Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 20 ก.ย.48      เกษตรอินทรีย์ลัดฟ้าร่วมมหกรรมเกษตรอินทรีย์สหรัฐ ทำ "Fair Trade" คู่ขนาน "Free Trade" ของนายกฯ หวังเปิดตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์กับผู้บริโภคโดยตรง


 


คริส เวสกัส นักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวอเมริกันในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งศึกษาปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานมากว่า 2 ปี กล่าวว่า ในปีนี้ตนได้ชักชวนให้"กลุ่มเกษตรธรรมชาติสุรินทร์" ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์เข้าร่วม"มหกรรมเกษตรอินทรีย์" ที่รัฐเมน สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 19 ก.ย.-13 ต.ค.นี้


 


มหกรรมดังกล่าวเป็นงานเกษตรอินทรีย์ประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ จัดโดย MOFGA (Main Organic Farmers and Gardeners Association) เพื่อสร้างตลาดทางเลือกให้เกษตรกรอินทรีย์ทั่วโลกได้เจอกับผู้บริโภคโดยตรง ปราศจากพ่อค้าคนกลาง เน้นการทำการค้าแบบ "Fair Trade"  หรือการค้าที่เป็นธรรมที่มีการเปิดเผยผลตอบแทนของราคาในทุกช่วงชั้น


ทั้งนี้ กระแส "Fair Trade" ได้รับความสนใจและสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากการตระหนักถึงความล้มเหลวของระบบการค้าในปัจจุบัน โดยในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น มีการจัดตั้งองค์กร Fair Trade ขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดีย, บังคลาเทศ, ฟิลิปปินส์ รวมไปถึงประเทศไทย เพิ่งเริ่มต้นให้ความสนใจ


ภาคภูมิ อินแป้น ตัวแทนเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ที่จะเดินทางไปสหรัฐ กล่าวว่า กลุ่มของตนได้ทำเกษตรอินทรีย์มากว่า 10 ปี โดยขายผลผลิตให้กับเครือข่ายอินทรีย์ทั่วประเทศ ส่วนการเดินทางไปครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จะได้มีโอกาสเปิดตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในสหรัฐ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับโครงการทางเลือกเพื่อเกษตรกรและผู้บริโภค หรือ "กรีนเนท" ส่งออกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่ได้รับรองมาตรฐานไปขายยังประเทศแถบยุโรป โดยตัวเลขรวมการส่งออกข้าวหอมมะลิไปยุโรปของเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศมีที่เข้าร่วมกับกรีนเนทมีกว่า 1,000 ตันต่อปี


 


ภาคภูมิกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ตัวแทนเกษตรกรอินทรีย์ยังจะตระเวนเดินทางไปยังรัฐวอชิงตัน แคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส  และชิคาโก เพื่อร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนกับพบกลุ่มคนไทยและสถาบันการศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงผลกระทบจากการค้าเสรีที่เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาแล้วได้รับ


 


สำหรับสภาพการณ์ตลาดอินทรีย์ในสหรัฐนั้น คริส ระบุว่า มีลู่ทางที่แจ่มใสพอสมควร เพราะประชาชนทั่วไปตื่นตัวในการบริโภคอาหารอินทรีย์ สังเกตได้จากเกือบทุกตลาดจะวางขายพืชผักอินทรีย์ ทั้งจากเกษตรกรายย่อยและจากบริษัทใหญ่


 


"ตอนนี้คนสหรัฐสนใจเรื่องอินทรีย์อย่างเดียว ซึ่งไม่พอ ควรตระหนักว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้นต้องมาจากเกษตรกรด้วย จึงมีการรณรงค์ให้คนหันมาซื้ออาหารในท้องถิ่น" คริสกล่าว


 


อนึ่ง เว็บไซต์ของโครงการทางเลือกเพื่อเกษตรกรและผู้บริโภค หรือ กรีนเนท ระบุหลักพื้นฐานของ Fair Trade ว่า 1.ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของการผลิตจนถึงผู้บริโภค 2.ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสภาพสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ผลิต ซึ่งครอบคลุมถึงการได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม และราคาของผลผลิตที่เป็นธรรม 3. มีความโปร่งใสในการบริหารจัดการทุกขั้นตอน สามารถเผยแพร่ข้อมูลและตรวจสอบได้ 4. หญิงและชายได้รับความเท่าเทียมกันในเรื่องโอกาสการจ้างงาน 5. เคารพในวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น 6. มีกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net