Skip to main content
sharethis

เมื่อไม่นานมานี้ ฉันได้ฟังเรื่องราวจากเพื่อนสนิทคนหนึ่ง จากการไปประชุมของเขาว่า ตอนนี้ ทางภาคตะวัน ออก ของประเทศไทยเรา กำลังมีการบริหารจัดการน้ำโดยบริษัทข้ามชาติ ในลักษณะของ การประมูลสัมปทาน น้ำจากหน่วยงานของรัฐ จากนั้นก็นำเอาน้ำที่ประมูลได้ มาบริหารจัดการ เพื่อขายต่อให้กับประชาชน และภาคอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ดังกล่าว


จากคำบอกเล่านี้ ทำให้ฉันคิดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ "เหมืองพญาคำ" ขึ้นมาในทันทีทันใด ซึ่งถ้าเธอฟังดูแล้ว อาจจะเห็นว่าไม่ค่อยเกี่ยวกันเท่าไรนัก ระหว่างการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก กับเหมืองพญาคำ ที่ฉันจะว่าต่อจากนี้


แต่เธออย่าเพิ่งด่วนตัดสินไปอย่างนั้น เพราะว่าเหมืองที่ฉันว่านี้ ไม่ได้หมายถึง เหมืองแร่ดีบุก ตะกั่ว หรือลิกไนต์อะไรทำนองนั้นแต่หมายถึง "ลำเหมือง" ที่เป็นคลองขุด ส่งน้ำที่ได้จากการปิดกั้นทางน้ำ ในที่ซึ่งมีระดับสูงด้วยฝายหรือเขื่อนทดน้ำ อันเป็นภูมิปัญญาของชาวไทย ล้านนา ที่ดัดแปลงใช้ประโยชน์ จากลักษณะกายภาพของลำน้ำ และที่ราบในภาคเหนือที่มีความลาดเทมาก น้ำจะขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว ในเวลาที่ฝนตกหนัก และเวลาที่ขาดฝน โดยการสร้างระบบเหมืองฝายนี้ขึ้นมา


"เหมืองพญาคำ

" ที่ว่านี้ ฉันมีโอกาสได้เห็นและรู้จัก จากต้นถึงปลายลำเหมืองแห่งหนึ่ง ด้วยการสืบเสาะต้นสาย ปลายน้ำลำเหมืองแห่งนี้ ร่วมกับ อ้ายบุญ สหายผู้รู้ใจ เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้กับคุณครูในโครงการสร้างความเข้มแข็งสิ่งแวดล้อมศึกษา ในประเทศไทย (SEET) ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เมื่อวันที่ ๖-๘ มิถุนายน ๒๕๔๖ ที่ผ่านมา

ซึ่งในการอบรมนี้ ผู้เข้าร่วมและฉันได้รับความเอื้อเฟื้อ ในเรื่องของประวัติและความเป็นมา ของเหมืองพญาคำจากเอกสารและคำบอกเล่าของพ่อหลวงสมบูรณ์ บุญชู แก่เหมืองของฝายพญาคำ ทำให้ทราบว่า ลำเหมืองพญาคำซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เรื่อยไปถึงอำเภอสารภี จนสิ้นสุดที่ตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูนนี้


เกิดขึ้นจากการที่ ชาวบ้านเดือดร้อนขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก โดยมีนายพญาคำ เรืองฤทธิ์ กำนันตำบลสารภีในขณะนั้น เป็นผู้รวบรวมชาวบ้านที่เดือดร้อน มาช่วยกันขุดและสร้างฝายทดน้ำ ปิดกั้นลำน้ำปิง เป็นฝายไม้รวก ซึ่งตัวฝายนี้มักจะถูกกระแสน้ำปิงที่ไหลเชี่ยวกัดเซาะทำลายแตกทุกปี ต้องซ่อมแซมกันเสมอ ทำให้ชาวบ้าน ที่เป็นเกษตรกรผู้ใช้น้ำรวมตัวกันสร้างฝายใหม่อีกแห่งหนึ่ง เพื่อเบนน้ำเข้าลำเหมืองพญาคำ 


