Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ : บทปาฐกถาชิ้นนี้เคยเผยแพร่ในประชาไทแล้วเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2548


แต่ภายใต้ข้อเสนอของคณะสงฆ์ปัตตานีที่ให้ยุบ กอส. จึงขออนุญาตนำปาฐกถาชิ้นนี้กลับมาอีกครั้ง


....


ทำความเข้าใจปริศนาแนวคิด "สมานฉันท์" *


ชัยวัฒน์ สถาอานันท์


 


 


0 0 0


ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา


คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ปาฐกถาในการสัมมนา "บทบาทภาคประชาชน…กับการมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแนวทางสันติวิธีและสมานฉันท์"


จัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยและเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน (ครป.)


มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทร์เกษม, 17 กันยายน 2548


0 0 0


 


 


หลังจากที่รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ มีอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน เพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยไม่ใช้ความรุนแรง เกิดคำถามขึ้นหลายข้อ เช่น การเสนอให้รัฐบาลหาวิธีไม่ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีตากใบทั้ง 58 คน เป็นการส่งเสริมความไม่ถูกต้องหรือไม่ คณะกรรมการจะตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรหรือไม่ หรือ เมื่อตั้งคณะกรรมการนี้ขึ้นแล้ว เหตุใดความรุนแรง"รายวัน"ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังดำเนินต่อไป เช่นเมื่อคืนวันจันทร์ที่16 พฤษภาคม 2548 ก็เกิดระเบิดที่อำเภอตากใบ นราธิวาส ขณะที่มีชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ถูกยิงบาดเจ็บที่ยะลาและปัตตานีหลายรายในวันเดียวกัน ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 ก็เกิดเหตุผู้ก่อการไม่สงบระเบิดเสาไฟฟ้าจนไฟฟ้าดับทั่วเมืองยะลา และเกิดเหตุวางเพลิงเผาผลาญบ้านเรือน ทรัพย์สินราษฎรเสียหายไปมาก จนกระทั่งสองวันหลังเหตุร้ายที่ยะลา รัฐบาลประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ..2548 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2548 โดยให้เหตุผลว่า"ในปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีความร้ายแรงมากยิ่งขึ้น จนอาจกระทบต่อเอกราช และ บูรณภาพแห่งอาณาเขต และก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ รวมทั้งทำให้ประชาชนได้รับอันตรายหรือเดือดร้อนจนไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข  และไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปรกติได้"[1]


            วิธีเผชิญกับคำถามนี้มีสองทางคือ ทางแรกตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่นผู้ต้องหาในคดีตากใบซึ่งเป็นชาวตากใบทั้ง 58 คนนั้น เป็นผู้ร้ายมุ่งทำลายสังคมหรือไม่ เจตนาของนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างไรแน่ หรือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำลายชีวิตจิตใจของผู้คนทั้งสามัญชนและเจ้าหน้าที่ในขณะนี้ เกิดขึ้นเพราะอะไร ประสงค์จะตอบโต้แนวทางสมานฉันท์ที่รัฐบาลหันมาสนใจหรือไม่อย่างไร


อีกวิธีหนึ่งคือ พยายามทำความเข้าใจว่า แนวทางสมานฉันท์เป็นอย่างไร ทำงานเพื่อลดความรุนแรงได้อย่างไร ข้าพเจ้าจะพยายามนำเสนอหนทางทำความเข้าใจการทำงานของแนวทางสมานฉันท์ โดยเริ่มต้นจาก การนำเสนอเหตุการณ์ที่ถือกันว่ามีคุณลักษณ์สมานฉันท์อย่างชัดเจนในฐานะกรณีศึกษา จากนั้นจะสรุปแนวคิดที่ได้จากกรณีดังกล่าวเป็นหลักการสำคัญในการทำงานสร้างสมานฉันท์ในสังคมไทย พร้อมทั้งนำเสนอฐานความคิดสมานฉันท์ที่ใช้กันในสังคมมุสลิม และที่สุดจะได้ชี้ว่าการทำงานสมานฉันท์ในสังคมไทยขณะนี้แตกต่างจากที่เกิดขึ้นในสังคมอื่นอย่างไร อันน่าจะเป็นเหตุให้การทำงานสมานฉันท์ในสังคมไทยจะยังอยู่ในภาวะเป็นปริศนาที่ไม่ลงตัว(problematic)


จากฆาตกรรมสู่สมานฉันท์[2]


            วันที่ 21 มกราคม 2538 ชายหนุ่มคนหนึ่งขับรถไปส่งพิซซ่าที่เขต นอร์ธ พาร์ค ในซาน ดิเอโก สหรัฐอเมริกา  คนโทรศัพท์ไปสั่งอาหารเป็นกลุ่มวัยรุ่นอันธพาลที่หลอกสั่งพิซซ่ามารับประทาน  คนส่งพิซซ่าไม่ยอมจำนน สมาชิกของกลุ่มอันธพาลจึงยิงเขาเสียชีวิต  คนถูกยิงชื่อ ตอริค คามิซา เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยซานดิเอโก อายุ 20 ปี  คนยิงชื่อ โทนี่ เอ็ดเวิร์ด ฮิคส์ เป็นเด็กอัฟริกัน-อเมริกัน อายุ 14 ปี กับ 3 เดือน  ต่อมาเด็กชายผู้นี้กลายเป็นบุคคลอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของคาลิฟอร์เนียที่ต้องคดีในศาลผู้ใหญ่ เขาต้องโทษจำคุก 25 ปี ถึงตลอดชีวิต


เมื่อแม่ของตอริคทราบข่าวลูกชาย เธอล้มทั้งยืน เมื่อคุณย่าทราบข่าว เธอร้องไห้และบอกพ่อของตอริคให้อ่าน "ซอลาวัต" บทสวดขอองค์อัลเลาะห์อำนวยพรให้ศาสดามูฮัมมัด ซึ่งชาวมุสลิมจะสวดในเวลาที่ทุกข์ยาก


ปู่ของโทนี่ ฮิคส์ เป็นอดีตทหารอเมริกัน หน่วยกรีน เบเรต์ในสงครามเวียดนาม เขาตกตะลึงเมื่อเห็นข่าวฆาตกรรมนี้ทางโทรทัศน์ และรู้สึกหมดสิ้นทุกสิ่งเมื่อทราบว่าหลานของตนเป็นฆาตกร เขาเป็นคนเลี้ยงดู โทนี่ ฮิคส์ แทนพ่อแม่ เพราะลูกชายของเขาคือ พ่อของคนยิงมีลูกเมื่ออายุได้ประมาณ 15 ปี เป็นสมาชิกแก๊งวัยรุ่นและติดยางอมแงม ขณะที่แม่ของคนยิงก็คลอด โทนี่ ฮิคส์ เมื่อตนเองอายุเพียง 15 ปีเท่านั้น


