Skip to main content
sharethis


คลื่นความคิด


โดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ และทีมงาน


ออกอากาศ : วันเสาร์ 9.00 -10.00 น. และ วันอาทิตย์ 8.30 - 10.00 น.


ทางสถานีวิทยุ เอฟเอ็ม. 101 เมกะเฮิร์ตซ ( FM 101 INN NEWS CHANNEL)


 


(คลื่นความคิด เป็นรายการ สนทนาเชิงวิเคราะห์ ในหลากหลายเรื่องราว ตั้งแต่ปรัชญา แนวคิด เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ค่านิยม ธรรมชาติ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ไปจนถึงปรากฏการณ์ในประเด็นต่างๆ ในมิติของประวัติศาสตร์ ปัจจุบันและอนาคต )


 


 


มาตรฐานความดี-ความชั่วที่เปลี่ยนไป?


(ออกอากาศ 27-28 สิงหาคม 2548)


 


เรื่องที่จะคุยกับท่านผู้ฟังในสัปดาห์นี้ เป็นไปตามสัญญาที่ว่าจะลองไปหยิบเรื่องราวเกี่ยวกับมาตรฐานสังคม ค่านิยม หรือความรู้สึกต่างๆ ของสังคมมาแลกเปลี่ยนกันว่า ถ้าหากวันใดวันหนึ่ง หรืออาจจะเป็นอยู่แล้วในวันนี้ก็ไม่แน่…??? คือถ้าหากค่านิยมที่เคยถูกมองว่าเป็นสิ่งดีๆ หรือเป็นสิ่งที่เคยนิยมกันมาก่อน อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่นิยมกันขึ้นมา หรือกลายเป็นเรื่องไม่ดี ในขณะที่สิ่งที่เคยถูกมองว่าไม่ดีกลับกลายเป็นสิ่งที่นิยมกัน หรือกลับมองว่าเป็นเรื่องดี คล้ายๆ กับทำดีได้ชั่ว-ทำชั่วได้ดี…ประมาณนั้น คำถามมีอยู่ว่า แล้วจะทำอย่างไรกันดี… จะอยู่กันอย่างไร… จะต้องปรับตัว ปรับใจกันอย่างไร หรือไม่?


คงต้องบอกกล่าวกันก่อนว่า การที่หยิบเอาเรื่องนี้มาแลกเปลี่ยนกัน ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะไปว่าใครไม่ดี หรือจะไปยกย่องว่าใครดี ถ้าจะพูดกันตรงๆ ก็ต้องบอกว่า เป็นเพราะบรรยากาศต่างๆ โดยรวมในช่วงหลังๆ ไม่เฉพาะแต่เพียงในบ้านเราหรือในสังคมไทยเท่านั้น แต่อาจจะรวมไปถึงสังคมระดับโลกกันเลยก็ว่าได้ ที่มักจะเป็นบรรยากาศที่ทำให้คนที่คิดอยากจะทำดี หรืออยากเห็นอะไรที่มันถูกมันต้อง เป็นไปตามค่านิยมเดิมๆ ที่ยึดมั่นกันมาแต่อดีต มักจะเกิดความรู้สึกเหนื่อย รู้สึกเซ็ง รู้สึกงงๆ ว่า เอ๊ะ! ทำไมโลกถึงได้เป็นแบบนี้ สังคมทำไมจึงเป็นอย่างนี้ จนอาจจะเรียกได้ว่ากลายเป็นพวกซึมๆ เศร้าๆ กันไปไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ การหยิบเรื่องทำนองนี้มาแลกเปลี่ยนกัน ก็อาจจะพอได้เป็นกำลังใจ หรืออาจจะพอได้ลดความเบื่อ ความเซ็ง ความไม่เข้าใจลงไปได้บ้าง แต่อาจจะกลับทำให้เบื่อยิ่งขึ้น เซ็งยิ่งขึ้นหรือไม่ก็ไม่ทราบได้…เอาเป็นว่าจะพยายามหาอะไรต่อมิอะไรมาช่วยปลอบใจกันไปตามสภาพก็แล้วกัน


 


หนทางที่เสื่อมทรามลง


อันที่จริง การที่เกิดความรู้สึกว่าอะไรต่างๆ มันเป็นไปในทางแย่ลง ดูไม่ดี ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างที่เคยนิยมมาก่อนในอดีตนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้น หรือเกิดแต่เฉพาะในยุคนี้ แต่น่าจะเป็นความรู้สึกที่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว มีการพูดถึงกันมานับเป็นพันๆ ปีก็ว่าได้ คือเป็นการมองว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกของสังคมทั้งหลายนั้น ถ้าหากเราใช้มาตรฐานแบบอดีตหรือเอาค่านิยมในอดีตเป็นตัววัด โดยลักษณะอาการแล้วมันมักจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง มันจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความไม่ดี ความตกต่ำ หรือเสื่อมลงไปเรื่อยๆ ประมาณนั้น หรือเป็น "เรื่องปกติ" ที่มันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะนั้น เป็น "ธรรมดา" ที่มันจะต้องเปลี่ยนกันไปแบบนั้น


ไม่ได้พูดกันลอยๆ แต่มีหลักฐานเอกสารมาอ้างอิงกันให้เห็นกันชัดๆ อย่างเช่นในหนังสือชื่อว่า "ประวัติสังคมไทยสมัยโบราณก่อนศตวรรษที่ 25" เขียนโดย "อาจารย์ชัย เรืองศิลป์" ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์เก่าแก่ เคยสอนอยู่ที่โรงเรียนทวีธาภิเศก โรงเรียนเทพศิรินทร์ เคยเป็นบรรณาธิการวารสาร "วิทยาจารย์" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477-2490 หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2517 หรือเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว ดูเหมือนว่าอาจารย์ชัย เรืองศิลป์จะเป็นคนหัวสมัยใหม่สักหน่อย คือดูๆ ท่านจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับมุมมองหรือแนวความคิดประเภท "โลกจะเสื่อม ศาสนาจะสูญ คนจะมีร่างกายเล็กลง เตี้ยลง และสติปัญญาก็จะพลอยหดหู่ตามร่างกายไปด้วย" คือท่านอาจจะมองว่าการมองแบบนี้อาจจะทำให้ไม่เกิดการพัฒนา ไม่คิดจะก้าวหน้า ทำให้จมอยู่กับอดีตเพราะคิดว่าอดีตมีแต่สิ่งดีๆ ไปๆ มาๆ ก็อาจจะกลายเป็นความงมงายไปเลยก็ว่าได้