และเป็นความรู้ใหม่ สำหรับฉันว่า ในการบริหารจัดการน้ำจากเหมืองฝาย ทางภาคเหนือของประเทศเรานี้ จะมีการทำ "สัญญาเหมืองฝาย" ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่สังคมน้ำของชาวล้านนาว่า เป็นกฎข้อบังคับ ที่สมาชิก ผู้ใช้น้ำและหัวหน้าเหมืองฝาย ช่วยกันตั้งขึ้น ไว้ใช้ในระบบชลประทานของตนเอง


สำหรับเหมืองฝายพญาคำ ก็มีสัญญาและกฎเกณฑ์ของเหมืองฝายเช่นกัน ตัวอย่างคือ เกณฑ์การส่งแรงงานซ่อมฝายและขุดลอกเหมือง เช่น เนื้อที่ในตำบลสารภี (บ้านหมู่ ๔ และหมู่ ๖) เนื้อที่ ๐.๑ - ๕ ไร่ ส่ง ๑ แรง, มากกว่า ๕ - ๖ ไร่ ส่ง ๒ แรง, มากกว่า ๖ - ๘ ไร่ ส่ง ๓ แรง, มากกว่า ๘ - ๑๐ ไร่ ส่ง ๔ แรง และมากกว่า ๑๐ ไร่ ส่ง ๕ แรง


ฉันเห็นว่า เกณฑ์การส่งแรงงานแบบนี้ เป็นกฎเกณฑ์ที่ให้ความเสมอภาคและยุติธรรมแก่สมาชิกทุกคน เพราะเป็นการ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานที่ใช้ทำงาน กับจำนวนหรือขนาดของที่ดินถือครอง ด้วยหลักตรรกะง่ายๆ ที่ว่า ผู้ที่มีที่ดินน้อย ใช้น้ำน้อย ใช้แรงงานในการทำงานน้อย ส่วนผู้ที่มีที่ดินมาก ใช้น้ำมาก ก็ต้องใช้แรงงาน ในการทำงานมากนั่นเอง


และในการซ่อมแซมเมื่อครั้งที่ฝายพญาคำยังเป็นฝายไม้ไผ่ ที่ฉันเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ ที่แสดงให้เห็นถึงการร่วมแรงแรงร่วมใจกันของผู้ใช้น้ำจากลำเมืองแห่งนี้ก็คือ การรวมตัวกันจากเกษตรกร ๑๒ ตำบลในอำเภอสารภี กว่า ๑,๐๐๐ คน ไปช่วยกันซ่อมแซมตีฝายด้วยไม้รวกประมาณ ๑๒-๑๕ วันจึงแล้วเสร็จ คล้ายๆ กับประเพณีการลงแขกของชาวนาที่ทุกคนพร้อมใจมาลงแรงช่วยกัน


 สำหรับการเรียกเก็บค่าน้ำในระบบฝายพญาคำนั้น ในระยะแรกไม่มีการเรียกเก็บ ซึ่งฉันคิดว่า คงเป็นเพราะ ในช่วงแรกนั้น ชาวบ้านเกษตรกรมีความเดือดร้อนกันจนต้องมาช่วยกันทำฝาย และขุดลำเหมือง จึงทำให้ ไม่มีการเรียกเก็บ ทว่าในระยะถัดมาคาดว่าสถานการณ์คงดีขึ้น จึงมีการเรียกเก็บในอัตราพื้นที่ส่งน้ำ ๑ ฮ่อม (๓ ไร่) เรียกเก็บค่าน้ำเป็นข้าวเปลือก ๑ ต่าง (๑.๕ ถัง หรือ ๑๕ ก.ก. ต่อปี) เกณฑ์นี้ได้มีการยกเลิกไป เมื่อฝายพญาคำ ปรับปรุงเป็นฝายหินทิ้ง


