสู้ เป็นต้น เมื่อมาในครั้งนี้ นักธุรกิจสื่อก็ใช้กลวิธีไม่ต่างกัน  เลือกใช้หนอนในไส้ของหนังสือพิมพ์ ทั้งลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ซึ่งบางตัวก็ถูกถ่ายยาหลุดออกมา บางตัวก็ยังไม่ออก


ประการที่สี่  เมื่อนักธุรกิจการเมืองเข้าเทคโอเวอร์ หรือครอบงำกิจการพรรคการเมืองในอดีต ก็ฉลาดพอที่จะยังเก็บหัวหน้าพรรคคนเดิมเอาไว้เป็น "หัวโขน" ต่อไป เพื่อเชิดชูภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กร ก่อนจะค่อยๆ ถ่ายเลือดเสียเข้าแทนเลือดดี ทำให้คนดีๆ เดิมๆ ค่อยๆ ล่าถอยหนีหายไปอย่างช้าๆ ไม่เป็นข่าวครึกโครม ไม่เสียภาพลักษณ์ ไม่กระทบความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่มี "มูลค่า" สำคัญที่สุดของพรรคการเมือง สุดท้ายก็เหลือแต่พวก "ยี้" ยั๊วเยี้ย


กรณีของนักธุรกิจสื่อ ก็คาดว่าคงจะไม่ต่างกัน เพราะจะต้องพยายามรักษาบุคคลระดับนำในองค์กรหนังสือพิมพ์ที่สร้างสมความน่าเชื่อถือให้แก่หนังสือพิมพ์มายาวนาน มิให้ยกทัพ ตีฝ่าออกไปทำหนังสือพิมพ์เล่มใหม่ หรือลาออก เพื่อมิให้มีผลสะเทือนทางความน่าเชื่อถือของหนังสือพิมพ์ภายใต้การชี้นำกำกับทิศทางในโครงสร้างความเป็นเจ้าของใหม่


 


5. ล่าสุด ปรากฏข่าวว่า ผู้บริหารมติชน กับผู้บริหารแกรมมี่ แถลงข่าวจับมือกัน แสดงออกเสมือนว่า "แฮปปี้ เอนดิ้ง" โดยฝ่ายแกรมมี่ตกลงจะถือหุ้น 20%  ส่วนที่เกินจากนั้นจะขายให้ผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดิมของมติชน เป็นเหตุให้หนังสือพิมพ์มติชน ได้พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งเมื่อสันเสาร์ว่า "มติชน พ้นฮุบ"


น่ายินดี ที่แรงสนับสนุนของภาคประชาชน และคนทำสื่อ ได้ร่วมกันแสดงออกถึงพลังของผู้รักใน "เสรีภาพสื่อ เสรีภาพประชาชน" จะไม่ยอมจำนนให้ใคร "ผูกขาด" ข้อมูลข่าวสารในสังคมได้ง่ายๆ แต่...


แต่ข้อเท็จจริงที่เปิดเผยแล้วก็คือว่า ขณะนี้ แกรมมี่ได้ถือหุ้นบางกอกโพสต์ 23% ในขณะเดียวกันก็จะถือหุ้นมติชน 20%


           


น่าแปลกใจ และก็น่าทึ่ง!!!


ถ้าหากแกรมมี่เข้ามาซื้อหุ้นบางกอกโพสต์แห่งเดียว ก็คงจะถูกวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านอย่างหนัก 


หรือถ้าหากแกรมมี่ประกาศตรงไปตรงมาว่าต้องการซื้อหุ้นมติชน ด้วยการถือหุ้นสัก 20%  และให้ผู้ถือหุ้นเดิมถือหุ้นเพิ่มอีก 12% ก็คงจะถูกต่อต้านไม่เบา  เพราะหุ้นสัดส่วน 20% ก็ไม่ใช่น้อย สามารถจะทำให้ทั้งสองคนและสองบริษัท "รวมหัว" หรือ ร่วมดำเนินธุรกิจในบางลักษณะอย่างสมประโยชน์ร่วมกัน เช่น โฆษณา หรือในด้านธุรกิจบันเทิงและธุรกิจการเมือง ซึ่งก็เพียงพอที่จะทำให้มติชนและบางกอกโพสต์เปลี่ยนไปได้มากกว่าเดิม


