Skip to main content
sharethis

ในรอบปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนไทยถูกตั้งคำถามจากสังคมอย่างมากมาย ในฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะท่านผู้นำมักแสดงความเห็นเสมอๆ ว่า สื่อเขียนเนื้อหาบิดเบือนบ้าง หรือเสนอเนื้อหาไม่สร้างสรรค์บ้าง การชูป้ายสร้างสรรค์หรือไม่สร้างสรรค์ในครั้งแรกของรัฐบาลที่จัดเวทีตอบคำถามสื่อกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก แม้จะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการแสดงออกครั้งนี้ แต่ย่อมยืนยันถึงสิ่งที่อยู่ในความคิดของท่านผู้นำอย่างปฏิเสธไม่ได้


 


เป็นที่น่าสังเกตว่า เรื่องที่มักจะอยู่ในระดับที่ต้องชูป้ายว่าไม่สร้างสรรค์นั้น ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นปัญหาที่อ่อนไหว เกี่ยวกับความมั่นคง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบทั้งสิ้น จนบางครั้งท่านผู้นำแทบจะด่าสาดเสียเทเสียกับสื่อในทำนองว่า "ไม่รักชาติ" เลยทีเดียว


 


แต่อย่าเพิ่งไปคิดว่า การที่สื่อมวลชนถูกท่านผู้นำตีตรานั้นจะหมายความว่า สื่อได้ทำหน้าที่สมกับที่ได้ฐานะกระจกสะท้อนความจริง พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นอันขาด เพราะเหตุการณ์ที่บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา สื่อมวลชนก็กำลังถูกท้าทายและต้องตั้งคำถามตลอดจนต้องตรวจสอบตัวเองด้วยเช่นกัน


 


"นักข่าวไทยเป็นพวกเดียวกับทหาร นักข่าวกับทหารเป็นเพื่อนกัน เพราะฉะนั้นเราไม่เชื่อ" หญิงชาวมุสลิมคนหนึ่งที่ตั้งแถวอยู่ในหมู่กำแพงมนุษย์กีดขวางกองทัพเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนไทยที่จะเข้าไปทำข่าวในหมู่บ้านตันหยงลิมอก่อนเกิดเหตุ "ใครก็ไม่รู้" รุมสังหาร 2 นาวิกโยธิน ตอบคำถามของกลุ่มสื่อมวลชนไทย พร้อมกับเรียกร้องให้นักข่าวจากมาเลเซียมาเป็นผู้สื่อข่าวคู่ขนานกับสื่อไทย


                  


นี่ย่อมเป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนไทย เรียกได้ว่า "โดน" ตั้งคำถามทั้งสองทางซึ่งน่าสะท้อนใจเป็นอย่างยิ่ง


 


เมื่อประมาณ 20 วันก่อน  ด้วยความรู้สึกถึงความหวังที่จะเปลี่ยนมุมมองร้ายๆ ที่ผ่านมาสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่ง จึงได้ตั้งตนเป็นอิสระ โดยขอความร่วมมือและรวบรวมสมัครพรรคพวกจากสื่อหลายๆ สำนัก จัดตั้งเป็นสำนักข่าวที่เรียกขานกันว่า "ศูนย์ข่าวอิศรา"  


 


คำว่า "อิศรา" นอกจากจะพ้องเสียงที่ให้ความหมายไปในทาง "อิสระ" แล้ว ยังเป็นชื่อที่ได้มาจาก อิศรา อมันตกุล นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก ที่ผู้คนในวงการสื่อมวลชนได้ให้การยกย่องว่า "เขาเป็นตัวอย่างของนักหนังสือพิมพ์ที่ดี มีจรรยามารยาท ไม่เคยหมิ่นใครเลย เขาเป็นแบบฉบับแห่งจริยธรรมของนักหนังสือพิมพ์ที่แท้จริง" ซึ่งอำลาจากโลกนี้ไปเมื่อ วันที่ 14 มีนาคม 2512 เวลา 15.15 น.ที่ตึกจงกลณี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเป็นผู้มีคุณูปการอย่างสูงต่อวงการหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย


 


