Skip to main content
sharethis

"มาจนถึงขั้นนี้แล้วถึงแม้ว่าสหรัฐฯเอามีดมาจ่ออยู่ที่คอหอยบราซิลอยู่ เราจะยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลของเราละเมิดสิทธิบัตรยาให้ได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ของบราซิลประเทศเดียวแต่ประเทศอื่นก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย" โฮเซ่ อาเราโฮ ผู้อำนวยการมูลนิธิเอฟ เอ็กซ์ บี ประจำบราซิล และนักปฎิบัติการด้านงานรณรงค์กล่าวด้วยความมุ่งมั่น


 



โฮเซ่  ปัจจุบันนี้ประจำอยู่ที่เมืองซานเปาโล ประเทศบราซิล เป็นผู้ที่ทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวีมานานกว่า 15 ปี   โดยเฉพาะในเรื่องขจัดการเลือกปฎิบัติ และ การเข้าถึงยา  ที่เขาเองนั้นอยู่ในกลุ่มแกนนำในการเรียกร้องให้รัฐบาลบราซิลให้นำเขายาภายใต้ชื่อสามัญในราคาถูกให้นำเข้ามาใช้ประเทศได้


 


ปัจจุบันในประเทศบราซิลนั้นมีผู้ติดเชื้ออยู่ประมาณ 600,000 คน และมีผู้ต้องการใช้ยาต้านไวรัสประมาณ 178,000 คน มีตัวยาต้านไวรัสที่ใช้อยู่ประมาณ 17-18 ตัว บราซิลผลิตได้เอง 8 ตัว มีตัวยาอยู่ 2-3 ตัวที่โดยศักยภาพแล้วบราซิลสามารถผลิตเองได้ แต่ติดปัญหาเรื่อง สิทธิบัตรจึงทำให้ผลิตไม่ได้


 


แม้ว่าในปัจจุบันนั้นผู้ติดเชื้อในบราซิลนั้นได้รับยาต้านไวรัสฟรี โดยที่มาของการได้ยาฟรีเริ่มต้นที่การนำเรื่องการเข้าถึงยาไปขึ้นศาล เมื่อมีผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัส ศาลปกครองมีคำสั่งออกมาให้จ่ายยาให้กับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ทุกคนเลยได้รับ และถึงแม้ว่าจะมียาบางตัวที่ราคาแพง ยกตัวอย่าง T20  ซึ่งเป็นแบบชนิดฉีดนั้น หากต้องเสียค่าใช้จ่ายเองคิดค่าใช้จ่ายตกเป็นเงินเดือนเหยียบแสนบาท  แต่ที่บราซิลนั้นมีคนที่ต้องการใช้แต่หมอไม่ยอมจ่ายยาตัวนี้ให้เนื่องจากแพงมาก แต่เมื่อนำเรื่องนี้ไปขึ้นสู่ศาล หรือ ไปกระทรวงพัฒนาสังคมก็จะมีการเขียนคำสั่งให้ทางโรงพยาบาลจ่ายยาให้ผู้ติดเชื้อที่ต้องการ แม้ว่ายานี้จะไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักก็ตาม


 


แต่เนื่องจากการติดอยู่กับสิทธิบัตรยานั้นทำให้ยาแพงและรัฐบาลก็จ่ายงบประมาณไปกับค่าเป็นจำนวนมากและจะเป็นปัญหาการทำงานในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่จะทำให้โอกาสการเข้าถึงยานั้นลดน้อยลง จึงทำให้บราซิลนั้นมีความพยายามมาตลอดที่จะผลิตยาเองโดยจะละเมิดสิทธิบัตรยา


 


โฮเซ่เล่าว่า ขณะนี้ที่บราซิลมีการกำลังเคลื่อนไหวที่จะให้ทางบราซิลสามารถผลิตยาออกมาจ่ายให้กับผู้ติดเชื้อได้เอง แม้ว่าตัวยานั้นจะมีสิทธิบัตรอยู่ เนื่องจากภายใต้สิทธิบัตรนั่นเองที่ทำให้ยาแพงมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทโนโฟเวียร์  ( Tenofovir)  ซึ่งบริษัท Gilead เป็นเจ้าของสิทธิบัตร ซึ่งราคาอยู่ที่เม็ดละ 600 บาท และหากบราซิลสามารถผลิตได้เองแล้วจะอยู่ที่ราคา เม็ดละ 50 บาทเท่านั้น


 