แต่เมื่อแกรมมี่เปิดเกมประกาศอย่างดุดัน ว่าต้องการจะเทคโอเวอร์โดยเข้าถือหุ้นใหญ่ในมติชน พร้อมๆ กับการเข้าซื้อหุ้นกว่า 23% ของบางกอกโพสต์  ก็ทำให้สังคมเทน้ำหนักมาปกป้อง "มติชน" เพราะกระทบคนไทยวงกว้างมากกว่า พร้อมไปกับการ "ปั่นราคา" การเน้นคุณค่าของภาพสื่อหนังสือพิมพ์อิสระตีตราประทับให้ "มติชน" บอกว่าเป็นสื่อที่คนในสังคมจะต้องช่วยกันปกป้องคุ้มครอง จนเกิดเป็นกระแสสังคม ทำให้ "มติชน" ได้ภาพลักษณ์นั้นคืนมาโดยเร็ว ทั้งๆ ที่ในช่วงหลังๆ เริ่มถูกตั้งคำถามถึงความตรงไปตรงมาในการเลือกประเด็นข่าวสาร


นอกจากนี้ ยังน่าคิดถึงผลประโยชน์ที่ว่า  ข่าวการซื้อหุ้นมติชนถูกเปิดออกมาในช่วงวันจันทร์ ก่อนจะมาปิดเรื่องกันในวันศุกร์  ระหว่างวันทำการของตลาดหลักทรัพย์ในช่วงตลอดสัปดาห์นั้น ปรากฏว่า หุ้นมติชนเคยพุ่งจากราคาแถวๆ 11 บาท ขึ้นไปถึง 17-18 บาท


ที่น่าทึ่งที่สุดคือ เมื่อมติชนออกมาแถลงว่า จะถูกซื้อโดยแกรมมี่ ในสัดส่วน 20%   ก็แทบไม่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความห่วงใยถึงบทบาทการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา หรือจุดยืนทางผลประโยชน์ของมติชน ที่อาจจะเปลี่ยนไปในฐานะหุ้นส่วนทางธุรกิจของแกรมมี่อีกเลย!!!


งานนี้ แกรมมี่ได้ครอบครองหุ้นทั้งของบางกอกโพสต์และมติชน   ส่วนมติชนก็ได้ภาพลักษณ์การเป็นสื่อหนังสือพิมพ์อิสระที่ประชาชนช่วยกันต่อสู้รักษาไว้ และยังได้หุ้นส่วนทางธุรกิจที่ใกล้ชิดรัฐบาล ซึ่งคงจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ผ่อนเบาให้ลอยลม โดยเฉพาในเรื่องการหารายได้ค่าโฆษณา และเรื่องคดีความฟ้องร้อง


ขอแสดงความยินดี  ดีใจในความลุ่มลึก และก็หวังว่า "มติชน" จะเร่งพิสูจน์ตัวเอง ว่ามีคุณค่าสมกับที่ประชาชนช่วยกันออกมาต่อสู้


 


6.ในอนาคตอันใกล้  หลังจากที่แกรมมี่ฯ ได้ถือครองหุ้นในธุรกิจหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ (มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ โพสต์ทูเดย์ และบางกอกโพสต์)  หากปรากฏว่า จะได้ครอบครองวิทยุและโทรทัศน์ ผ่านการจัดสรรของ กสช.  สังคมไทยก็จะมี "มหาบุรุษ" ผู้มีอำนาจยึดกุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในสังคมครบวงจร


            กล่าวคือ จะมีองค์กรหนึ่งองค์กรใด ได้เป็นเจ้าขององค์กรสื่อมวลชนข้ามสายพันธุ์ ข้ามประเภท คือ เป็นทั้งเจ้าของหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ซึ่งจะทำให้พลังอำนาจมหาศาลในการชี้นำสังคม


            สภาพการณ์เช่นนี้ เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในหลายประเทศ เพราะเป็นความสุ่มเสี่ยงอย่างใหญ่หลวง ที่จะให้ใครมีอำนาจ "เลือกสรร" ข้อมูลข่าวสารป้อนสังคม แบบครบวงจร


            สังคมไทยจะเอากันอย่างไร จะเตรียมรับมืออย่างไร กับปัญหาเหล่านี้


ควรจะมีการออกกฎหมายห้ามการถือครองหุ้นในกิจการสื่อมวลชนข้ามชนิดของสื่อ เพื่อป้องกันการกระจุกตัวของอำนาจในธุรกิจสื่อมวลชน ได้ไหม?   ควรจะมีการวางแนวทางป้องกันการเทคโอเวอร์ในวงการสื่อมวลชนที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อส่วนรวม หรือยัง?   


ปฏิบัติการ "ซื้อสื่อแบบเซียน" ในครั้งนี้  ดูเหมือนว่า  แกรมมี่ฯ จะไม่ใช่คนเดียวที่ได้รับผลประโยชน์


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net