            ในวันฝังศพตอริค ครูสอนศาสนาท่านหนึ่ง(อุซต๊าซ?)เอ่ยกับพ่อของคนตายว่า "ความเศร้าโศกเป็นธรรมดามนุษย์ แต่ฉันอยากให้คุณเป็นอิสระจากภาวะอัมพาตที่เกิดจากความเศร้าสลดเพราะลูกตายนี้   และหาสิ่งที่ดีงามมาทำในนามของตอริค การงานแห่งความเมตตาที่ทำในนามของผู้ที่จากไป เป็นดังทรัพย์ทางจิตวิญญาณที่จะเป็นคุณต่อดวงวิญญาณของผู้ตาย..." [3]


เมื่อถูกถามว่า ไม่โกรธหรือที่ลูกชายถูกฆ่าตาย พ่อของตอริคตอบว่า  "สิ่งแรกที่รู้สึกคือความโกรธ แต่โกรธประเทศของเรา โกรธสังคมของเราที่ไม่ยอมทำอะไรสักอย่างเพื่อยุติการที่เด็กต้องถูกฆ่าและกลายเป็นฆาตกรเพิ่มขึ้นทุกๆปี…." "ทุกวันในประเทศของเรา มีเด็ก 13 คนต้องเสียชีวิตเพราะปืน และคนซึ่งอยู่ที่สองด้านของตัวปืน (ทั้งที่ด้ามปืนและปลายกระบอกปืน)ก็ล้วนเป็นเหยื่อด้วยกันทั้งคู่" พ่อของตอริคสรุปว่า "ผมช่วยตอริคตอนที่เขาถูกยิงตายไม่ได้ แต่ผมทำอะไรให้เป็นอนุสรณ์ถึงเขาได้ ผมต่อสู้กลับได้ ผมอาจลองพยายามช่วยไม่ให้ใครอื่นต้องประสบเคราะห์กรรมฝันร้ายจากความรุนแรงที่มีวัยรุ่นเป็นผู้ก่อได้ "[4]


พ่อของตอริคผู้ถูกฆาตกรรมจึงตัดสินใจไปพบกับปู่ของโทนี่เด็กชายผู้เป็นฆาตกร เขาเชื่อว่าทั้งปู่ของฆาตกรและเขาผู้เป็นพ่อของลูกชายที่ถูกฆ่าก็เป็นผู้สูญเสียทั้งคู่ วิธีหนึ่งที่จะอยู่ต่อไปกับความสูญเสียนี้คือร่วมกันแบกรับภาระแห่งความสูญเสียนี้ด้วยกัน  ทั้งคู่ตัดสินใจรวมพลังกัน"ต่อสู้เืน"ต้านความรุนแรง ด้วยการทำ"งานแห่งความเมตตา" พวกเขาและเพื่อนๆก่อตั้งมูลนิธิตอริค คามิซาขึ้นที่ ซาน  ดิเอโก คนทั้งสองเห็นว่าทั้งตอริค และ โทนี่ก็เป็นเหยื่อด้วยกันทั้งสองฝ่าย และไม่อยากจะเห็นเด็กๆผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอีก ไม่ว่าจะในฐานะผู้ถูกฆาตกรรมหรือผู้ลั่นไก มูลนิธิดังกล่าวจึงก่อตั้งขึ้นเพื่อ 


-หยุดการฆ่ากันระหว่างเด็กๆ 


-ทำลายวัฏจักรแห่งความรุนแรง


-สร้างแรงบันดาลใจผ่านการใช้สันติวิธีในฐานะทางเลือก และ


-พยายามปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังเพื่ออนาคต [5]


            ปัญหาคือ เรื่องราวของพ่อตอริค คามิซาคนถูกฆ่าและปู่ของโทนี่ ฮิคส์ ผู้เป็นฆาตกรช่วยให้เข้าใจแนวคิดสมานฉันท์อย่างไร?


 


แนวคิดสมานฉันท์กับหลัก 9 ประการ


            ปฏิกิริยาของผู้คนในสังคมที่ผ่านวันคืนอันรุนแรงเศร้าหมองมาแล้วต่อแนวทางสมานฉันท์ (reconciliation)มักต่างกัน  Patricia Valdez อดีตผู้อำนวยการของคณะกรรมการสัจจะแห่งอาร์เจนตินาเห็นว่า "ในอาร์เจนตินา ไม่มีใครพูดถึงสมานฉันท์หรอก ไม่มีใครเข้าไปยุ่งกับเรื่องนี้ ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะค้านการสมานฉันท์อย่างจริงจัง แต่คำนี้ไม่มีความหมายอะไรที่นี่"[6] คำอธิบายปรากฏการณ์เช่นนี้มาจาก Horacio Verbitsky นักหนังสือพิมพ์ในอาร์เจนตินา ซึ่งตั้งคำถามเอากับแนวทางสมานฉันท์ตรงๆว่า "สมานฉันท์โดยใคร? คุณยังอยากจะสมานฉันท์กับคนที่รับผิดชอบกับการเอาตัวลูกสาวคุณไป ทรมานเธอ อุ้มเธอหายไป แล้วปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นอะไรทั้งนั้นอีกหรือ  คำ "สมานฉันท์" ไม่มีความหมายอะไรที่นี่  "สมานฉันท์"ในฐานะวาทกรรมทางการเมืองเป็นเรื่องไร้ศีลธรรมอย่างลึกซึ้ง เพราะได้ปฏิเสธความเป็นจริงที่ประชาชนต้องผ่านพบมา  ไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะหวังให้ใครสมานฉันท์หลังจากสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่" [7] ในศรีลังกา คณะกรรมการที่ประธานาธิบดีกุมาระตุงคะตั้งขึ้นเพื่อหาความจริงเกี่ยวกับการใช้กำลังลักพาผู้คนและอุ้มหายไป ก็ไม่ได้เสนอว่า งานของตนจะนำไปสู่การสมานฉันท์ คณะกรรมการของศรีลังกาเพียงแต่สนใจรวบรวมข้อเท็จจริงและหาวิธีชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้สูญเสียหรือครอบครัวของพวกเขาเท่านั้น บางคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในศรีลังกาเห็นว่า การเสนอให้มีสมานฉันท์ระหว่างบุคคลเป็นเรื่องไร้เหตุผล เพราะไม่มีผู้ใช้ความรุนแรงคนใดก้าวออกมารับผิดเลย[8]


