Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 19 ก.ย.48      เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน-ชาวนา ระบุร่าง "พ.ร.บ.ข้าวแห่งชาติ" เอื้อ "ซีพี" สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษบังคับชาวนาปลูกข้าว"พันธุ์ดี" พร้อมเร่งกระจายข่าวถึงชาวนา 20 ล้านทั่วประเทศ หลังพบสัญญาณอันตราย ยกร่างไม่ถึง 2 เดือนเตรียมซุ่มเงียบเข้าครม.


 


ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง "ร่างพ.ร.บ.ข้าวแห่งชาติ" จัดโดยเครือ ข่ายชาวนา องค์กรพัฒนาเอกชน ตัวแทนผู้ประกอบการ โดยมีการเชิญตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมชี้แจงข้อมูล


 


นายวีรพล โสภา ชาวนาจากบุรีรัมย์ ตัวแทนสภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเอื้อประโยชน์ให้บริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ทั้งในและนอกประเทศ เพราะขณะนี้เอกชนได้ "แบ่งเค้ก" พื้นที่กันเรียบร้อยแล้ว เหลืออยู่เพียงว่าจะมีวิธีบังคับชาวนาอย่างไรให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์


 


ชาวนาจากบุรีรัมย์ระบุถึงเบื้องหลังการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ว่า กฎหมายนี้มีจุดประสงค์ชัดเจนว่ามุ่งเน้นการส่งออกเป็นหลัก โดยพันธุ์ข้าวของประเทศไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกสูง คือ ข้าวหอมมะลิ ซึ่งปลูกกันมากทางภาคอีสาน ส่วนภาคกลางนั้นส่วนใหญ่ปลูกข้าวเกรดปานกลางและเกรดต่ำที่มีคู่แข่งสำคัญคือเวียดนามและสหรัฐ ขณะเดียวกันบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ "ซีพี" ก็เริ่มจับธุรกิจเรื่องข้าว และมีเป้าหมายที่จะหาพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิให้ได้ 3-4 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ในทุ่งกุลาร้องไห้ไม่เพียงพอ จึงอาจมีแผนการขยายมายังพื้นที่ภาคกลาง


 


"ผมไม่ได้ปฏิเสธการการแก้ปัญหาของชาวนาอย่างเป็นระบบ แต่ไม่ใช่โดยวิธีนี้ เราต้องเร่งทำแผนสู้กับพ.ร.บ.นี้และแจ้งข่าวสู่ชาวนา 20 ล้านคน ที่ยังไม่รู้เรื่อง ผมเชื่อว่า 90% ที่รู้จะไม่มีใครเอา ยกเว้นชาวนาอุปโลกน์" นายวีรพลกล่าว


งุบงิบพิจารณ์ เตรียมเข้าครม.


นายเดชา ศิริภัทร จากมูลนิธิข้าวขวัญ ระบุว่า หัวใจสำคัญของร่างพ.ร.บ.ข้าวแห่งชาติ คือการจัดระเบียบ(โซนนิ่ง) ข้าวทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาด รวมทั้งให้มีการขึ้นทะเบียนชาวนา และจัดทำโซนนิ่งเพื่อปลูกข้าวในรูปของการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีสภาพบังคับและลงโทษชาวนาที่ไม่ให้ความร่วมมือในการปลูกข้าว "พันธุ์ดี" ที่ราชการกำหนด นอกจากนี้ยังมีการตั้งกองทุนให้สิทธิพิเศษแก่ชาวนาและผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการไม่ยุติธรรม เพราะนำเงินภาษีงบประมาณของคนทั้งประเทศมาสนับสนุนคนเพียงกลุ่มเดียว


 


นายเดชา กล่าวอย่างชัดเจนด้วยว่า ตนไม่สามารถรับได้กับกระบวนการจัดทำร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้และเสนอให้ยกเลิกไป เนื่องจากร่างฉบับนี้มีคนยกร่างเพียงคนเดียว ทำการศึกษาข้อมูลทั้งหมด แล้วเขียนกฎหมายภายใน 7 วันโดยไม่มีการส่วนร่วม นอกจากนี้การประชาพิจารณ์ที่มีไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็มีแต่ข้าราชการและผู้ประกอบการจำนวนไม่มากนัก โดยมีชาวนาจากสมาคมชาวนาไทยไปร่วมเพียง 2 คน ซึ่งก็ไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ในที่ประชุม และขณะนี้ทราบว่าร่างพ.ร.บ.นี้ได้ผ่านคณะกลั่นกรองเรื่องเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของครม.แล้ว


 


