Skip to main content
sharethis


เชียงใหม่- 23 ก.ย.48 กลุ่มผู้ใช้น้ำเชียงใหม่ตื่นลุกฮือต้าน หลังรู้ข่าวรัฐเตรียมส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปรื้อฝายพญาคำ ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ขณะที่นายกเทศมนตรีเชียงใหม่ ยืนยันเป็นการทำพนังดินกั้นฝั่งแม่น้ำปิงเป็นตัวอย่างเพื่อไม่ให้น้ำท่วม ยังไม่มีการรื้อฝายแต่อย่างใด


วันนี้(23 ก.ย.) กลุ่มผู้ใช้น้ำ ประธานเหมืองฝาย และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลสารภี เดินทางไปที่เหมืองฝายพญาคำ ซึ่งอยู่ติดลำน้ำปิง ใกล้ค่ายกาวิละ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หลังจากมีข่าวว่า ทางการส่งเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรกล เตรียมที่จะรื้อฝายโบราณ ตามดำริของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้มีการรื้อทิ้งเพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่นั้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลุ่มผู้ใช้น้ำเดินทางไปถึง กลับพบนายบุญเลิศ บูรณปกรณ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ กำลังยืนสั่งการอยู่ โดยนายบุญเลิศอธิบายกับกลุ่มชาวบ้านว่า เป็นการเข้าใจผิดกัน เพราะเหตุที่นำเครื่องจักรเข้ามาตรงนี้ ก็เพราะว่ามีแนวคิดที่จะทำพนังดินกั้นน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้าไปในเขตบ้านเรือนราษฎร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรื้อฝายแต่อย่างใด โดยได้ทดลองทำบริเวณฝายพญาคำตรงนี้ก่อน หากสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ ก็จะขยายไปยังบริเวณอื่นๆ ด้วย


"กรณีเรื่องการรื้อฝายทั้ง 3 แห่งนั้น เมื่อวันก่อน ตนได้มีโอกาสพูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีถึงเรื่องนี้ ท่านบอกว่า สิ่งที่มีความเกะกะขวางทางน้ำ ก็ควรจะมีการรื้อ แต่ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องการรื้อฝายในทันที และทางนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า หากจะดำเนินงานโครงการอะไรก็ตาม ก็จะพยายามทำความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนให้น้อยที่สุด" นายบุญเลิศ กล่าว


นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า แต่อาจจะมีการสร้างเขื่อนยางขึ้นก่อน บริเวณท่าวังตาล หลังจากนั้นก็คงมีการเชิญชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมาพูดคุยกันให้เรียบร้อย เพราะฉะนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนกลุ่มผู้ใช้น้ำไม่ต้องวิตกกังวล ขอให้สบายใจได้


ในขณะที่ นายสมบูรณ์ บุญชู กรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายพญาคำ และสมาชิก อบต.สารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อตนเข้าไปดูแล้ว ไม่ใช่การป้องกันน้ำท่วมแต่อย่างใด แต่เชื่อว่า เป็นการเตรียมการนำเครื่องจักรตักดินเข้าไปถมลำเหมือง เพื่อจะนำเครื่องจักรเข้าไปทำการรื้อฝายพญาคำ


"ตนไม่ยอมให้มีการถมลำเหมือง ได้เข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ เพราะการถมลำเหมืองเป็นปิดเส้นทางน้ำ และจะสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านที่ใช้น้ำจากลำเหมืองนี้ อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝาย จะยังคงมีการรวมตัวกัน โดยได้มีการผลัดเปลี่ยนเวรยามเฝ้าระวังสังเกตการณ์บริเวณฝายทั้ง 3 แห่ง เนื่องจากไม่เชื่อและไม่ไว้วางใจว่า ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐจะรื้อฝายในช่วงไหน" นายสมบูรณ์ กล่าว


ซึ่งก่อนหน้านั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้พยายามเข้าไปเจรจาเกลี้ยกล่อมให้ นายหมื่น ทิพยเนตร วัย 77 ปี ประธานเหมืองฝายพญาคำ เพื่อให้ยอมรื้อฝายดังกล่าวนั้นเสีย ซึ่งทางประธานเหมืองฝาย ก็กล่าวยืนยันว่า หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็จะไม่ยอมให้มีการรื้อถอน เพราะฝายพญาคำแห่งนี้ เป็นฝายโบราณที่ประชาชนได้ร่วมกันสร้าง โดยมีการยึดระเบียบกติกาตามกฎมังรายศาสตร์มาช้านาน



ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงตรวจพื้นที่น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ และได้ออกมายืนยันว่า จำเป็นต้องรื้อฝายทั้ง 3 แห่งทิ้ง ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซาก โดยจะสร้างฝายยางแทน


ซึ่งสวนกับความคิดเห็นของนักวิชาการ จากสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ที่ออกมาระบุยืนยันว่า การรื้อฝายทั้ง 3 แห่ง ไม่ได้มีผลกระทบต่อสาเหตุน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ อีกทั้งการรื้อฝายทั้ง 3 แห่ง อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาน้ำปิงแห้งในช่วงหน้าแล้งอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net