            ขณะเดียวกันในประเทศไลบีเรียที่เกิดสงครามกลางเมืองฆ่าฟันกันอย่างรุนแรงตั้งแต่วันก่อนวันคริสต์มาสในปี ค..1989 และบางคนเชื่อว่ายุติลงเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค..1997  ปัญหาประการหนึ่งคือเมื่ออดีตนักรบวัยรุ่นพากันคืนเมือง จะดำเนินการ"สมานฉันท์"อดีตนักรบเหล่านี้กับบรรดาเหยื่อของความรุนแรงที่สูญเสียเพราะคนเหล่านี้กันอย่างไร  ปรากฎว่าในปี ค..1998 กระบวนการคืนกลับสู่สังคมของอดีตนักรบวัยรุ่นในไลบีเรียตอนใต้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว หลายคนกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ของตนในหมู่บ้าน แนวทางและวาทกรรมสมานฉันท์เป็นที่ยอมรับแพร่หลายในกลุ่มผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน แม้ว่าคนฆ่าลูกของบ้านนี้จะเป็นลูกชายลูกสาวของบ้านนั้น แต่คำอธิบายที่เกิดขึ้นทั่วไปก็คือ "พวกเขาล้วนเป็นลูกเป็นหลานของเรา เราจึงต้องให้อภัยเขา" เป็นไปได้ว่าที่นักรบวัยรุ่นเหล่านี้แรกตัดสินใจจับอาวุธเข้าสู้ในสงครามกลางเมืองก็เพื่อปกปักคุ้มครองตนเองและครอบครัว ดังนั้นเหตุผลในการรักษาชุมชน ครอบครัวและตนเองจึงเป็นเงื่อนไขของการพร้อมให้อภัยได้เช่นกัน[9]


            กล่าวให้ถึงที่สุด "สมานฉันท์"ในสายตาของเหยื่อแห่งความรุนแรงอย่างน้อยก็ในกรณีอาร์เจนตินาและศรีลังกาที่นำมาพิจารณาข้างต้นนี้ แม้จะมีการชดเชยให้บ้างแต่ก็คงไร้ความหมาย ถ้าปราศจากการยอมรับ"ความจริง" และการแสดงความพร้อมรับผิดโดยผู้ก่อความรุนแรง แต่กรณีที่เกิดขึ้นในไลบีเรียตอนใต้ก็แสดงให้เห็นว่า การสมานฉันท์เป็นไปได้ในระดับชุมชนเกิดการให้อภัยกันทั่วไปแม้ระหว่างอดีตฆาตกรและญาติพี่น้องของผู้สูญเสียนั้นเอง


            ด้วยเหตุนี้ ถ้าถือเรื่องราวความตายของตอริค คามิซา และสิ่งที่พ่อของผู้ตายและปู่ของฆาตกรร่วมกันกระทำเป็นกรณีศึกษาแนวทางสมานฉันท์ จะเห็นได้ว่าแนวคิดนี้มิใช่การชักชวนผู้คนที่ขัดแย้ง ต่อสู้ใช้ความรุนแรงต่อกันให้มายิ้มแย้มคืนดีกันและหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเอง แต่เป็นความพยายามแก้ปัญหาความรุนแรงโดยมิได้ใช้วิธีการรุนแรงมาแก้ปัญหาความรุนแรง (problem-solving approach and not a violent approach to solve a problem of violence) บนพื้นฐานความเข้าใจว่าความรุนแรงมิได้เพียงเกิดขึ้นจากผู้กระทำ แต่ยังมีสาเหตุอยู่ที่โครงสร้างและวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังผู้คนที่แตกต่างจากตัวคอยหล่อเลี้ยงให้ความชอบธรรมอยู่ ตัวอย่างเช่น  โทนี่ ฮิคส์ มาจากครอบครัวยากจน ที่มีพ่อติดยา แม่มีลูกตั้งแต่อายุยังน้อย ตนเองไม่มีการศึกษาและเติบโตมากับการถูกพ่อทุบตี อยู่กับเพื่อนๆในแก๊งที่เห็นความรุนแรงเป็นเรื่องปรกติสามัญ โครงสร้างชนิดนี้มิได้เพียงให้กำเนิดโทนี่ ฮิคส์ ฆาตกรอายุสิบสี่ แต่ให้กำเนิด เด็กอย่างโทนี่ ฮิคส์ มากมาย หากผู้คนเหล่านี้ถูกหล่อหลอมให้เกลียดชังคนที่ต่างจากตัว ทั้งในทางเชื้อชาติ สีผิว หรือ ศาสนา ความรุนแรงก็ย่อมเกิดขึ้น[10] ถ้าจะใช้วิธีการแก้ปัญหาความรุนแรง(problem-solving approach)ก็คงต้องสนใจปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ผลิตตัวคนใช้ความรุนแรง และปัจจัยเชิงวัฒนธรรมที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงเป็นสำคัญ เพราะถ้าไม่ใส่ใจกับสาเหตุเชิงโครงสร้าง และเงื่อนไขทางความคิด-ความเชื่อที่ให้ความชอบธรรมต่อความรุนแรง ก็จะหยุดวัฏจักรแห่งความรุนแรงไม่ได้[11] ด้วยเหตุนี้แนวทางสมานฉันท์จึงจำเป็นต้องมุ่งสร้างสรรค์ความเป็นธรรมในสังคม ลดช่องว่างระหว่างผู้คนที่ต่างกัน ส่งเสริมให้กลไกของรัฐทำงานด้วยความพร้อมรับผิด(accountability)