อย่างที่ท่านได้ยกตัวอย่างไว้โดยอ้างอิงไปถึงข้อความบางช่วงในศิลาจารึกนครชุม ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ.1900 หรือเมื่อ 600-700 ปีมาแล้วว่า


"ผิมีคนถามตามศาสนาพระเป็นเจ้า ยังเท่าใดจักสิ้นอัน ให้แก้ว่าดังนี้ แต่มีอันสถาปนาพระมหาธาตุนี้ เมื่อหน้า ได้สามพันเก้าสิบเก้าปี จึงจักสิ้นศาสนาพระเป็นเจ้า…"


และมีต่อไปว่า


"อันว่าพระปิฎกไตรนี้จักหาย แลหาคนจักรู้แท้แลมิได้เลย ยังมีคนรู้คั่นสเลกสน้อยไซร้ ธรรมเทศนาอันเป็นต้นว่าพระมหาชาติ หาคนสวดแลมิได้เลย ธรรมชาดกอันอื่นไซร้ มีต้นหาปลายมิได้เลยและ…เมื่อปีอันจักสิ้นศาสนาพุทธเป็นเจ้าทั้งหลายอัน…แลแต่นั้นเมื่อหน้า ฝูงคนอันจักรู้บุญธรรมหามิได้หลายเลย ย่อมจักกระทำบาปกรรม แลจักเอาตนไปเกิดในนรก"


อย่างนี้ อาจเรียกได้ว่าวิสัยทัศน์มองทะลุยาวไกลกันเป็นพันๆ ปีเลยทีเดียว


อีกตัวอย่างหนึ่งจากหนังสือใบลานที่จารึกตำราเกี่ยวกับกฎหมายเก่าแก่ชื่อ "หลักไชย" มีความตอนต้นว่า


            "ศุภมัสดุ พระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการให้ทิศาปาโมกข์ ไทแตง กรมศักแลพระอัยการ พระธรรมนูญไว้สำหรับแผ่นดินมาช้านาน แลทิศาปาโมกข์นักปราชญ์ราชบัณฑิตก็พร้อมกันว่า บุคคลในแผ่นดินนี้เมื่อสืบไปภายหน้า จักมีปัญญาเป็นอันน้อย จะว่าราชการก็ดี จะพิจารณาความก็ดี จักมีปัญญาเป็นอันน้อย จักแก้ไข


มิสิ้น ปราชญ์ราชบัณฑิตจึงแต่งเป็นกระทงความ พากันแก้กันไว้เป็นหลักความ เป็นนามหลักไชย ไว้เพื่อจะให้เป็นประโยชน์ เป็นปัจจัยแก่บุคคลผู้มีปัญญาอันน้อย"


            เรียกได้ว่า บรรดาผู้คนในอดีตหรือบรรพบุรุษของเราท่านคงเห็นแววโง่ของคนรุ่นหลังกันตั้งแต่แรก เลยแสดงวิสัยทัศน์เพิ่มเติมเสริมแต่งสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ พอให้เป็นหลักไชยแก่คนรุ่นหลัง มิให้เกิดอาการปัดเป๋ เกิดอาการตกต่ำหรือเสื่อมโทรม จนความยุติธรรม ความเป็นธรรมมันอาจจะเสียหายไป


อาจมีผู้ที่มองแบบเดียวกับอาจารย์ชัย เรืองศิลป์ อยู่ไม่น้อย คือมองว่าถ้าหากคิดกันแบบนี้ก็จะหาทางก้าวหน้า หาทางพัฒนาสิ่งต่างๆ กันลำบากสักหน่อย การที่ต้องยึดติดกับคนแก่ มาตรฐานหรือค่านิยมบรรพบุรุษกันลูกเดียว มันก็อาจจะ"ไม่โมเดิร์น" หรือ "ไม่โพสต์โมเดิร์น" ก็เลยต้องปรับ ต้องฉีก ต้องแหวกแนวกันไปตามสภาพ


แต่อันที่จริงแล้ว มุมมองที่ว่านี้ที่น่าแปลกก็คือ ดูๆ แล้วไม่ใช่เป็นเพียงแค่มาตรฐาน ค่านิยม ประเพณี หรือเรื่องของตัวบทกฎหมายเท่านั้น และก็ไม่ได้มองกันเฉพาะระดับผู้คนธรรมดา ที่น่าสนใจก็คือว่า กระทั่งระดับศาสดาของแต่ละศาสนา หรือคัมภีร์ทางศาสนา ก็ล้วนแต่มีมุมมองเช่นเดียวกันนี้แทบทั้งนั้น


 


มิคสัญญียุค


เริ่มกันที่ศาสนาพุทธ ซึ่งมีอยู่หลายต่อหลายตอนในพระไตรปิฎกที่ได้เคยนำมาเล่าให้ฟังกันไปบ้างแล้ว อย่างตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงยุคที่เรียกกันว่า "มิคสัญญียุค" ที่ว่าไว้ในทำนองว่า รสต่างๆ ที่เคยหวานอร่อยเช่นรสของเนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำอ้อย รสเค็มต่างๆ จะอันตรธานหายไป ของอะไรก็ตามที่ในสมัยพุทธกาลเห็นว่าเป็นของเลวก็จะกลายมาเป็นของดีในมิคสัญญียุคที่ว่า หนทางที่เชื่อว่าจะนำไปสู่บุญกุศลหรือ "กุศลกรรมบถ 10 ประการ" ก็จะอันตรธานหายไป หนทางที่ว่ากันว่าจะนำไปสู่สิ่งไม่ดีที่ในยุคพุทธกาลเรียกว่า "อกุศลกรรมบถ" ก็จะกลายเป็นสิ่งที่รุ่งเรืองยิ่ง จนแม้กระทั่งคำว่า "กุศล" ก็จะไม่มีใครพูดถึง มนุษย์โลกจะเจือปนกันและกันเหมือนสัตว์ เหมือนฝูงแพะ ฝูงไก่ ฝูงสุกร เกิดการอาฆาต พยาบาท คิดมุ่งร้าย คิดฆ่ากันอย่างรุนแรง มนุษย์เสื่อมจากศีลธรรมอย่างที่สุด จนเกิด "สัตถันดรกัป" หรือช่วงระยะเวลาที่ต่างฝ่ายต่างก็ถือ "ศัสตรา" หรืออาวุธไว้ในมือเพื่อสังหารกันและกันตลอด 7วัน หรือมองมนุษย์ด้วยกันว่าเป็นเพียง "มิคสัญญา" หรือเป็นแค่ "เนื้อก้อนหนึ่ง" เท่านั้น


