Skip to main content
sharethis

ว่ากันว่าประเทศไทยมีพันธุ์ข้าวถึง 3,500 สายพันธุ์! ฟังแล้วคงดูอัศจรรย์สำหรับผู้คนจำนวนมากที่พึ่งพิงอาหารจากเทสโก้โลตัส แมคโคร บิ๊กซี ท็อปส์ ฯลฯ เป็นหลัก เพราะมองไม่เห็นข้าวกี่ชนิดบนชั้น ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิ 105 (ข้าวขาวดอกมะลิ) พันธุ์กข พันธุ์ปทุมธานี และพันธุ์อื่นๆ ที่หน่วยงานรัฐพัฒนาและส่งเสริมให้ปลูกภายใต้ชื่อยี่ห้อต่างๆ  ส่วนพันธุ์ดั้งเดิมพื้นถิ่นที่เหลือต้องตามไป "ดู" ในพิพิธภัณฑ์ และเรื่อง "ชิม" นั้นคงไม่ต้องพูดถึง


 


ไม่เชื่อไปดูในศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ ซึ่งมีตัวอย่างพันธุ์ข้าวพื้นเมืองและข้าวพันธุ์ผสมชื่อแปลกๆ หลายสายพันธุ์ให้ชม อาทิ ข้าวเหมยนอง ข้าวมาโลโมน ข้าวเก้ารวง ข้าวเหนียวสันป่าตอง ข้าวปิ่นแก้ว ข้าวลายน้อย ข้าวเล็บนก ข้าวเหนียวดำ ข้าวนางมล ข้าวเหลืองประทิว ข้าวไอวอเหม่ย ข้าวนก ข้าวแดง ข้าวขาวดอกมะลิ ข้าวเหนียวบีแดง


 


ความยิ่งใหญ่ของ "ข้าว" สะท้อนชัดจากการที่ประชากรครึ่งหนึ่งของโลกกินข้าวเป็นอาหารหลัก และ 90 เปอร์เซนต์ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนั้นเพื่อเป็นอาหารของคนในทวีปเอเชีย โดยประมาณการณ์ขั้นต่ำพบว่า โลกนี้เคยมีพันธุ์ข้าวหลากหลายราว 120,000 สายพันธุ์ แต่หลังยุค "ปฏิวัติเขียว" ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวก็ลดลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามยังพบด้วยว่า ความนิยมในการบริโภคข้าวของได้เริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่คนตะวันตกและคนแอฟริกันด้วยเช่นกัน


 


สำหรับประเทศไทย "ข้าวหอมมะลิ" เป็นพระเอกที่สร้างความภาคภูมิใจของคนไทยมายาวนาน เพราะได้รับความนิยมในการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศราว 67 ล้านไร่นั้น แบ่งปลูกพันธุ์หอมมะลิ  26 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์ กข 6  28 เปอร์เซนต์ พันธุ์พื้นเมือง 18 เปอร์เซนต์ พันธุ์ชัยนาท 9 เปอร์เซนต์ และอื่นๆ อีกเล็กน้อย 


 


ปริมาณการส่งออกของข้าวหอมมะลิคิดเป็น 1 ใน 4 ของยอดการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด โดยตัวเลขการส่งออกปี 2547 อยู่ที่ 2.28 ล้านตัน มูลค่าราว 35,572 ล้านบาท มีตลาดใหญ่ในประเทศจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ พม่ ลาวและในแถบแอฟริกาบางประเทศ


 


ข้าวจึงนับเป็นตัวเป็นตนของคนไทย โดยมีความสำคัญทั้งแง่วิถีวัฒนธรรมและทางเศรษฐกิจ


 


ความภูมิใจดังกล่าว เคยได้รับความท้าทายครั้งใหญ่จากโลกทุนนิยมในปี 2542  เมื่อสหรัฐอนุญาตให้อุตสาหกรรมข้าวภายในประเทศของตนสามารถขายข้าวเมล็ดยาวพันธุ์ใดก็ได้ ภายใต้ชื่อ "จัสมินไรซ์" โดยสหรัฐอ้างว่านั่นเป็นชื่อทั่วไป (Generic name) และบริษัทไรซ์เทค ของสหรัฐ ได้จดเครื่องหมายการค้า"จัสมาติ" (Jusmati) แล้วแอบอ้างว่าเป็นข้าวหอมมะลิที่ปลูกในรัฐเท็กซัส อันจะสร้างความเข้าใจผิดให้ผู้บริโภคทั่วโลกว่าเป็นข้าวไทยได้ง่าย เกษตรกรและคนไทยทั้งประเทศจึงไม่พอใจจนต้องประท้วงกัน กระทั่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐแจ้งว่า นักวิจัยสหรัฐยอมไม่จดสิทธิบัตรพันธุ์ข้าวที่ปรับปรุงจากข้าวหอมมะลิของไทยนั้นแล้ว


 