            การร่วมมือกันระหว่างผู้สูญเสียทั้งสองฝ่ายเป็นแรงบันดาลใจในการแก้ปัญหาที่สำคัญ เพราะการที่ตัวผู้สูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นลูกเมีย หรือ พ่อแม่ ตัดสินใจอาศัยความสูญเสียของตนเป็นรากฐานความคิดที่จะก้าวข้ามความเกลียดชัง ไปร่วมมือกับญาติมิตรของฝ่ายที่รับผิดชอบต่อความสูญเสียของตน เพื่อแก้ปัญหาในสังคม หมายความว่า คนเหล่านี้ต้องยอมเผชิญกับความจริงอย่างซึ่งหน้า  คงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพ่อของตอริคที่จะไปพบปู่ของเด็กชายที่ฆ่าลูกของตัว และคงยากยิ่งขึ้นไปอีกที่จะยื่นมือออกไปให้อีกฝ่ายหนึ่งจับ ในแง่นี้ฝ่ายผู้สูญเสียได้ให้อภัยกับอีกฝ่ายหนึ่ง ชักชวนกันเข้าสู่การสานเสวนา(dialogue)ข้ามเส้นแบ่งแห่งความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา แสวงหาลู่ทางแก้ปัญหาที่ทั้งสองฝ่ายตระหนักว่าเป็นปัญหาร่วมกัน เพราะพ่อก็สูญเสียลูกที่ถูกยิงเสียชีวิต ปู่ก็สูญเสียหลานที่กลายเป็นฆาตกรถูกจับกุมคุมขัง ในแง่นี้ทั้งการเผชิญกับความจริง การให้อภัย และ การสานเสวนาข้ามพรมแดนแห่งความแตกต่างทางวัฒนธรรม ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้แนวทางสมานฉันท์เป็นไปได้


            พ่อของตอริค คามิซา ตระหนักดีว่า ลูกชายของตนจากไปแล้ว และไม่มีวันหวนคืนมา ปู่ของโทนี่ ฮิคส์ก็เช่นกัน เขาทราบว่าหลานกลายเป็นฆาตกร และวัยเด็กของเขาจะไม่มีวันเหมือนเด็กชายอื่นๆอีก ความทรงจำเหล่านี้อาจกลายเป็นบาดแผลที่ไม่ยอมหายและสร้างความเจ็บปวดให้ผู้คน แนวทางสมานฉันท์ที่เน้นการให้อภัยมิได้หลอกตัวเองให้ลืมอดีตเหล่านี้ หรือ ทำราวกับว่าความทรงจำอันเจ็บปวดนี้ไม่เคยเกิดขึ้น แต่มุ่งเปลี่ยนแปลงความทรงจำอันเจ็บปวดให้กลายเป็นพลังแก้ไขปัญหาความรุนแรง ให้จดจำความตายของ ตอริค คามิซา และ ชะตากรรมของโทนี่ ฮิคส์ เพื่อไม่ให้คนอื่นๆในสังคมต้องกลายเป็นเหยื่อความรุนแรงต่อไปอีก  พ่อของ ตอริค คามิซา กล่าวกับเด็กๆที่มาฟังสัมมนาของมูลนิธิตอริค คามิซา ว่า มีหลายคนแนะให้เขาแก้แค้น แต่การแก้แค้นไม่ช่วยให้ได้ชีวิตลูกชายของเขาคืนกลับมา เขาจึงเลือกวิธีต่อสู้กับต้นตอของปัญหาและ"เอาคืน"ไม่ใช่ด้วยการแก้แค้น แต่ด้วยการพยายามช่วยเด็กอื่นๆมิให้กลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพวกเขา  การทำงานร่วมกันของผู้สูญเสียทั้งสองฝ่ายในนามของมูลนิธิเพื่อ"สู้กับความรุนแรง"เป็นสิ่งท้าทาย เพราะเป็นการใช้จินตนาการสร้างองค์กรสถาบัน เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต การทำงานระหว่างพ่อของคนตายกับปู่ของคนฆ่าเช่นนี้มีความเสี่ยงอยู่ด้วย แต่ความเสี่ยงในการร่วมกันทำงานระหว่างคนที่ต่างกันและเดิมอยู่คนละฝ่ายก็จำเป็น ถ้าจะพิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถฟื้นคืนความไว้วางใจระหว่างกันคืนมาได้ ทั้งหมดนี้ยังต้องเสนอทางเลือกให้กับสังคมด้วย และทางเลือกนั้นคือ นำเสนอการใช้สันติวิธีในการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งรูปต่างๆเพื่อแก้ปัญหามิใช่เพื่อการแก้แค้น


การทำงานสมานฉันท์ในสังคมไทยในกรณีความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้


การทำงานสร้างความสมานฉันท์ในสังคมคงเป็นไปได้ยากถ้าผู้คนไม่ยอมให้อภัยกันข้าพเจ้าเคยตั้งคำถามไว้ใน อภัยวิถี ว่า ในเมื่ออดีตแห่งความรุนแรงไม่สามารถหวนคืนมาได้ สังคม(ไทย)จะอยู่ร่วมกันไประหว่างคู่ขัดแย้งที่เคยฆ่าฟันกันมาได้อย่างไร หากไม่อาศัยการให้อภัย  แต่การให้อภัยไม่ได้หมายความว่า จะเกิดขึ้นได้ด้วยลมปาก โดยให้ลืมความเจ็บปวด ให้ทิ้งอดีตแห่งความอยุติธรรมที่เคยเกิดขึ้น แต่เงื่อนไขสำคัญของการให้อภัยคือ การธำรงความทรงจำเพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากพันธนาการแห่งอดีต[12] การปลดปล่อยเช่นนี้เป็นไปได้ด้วยอาศัยการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจด้วยสันติวิธี และเงื่อนไขสำคัญของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีคือการใช้แนวทางสานเสวนา (dialogue) โดยเฉพาะถ้าความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างผู้คนที่ต่างกันด้วยศาสนาและชาติพันธุ์ ก็คงต้องอาศัยการสานเสวนาข้ามศาสนา-ชาติพันธุ์เป็นสำคัญ[13]  แม้ทั้งความทรงจำและสันติวิธีจะเป็นเงื่อนไขที่สำคัญแต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะ ความยุติธรรมก็จำเป็นเพื่อให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมการเมืองเดียวกันต่อไปได้[14] อย่างไรก็ตามความยุติธรรมคงไม่เกิดขึ้นถ้าสังคมซึ่งผ่านอดีตอันรุนแรงมาแล้วไม่ยอมเผชิญกับ"ความจริง"ในบางลักษณะ เพราะความจริงสำคัญไม่ใช่เพียงเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังเพราะความจริงเปรียบดัง"ยารักษา"สังคมที่ได้รับทุกข์และเก็บงำไว้ไม่ยอมเผชิญหน้าด้วย เมื่อความจริงปรากฏ ก็ยังต้องหาวิธีให้ผู้คนที่กระทำผิดมี"ความพร้อมรับผิด" (accountability)เพื่อสร้างความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของสังคมด้วย[15] และเพราะกระบวนการยุติธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจทางการเมืองที่กำหนดสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คน การจินตนาการถึงรูปแบบทางการเมืองลักษณะต่างๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ในกรอบที่ผู้คนในสังคมยอมรับจึงเป็นหนทางหนึ่งที่อาจแก้ปัญหาความรุนแรงที่เรื้อรังไม่จบสิ้นในกรอบสัมพันธภาพทางอำนาจที่เคยเป็นอยู่ได้[16] แต่ทั้งหมดนี้เป็นหนทางที่ต้องเสี่ยง การยอมรับความเสี่ยง อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างใน       อัฟริกาใต้ที่คนผิวดำส่วนใหญ่ขึ้นมามีอำนาจเหนือคนผิวขาวส่วนน้อย หรือการมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ..2540 หลังเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในสังคมไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ก็เป็นเรื่องที่ต้องเสี่ยงครั้งใหญ่ การยอมรับความเสี่ยงสำคัญเพราะเป็นปัจจัยทดสอบความไว้วางใจ (trust)ที่ผู้คนมีต่อสังคมการเมืองอย่างมีความหมาย [17] 