หรืออย่างเรื่องราวของ "พุทธทำนาย" ที่ในพระไตรปิฎกระบุว่า ในครั้งพุทธกาล มีพระราชาผู้ครองกรุงสาวัตถี พระนามว่า "พระเจ้าปัสเสนทิโกศล" ได้บรรทมแล้วฝันไปเป็นเหตุการณ์ต่างๆ ถึง 16 แบบ 16 อย่าง ตกใจตื่นขึ้นมาจึงรีบไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลความฝันให้ทรงทำนาย ซึ่งพระองค์ก็ได้ตรัสทำนายฝันเป็นข้อๆ โดยคำทำนายนี้ถือเป็นการพยากรณ์คาดการณ์ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนาได้ผ่านพ้นไปแล้วประมาณกว่า 2,000 ปี สิ่งต่างๆ ที่พระเจ้าปัสเสนทิโกศลมองเห็นในฝัน จะค่อยๆ ปรากฏออกมา


 


พุทธทำนายสิบหกประการ


เรื่องราวของ "พุทธทำนาย" นี้ นำมาจากหนังสือชื่อ "ไทยลาว-อีสาน"ที่เขียนและค้นคว้าโดย "คุณนิวัฒน์


พ.ศรีสุวรนันท์"ที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งถือได้ว่าท่านเป็นหนอนหนังสือคนหนึ่ง ชอบศึกษาและค้นคว้าเรื่องราวเก่าๆเอาไว้มากมาย ในกรณีของพุทธทำนายในหนังสือเล่มนี้เขียนเป็นคำกลอน มีทั้งภาษาพื้นเมืองของลาวและภาษาไทยภาคกลาง ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างของคำกลอนบางบทสำคัญ เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เราคุยกันมาตั้งแต่ต้น


            ความฝันแรกมีว่า… "หนึ่งฝันว่าโคทั้งสี่มีกำลัง แล่นมาโดยทิศนิมิตเห็น จะชนกันแล้วหันห่างกระเด็น ต่างหลีกลี้หนีเร้นไปหายตัว"


            พระพุทธเจ้าทรงตรัสทำนายว่า…"โปรดอธิบายทายว่าฤดูฝน เมฆมนมืดมิดทุกทิศทั่ว ดังจะปรายสายพิรุณขุ่นเขียวมัว วายุพัดกลัดกลั้วละลายไป จะลำบากยากเย็นแก่ไพร่พล ด้วยฝนไม่ตกมาในนาไร่ ต้นข้าวเต้าแตงแห้งเหี่ยวไป ผลไม้ม่วงปรางจะบางเบา จะเกิดข้าวยากหมากแพงทุกแหล่งหล้า ฝูงประชาจะแค้นคับลงอับเฉา ด้วยมนตรีโมหาปัญญาเบา ลำเอียงเอาอามิสไม่คิดธรรม์"


            ความฝันที่สอง…"สองฝันว่าไม้รุ่นเจริญผล ดูวิกลเหมือนไม้ใหญ่ในไพรสัณฑ์ พระทรงสัตย์ตรัสทายทำนายพลัน ภายหน้านั้นชาย-หญิงจะทิ้งราว จะคบชู้สู่หาสมาคม เสพผสมพันธุ์กันแต่แรกแตกรุ่นสาว กุมารีจะมีบุตรแต่รุ่นราว อายุไม่ยาวยากเย็นด้วยเข็ญมี"


ความฝันที่สาม…"สามนิมิตว่าแม่โค-คาวิน วอนขอนมลูกกินน่าบัดสี โปรดอธิบายทายว่านิมิตนี้


ไปภายหน้าจะมีเป็นแน่นอน คือพ่อแม่แก่ชรามาหาบุตร ด้วยสิ้นสุดข้าวปลาทั้งผ้าผ่อน ต้องมายอบปลอบเฝ้าเข้า


ง้องอน และมันค่อนขอดสำทับให้อับอาย หยาบช้าต่อบิดา-ชนนี ซ้ำพาทีให้เคืองซ้ำทำฉลาย มิได้มีหิริโอตัปปะอาย หยาบคายขี่ข่มด้วยลมพาล"


            ความฝันที่สี่…"สี่ฝันว่าโคใหญ่เคยไถนาไม่นำพาปล่อยทิ้งจากสถาน เอาลูกโคเทียมไถเข้าใช้การ ไม่เคยงานจนเสียรอยย่อยยับไป ดินแตกแยกข้ามคันนาหนี ไม่รู้ในท่วงทีทำนองไถ โปรดพุทธบรรหารว่านานไป นเรศไท้ท้าวพระยาทุกธานี จะคบคนพาลาปัญญาหยาบ บ้าบาปหนุ่มคะนองให้คล่องที่ นับถือว่าซื่อสัตย์สุจริตดี ได้ทีพวกอุทามก็ลามลวน ถึงได้เป็นเสนาปรึกษาความ ทำวู่วามตามศักดิ์แล้วหักหวน ชอบผิดมิได้คิดที่ข้อควร เอาแต่ส่วนสินบนคนเข็ญใจ…"


ความฝันที่ห้า…"ห้าฝันว่ามีม้ามีสองปาก เห็นหญ้าอยากปากอ้าน้ำลายไหล บุรุษสองปองป้อนจนอ่อนใจ หยิบหญ้าหย่อนยื่นให้ไม่เว้นวาย มีพุทธฎีกาพยากรณ์ ผู้ตัดสินความราษฎรสิ้นทั้งหลาย จะรวบรวมกินสินบนทั้งสองราย แนะนำให้ท้ายโจทก์และจำเลย กินพลางทางข่มด้วยลมลวง เหนี่ยวหน่วงถามทิ้งแล้วนิ่งเฉย บ้างอาศัยใช้การจนนานเลย ความก็เกยแห้งร้างอยู่ค้างปี…"


            ความฝันที่หก…"หกฝันว่าสุวรรณภาชนะทอง สุนัขปองขึ้นนั่งน่าบัดสี เอื้อนพระโอษฐ์โปรดพุทธวาที ว่าพาลาจะได้ที่เสนานาย จะหยิ่งยศมาสำทับไม่นับปราชญ์ เสพสังวาสคบพาลสมานหมาย เหมือนขมิ้นขยำน้ำปูนละลาย ทั้งไพร่นายจะคะนองลำพองพาล…"


            ฯลฯ


            ความฝันที่สิบ…"สิบฝันว่าคนหนึ่งนั่งหุงข้าว หม้อเดียวเล่าหลากล้นพ้นวิสัย บ้างดิบ บ้างสุกคลุกระคนปนกันไป บ้างเปียก บ้างไหม้ไม่มีดี พระแย้มโอษฐ์โปรดพุทธฎีกา ว่าเทพารักษาบุรีศรี พระเสื้อเมืองทรงเมืองเรืองฤทธี ประเพณีพลาดเพลี่ยงไม่เที่ยงทัด เทวัญอันรักษาพระศาสนา จะรักษาแต่คนที่อาสัตย์ ผู้มีศีลก็จะเสีย


