Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 19 ก.ย.48      ความคืบหน้าการเตรียมการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐ รอบที่ 5 ซึ่งกำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 26 - 30 กันยายน 2548 ที่ฮาวาย ฮอนโนลูลู สหรัฐอเมริกา นายวีรชัย พลาศรัย รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หัวหน้ากลุ่มเจรจาการเปิดเสรีการลงทุนและการระงับข้อพิพาท เปิดเผยว่า ในหัวข้อของการเปิดเสรีการลงทุนนั้นคงยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ เพราะยังมีหลายเรื่องที่ต้องคุยกันภายในประเทศ และคาดว่าคงต้องคุยกับสหรัฐอีกหลายรอบ แต่จะพยายามให้เร็วที่สุด


 


นายวีรชัย ระบุถึงปัญหาที่ยังไม่สามารถตกลงกับสหรัฐได้ว่า ปัญหาใหญ่เป็นปัญหาวิธีการ โดยสหรัฐต้องการให้เป็น negative list (การทำบัญชีรายการสินค้าที่ต้องการเปิดเสรีในข้อตกลง) ส่วนไทยจะใช้ positive list (การทำบัญชีรายการสินค้าที่ไม่ต้องการเปิดเสรีในข้อตกลง) อีกทั้งสหรัฐยังต้องการให้บทว่าด้วยการลงทุนไปคลุมภาคบริการด้วย ในขณะที่ไทยต้องการให้แยกการค้าบริการออกไปเป็นบทหนึ่งต่างหาก เมื่อสองเรื่องนี้ตกลงไม่ได้ สหรัฐจึงยังไม่ยอมคุยในรายละเอียดต่อ โดยยืนยันจะให้ตกลงในวิธีการให้ได้ก่อน


 


"เรื่องนี้ต้องมีใครยอมใครฝ่ายหนึ่ง ที่ผ่านมาสหรัฐยังไม่เคยยอมใครเลย ไทยก็ไม่เคยยอมใครเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ต้องคุยให้ชนะทั้งคู่ เรื่องนี้เป็นแค่วิธีการเท่านั้น" รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศกล่าว


 


ส่วนประเด็นในเรื่องการคุ้มครองนักลงทุนที่มีข้อวิตกกังวลจากหลายฝ่ายนั้น นายวีรชัยชี้แจงว่า ยังมีปัญหาการนิยามหลายเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายยังเห็นไม่ตรงกัน อีกทั้งในเรื่องการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐ สหรัฐต้องการให้สิทธิเอกชนฟ้องรัฐในต่างประเทศได้ตั้งแต่ก่อนที่จะเข้ามา เช่น กระบวนการอนุญาต การทำสัญญาก่อนจะเข้ามาตั้งกิจการในประเทศไทย  แต่ไทยต้องการให้ใช้กับกรณีที่กิจการนั้นเข้ามาแล้ว  


 


เมื่อถามว่าสหรัฐต้องการให้ไทยเป็นภาคีในอนุสัญญา ICSID (International Centre for Settlement of Investment Disputes) ซึ่งเป็นอนุสัญญาระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศที่มีความเข้มงวดหรือไม่นั้น รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศระบุว่า  เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน เอฟทีเอของสหรัฐจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจของไทยว่าจะต้องเป็นภาคี ICSID หรือไม่ ดังนั้นในข้อตกลงฉบับนี้คงจะมีเพียงการพูดว่าหากไทยเป็นภาคีการระงับข้อพิพาทจะเป็นแบบหนึ่ง หากไม่เป็นภาคีการระงับข้อพิพาทก็จะเป็นไปในอีกแบบหนึ่ง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net