Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวเอพีอ้างคำพูดของผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนพูโลว่า พร้อมจะเจรจากับรัฐบาลเพื่อยุติเหตุรุนแรง แต่มีเงื่อนไขบางประการ และเตือนว่าอาจมีนักรบจากต่างประเทศเข้าร่วมต่อสู้ หากรัฐบาลไม่รับข้อเสนอเพื่อยุติการเผชิญหน้า


สำนักข่าวเอพีได้สัมภาษณ์ผู้อ้างตัวว่า ดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพูโล หรือองค์การปลดปล่อยปัตตานี เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2548 และเพิ่งนำออกเผยแพร่ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2548 ตามเงื่อนไขการเข้าไปสัมภาษณ์พิเศษ


นายลุคมัน บิน ลิมา ซึ่งอ้างตัวว่ารักษาการในตำแหน่งหัวหน้าพูโล ในระหว่างที่หัวหน้ากลุ่มถูกคุมตัวอยู่ในเรือนจำบางขวาง ได้ให้สัมภาษณ์นายสุทิน วรรณบวร ผู้สื่อข่าวของเอพีว่า พูโลทำงานร่วมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอีกสองกลุ่ม คือ กลุ่มบีอาร์เอ็นและมูจาฮีดีนปัตตานี ในการต่อสู้ตลอดช่วงเกือบสองปีนี้ เมื่อถามถึงจำนวนสมาชิก เขาบอกว่าบอกจำนวนไม่ได้ แต่มากพอจะสร้างความเดือดร้อนให้รัฐบาลไทย


 


เงื่อนไข


ส่วนคำถามที่ว่า ผู้นำพูโลบอกหรือไม่ว่า กลุ่มได้รับการสนับสนุนจากที่ไหน นายสุทินตอบว่า อันนี้ เขาไม่พูด พูดแต่ว่าเขาได้รับการสนับสนุนจากภายใน ทุกวันนี้ ทั้งหมดนี้ ทำในประเทศ ฝึกในประเทศ เงินสนับสนุนได้จากมุสลิมที่เป็นสมาชิกพูโล และมุสลิมที่ทำงานในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในซาอุดิอาระเบีย หรือมาเลเซีย คนเหล่านี้มีนับเป็นแสนคน เขาเรียกว่าเป็นคนมลายูปัตตานี ....


"การเปิดตัวครั้งนี้ เพื่อเสนอขอเจรจากับรัฐบาล โดยมีเป้าหมายต้องการยุติการสู้รบ โดยข้อเสนอมีเงื่อนไขบางประการ คือ ให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้นำของกลุ่มที่ต้องโทษจำคุกในเรือนจำบางขวาง 3 คน ปล่อยอุสตาส 200 - 300 คน ถอนทหารและยกเลิกกฏหมายบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แล้วเขาพร้อมจะเจรจา นั่นเป็นสาส์นที่เขาต้องการส่งให้รัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก"


 


เงื่อนเวลา


นักวิเคราะห์ยังมีความเห็นแตกต่างกันว่า ข้อเสนอนี้จะได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลหรือไม่ สำหรับข้อเสนอนี้นักวิเคราะห์ชี้ว่า มีจุดน่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนเวลาที่ผู้อ้างตัวเป็นหัวหน้าพูโลออกมาให้สัมภาษณ์ หรือว่าข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม


นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงทั้งในและนอกประเทศมองว่ากลุ่มเหล่านี้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ขยายพื้นที่ในการปฏิบัติการได้มากและสร้างผลเสียหายทั้งด้านชีวิต ทรัพย์สินและผลกระทบด้านจิตวิทยา


เป็นไปได้ว่า จะมีการร่วมมือของหลายกลุ่มจริง แม้จะเป็นการร่วมมือกันอย่างหลวมๆ แต่ปฏิบัติการของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ยังไม่มีกลุ่มนอกประเทศเข้ามาเกี่ยวพัน ตรงกับการวิเคราะห์ของหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย ที่ย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในประเทศ


ส่วนที่ว่าสถานการณ์ความไม่สงบจะทำให้เงื่อนไขเวลาสุกงอมพอจะทำให้ข้อเสนอนี้ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังหรือไม่ นักวิเคราะห์ยังมีความเห็นต่างกัน


 


จับผู้ต้องสงสัย


พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงว่า ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยสองคนฐานสังหารทหารนาวิกโยธินที่บ้านตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาสแล้ว หลังศาลออกหมายจับผู้ต้องสงสัยทั้งหมด 11 คนตามที่ตำรวจร้องขอ


อีกด้านหนึ่ง พลเอกธรรมรักษ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการเพื่อขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องสงสัยอีก 3 คน ในคดียิงกราดใส่ประชาชนที่ร้านน้ำชาในหมู่บ้าน จนนำไปสู่การจับทหารทั้งสองเป็นตัวประกัน และทำร้ายจนเสียชีวิต


พลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ระบุว่าหน่วยข่าวกรองทหารเชื่อว่า มีเครือข่ายผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 400 กว่าคน


"พวกนี้อยู่ในบัญชีทั้งนั้น รู้ไหมบัญชีมีตั้ง 400 กว่าคน แต่ว่าจัดเป็นลำดับๆ มา มีแนวร่วมด้วย อะไรด้วย ที่เป็นหัวโจกจริงๆ มีไม่ถึง 100"


 


 


ที่มา : http://www.bbc.co.uk/thai/news/story/2005/09/050923_1235g230905tx.shtml


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net