ศีลาวัตร มิตรรักจะตัดความรักตน ประชาราษฎร์จะอาพาธเพราะความไข้ เกิดมรณภัยทุกแห่งหน ประเพณี


ปีเดือนก็เปื้อนปน ฤดูฝน หนาว ร้อนก็ผ่อนไป"


            ฯลฯ


            ความฝันที่สิบสอง…"สิบสองฝันเล่าเห็นน้ำเต้าจ่อมจมชล ดูวิกลไม่เคยพบประสบเห็น พุทธบรรหารว่านานไปจะเกิดเป็น ที่ข้อเข็ญของสัตว์วิบัติมี คือนักปราชญ์รู้ธรรมจะต่ำต้อย พาลาลอยเฟื่องฟูชูศักดิ์ศรี ฝูงพงศาตระกูลประยูรมี จะลับลี้เลื่อนสูญประยูรยศ คนพาลจะร่านเริงบันเทิงหน้า เจรจาผิดธรรมไปจนหมด ใครปากปลิ้นลิ้นลมเป็นคมคด รู้โป้ปดกลอกกลับจึงนับกัน…"


            ฯลฯ


            ความฝันที่สิบหก…"สิบหกฝันว่าเนื้อนั้นไล่เสือ พยัคฆ์เบื่อเบือนหน้าเข้าป่าใหญ่ มีพุทธบรรหารประทานไว้ ว่าสานุศิษย์ไซร้จะสู้ครู จะหักหาญผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย สำทับถ้อยขี่ข่มคารมขู่ ยกกายประกวดอวดอ้างรู้ จะลบหลู่ทางธรรมด้วยคำพาล พระทรงศีลบริสุทธิ์จะทรุดเศร้า ผู้เป็นเจ้าหลีกลี้จากถิ่นฐาน ซึ่งบพิตรนิมิตสิบหกประการ ไม่มีเหตุเภทพาลในพระองค์ แต่จะเกิดแก่โลกหลายในภายหน้า วิจารณาจำไว้อย่าลืมหลง จะเสื่อมสูญเมธีกวีวงศ์ และพงศ์เผ่าประยูรตระกูลพราหมณ์ จะเฟื่องฟูแต่พวกนิยมหยาบ แบกบาปหาบนรกไว้เต็มหาม กงกรรมก็จะนำสนองตาม ลงหนังสุนัขแล้วถามเมื่อยามตาย พระไตรรัตน์จะวิบัติมัวหมอง ไม่แผ้วผ่องรัศมีวิเชียรฉาย เมื่อศักราชคำรบสองพันปลาย จะต้องพุทธทำนายไว้แน่เอย"


            พอจะสรุปได้ว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำนองนี้ จะเกิดขึ้นในช่วงที่พุทธศักราชผ่านพ้นไปแล้วประมาณสองพันกว่าปี ซึ่งในขณะนี้ก็ 2548 ปีแล้ว เพราะฉะนั้น อะไรที่มันน่าเบื่อ น่าเซ็ง น่าเหนื่อย มันก็ย่อมเป็นปกติธรรมดานั่นเอง


 


จิตใจมนุษย์สมัยจะสิ้นยุคเป็นฉันใด?


            ทัศนะและมุมมองของคริสต์ศาสนาต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่แตกต่างไปจากพุทธศาสนาแต่


อย่างใด คือออกมาในทางเสื่อมลงหรือแย่ลงตามลำดับ ดังจะเห็นได้จากคำทำนาย คำพยากรณ์ที่มีอยู่มากมายในพระคัมภีร์ไบเบิล ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะพระคัมภีร์ไบเบิลนั้นเป็นการรวมคัมภีร์เก่าของยิวหรือคัมภีร์ในศาสนายูดาห์มาผนวกกับคัมภีร์ใหม่ที่เป็นการเขียนเล่าประวัติพระเยซูและคำทำนายโดยอัครสาวกในยุคหลังๆ และรวมเอาความคิดความเห็น คำทำนายของ บรรดาผู้พยากรณ์ที่อยู่ในพระคัมภีร์เดิมหรือในภาค "พันธะสัญญาเดิม" ไม่ว่าจะเป็นคำทำนายของซามูเอล, เอลิยาห์, อามอส, เจเรอมีย์, ดาเนียล, เอสเสเคียล, ฮาบัคคา, อิสยาห์,โจเอล ฯลฯ บ้างก็ไม่ใช่แค่พยากรณ์เฉยๆ แต่มีทั้งด่า ทั้งสาปแช่งอีกต่างหาก โดยเฉพาะกับชาวยิวหรือชาวอิสราเอลที่ถือว่าเป็นชนชาติที่ทำพันธะสัญญาหรือ "ข้อตกลง" ไว้กับพระเจ้ามาตั้งแต่ยุคอับราฮัม ยุคโมเสสเป็นต้นมา


เมื่อมาถึงยุคของพระเยซู ถ้าหากว่ากันตามสิ่งที่บรรดาอัครสาวกได้เขียนบรรยายถึงประวัติชีวิตและกิจกรรมต่างๆ ที่พระองค์ได้ทรงทำไว้ในขณะที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ในบางช่วงบางตอน ได้มีการอ้างถึงคำพูดของพระองค์ว่าทรงมีทัศนะอย่างไรกับมาตรฐานค่านิยมต่างๆ ของผู้คนในอนาคต หรือที่ชาวคริสต์เรียกว่าในช่วงที่จะใกล้ถึง "วันสิ้นยุค" ซึ่งก็ออกไปทางแง่ลบหรือมองเห็นว่าความเสื่อมความตกต่ำจะหนักขึ้นๆ ไม่ว่าการที่ผู้คนจะหันมานับถือศาสนากันแต่เปลือกนอก การที่ผู้คนจะไม่รู้สึกเคารพศรัทธาในพระเจ้าที่เป็นความเชื่อของคนในยุคอดีต ผู้ที่ยังยึดมั่นศรัทธาในพระเจ้าหรือในมาตรฐานความดีแบบเดิม ค่านิยมแบบเดิม จะกลายเป็นคนที่ถูกรังเกียจ หรือกระทั่งบอกว่า "เขาจะอายัดท่านหรือจับตัวท่านไว้กับศาล จะเฆี่ยนท่านในธรรมศาลา เพียงเพราะว่าท่านยึดมั่นต่อเรา" หรือที่ในพระคัมภีร์ใช้คำว่า "คนทั้งปวงจะเกลียดชังท่าน เพราะความภักดีที่ท่านมีต่อเรา"