ขั้นตอนในการต่อรองนั้น ก่อนหน้านี้ ทาง บราซิลเคยขอให้บริษัทแอบบอตต์ แลบโบราทอรีส์ของสหรัฐฯ ให้อนุญาตโดยสมัครใจ (Voluntary Licensing) ที่จะให้บราซิลผลิตยา " คาเลตรา" ซึ่งเป็นการร้องของเป็นไปตามกระบวนการตามของตกลงมาตรการทางการค้าว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS)  แต่ไม่เป็นผล ครั้งนั้นเองคือเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บราซิลประกาศว่าจะละเมิดสิทธิบัตร ( break patent) ยา โดยจะผลิตเลย สหรัฐฯในขณะนั้นก็ออกมาจับตามองและเตรียมมาตรการตอบโต้ไว้ด้วยเช่นกัน


 


ต่อมาเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ ทางสภาการสุขภาพแห่งชาติบราซิลได้มีมติออกมาว่า บราซิลควรที่จะละเมิดสิทธิบัตรยาโดยผลิตยา 3 ตัวที่มีราคาแพงอยู่มากและเป็นความจำเป็นผู้ติดเชื้อจะต้องใช้นั่นคือ โลพินาเวียร์ ที่ผลิตโดยแอบบอตต์ เนฟินาเวียร์ โดยเมอร์ค และเทโนฟโฟเวียร์ โดยกิลิเอด


 


ทางสภาการสุขภาพแห่งชาติบอกว่า ปีนี้ปีเดียวทางราซิลได้ใช้งบประมาณในการซื้อยาต้านไวรัสให้กับผู้ติดเชื้อไปถึง 420 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (17,247 ล้านบาท) โดย ร้อยละ 80 ของงบประมาณนี้เป็นค่าใช่จ่ายของยา  3 ตัวนี้ ซึ่งการที่ต้องใช้ยาต้นแบบที่มีราคาแพงนั้นจะทำให้โครงการต่อสู้เรื่องเอดส์ของบราซิลไม่ประสบความสำเร็จซึ่งขณะนี้บราซิลนั้นได้รับการยอมรับจากกว้างขวางในฐานะของการเป็นแบบในการต่อสู้เอดส์ในประเทศกำลังพัฒนา


 


ภายใต้ TRIPS นั้นระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะขอใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิได้ได้หากสุขภาพแห่งกำลังประสบกับภาวะวิกฤต สามารถผลิตยาได้โดยไม่ต้องจ่ายให้กับผู้ทรงสิทธิ์  และ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของบราซิลปี 1996 ก็อนุญาตให้ละเมิดสิทธิบัตรได้หากบริษัทนั้นได้ใช้นโยบายที่กำลังแสวงประโยชน์ด้านราคา


 


ขณะนี้ทางสภาผู้แทนเองก็ได้ลงมติออกมาแล้วว่า เห็นควรที่จะละเมิดได้ ทางบริษัทยากำลังเข้ามาต่อรอง เพื่อขอลดราคายาลง แต่ของอย่าให้บราซิลละเมิด หรือ บางบริษัทก็ข่มขู่ว่าหากมีการละเมิดจะไม่คิดยาตัวใหม่ออกมาอีก


 


เมื่อสามปีก่อนหน้านี้ตอนที่ บราซิลขู่ว่า จะละเมิดสิทธิบัตรยาเนลฟินาเวียร์ บริษัทยาก็เข้ามาขอเจรจาและลดราคาลง และต้นปีนี้ก็เช่นกัน เมื่อบราซิลประกาศว่าจะละเมิดสิทธิบัตรยาโลพินาเวียร์แล้ว ทางแอบบอตต์ก็ตกลงลดราคายาจากเม็กละ 1.17 เหรียญสหรัฐฯ  ( 48 บาท) เหลือเพียง 68 เซ็นต์  ( 28 บาท) แต่ว่าสัปดาห์ที่แล้วทาง ผู้ผลิตยาของบราซิลประกาศว่าสามารถผลิตได้ในราคาเพียง 40 เซ็น ( 16.43 บาท) เท่านั้น ตอนนี้เลยทำให้แอบบอตต์จะต้องเริ่มเจรจาใหม่


 


"ก็เป็นอย่างนี้เสมอ เมื่อทางเราบอกว่าจะละเมิดแล้ว ทางบริษัทยาก็มาของต่อรองลดราคายาลงแต่ไม่ยอมให้เราผลิต แต่เราคิดว่าครั้งนี้คงจะไม่ยอมแล้ว เพราะหากผลิตได้เองเราก็ไม่ต้องพึ่งพิงบริษัทยาต่างประเทศ และภายในปีนี้เราต้องทำให้สำเร็จอย่างน้อยหนึ่งตัว ซึ่งคิดว่าจะเป็น เทโนฟโฟเวียร์" โฮเซ่กล่าว