ซึ่งต่อมา ก็มีการเก็บในอัตราแล้วแต่ท้องที่ของลูกฝายนั้น ๆ  จะเห็นว่าเหมาะสม ตัวอย่างเช่น ค่าน้ำในระบบลูกฝายแม่ฟ้าผ่า (ปี ๒๕๒๔-๒๕๒๕) เกณฑ์เพาะปลูก ๑ ไร่ ในฤดูฝนหรือฤดูปลูกข้าวนาปี เรียกเก็บเป็นข้าวเปลือก ๑ ถัง ส่วนฤดูแล้งหรือฤดูปลูกพืชไร่ และพืชสวน เรียกเก็บเป็นเงิน ๑๐ บาท นอกจากนี้ก็มีการเก็บค่าน้ำอีกไร่ละ ๒๕ สตางค์ เพื่อเป็นค่าตอบแทนหรือสมนาคุณ คนที่เฝ้าดูแลฝายและประตูน้ำเป็นรายปี ด้วยน้ำใจที่หยิบยื่นให้แก่กันนี้บางคนก็ยินดีจ่ายให้มากกว่าคือไร่ละ ๕๐ สตางค์ และในเวลาต่อมาเมื่อได้มีการทำฝายพญาคำให้เป็นฝายกึ่งถาวร โดยทำเป็นฝายหินทิ้งนั้น เงินสนับสนุนจำนวนหนึ่งเกิดจากการยินดี และยินยอมของเกษตรกรผู้ใช้น้ำให้เรียกเก็บในอัตรา ๑๐ บาท ต่อเนื้อที่ครองทางการเกษตร ๑ ไร่


การร่วมกันสร้างเหมืองฝาย การซ่อมแซมฝาย การขุดลอกเหมือง การเรียกเก็บและการยินยอม จ่ายเงินค่าน้ำ ในข้างต้นนี้ อาจดูเป็นเรื่องธรรมดา ๆ แต่เรื่องธรรมดาๆ นี้แหล่ะที่แสดงให้เห็นว่า "เหมืองพญาคำ" เป็นโครงการน้ำที่เกิดขึ้นมาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และดำรงอยู่ได้ด้วยการบริหารจัดการจากชุมชนท้องถิ่นโดยแท้ ซึ่งภาครัฐน่าจะหยิบยก มาเป็นกรณีศึกษา วิเคราะห์ให้เห็นถึงกลยุทธ์การบริหารจัดการน้ำของราษฎร์ที่มี ประสิทธิภาพในอดีต แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับการบริหารจัดการทรัพยากร ในโครงการต่างๆ ของรัฐให้ได้


เพราะการบริหารจัดการน้ำหรือทรัพยากรใดๆก็ตาม ไม่ใช่เพียงแค่โครงการที่เกิดขึ้นจากความฝันอันสวยหรู ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเงินและวัตถุเท่านั้นที่หาซื้อ ฤาเร่ขายกันได้ รวมถึงไม่ใช่การผลักภาระหน้าที่ในการดูแลจัดการ ไปเป็นสัมปทานของบริษัทข้ามชาติ หรือของใครคนใดคนหนึ่งเพียงเท่านั้น


แต่จะต้องเป็นความต้องการของคนในพื้นที่ อันจะก่อให้เกิดการตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรที่ต้องดูแลรักษา ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันเท่านั้น จึงจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้ว ประเทศของเราก็จะมีแต่ได้กับได้ คือได้มี ได้ใช้ทรัพยากร ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป


 


รายงานโดย : อรวรรณ  ศิริสวัสดิ์...

จากคอลัมน์ นักสืบสิ่งแวดล้อม โครงการนักสืบสายน้ำ นิตยสาร มูลนิธิโลกสีเขียว

แหล่งข้อมูลประกอบการเขียน :

 
สมบูรณ์สบุญชู. กรรมการเหมืองฝายพญาคำและสมาชิก อบต. สารภี อ. สารภี จ. เชียงใหม่
วันเพ็ญ สุรฤกษ์. (ไม่ระบุปีพิมพ์). ฝายพญาคำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net