และมีอะไรหลายอย่างคล้ายๆ ที่มีในศาสนาพุทธ คือจะเกิดการบิดเบือนหลักธรรมความถูกต้อง จะเกิด


"พระคริสต์เทียมเท็จ" หรือ "ผู้ทำนายเทียมเท็จ" ผู้ที่ "ทำการมหัศจรรย์เพื่อล่อลวง" แม้กระทั่งคนดีๆ ผู้ที่ถูกเรียกว่า "ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรแล้ว" ก็ยังต้อง "หลงทิศหลงทาง" กันง่ายๆ สภาพที่ว่านี้จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับภาวะความวิปริตผันผวนต่างๆ ของธรรมชาติ ไม่ว่าการกันดารอาหาร แผ่นดินไหว ข่าวสงครามว่าด้วยประชาชาติกับประชาชาติ ราชอาณาจักรต่อราชอาณาจักรจะต่อสู้กัน…


แต่ถ้าต้องการฟังกันให้ชัดๆ ว่ามาตรฐานสังคมในยุคหลังจะมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ต้องไปเปิดบทที่ว่าด้วยจดหมายของ "ท่านเปาโล" ที่มีไปถึง "ทิโมธี" ในหัวข้อ "ลักษณะจิตใจของมนุษย์ในสมัยจะสิ้นยุค" ซึ่งว่าเอาไว้ว่า…


"แต่จงเข้าใจข้อนี้ คือว่าในสมัยจะสิ้นยุคนั้นจะเกิดเหตุการณ์กลียุค เพราะว่ามนุษย์นั้นจะเห็นแก่ตัว เห็นแก่เงิน เย่อหยิ่ง ยโส ชอบด่าว่า ไม่เชื่อฟังคำบิดามารดา อกตัญญู ไร้ศีลธรรม ไร้มนุษยธรรม ไม่ให้อภัยกัน ใส่ร้ายกัน ไม่ยับยั้งชั่งใจ ดุร้าย เกลียดชังความดี ทรยศ มุทะลุ หัวสูง รักความสนุกยิ่งกว่ารักพระเจ้า ถือศาสนาแต่เปลือกนอก ส่วนแก่นแท้ของศาสนาเขาจะไม่ยอมรับ..."


            หรือในบทจดหมายของท่าน "เปโตร" หรือ "ปีเตอร์" ก็กล่าวถึงค่านิยมต่างๆ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายช่วงหลายตอน เช่น ลักษณะอาการของคนรุ่นหลังที่จะออกมาในแบบ "กล้าและประพฤติตามอำเภอใจ ไม่สะทกสะท้านที่จะกล่าวประณามศักดิ์ศิริเทพ"(การด่าว่าพระเจ้าหรือเทพเจ้า) หรือ "เป็นเหมือนสัตว์เดียรัจฉานที่ปราศจากความคิด เป็นสัตว์ทำตามสัญชาตญาณ เกิดมาเพื่อถูกจับและถูกฆ่า พวกเขาเหล่านี้จะกล่าวประณามในสิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจเลย…"


 


การมาของ "ท่านมะห์ดี" และ "กัลกียุค"


            ส่วนในศาสนาอิสลามและศาสนาฮินดูที่เป็นศาสนาหลักของโลกเช่นกัน ก็แทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะศาสนาอิสลามที่มีหลายสิ่งหลายอย่างคล้ายกับศาสนาคริสต์อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าการแสดงความยอมรับต่อศาสดาที่เรียกว่านบีคนเดียวกันก่อนที่จะมาถึงท่านนบี มูฮัมหมัด ไม่ว่าจะเป็นอับราฮัม, มูซาหรือโมเสส, อีซาหรือพระเยซู ซึ่งในช่วงเวลาที่ก่อนที่ "ท่านมะห์ดี" ซึ่งคล้ายๆ กับพระเมสซิอาห์ของคริสต์ หรือพระศรีอารยเมตไตรยของพุทธจะเสด็จมา ศาสนาอิสลามถึงกับบอกไว้ว่า อะไรต่างๆ ในโลกจะเสื่อมลงจนผู้ที่ยังยึดมั่นในความเชื่อ ความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ต่อพระอัลเลาะห์ หรือยังยึดมั่นกับมาตรฐานและค่านิยมแบบผู้คนในยุคอดีตนั้น…จะเหลืออยู่น้อยมากจนแทบนับเป็นรายหัวได้เลย หรือจะต้องอึดอัดอดทนกับมาตรฐานหรือค่านิยมใหม่ๆ กันแบบแทบเป็นแทบตาย


            สำหรับศาสนาฮินดูนั้น มีการคาดคะเนไว้ล่วงหน้าถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ความเสื่อมกันถึงขนาดที่เรียกว่าจะเกิดยุคที่ "มนุษย์จะต่ำช้าสามานย์" อย่างถึงที่สุด จนกระทั่งพระวิษณุที่เคยอวตารลงมาปราบยุคเข็ญของโลกในยุคต่างๆ ติดต่อกันมาแล้วถึง 9 ยุค ยังเกิดอาการจนปัญญา ถึงขั้นที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีกแล้ว นอกจากจะต้องทำลายมนุษย์ทั้งหลายทิ้ง แล้วสร้างโลกขึ้นมาใหม่ อย่างที่เรียกว่า "กัลกียุค" หรือยุคที่พระวิษณุอวตารลงมาเป็น "กัลกี" มือขวาถือดาบแห่งการทำลายล้าง ก่อนที่ "ยุคใหม่" จะถือกำเนิดขึ้น


 


คำทำนายของอินเดียนแดง


            และไม่ใช่แค่เพียงพุทธ, คริสต์, อิสลาม, ฮินดู เท่านั้นที่มีทัศนะมุมมองในแบบที่ว่านี้ แม้กระทั่งคนในยุคปัจจุบันอย่างนาย"ปีเตอร์ รัสเซล" นักฟิสิกส์ระดับปริญญาเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่สนใจเรื่องราวประเภทนี้ได้ศึกษาค้นคว้าจนเขียนเป็นหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่า "Waking Up in Time : Finding Inner Peace in Times of Accelerating Change" โดยทางสำนักพิมพ์เคล็ดไทย ได้มอบให้คุณ "สุรพงษ์ สุวจิตตานนท์" แปลออกมาเป็นภาษาไทยในชื่อว่า "รู้ตื่นให้ทันการณ์กับยุคสมัย : เมื่อโลกก้าวไกลอย่างเร่งเร็ว" ที่กำลังจะออกวางจำหน่ายในเร็วๆ นี้ เผอิญมีโอกาสได้อ่านต้นฉบับล่วงหน้ามาบ้างเลยทราบว่านายปีเตอร์ รัสเซล ได้ไปหยิบคำทำนายของอินเดียนแดง เผ่าโฮปี ในอเมริกาเหนือมาอ้างอิงไว้ ซึ่งก็น่าแปลกที่เป็นไปในแนวเดียวกันกับคำทำนายของศาสนาหลักๆ ของโลก