หลังรวมตัวกันจนเป็น ศูนย์ข่าวอิศรา ก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย โดยจะมีการสลับสับเปลี่ยนบรรณาธิการที่มาจากส่วนกลาง ซึ่งมีวาระปฏิบัติงานในหน้าที่ดังกล่าวครั้งละหนึ่งเดือนครึ่ง ปัจจุบัน อภิวัจน์ สุปรีชาวุฒิพงศ์ เป็นบรรณาธิการ


 


ส่วนทีมงานที่กำลังปฏิบัติงานเป็นตัวแทนมาจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ หนังสือพิมพ์แนวหน้า หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์สะมิหราไทม์ หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ หนังสือพิมพ์มติชนและ บีบีซีประเทศไทย


 


ศูนย์ข่าวดังกล่าวได้เดินทางไปตั้งกองบรรณาธิการ "ส่วนหน้า" ที่จังหวัดปัตตานี เพื่อหวังที่จะลบภาพอันเลวร้ายที่หลายฝ่ายกล่าวหา และมุ่งปรับทิศทางข่าวในภาคใต้เพื่อเรียกศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมา


 


"เราหวังจะปฏิรูปทิศทางการนำเสนอข่าวของสื่อให้รอบด้าน ศูนย์ข่าวอิศรา มีทั้งนักข่าวที่มาจากกรุงเทพฯ หลายๆ สำนัก มีทั้งนักข่าวในพื้นที่ เรามาเรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนมุมมองต่างๆ เพื่อการนำเสนอ


 


"ผมเป็นคนในพื้นที่ นักข่าวจากส่วนกลางจึงมักจะถามถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ละเอียดอ่อนไหวก่อนนำเสนอข่าว เพื่อความเข้าใจในศาสนา และเพื่อความถูกต้อง" มูฮัมหมัดอายุป ปาทาน บรรณาธิการข่าวภาคใต้ของศูนย์อิศรา เกริ่นเกี่ยวกับศูนย์อิศรา


 


จากนั้น มูฮัมหมัดอายุป ระบายให้ฟังว่า การทำข่าวในพื้นที่ขณะนี้มีความยาก เพราะคนในพื้นที่มีความระแวงสูงมาก ในขณะเดียวกันก็มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังนั้นการนำเสนอข่าวจึงต้องบริหารความรู้สึกของคนในทุกวัฒนธรรมด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่มูฮัมหมัดอายุปย้ำว่า มีความสำคัญมาก


 


"อย่ามองแบบอัตตนิยม มองแบบสุดขั้วไม่ได้ ต้องมองกลางๆ จะมองก่อการร้ายสุดขั้วก็ไม่ได้ มองรัฐบาลสุดขั้วก็ไม่ได้ การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ถ้าสุดขั้วมันจะยิ่งยุ่ง" บรรณาธิการข่าวภาคใต้อธิบายเพิ่มเติม


 


ในช่วง 20 กว่าวันที่ศูนย์ข่าวอิศราถือกำเนิดขึ้นมานี้ ทิศทางข่าวในภาคใต้ที่ปรากฏในกระแสหลักหลายสำนัก โดยเฉพาะสื่อที่อาศัยศูนย์ข่าวอิศราเป็นฐานเข้าถึงความจริงก็เริ่มเปลี่ยนไป เพราะงานข่าวที่ผลิตออกมาจากศูนย์ข่าวนี้ แตกต่างไปจากสื่ออื่นๆ ที่มักเน้นไปในลักษณะอาชญากรรม ชูเรื่องสถิติการตายเป็นหลัก แต่เรื่องราวที่ศูนย์ข่าวอิศรานำเสนอ มักเป็นงานเจาะเชิงลึก เน้นไปที่การเสนอภาพวิถีชีวิตจริงๆ ของคนในพื้นที่ ท่ามกลางวัฒนธรรมอันหลากหลายที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ


 


ในบางกรณีที่ข่าวมีความสับสน ศูนย์ข่าวอิศราจะลงพื้นที่จริง และนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจากในพื้นที่อย่างตรงไปตรงมา จึงทำให้มีความน่าเชื่อถือสูง และนับวันๆ สื่ออื่นๆ ก็ได้นำผลงานของศูนย์ข่าวนี้ไปเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นๆ


 