ถ้าสรุปจากกรณีศึกษาข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าแนวทางสมานฉันท์น่าจะประกอบด้วยความคิดหลัก 9 ประการคือ


1.       การเปิดเผย"ความจริง" (truth) : ให้ความสำคัญกับ"ความจริง"ทั้งในฐานะเครื่องมือและเป้าหมายของสังคมสมานฉันท์เพื่อสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันก็หาหนทางให้สังคมไทยตระหนักถึง"ราคา"ในการเปิดเผย"ความจริง"นั้นด้วย


2.       ความยุติธรรม (justice): ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice) ด้วยการส่งเสริมแนวคิดวิเคราะห์ในสังคมไทยให้เรียนรู้การแยก"คนผิด"ออกจาก        "ความผิด" ตลอดจนเรียนรู้วิธีการมองปัญหาความรุนแรงในบริบทเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมให้เห็นคนบริสุทธิ์กลุ่มต่างๆที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง


3.       ความพร้อมรับผิด (accountability): ส่งเสริมระบบและวัฒนธรรมความพร้อมรับผิดในระบบราชการ เปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุมผู้ต้องหาให้ครบถ้วน


4.       การให้อภัย (forgiveness): ให้ตระหนักถึงความทุกข์ยากของเหยื่อความรุนแรง ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงศักยภาพของสามัญชนที่จะให้อภัยผู้ที่กระทำร้ายต่อตนและครอบครัว ก้าวพ้นความเกลียดชังผู้คนที่ต่างจากตน และเป็นผู้ทำร้ายคนที่ตนรัก


5.       การเคารพความหลากหลายทางศาสนาวัฒนธรรมส่งเสริมสานเสวนาระหว่างกัน(dialogue) : ให้ความสำคัญกับขันติธรรมในฐานะคุณค่าทางการเมือง การเรียนรู้ศาสนาต่างๆที่ดำรงอยู่ในประเทศไทย ทั้งแนวปฏิบัติและหลักธรรมคำสอน ทั้งนี้โดยถือว่าสานเสวนาระหว่างศาสนา(religious dialogue) เพื่อสร้างความลุ่มลึกในศาสนธรรมของตน โดยเคารพความเชื่อของผู้อื่นพร้อมกันไป เป็นปัจจัยเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมไทยบนฐานแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม


6.       ถือเอาสันติวิธี (nonviolence)เป็นทางเลือกเผชิญความขัดแย้ง:  ส่งเสริมให้สังคมไทยตระหนักในภัยของความรุนแรงต่อสังคม และแสวงหาทางออกเชิงสันติวิธีในฐานะทางเลือกหลักเมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง


7.       การเปิดพื้นที่ให้ความทรงจำที่เจ็บปวด (memory): ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย ให้ผู้คนในสังคมไทยเข้าใจการเมืองของประวัติศาสตร์ เพื่อให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์มิใช่บันทึก"ความจริง" แต่เป็น"ความจริงทางการเมือง"ที่ถูกเลือกสรรโดยระบบความรู้ที่ถูกหนุนอยู๋โดยฝ่ายที่ครองอำนาจในที่สุด


8.       มุ่งแก้ปัญหาในอนาคตด้วยจินตนาการ  (imagination): เพราะจินตนาการทางการเมืองใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสังคมการเมืองที่ยั่งยืน ให้พร้อมเผชิญปัญหาใหม่ๆ  ที่สำคัญต้องลด"ภยาคติ"ลักษณะต่างๆ เสริมสร้างความมั่นใจในตนเองบนฐานของความเป็นจริง เพื่อให้เห็นว่าสังคมไทยมั่งคั่งในทรัพยากรทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา และมั่นคงพอจะเผชิญกับการท้าทายรูปต่างๆได้เช่น พิจารณา"คนสองสัญชาติ"ในฐานะทรัพยากรบุคคลของชาติ เพราะคนเหล่านี้คือแรงงานคุณภาพที่สามารถหาเงินทองเข้าประเทศได้จากทักษะทางวัฒนธรรมทั้งสองอย่างที่ตนมี ไม่ใช่ในฐานะภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ  หรือ ร่วมกันกำหนดรูปแบบทางการเมืองที่เหมาะสมสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต โดยเน้นหนักหลักกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 รวมทั้งนำเสนอแนวทางความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เน้นหนักการมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคมเพื่อกำหนดชะตาทางการเมืองของตนเอง และสร้างเสริมความมั่นคงแห่งชาติจากประชาชนมาสู่รัฐ


9.       การยอมรับความเสี่ยงทางสังคมเพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน (risk-taking): เรื่องนี้มีความหมายเพราะ การยอมรับความเสี่ยงเป็นเงื่อนไขสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์บนฐานแห่งความไว้วางใจ(trust) อันเป็นคุณลักษณ์สำคัญของแนวความคิดสมานฉันท์        


อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดทั้ง 9 ประการนี้กำกับข้อเสนอต่างๆที่คณะกรรมการสมานฉันท์นำเสนอต่อสังคมไทยและรัฐบาลตลอดมา (ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง กรกฎาคม 2548) เช่น การเสนอให้เปิดเผยรายงานสอบสวนกรณี กรือเซะ และ ตากใบที่รัฐบาลได้ทำเอาไว้ ก็เป็นไปเพราะการเปิดเผย      "ความจริง"เป็นส่วนสำคัญของการสมานฉันท์ การให้ความสำคัญกับการเยียวยาจนรัฐบาลตั้งรองนายกรัฐมนตรีมาดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ก็เป็นไปเพราะความทรงจำที่เจ็บปวดของเหยื่อความรุนแรงมีความหมาย ไม่ว่าบิดาหรือญาติเขาจะทำอะไร แต่พวกผู้หญิงและเด็กๆไม่ได้กระทำผิดไปด้วย และความทรงจำของเขาควรต้องได้รับการเยียวยา ศักยภาพในการให้อภัยของเขาควรต้องได้รับการสนับสนุน มาตรการระยะสั้นอย่างเช่นการเสนอให้ใช้นิติวิทยาศาสตร์เป็นแนวทางสืบสวนคดีความรุนแรงทั้งปวงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นไปเพื่อให้"ความจริง"อันเป็นรากฐานของการสร้างสมานฉันท์ปรากฏเป็นที่ยอมรับกัน  การเสนอให้อาวุธปืนเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเขต 3 จังหวัด เว้นแต่ปืนในมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็เกิดขึ้นเพราะปืนเป็นเครื่องมือเอาชีวิตผู้คน การลดปืนจึงเป็นการลดความรุนแรงไปในตัว[18] เป็นการเดินไปในหนทางสันติวิธี ยิ่งกว่านั้นการให้ปืนอยู่แต่ในมือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นการสร้างความชัดเจนซึ่งทำให้ความพร้อมรับผิดเป็นไปได้เป็นต้น


ปัญหามีอยู่ว่า แนวทางสมานฉันท์เช่นนี้เป็นไปได้เพียงไรในสังคมไทย?


 


ความเป็นไปได้ของแนวทางสมานฉันท์ในสถานการณ์ความรุนแรงภาคใต้


            ความเป็นไปได้ของแนวทางสมานฉันท์คงขึ้นต่อเงื่อนไขต่างๆหลายประการ แต่หากพิจารณาเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในบริบทที่ผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม และถือเอาว่าการที่นายกรัฐมนตรี พตท.ทักษิณ ชินวัตร ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติตั้งแต่เดือนเมษายน 2548 เป็นต้นมา หมายถึงการที่ภาครัฐสนใจแนวทางสมานฉันท์อยู่บ้างแล้ว  อีกด้านหนึ่งก็คงต้องพิจารณาตำแหน่งแห่งที่ของแนวคิดสมานฉันท์จากมุมมองมุสลิมประกอบด้วย


            ในระยะสองทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ศึกษากระบวนการสมานฉันท์ในสังคมอาหรับ-มุสลิมไม่น้อยพบลักษณะร่วมหลายประการคือ ประการแรกเป็นแนวทางที่เน้นชุมชนมิใช่ทางเลือกของปัจเจกชน ความเห็นพ้องต้องด้วยในระดับชุมชนสำคัญกว่าอย่างอื่น ประการที่สอง คนที่เข้ามาอำนวยการให้สมานฉันท์เป็นไปได้ เป็น"คนใน"ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคู่กรณีอยู่แล้ว และเป็นที่ยอมรับในชุมชน ประการที่สาม ผู้นำชุมชนและผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเป็นผู้ให้ความชอบธรรมกับข้อตกลง คำขอโทษ การชดเชย การให้อภัยและ สมานฉันท์ เปิดโอกาสให้ครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมหาข้อยุติให้ปัญหา ไม่ได้อาศัยระบบกฎหมายเป็นหลัก  ประการที่สี่ กระบวนการสมานฉันท์ในชุมชนอาศัยคำและความเข้าใจจากหลักศาสนาอิสลาม รวมทั้งเรื่องเล่าที่รับรู้กันทั่วไปในชุมชนชาวอาหรับเป็นรากฐานสำคัญ ประการที่ห้า ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาชุมชนที่เห็นว่าชีวิตซึ่งต่อเนื่องผูกโยงกันด้วยประวัติศาสตร์ของพวกตนเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเดินทางสู่อนาคตร่วมกัน ประการที่หก เป้าหมายสำคัญในการุติปัญหาความขัดแย้งคือ การฟื้นฟูความปรองดอง ศักดิ์ศรี และ ชื่อเสียงของกลุ่มและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา โดยมิได้แยกตัวบุคคลออกจากตัวปัญหา  ที่เป็นเช่นนี้เพราะเห็นว่าสิ่งที่สำคัญคือ การป้องกันมิให้ความขัดแย้งลุกลามขยายตัวและ กระทบการทำงานอยู่ร่วมกันของชุมชน[19] 


            เมื่อพิจารณาพิธีกรรมสมานฉันท์ในโลกอาหรับที่แพร่หลายในเขตชนบทของเลบานอนทั้งภาคตะวันออก และ ภาคเหนือ ในราชอาณาจักรจอร์แดน และ ในหมู่บ้านแถบกาลิเลที่ชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ในอิสราเอล พบว่า การสมานฉันท์ เริ่มต้นจากการตกลงกันให้ได้ก่อน (sulh - settlements) เพราะในหลักศาสนาอิสลามถือว่า เป้าหมายของข้อตกลงคือยุติความขัดแย้งและความเป็นศัตรูในหมู่มุสลิมเพื่อว่าจะได้สัมพันธ์กันด้วยสันติและไมตรีจิต ข้อตกลง (sulh) ถือว่าเป็นกฎหมายที่ผูกมัดทั้งในระดับปัจเจกชนและชุมชน ในจอร์แดนแบ่งข้อตกลงออกเป็นสองระดับคือ ข้อตกลงส่วนรวมซึ่งคล้ายกับสัญญาสันติภาพระหว่างรัฐ  และข้อตกลงส่วนบุคคล ในสังคมของผู้คนแห่งทะเลทราย ข้อยุติความบาดหมางเช่นนี้ดีกว่าการปล่อยให้ความรุนแรงดำเนินไปในรูปของการแก้แค้นที่ไม่จบสิ้น ด้วยเหตุนี้หนทางสมานฉันท์ซึ่งดำเนินต่อจากการบรรลุข้อตกลงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ชุมชนเหล่านี้ยึดถือปฏิบัติกันมา[20]