"ในวันนั้นมีการพูดกันมากถึงนิยามของ "ชาวนา" ในกฎหมายที่ไม่ชัดเจนอย่างยิ่ง และมีการเสนอว่าควรระบุว่า ชาวนาคือผู้มีอาชีพหลักและมีรายได้หลักจากการทำนา ไม่เช่นนั้นใครก็สามารถเป็นชาวนาได้หมด แต่ถึงที่สุดเรื่องนี้ก็ไม่ได้รับการใส่ใจ" นายเดชากล่าวพร้อมระบุว่า ควรมีการทบทวนถึงจุดเริ่มต้นว่า ควรมีกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ เพราะตนไม่ต้องการให้เหมือนพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ที่แม้หลักการดี แต่การนำไปใช้ก็หนีไม่พ้นการคุ้มครองบริษัท นักวิจัยพันธุ์ โดยไม่สามารถให้ความคุ้มครองเกษตรกรได้ ซึ่งไม่มีกฎหมายเสียเลยยังดีกว่า


 


ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ข้าวแห่งชาติ กำหนดนิยาม "ชาวนา" หมายความว่า ผู้ปลูกข้าวและมีสิทธิได้รับผลประ โยชน์จากผลผลิตข้าวที่ปลูกนั้น


รัฐแก้ปมที่ดินไม่ตรงที่คัน


นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของร่างกฎหมายนี้ที่ต้องการแก้ ปัญหาชาวนาอย่างเป็นระบบ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีองค์กรดูแลอย่างครบวงจร มีกองทุนบริหารจัดการที่เป็นอิสระ เพื่อให้ความช่วยเหลือ สิทธิพิเศษแก่ชาวนา และมีการรับรองมาตรฐาน แต่กฎหมายฉบับนี้มุ่งแต่การขายเท่านั้น โดยละเลยการสร้างความเป็นธรรมทั้งกระบวนการตั้งแต่การผลิตไปจนถึงผู้บริโภค อีกทั้งการจัดการที่ต้องการให้เป็นเอกภาพควรเป็นรูปแบบการส่งเสริม สนับสนุน ไม่ใช่การบังคับ  การสร้างความเป็นธรรมทั้งกระบวนการตั้งแต่การผลิตไปจนถึงผู้บริโภค อีกทั้งการจัดการที่ต้องการให้เป็นเอกภาพ


 


"ที่สำคัญพ.ร.บ.นี้อุ้มชาวนาไม่ถูกต้อง เพราะชาวนากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ไม่มีที่ดินทำกิน ใน อ.ท่างาม จ.ปราจีน ชาวนารายย่อยเกือบทั้งหมดต้องเช่าที่ดินของรายใหญ่ไม่กี่ราย รัฐต้องวิเคราะห์ปัญหาของชาวนาให้ชัดเจน ผมอยากเห็นพ.ร.บ.นี้พูดถึงหลักประกันเรื่องที่ดินให้กับชาวนา และการยกระดับองค์ความรู้ ภูมิปัญญาของชาวนา รวมทั้งเป้าหมายของกฎหมายต้องเปลี่ยนจากการส่งออก ไปเป็นการบริหารจัดการข้าว ชาวนา ที่สมดุลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศ" นักวิชาการอิสระกล่าว


 


ขณะที่นายวัลลภ พิศพงศา จากบริษัทส่งออกข้าวอินทรีย์รายใหญ่ระบุว่า การกระจายข้อมูลเรื่องนี้แคบมาก แม้แต่ผู้ประกอบการส่งออกข้าวก็ยังไม่ค่อยทราบรายละเอียดของกฎหมาย ซึ่งเมื่อมาดูแล้วพบว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษจะไม่เพียงบังคับเพียงชาวนาให้ปลูกข้าวพันธุ์ดีเท่านั้น แต่เพื่อปกป้องการไหลของข้าว เปลือกก็คงบังคับให้โรงสีในพื้นที่นั้นๆ สีเฉพาะข้าวพันธุ์ดีด้วย ทั้งที่แต่ละโรงสีมีความชำนาญในการสีข้าวสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ส่วนผู้ส่งออกก็คงจะตกใจหากทราบมาตรา 12 เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมภาษีส่งออก นำเข้าข้าว เพราะตลาดตอนนี้แข่งขันกันสูงมาก


 


ท้ายที่สุด เครือข่ายภาคการเกษตร นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้ออกแถลงการณ์ขอเสนอให้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.ข้าวแห่งชาติฉบับนี้ออกจากการพิจารณาของครม. ก่อน และให้มีการจัดทำพ.ร.บ.กันใหม่โดยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วม


 


(อ่านมาตราว่าด้วย คณะกรรมการข้าวแห่งชาติ และ เขตเศรษฐกิจพิเศษปลูกข้าวพันธุ์ดี ได้ในข่าวประกอบ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net