            คำทำนายของอินเดียนแดงเผ่าโฮปีนี้ เรียกว่าทายได้แม่นราวกับตาเห็นในหลายเรื่อง เช่น การมาถึงของ "คนขาว" จากฟากตะวันออก…ยานพาหนะของคนขาวที่ไม่ต้องใช้ม้าลากจูง…ยานพาหนะที่สามารถเดินทางจากฟากฟ้าหนึ่งไปยังอีกฟากฟ้าหนึ่ง… การทำนายถึงเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กับสงครามโลกครั้งที่สอง…การทำนายถึงองค์กรบางองค์กรในระดับโลกที่เหมือนกับองค์การสหประชาชาติ…ฯลฯ ส่วนคำทำนายถึงอุปนิสัย ค่านิยม มาตรฐานของผู้คนในยุคใหม่ นั้น ได้กล่าวถึงพฤติกรรมที่ชาวอินเดียนแดงเผ่านี้ถือว่าไม่ถูกต้อง หรือว่าไม่เหมาะไม่ควรตามมาตรฐาน ค่านิยมของชาวอินเดียนแดงทั้งหลาย เช่น พฤติกรรมการไม่เคารพแผ่นดิน ไม่เคารพธรรมชาติที่จะกลายเป็นตัวการนำมาซึ่งหายนะต่างๆ เกิดการแก่งแย่งล้างผลาญกันจนนำไปสู่การทำลายล้างที่ฟังดูคล้ายๆ กับการพูดถึงอาวุธนิวเคลียร์ที่จะตกลงมาจากท้องฟ้า ทำให้น้ำในมหาสมุทรเดือด แผ่นดินถูกเผาจนไม่มีพืชพรรณงอกเงยเป็นเวลาหลายปี แล้วก็สรุปลงท้ายว่า จะมี "ปัญญาอันประเสริฐ" ที่จะหวนคืนกลับมาจาก


"ฟากฟ้าตะวันออก" ในช่วงจังหวะที่ "คนผิวขาวได้เกิดความโง่เขลาอย่างถึงที่สุด" หรือ "ความโง่เขลาของคนผิวขาวได้ขยายตัวอย่างถึงที่สุด" ประมาณนี้


            เพราะฉะนั้น ถ้าหากมองจากมุมมองของศาสนา มองจากบรรดาความเชื่อ-ความศรัทธาของผู้คนในยุคอดีต ก็คงต้องยอมรับว่า ปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ใครต่อใครเกิดความเบื่อ ความหน่าย ความเซ็งต่อความไม่ถูกต้อง ต่อความไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดิมๆ หรือค่านิยมเดิมๆ…มันก็ย่อมเป็นความธรรมดา…หรือมันย่อมเป็นเช่นนั้นเอง…เป็นสิ่งที่มีการคาดการณ์กันไว้แล้ว…เป็นสิ่งที่มีการพูดจากันมานานแล้ว


 


แมงเม่ากำลังบินเข้ากองไฟ


            ปัญหาคือเมื่อรู้อย่างนี้แล้วจะทำอย่างไรดี สำหรับคนที่ยังอาลัยอาวรณ์ คนที่ยังยึดมั่นอยู่กับความเชื่อ-ความศรัทธา หรือค่านิยมแบบเดิมๆ อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต จะต้องละทิ้งค่านิยมที่เคยเชื่อ เคยยึดมั่นกันมา จะต้องปรับตัวยอมรับสภาพ ยอมรับค่านิยมใหม่ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากสภาพสังคมที่ฝ่ายศาสนาเคยประณามหรือถึงขั้นสาปแช่งก็มีอย่างนั้นหรือ? และถ้าหากจะคิดปรับสภาพกันจริงๆ ก็คงง่าย เพราะไม่ต้องคิดอะไรมาก คล้ายๆ กับที่พวกนักการตลาด นักโฆษณาบอกว่าต้องหาทาง "ปรับโปรดักท์" ให้เข้ากับ "กลุ่มเป้าหมาย" ประมาณนั้น คือถ้าหากปรับจิต ปรับใจ ปรับสภาพร่างกายให้สอดคล้องไปกับค่านิยมใหม่ๆ มาตรฐานใหม่ๆ ได้ลงตัวเมื่อไหร่ ก็เรียกว่า "เรทติ้งกระฉูด" ถ้าหากเป็นนักขาย สินค้าก็ขายได้ ถ้าเป็นนักการเมือง ก็จะกลายเป็นนักการเมือยอดนิยม ใช้การตลาดนำการเมืองได้เมื่อไหร่ คะแนนนิยมก็ถล่มทลาย ในเมื่อสังคมเป็นแบบนี้ ประชาชนเป็นแบบนี้ รัฐบาลก็ต้องเป็นแบบนี้…หรือเป็นไปตามหลัก "ประชาธิป-ตาย" อย่างที่ท่านพุทธทาสว่า


            แต่สำหรับคนที่ปรับตัวค่อนข้างยาก หรือพวกที่อาจจะถูกมองว่าดื้อ อาจจะถูกมองว่ามีทิฐิมากไปหน่อย พวกอนุรักษ์ยึดมั่นกับมาตรฐานเดิมๆ พวกไดโนเสาร์ หรือพวกที่ไม่ยอมวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดตามทฤษฎีวิวัฒนาการ คนเหล่านี้ก็คงต้องเริ่มต้นทำใจว่าคงต้องยอมรับความยากลำบากกันพอสมควร เพราะช่วงเวลาที่เป็นไปตามคำทำนาย คำพยากรณ์ทั้งหลายนั้น ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะยาวนานยืดเยื้อกันขนาดไหน คือมันอาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่พอจะทนกันได้แค่วันสองวันหรือปีสองปี ดีไม่ดีมันอาจจะต่อเนื่องยาวนานจนเบื่อแล้วเบื่อเล่าหน่ายแล้วหน่ายอีก…ก็ไม่แน่