            ในแง่พิธีกรรมสมานฉันท์ในหมู่อาหรับมุสลิม หลังจากมีข้อยุติแล้วว่าใครผิดใครถูก จึงจะยุติกระบวนการด้วยพิธีกรรมสมานฉันท์ในที่สาธารณะ(musalaha)ให้มีพยานรับรู้ทั่วไป โดยเริ่มต้นจากการที่ผู้คนครอบครัวทั้งของฝ่ายผู้ผิดและฝ่ายเหยื่อผู้ถูกกระทำเข้าแถวคนละฟากถนน ต่างฝ่ายต่างแสดงการทักทายให้สลาม (การทักทายตามแบบมุสลิม) และฝ่ายที่ผิดก็ขอโทษเหยื่อ  จากนั้นฝ่ายผู้ผิดก็ไปจับมือฝ่ายของเหยื่อโดยมีผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเป็นพยาน ผู้ผิดจะเป็นฝ่ายเข้าไปหาเพื่อเข้าไปขอลุแก่โทษต่อบิดามารดาของเหยื่อ โดยแสดงให้เห็นว่าตนรู้สึกผิดกับการกระทำที่ผ่านมา พิธีนี้ยังเป็นตัวทดสอบความรู้สึกให้อภัยของฝ่ายผู้สูญเสียด้วย  จากนั้นฝ่ายผู้ผิดก็จะไปร่วมดื่มกาแฟขมที่บ้านของเหยื่อ และพิธีกรรมนี้จบลงเมื่อฝ่ายของเหยื่อเดินทางมารับประทานอาหารค่ำที่บ้านของผู้ผิด[21]


            อาจกล่าวได้ว่าพิธีกรรมที่ใช้กันในชุมชนอาหรับมุสลิมแห่งตะวันออกกลาง มีองค์ประกอบทั้ง 9 ของแนวทางสมานฉันท์ที่อภิปรายไว้ข้างต้น การบรรลุข้อยุติโดยฝ่ายผิดยอมชดใช้ให้ฝ่ายของเหยื่อ หมายความว่า ความจริง ความยุติธรรม และ ความพร้อมรับผิดได้เกิดขึ้น เมื่อฝ่ายผู้กระทำผิดขอลุแก่โทษ ฝ่ายของเหยื่อก็ให้อภัย การอาศัยพลังของชุมชนในทางสาธารณะ การให้ผู้ใหญ่ในชุมชนมาเป็นประจักษ์พยานเป็นการใช้พลังสันติวิธีมากำกับอีกชั้นหนึ่ง ขณะที่เมื่อฝ่ายผู้ผิดยื่นมือไปให้ฝ่ายของเหยื่อจับ ก็เป็นการตอกย้ำความทรงจำของสิ่งที่เคยเกิดขึ้น การตัดสินใจไปดื่มกาแฟและรับประทานอาหารค่ำร่วมกันระหว่างฝ่ายผู้ผิดและฝ่ายของเหยื่อ เป็นการยอมรับความเสี่ยงที่ชัดเจนของทั้งสองฝ่าย ส่วนตัวพิธีกรรมสมานฉันท์ทั้งกระบวนก็สะท้อนให้เห็นจินตนาการของผู้คนแห่งท้องทะเลทรายที่ประสงค์จะยุติวัฏจักรแห่งความรุนแรงมิให้ทำลายชุมชนของตนลงได้เป็นอย่างดี  ในแง่นี้กล่าวได้ว่าในชุมชนมุสลิมเองก็มีแบบอย่างเงื่อนไขที่เอื้อต่อแนวทางสมานฉันท์อยู่ด้วย  แต่คงกล่าวไม่ได้ว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชุมชนมุสลิมตะวันออกกลางจะนำมาใช้ได้กับชุมชนมุสลิมในตอนใต้ของไทย


 


ความแตกต่างของแนวทางสมานฉันท์ในสังคมไทย


นักวิชาการที่ศึกษาคณะกรรมการ"ความจริง"และการสมานฉันท์ในที่ต่างๆสรุปว่า มีเงื่อนไขที่เอื้อต่อการทำงานสมานฉันท์อยู่ 4 ประการคือ


ประการแรกความรุนแรงหรือภัยคุกคามด้วยความรุนแรงต้องยุติลง เพราะไม่เช่นนั้นคนที่ทำงานเพื่อแนวทางสมานฉันท์ก็ทำงานของตนให้หยั่งรากฝังลึกไม่ได้


ประการที่สองต้องเกิดการยอมรับความจริงและต้องมีการชดเชยให้กับเหยื่อของความรุนแรง เพราะถ้าผู้ก่อความรุนแรงไม่ยอมรับความจริง  เหยื่อก็ให้อภัยไม่ได้


ประการที่สามต้องอาศัยพลังเชื่อมร้อยผู้คนเข้าด้วยกัน ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลายแห่งในอัฟริกา กลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อสู้ขัดแย้งกันไม่มีสายสัมพันธ์ระหว่างกันที่เข้มแข็งจึงจำเป็นต้องสร้างให้สายสัมพันธ์นี้เกิดขึ้น


 ประการที่สี่ ต้องแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคเชิงโครงสร้างและตอบสนองความต้องการทางวัตถุด้วย คณะกรรมการสัจจะและสมานฉันท์ของอัฟริกาใต้จึงสรุปไว้ว่า ผู้ที่เคยได้ประโยชน์จากโครงสร้างที่เอารัดเอาเปรียบคนพวกหนึ่งมีพันธะที่จะต้องแปลงเปลี่ยนความไม่เสมอภาคที่ไม่ยุติธรรม(unjust inequalities)และความยากจนที่ไม่เห็นคนเป็นคน(dehumanizing poverty)ให้หมดไป[22]


ถ้าพิจารณาจากเงื่อนไขข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าการทำงานสมานฉันท์ในสังคมไทยปัจจุบันท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังเผชิญอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้แตกต่างจากงานประเภทนี้ในที่อื่นๆอยู่หลายประการ


ประการแรกมักตั้งคำถามกันว่า "จะสมานฉันท์กับใคร ถ้ายังระบุไม่ได้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นใคร" เชื่อกันทั่วไปว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น 1,253 ครั้งและทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตาย 1,097 คน ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง พฤศจิกายน 2547 เป็นฝีมือของหลายฝ่ายด้วยเหตุผลหลายอย่าง[23] ด้วยเหตุนี้จึงยังเป็นไปได้ด้วยว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่ให้ประโยชน์แก่คนบางหมู่บางเหล่าที่ไม่เห็นแก่ความอยู่เย็นเป็นสุขของคนในสังคม ในแง่นี้จึงไม่แปลกนักที่ความรุนแรงจะดำรงอยู่ต่อไป แม้ขณะที่งานสมานฉันท์กำลังดำเนินอยู่