นอกจากนี้สถาบันวิจัยข้าวของสหรัฐที่รัฐอาคันซอส์ ร่วมกับศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยฟอริดาและมหาวิทยาลัยอาร์คันซอส์ ได้เริ่มต้นโครงการปรับปรุงข้าวหอมมะลิเพื่อปลูกในสหรัฐแข่งกับข้าวไทยโดยตรง โดยนักวิจัยสหรัฐอ้างว่า นำพันธุกรรมไปจาก "สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ" หรือ IRRI-International Rice Research Institute (2503) ที่ตั้งอยู่ในฟิลิปปินส์


 


ปัญหามีอยู่นิดเดียวที่ว่า สถาบันนี้จะเป็นที่รวบรวมพันธุ์ข้าวในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ  และถูกแบ่งไปเก็บในธนาคารพันธุกรรมในสหรัฐอเมริกา (โดยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย) เนื่องจากฐานคติของนักวิชาการไทยที่เห็นว่า ทรัพยากรชีวภาพเป็นสมบัติร่วมของมวลมนุษยชาติ และการวิจัยเพื่อพัฒนาเรื่องพันธุ์พืชในสถาบันวิจัยการเกษตรระหว่างประเทศเป็นการวิจัยเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ


 


ข้อมูลจากเว็บไซต์ไบโอไทย (องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น) ระบุว่า ทางการไทยเองก็ได้ส่งพันธุ์ข้าวจำนวนหนึ่งไปยังสถาบันนั้น หลังจากก่อตั้งขึ้นเพียง 1 ปี โดยข้าวขาวดอกมะลิเป็นตัวอย่างที่ 850 จนกระทั่งปัจจุบันข้าวขาวดอกมะลิถูกส่งออกไปผสมกับสายพันธุ์ต่างๆ อย่างกว้างขวางมากกว่า 1,480 สายพันธุ์ และธนาคารรวบรวมพันธุ์พืชที่อี่รี่ส่งออกสายพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิให้กับประเทศต่างๆ มากกว่า 22 ประเทศทั่วโลก


 


ในที่สุด ภาพสะท้อนการดำเนินงานของสถาบันวิจัยระหว่างประเทศ และนโยบายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอุตสาหกรรมทำให้ความเชื่อดังกล่าวถูกสั่นคลอนลง เพราะประโยชน์ที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะไม่ใช่ "ประโยชน์สาธารณะ" เสียแล้ว


ตารางแสดงจำนวนตัวอย่างเชื้อพันธุ์ข้าวของประเทศต่างๆ 10 ลำดับแรก
ที่ถูกส่งไปเก็บในธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าวของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ
(ตัวเลขเมื่อเดือนมิถุนายน 1994)













































































ประเทศ


จำนวนตัวอย่างทั้งหมด


จำนวนพันธุ์ข้าวป่า


อินเดีย


15,272


318


อินโดนีเซีย


8,365


84


จีน


7,377


54


ไทย


5,583


471


บังคลาเทศ


5,499


76


ฟิลิปปินส์


4,419


88


มาเลเซีย


2,646


51


ศรีลังกา


2,104


99


ไลบีเรีย


1,808


1


พม่า


1,795


86


ไต้หวัน


1,791


80


เวียดนาม


1,611


43


เนปาล


1,487


14


ลาว


1,309


21


กัมพูชา


1,150


84


อื่นๆ


0


0


รวม


78,272


2,214


ที่มา GRAIN(1994) อ้างอิงจาก Nicanor Perlas and Renee Vellve, "Oryza Nirvana?", 1997


หันมองภายในประเทศไทย ขณะนี้มีความเป็นห่วง "ข้าว" เกิดขึ้นในหลายประเด็น ท่ามกลางบริบทโลกที่ออกจะบูดเบี้ยว และพร้อมจะฉกฉวยประโยชน์จากผู้อ่อนแอ โดยเฉพาะการเจรจาทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยกำลังทำกับสหรัฐอเมริกา


วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.ไบโอไทยระบุว่า เรื่องนี้มีผลกระทบเชื่อมโยงกับเรื่องข้าวหอมมะลิ ได้แก่ การเปิดตลาดสินค้าเกษตร สินค้าดัดแปลงพันธุกรรม เรื่องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นระบบ "ใครจดทะเบียนก่อน ได้สิทธิก่อน" อันอาจนำมาซึ่งการขโมยพันธุกรรมต่างๆ ของประเทศที่มีความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพได้โดยง่าย


นอกจากนี้ยังมีการยกร่างพระราชบัญญัติข้าวแห่งชาติ ซึ่งแว่วว่าจะมีการเป็นการปรับโครงสร้างการปลูกข้าวและการบริหารการผลิตอย่างสำคัญ เมื่อประกอบกับประเด็นร้อนอย่าง "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ที่เป็นการรวบอำนาจให้ฝ่ายบริหารสามารถบริหารพื้นที่ได้อย่างอิสระยิ่งนั้น ความเป็นห่วงในชะตากรรมของ "ข้าว" จึงบังเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง


และเวทีระดมความคิดเห็นเรื่อง "ร่างพระราชบัญญัติข้าวแห่งชาติ" ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 19 กันยายนนี้ ที่อาคารสุขโขสโมสร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จะเป็นเวทีแรกที่จะถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งความวิตกกังวลต่างๆ ในประเด็นนี้จากทุกภาคส่วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net