Skip to main content
sharethis

ประชาไท—19  ก.ย. 48  สอบ.ออกโรงสกัด อ้างรัฐเบี่ยงประเด็นชะลอขึ้นค่าไฟ  ร้องให้ทบทวนระบบโครงสร้างค่าไฟไม่ใช่แค่ยกเลิกค่าเอฟที เผย กฟผ.เข้าตลาดหุ้นทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์แต่กำไรเข้ากระเป๋านักลงทุน เรียกร้องให้รื้อโครงสร้างค่าไฟใหม่ทั้งระบบโดยต้องมีขั้นตอนที่โปร่งใสตรวจสอบได้


                                                                                               


เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา กำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การกำหนดค่าไฟฟ้าจากเดิมที่อ้างอิงความจำเป็นของการไฟฟ้าต่อการลงทุนขยายระบบและชำระหนี้  มาเป็นการใช้เกณฑ์ประกันผลตอบแทนการลงทุน (Return on Invested Capital: ROIC) อันมีผลโดยตรงต่อการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะจะนำค่าไฟฟ้าผันแปรอนุมัติหรือค่าเอฟทีมารวมกับค่าไฟฟ้าฐาน จนทำให้หลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ทำให้รัฐบาลต้องยกเลิกการนำค่าเอฟทีมารวมกับค่าไฟฟ้าฐานนั้น


 


แถลงการณ์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) ระบุว่า การยกเลิกคิดค่าเอฟทีในค่าไฟฟ้าฐาน ความเป็นจริงไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สิ่งที่ผู้บริโภคเรียกร้องคือต้องการให้มีการทบทวนสมมติฐานต่างๆ ที่ใช้ในการกำหนดค่าไฟฟ้าให้เป็นปัจจุบันอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ไม่ใช่ทำเพื่อเอาใจนักลงทุน


 


นอกจากนี้ สอบ. ยังชี้ว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องรับภาระค่าไฟฟ้าที่คาดว่าจะสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้นำเกณฑ์ ROIC ที่ได้ตั้งไว้สูงถึง 8.7% มาประกันผลตอบแทนนั้น เท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนมากเกินจำเป็น โดยเห็นว่าการนำโครงสร้างนี้มาใช้เพื่อก็เพื่อให้หุ้น กฟผ.เป็นที่ดึงดูดของนักลงทุน ซึ่งจะทำให้ผลประโยชน์ของประเทศรั่วไหลโดยไม่จำเป็น


 


กล่าวคือ ตามเกณฑ์ดังกล่าวมีการเกลี่ยรายได้ให้กับ กฟน.และ กฟภ.น้อยลง แต่ให้ กฟผ.มีกำไรสูงกว่า เท่ากับว่ารายได้ของกระทรวงการคลังจะได้รับน้อยลงด้วยเช่นกัน เพราะว่าทั้ง 2 การไฟฟ้าถือเป็นหน่วยงานของรัฐ 100% ในขณะที่กำไรของ กฟผ.ภายหลังการกระจายหุ้นนั้น จะถูกส่งคืนกระทรวงการคลังเพียงบางส่วน ที่เหลือจะตกเป็นผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเอกชนส่วนน้อย เท่ากับว่าผลประโยชน์ของประชาชนจะรั่วไหลไปด้วย


 


อย่างไรก็ตาม สอบ. ยืนยันที่จะให้รัฐบาลทบทวนหลักเกณฑ์และโครงสร้างการคิดค่าไฟฟ้าใหม่ทั้งระบบ  และเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส ทั้งยังชี้ให้ประชาชนตื่นตัวถึงผลกระทบหาก กฟผ.จะเข้าสู่ตลาดหุ้นอีกด้วย


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net