ประการที่สอง แม้จะมีความพยายามค้นหา"ความจริง"ทั้งในกระบวนการยุติธรรม(เช่นการผลักดันให้ใช้นิติวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญ)และในทางสังคมการเมือง(เช่นการเปิดเผยรายงานกรณีตากใบและกรือเซะของรัฐบาล) แต่ก็ยังไม่ได้หมายความว่า เกิดการยอมรับ"ความจริง"เหล่านั้นในสังคมไทย


ประการที่สาม ปัญหาสำคัญประการหนึ่งในขณะนี้คือ "พลังเชื่อมร้อย"ผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเคยดำรงอยู่ในรูปลักษณ์ต่างๆ[24] กำลังถูกกร่อนให้เสื่อมโทรมลง  งานสมานฉันท์จึงไม่ใช่งาน"สร้าง"สายสัมพันธ์นี้เท่ากับความพยายามส่งเสริมผู้คนในพื้นที่ให้"ฟื้นฟู"สายสัมพันธ์ดังกล่าวให้คืนกลับมา


ประการที่สี่ งานสมานฉันท์ (reconciliation) ในที่อื่นๆ มักเป็นการทำงานหลังจากความรุนแรงจบลงแล้ว เช่นในอาร์เจนตินา ประธานาธิบดีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค้นหาความจริงเกี่ยวกับคนหาย( National Commission on the Disappearance of Persons) ขึ้นเมื่อปี 1983 หลังจากที่อาร์เจนตินาพ้นจากระบบทหารแล้ว คณะกรรมการชุดนี้จึงทำงานครอบคลุมกรณีคนหายตั้งแต่ปี ค..1976-1983 ในชิลี ประธานาธิบดีตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อความจริงและการสมานฉันท์(National Commission on Truth and Reconciliation) ขึ้นเมื่อปี ค..1990 และให้รวบรวมข้อมูลความรุนแรงในช่วงวันที่ 11 กันยายน 1973 ถึง 11 มีนาคม 1990 ในเอล ซัลวาดอร์ สหประชาชาติตั้งคณะกรรมการสัจจะเพื่อเอล ซัลวาดอร์ (Commission on the Truth for El Salvador) ขึ้นเมื่อปี ค..1992 ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพในประเทศนั้นโดยให้ค้นหารวบรวมความจริงเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ มกราคม 1980 ถึง กรกฎาคม 1991 ที่รู้จักกันดี คือ คณะกรรมการสัจจะและสมานฉันท์(Truth and Reconciliation Commission)ของ  อัฟริกาใต้ซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งขึ้นให้ทำงานค้นหาความจริงและสร้างสมานฉันท์เมื่อเดือน ธันวาคม ค..1995 โดยทำงานครอบคลุมข้อมูลตั้งแต่ปี ค..1960 ถึง 1994 ส่วนในกัวเตมาลา สหประชาชาติก็ตั้ง คณะกรรมการเพื่อความกระจ่างทางประวัติศาสตร์ (Commission for Historical Clarification)เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสันติภาพที่สหประชาชาติมีส่วนเป็นคนกลางให้เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 1997 โดยให้ทำงานครอบคลุมข้อเท็จจริงตั้งแต่ปี ค..1962 ถึง 1990[25] แม้ในกรณีของ ศรีลังกาที่การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังดำเนินอยู่แม้ในปัจจุบัน  แต่เมื่อประธานาธิบดี กุมาราตุงคะได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ"การอุ้ม"หรือทำให้คนหายโดยไม่สมัครใจ (Commissions of the Inquiry into the Involuntary Removal or Disappearance of Persons) เมื่อเดือน พฤศจิกายน 1994 นั้น ก็กำหนดให้คณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้น 3 คณะทำหน้าที่อย่างเดียวกันใน 3 พื้นที่ ทำงานครอบคลุมเฉพาะช่วงเวลาตั้งแต่ ค..1987 ถึง ค..1990 เท่านั้น[26]


แต่ในกรณีของประเทศไทย การทำงานสมานฉันท์เป็นการทำงานท่ามกลางความรุนแรง ปัญหาเช่นนี้ทำให้การทำงานสมานฉันท์ในสังคมไทยมีคุณลักษณ์ต่างออกไปจากที่อื่นๆ เพราะต้องหาหนทางแก้ปัญหาเยียวยาผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงซึ่งยังมิได้ยุติลงพร้อมๆกับพยายามแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและปัจจัยทางวัฒนธรรมความเชื่อที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานสมานฉันท์ในเวลาเดียวกัน ในแง่นี้นอกจากจะต้องใส่ใจกับมาตรการรูปธรรมเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ยังจำต้องคิดถึงงานสมานฉันท์ในสังคมไทยในฐานะความพยายามแก้ปัญหาระดับโครงสร้างของสังคมเช่นปัญหาการปรับปรุงปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และยังเป็นกระบวนการที่ทำหน้าที่ให้การศึกษาสังคมโดยรวม เช่นหาวิธีส่งเสริมให้สาธารณชนยอมรับความเป็นจริงว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นพลังสร้างความเข้มแข็งในสังคมไทย กล้าจินตนาการถึงอนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและชุมชนรวมทั้งความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน


ด้วยคุณลักษณ์เช่นนี้กระบวนการสร้างสมานฉันท์ในสังคมไทย จึงแตกต่างจากการทำงานของคณะกรรมการ"สัจจะ"ในที่อื่นๆ และเป็นยิ่งกว่าการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังปรากฏ เพราะเป็นการพยายามใช้แนวทางสันติวิธีสร้างชุมชนทางการเมืองที่พึงประสงค์ เข้มแข็งมั่นคง ชนิดที่ทุกคนมีศักดิ์ศรี และอยู่ร่วมกันด้วยน้ำมิตรไมตรี   


 


 





อ้างอิงท้ายบท


* ดัดแปลงแก้ไขจาก บทบรรยายเรื่อง "The Reconciliation Problematique" ของข้าพเจ้าที่นำเสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง " Southeast Asia : Peace and Soul Searching " จัดโดยโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐ, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี, จังหวัดปัตตานี, 17 สิงหาคม 2548 บางส่วนเคยตีพิมพ์เป็นบทความใน มติชนรายวัน (31 สิงหาคม, 2548)


 


[1] "พระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.. 2548"  เอกสารประกอบการสัมมนาสารัตถะ "ใต้วิกฤต" ศูนย์ศึกษาเอเซียอาคเนย์, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 10 สิงหาคม 2548


 



[2] เรื่องราวนี้มาจาก Azim Khamisa (with Carl Goldman), From Murder to Forgiveness. (La Jolla, California: ANK Publishing, Inc, 2002)


 



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net