โฮเซ่กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์กับเฉพาะบราซิลเอง ประเทศอื่นๆก็จะได้ใช้ยาราคาถูกไปด้วย และนอกจากนี้บราซิลเองก็มีโครงการที่ช่วยเหลือประเทศอื่นๆเอาไว้ และ หากยาแพงอยู่ก็ไม่สามารถจัดหายาให้แก่ประเทศต่างๆได้ ก็จะเป็นปัญหา ดังนั้นการต่อสู้ของบราซิลจึงไม่ได้ต่อสู้อยู่เพียงลำพัง คิดว่าจะมีแนวร่วมในการสนับสนุนให้กระทำเรื่องนี้อยู่


 


นอกจากนั้นแล้วหากบราซิลทำสำเร็จไม่เพียงบราซิลจะได้ยาราคาถูกแต่ประเทศอื่นๆ ก็จะได้ใช้บราซิลเป็นกรณีตัวอย่างในการต่อสู้ด้วย


 


"ตอนนี้แน่นอนว่าอเมริกามองว่า บราซิลนั้นเป็นตัวร้ายในสายตาอเมริกา และมีการข่มขู่ว่า หากบราซิลละเมิดสิทธิบัตรเมื่อไร น้ำส้มที่ผลิตในบราซิลแม้แต่ขวดเดียวก็จะไม่ได้เข้าไปขายในสหรัฐฯ แต่พวกเราก็ไม่กลัวหรอก ถ้าเราจะสามารถทำยาให้มีราคาถูกให้ผู้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้น รัฐบาลก็ไม่ได้กลัวอะไรก็เตรียมหาทางออกไว้แล้วเช่นกัน"


 


โฮเซ่ยัอดค่อนขอดไม่ได้ว่า ในขณะที่สหรัฐฯออกมาบอกให้คนเคารพสิทธิบัตรอย่างเคร่งครัด แต่ว่า เคยมีครั้งหนึ่งเมื่อมีเรื่องของเชื้ออันแทรกซ์เข้าไป และทำให้คนอเมริกาเสียชีวิตไป 4 คน ยาที่ที่ใช้สำหรับการรักษาอันแทร๊กซ์นั้นเป็นสิทธิบัตรของเยอรมัน แต่ปรากฏว่าอเมริกากลับจะมาของใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิหรือต้องการละเมิดสิทธิด้วยซ้ำ พลว่าได้มีพลเมืองเสียชีวิตไป 4 คน ซึ่งสหรัฐฯเห็นว่าเป็นวิกฤตทางสาธารณสุขแล้ว


 


"สงสัยเหลือเกินว่าทำไมชีวิตคนอเมริกันถึงมีค่ามากจริงๆ ในขณะที่ประเทศอื่นมีปัญหา ล้มตายกันเป็นแสนแต่อเมริกายังไม่ยอมให้ใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ์แต่พอคนอเมริกาเสียชีวิตไป 4 คน กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ มาก"


 


ความเคลื่อนไหวนี้รัฐบาลเองก็เห็นด้วยและความจริงก็น่าจะได้ดำเนินการไปตั้งนานแล้ว น่าเสียดายว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังประสบปัญหาอย่างหนักอยู่ในเรื่องของการคอรัปชั่น ไม่ว่าจะทำสิ่งใดในตอนนี้ประชาชนล้วนมองเป็นภาพลบ


 


แต่โฮเซ่ยืนยันว่า ถึงตอนนี้เราจะเริ่มงานต่อ และแน่นอนว่าจะไม่ยอมให้กับบริษัทยาอีกแล้ว  และในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ที่บราซิลจะมีคนออกมาเดินขบวนพร้อมกันในหลายเมืองเพื่อให้รัฐบาลยอมละเมิดสิทธิบัตรยา และเริ่มผลิตยาเสียทีเพื่อให้ชาวบราซิลและชาวโลกจะได้มียาใช้ในราคาถูกทำให้คนเข้าถึงยาด้วย


 


"แม้บริษัทจะมาเสนอลดราคาก็จะเดินหน้าต่อ เพราะไม่เช่นนั้นจะกลับไปรูปแบบเดิมอีก และที่สำคัญเป็นวัฒนธรรมของชาวบราซิลที่เริ่มต้นแล้วไม่มีถอย เนื่องจากปัญหามันอยู่ที่สิทธิบัตร ในการรณรงค์ครั้งนี้เราจะใช้สโลแกนในการรณรงค์ว่า "สิทธิบัตรปล่อยให้โลกเจ็บป่วย" (Patente daxa mundo doente)


 


ตอนนี้คงจะถึงเวลาเอาใจช่วยบราซิลกันแล้ว เพราะไทยเองก็วิกฤติไม่น้อยไปกว่าบราซิล แต่เรื่องความนั้นอาจจะน้อยกว่าไปเล็กน้อย


---------------------------------------------------------------


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net