            สำหรับคนที่พยายามจะมีความหวัง พยายามปลอบอกปลอบใจกันต่อไป ก็จะมองว่า อะไรต่อมิอะไรที่มันเสื่อมมาจนถึงขนาดนี้แล้วนั้น มันก็น่าที่จะไม่ไกลเกินไปนักที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือยิ่งมืดเท่าไหร่ก็เท่ากับว่ายิ่งใกล้สว่างมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามองกันกว้างๆ ถึงสภาพสิ่งแวดล้อมของโลกในขณะนี้ สภาพของธรรมชาติที่เริ่มแสดงอาการ เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทรัพยากรต่างๆ ที่นับวันจะขาดแคลน มีแนวโน้มลดลงอย่างฮวบฮาบไปทุกที ความวิปริตของดินฟ้าอากาศ น้ำท่วม แผ่นดินไหว การมาของคลื่นยักษ์ การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์น้ำแข็งละลาย โลกร้อน ข่าวความตึงเครียดในด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร หรือข่าวสงครามที่แรงขึ้นๆ ก็เลยสรุปกันว่าภาวะที่เป็นอยู่แบบนี้มันน่าที่จะไปได้ไม่ไกลนัก ผู้คนที่คิดในแบบนี้ก็เช่น อาจารย์หมอประสาน ต่างใจ ที่ท่านได้ติดตามเรื่องราวทำนองนี้มาเป็นเวลาหลายสิบปี และพยายามเขียนปลอบใจใครต่อใครกันแทบทุกวันอาทิตย์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เมื่อไม่นานมานี้ท่านก็ย้ำอีกครั้ง…ประมาณว่า…ใกล้แล้ว…ใกล้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว เพราะว่าอาการของผู้คนในแต่ละสังคมในปัจจุบันนี้ ดูจะไม่ต่างไปจากแมงเม่าที่กำลังบินเข้ากองไฟ หรือคล้ายๆ กับว่าใกล้จะถึงกาลอวสานของยุคเข้าไปทุกที


            ลองพิจารณาดูบางช่วงบางตอนในบทความของท่านดู เผื่อว่าใครที่รู้สึกเหนื่อยหน่าย จะได้พอมีเรี่ยว


มีแรงลุ้นกันต่ออีกสักนาทีสองนาที…ก็ยังดี อาจารย์หมอประสานเขียนไว้ในทำนองว่า…


            "ไม่ว่าจะมองจากด้านไหน และอย่างไร หากไม่ลำเอียงเพราะถูกกดดันด้วยอิทธิพลทางการเมืองของนักการเมืองระดับโลก เราก็ต้องมองเห็นอย่างชัดแจ้งว่า สังคมโลกและมนุษยชาติภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเมืองที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ มันกำลังจะถึงจุดจบ…เรากำลังอยู่ในช่วงท้ายสุดของอารยธรรมวัตถุวิสัยที่ตั้งอยู่บนแสงสีที่เจิดจ้า ในทุกวันนี้แทบจะไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดที่ถ้าหากยังพอมีความเคารพในตัวเองอยู่บ้าง จะปฏิเสธหรือไม่ให้การยอมรับต่อภาวะเหล่านี้ หรือไม่เคยกล่าวคำเตือนเอาไว้ในลักษณะดังเช่นที่นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลจำนวนกว่า 1,600 คน ได้ลงลายมือเตือนไว้ (Warning to Humanity 1992) หรือทุกวันนี้เราอาจจะสรุปได้ว่า…มันสายเกินไปแล้ว ที่เราจะยับยั้งความหายนะอย่างสิ้นเชิงของอารยธรรมวัตถุนิยมแบบเก่าได้อีกแล้วด้วยประการทั้งสิ้น และไม่มีเทคโนโลยีแบบไหนสามารถยับยั้งหรือคลี่คลายได้แม้แต่น้อย เพียงแต่เมื่อไหร่… และอย่างไรเท่านั้น"


            สำหรับนายปีเตอร์ รัสเซล ที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ก็ไม่ต่างกัน คือมองว่าใกล้แล้ว และยังบอกอีกด้วยว่ายิ่งใกล้เท่าไหร่ สิ่งที่เรียกว่า "อัตราเร่ง" มันจะยิ่งทวีคูณเท่านั้น เรียกว่ามาตรฐานสังคมแบบใหม่ ค่านิยมแบบใหม่


ที่พยายามดิ้นรนเปลี่ยนแปลงอะไรต่อมิอะไรไปจากที่เคยยึดมั่นกันมาแต่ครั้งอดีตนั้น ไม่ว่าจะมาแรงขนาดไหน


ก็แล้วแต่ แต่เวลาไปก็จะไปแรง แถมยังไปเร็วอีกต่างหากเพราะอัตราเร่งมันจะเร็วขึ้น


 


การต่อสู้ครั้งสุดท้าย : สงครามระหว่างตัวตนกับจิต


            อันที่จริงการพูดกันถึงว่าสิ่งต่างๆ ที่เราเบื่อ เราเซ็ง เราเหนื่อยหน่ายนี้มันจะหมดไปเมื่อไหร่ แบบไหน อย่างไร อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ควรจะนำมาใช้ปลอบใจกันไปๆ มาๆ เพราะถึงจะปลอบกันอย่างไร ก็คงไม่ได้ประโยชน์กับตัวเราสักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ยิ่งกว่าสำหรับการประคับประคองชีวิตของแต่ละคนในบรรยากาศแบบนี้ หรือที่อาจจะหนักกว่านี้ในวันข้างหน้า ก็ยังพอมีอยู่บ้าง ซึ่งบรรดาผู้รู้หรือนักการศาสนาท่านได้เสนอแนะไว้แล้ว ซึ่งคงต้องย้อนกลับไปพูดอีกสักนิดถึงเรื่องที่คนโบราณท่านแสดงมุมมองทัศนะต่อเรื่องของความเสื่อม ความตกต่ำของมาตรฐานสังคม หรือค่านิยมของสังคมในอนาคตกันมาโดยตลอดนั้น ว่าไปแล้วท่านคงไม่ได้ต้องการจะทำให้ใครเกิดอาการฝ่อ หมดกำลังใจ หรือเกิดความรู้สึกไม่อยากจะก้าวหน้า ไม่อยากจะพัฒนา หรือจมอยู่กับอดีต จมอยู่กับความงมงาย หรืออะไรก็ตามที่มีการตั้งข้อสังเกตกันในทำนองนี้


            ถ้าหากมองท่านในแง่ดีกันสักหน่อย ก็น่าจะพอพูดได้ว่า ท่านน่าจะพยายามเตือนลูกหลานในยุคต่อๆ มาให้รู้จักเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมรับมือกับภาวะต่างๆ ที่มันจะเป็นตัวกดดันความรู้สึก กดดันจิตใจของคนที่อาจจะยังเชื่อ ยังศรัทธาในมาตรฐานความดี มาตรฐานความถูกต้องอยู่บ้าง ซึ่งว่าไปแล้วมาตรฐานที่ว่านี้ ถ้าหากมองกันในแง่ศาสนาแล้ว คงไม่ได้เป็นเรื่องของอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ หรือเรื่องเก่า แต่เป็น


สัจธรรม อีกทั้งยังไม่ได้เป็นเรื่องของกาลเวลา แต่เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือกาลเวลาที่เรียกว่า "อกาลิโก" นั่นเอง ซึ่งศาสนาต่างๆ ได้กล่าวถึงภาวะเหล่านี้ไว้เหมือนๆ กันหมด ซึ่งก็คงไม่ต้องการให้คนเกิดความกลัวจนอาจจะเลิกยึดมั่น เลิกเชื่อในศาสนา แต่น่าจะต้องการให้ผู้ที่เชื่อ ผู้ที่ศรัทธาในศาสนา ได้รู้จักปรับตัวปรับใจและหาทางรับมือ หาทางเผชิญหน้ากับภาวะเหล่านั้นด้วย "ความเข้าใจ" ไม่ใช่ด้วยความวิตก ด้วยความกังวล หรือด้วยความเหนื่อยหน่าย ไม่สบายกายไม่สบายใจ แต่ให้มองมันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเผชิญหน้า ที่จะต้องต่อสู้ ต้องเอาชนะกันต่อไป


            และถึงจะมีการทำนายถึงภาวะแบบนี้ไว้ในแทบทุกศาสนา แต่ก็คงไม่ได้ต้องการให้ใครต่อใครที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของศาสนานั้นๆ ยอมปล่อยตัวปล่อยใจ หรือยอมรับสภาพกับความเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ว่า แต่กลับพยายามกระตุ้นให้เกิดการยืนหยัด เกิดการพัฒนาจิตใจให้รักษาความมั่นคงเข้มแข็งในจิตใจเอาไว้ เพื่อให้สามารถฝ่าฟันกับภาวะต่างๆ เพื่อสืบทอดมาตรฐานและ ค่านิยมต่างๆ ที่มีอยู่ในศาสนานั้นๆ กันต่อไป


            หรือถ้าจะพูดกันในภาษาที่ทันสมัยสักหน่อย ก็คงต้องไปฟังที่นายปีเตอร์ รัสเซลสรุปไว้ในหนังสือชื่อ "รู้ตื่นให้ทันการณ์กับยุคสมัยฯ" ที่น่าสนใจ ที่น่าจะเก็บเอามาคิด เอามาใช้ปลอบใจ หรืออาจจะให้กำลังใจกันได้พอสมควร คือในภาวะที่อะไรต่างๆ แสดงอาการเสื่อมลงๆ หรือมาตรฐานใหม่ที่คนยุคใหม่อาจเห็นว่าดีกว่า หรือค่านิยมใหม่ๆ ที่คนยุคใหม่ในแต่ละสังคมหันไปนิยมกันมากขึ้น จนอาจกลายเป็นความขัดแย้งหรือการปะทะกับมาตรฐาน ค่านิยม ความรู้สึกเดิมๆ ที่ผู้คนในยุคอดีตเคยยึดมั่นกันมา ทำให้บางคนเกิดความรู้สึกว่าเป็นการต่อสู้ระหว่าง "ธรรมะ" กับ "อธรรม" ไปเลยก็มี


            นายรัสเซลจึงเสนอให้ลองพยายามเปลี่ยนมุมมองต่อการต่อสู้ขัดแย้งนี้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ คือบอกว่า


"ในขณะที่หลายสิ่งหลายอย่างประดังกันเข้ามาจนเราเริ่มรู้สึกตัว เริ่มรู้สึกถึงความขัดแย้งที่เราจะต้องต่อสู้ ซึ่งอาจจะเป็นเสมือนหนึ่งการสู้รบครั้งสุดท้ายที่เราแต่ละคนจะต้องต่อสู้ หรือเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม ก็ขอให้เราลองมองในทัศนะและมุมมองใหม่ คือให้มองว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว การต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรมที่แท้จริง หรือการต่อสู้ครั้งสุดท้ายนั้น น่าจะเป็นการต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรมภายในจิตใจของเราเอง ไม่ใช่สู้กับคนอื่น ให้ถือว่าเป็นสงครามระหว่างตัวตนของเรากับจิตของเรา ทำให้มันกลายเป็นความขัดแย้งภายในจิตใจที่เราจะต้องหาทางต่อสู้กับมันในแต่ละวัน เป็นสงครามระหว่างความกลัวกับความรัก เป็นสงครามระหว่างอารยธรรมใหม่ๆ ที่กำลังคิดจะหล่อหลอมเรา ที่จะต้องต่อสู้กับสัจธรรมที่ยังอยู่ภายในจิตใจของเรา หรือดังคำกล่าวที่ว่า…เราได้พบศัตรูที่แท้จริงแล้ว และที่แท้มันก็คือตัวเรานั่นเอง หรือคือศัตรูที่อยู่ภายในจิตใจของเรา และเมื่อเรากำหนดศัตรูเอาไว้ในลักษณะนี้ สติปัญญาที่จะทำให้เราชนะศัตรู หรือทำให้เรารอดพ้นจากภาวะเหล่านี้…อันที่จริงก็อยู่ภายในจิตของเราอีกด้วยนั่นเอง…"


            หรือสรุปง่ายๆ ว่า ในขณะที่เรากำลังรู้สึกเซ็งๆ กับสภาพแวดล้อมแบบไหนก็แล้วแต่ เบื่อหน้าใครต่อใครอย่างไรก็แล้วแต่ หมดความหวังหมดกำลังใจกับสังคมกันขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่อย่าหมดกำลังใจต่อตัวเราเอง หรืออย่าไปยอมแพ้ต่อสิ่งที่มันกำลังคุกคามจิตใจของเรา ไม่ว่าสิ่งที่ว่านั้นมันคือความโกรธ ความเกลียด ความหลง ความกลัว ความโดดเดี่ยว หรืออะไรก็ตาม ไม่ว่ามันจะพยายามล่อลวงเพื่อให้เรายอมแพ้ ให้ยอมรับสภาพกันง่ายๆ หรือไม่ว่าภาวะแบบนี้มันจะยาวนานไปอีกขนาดไหน กดดัน สร้างความเหนื่อยหน่าย ทรมาทรกรรมกันไปในลักษณะใดก็ตาม…


ก็ขอให้เราเอาชนะให้ได้ตั้งแต่จุดเริ่มแรก…นั่นก็คือเอาชนะมันภายในจิตใจของตัวเราเองนั่นแล…


 


/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-//-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-//-/-/-/-/-/-/-/


 


 


 


             


             


           


 


             


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net