ครั้งหนึ่ง มีเหตุการณ์ปิดหมู่บ้านที่บ้านละหาน ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ซึ่งชาวบ้านไม่ให้คนภายนอกเข้ามาภายในหมู่บ้าน เนื่องจาก นายสะตอปา ยูโซะ โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดหมู่บ้าน ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต กระแสข่าวต่างๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายจนกลายเป็นความสับสน ในช่วงเวลานั้น ศูนย์ข่าวอิศราได้เข้าไปทำหน้าที่และสร้างความเชื่อใจจากชาวบ้าน จนสามารถเข้าไปทำข่าวได้ ทั้งๆ ที่ยังไม่อนุญาตให้สื่ออื่นๆ เข้าในหมู่บ้าน


 


มูฮัมหมัดอายุป เล่าถึงการทำงานตอนนั้นว่า "เราพยายามไม่ทำอะไรให้ชาวบ้านระแวง เช่นไม่ถ่ายภาพ หรือไม่ใส่ชื่อในการนำเสนอข่าว แต่เปลี่ยนเป็นการใช้ลักษณะการเล่าเรื่องแทน ตอนเลือกทำกรณีบ้านละหาน มันเริ่มจากความสงสัยว่า เหตุการณ์ที่บ้านละหาน กับกรณีการอพยพคนทั้ง 131 คนไปมาเลเซียมันเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่ "


 


"การข่าวในตอนนั้นมีความสับสนมาก การตายเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จึงอยากได้ข้อมูลจากพื้นที่ ไปทั้งหมด 3 ครั้ง 2 ครั้งแรกยังเข้าไม่ได้เหมือนกัน ก็ใช้วิธีคุยกับญาติโต๊ะอิหม่ามที่อยู่ใกล้เคียง ละแวกนั้น ส่วนครั้งสุดท้ายได้ประสานกับนายอับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสอมัด ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส ขอให้เขานัดกับลูกชายของโต๊ะอิหม่ามที่เสียชีวิตมาคุยกัน แต่เขาก็ไม่กล้าออกมา


 


"แต่เมื่อเรามาถึงขนาดนี้แล้ว ถอยไปก็เสียเปล่า เลยตัดสินใจเข้าพื้นที่ โดยให้ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาสประสาน แล้วไปด้วยกัน ที่สุดก็เข้าไปในหมู่บ้านได้ แต่เข้าบ้านของโต๊ะอิหม่ามไม่ได้ ก็ให้ประธานเข้าไปคุยคุย ส่วนทีมข่าวก็สอบถามข้อเท็จจริงจากชาวบ้านบ้าง จากเด็กบ้าง ซื้อไอติมเลี้ยงเด็กแล้วก็ถาม ซึ่งวันที่เข้าพื้นที่ได้นั้นเป็นวันครบทำบุญ 7 วันที่โต๊ะอิหม่ามเสียชีวิตพอดี"


 


ข้อมูลที่ได้มาจากศูนย์ข่าวอิสราในครั้งนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่มาจากชาวบ้าน จึงทำให้ทราบสาเหตุที่แท้จริงในการปิดหมู่บ้าน คือโต๊ะอิหม่ามคนดังกล่าวเสียชีวิตจริงๆ โดยระบุก่อนเสียชีวิตว่าเจ้าหน้าที่เป็นลงมือ ส่วนการปิดหมู่บ้านนั้น เป็นการสั่งเสียของโต๊ะอิหม่ามเอง ซึ่งตามความเชื่อของชาวบ้านนั้นจะต้องทำตามผู้นำศาสนาสั่งเสีย และเมื่อความจริงดังกล่าวได้ถูกเปิดเผย สื่อต่างๆ ก็นำข้อมูลตรงนี้ไปใช้ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายสบายใจ และเปิดใจที่รับฟังปัญหา ต่อมาสถานการณ์ก็คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น


 


การทำงานบนความรับผิดชอบต่อแหล่งข่าวที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามจากหลายด้าน และการทำงานที่อยู่บนความเสี่ยงของนักข่าวศูนย์ข่าวอิศราเอง ยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น ในพื้นที่สีแดงที่หลายฝ่ายมองว่า น่ากลัวและอันตรายอีกหลายแห่ง พวกเขาก็ลงไปทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เช่น ในหมู่บ้านอื่นๆ ของ อ.สุไหงปาดี หรือที่ อ.เจาะไอร้อง


 


ปกรณ์ พึ่งเนตร หรือ กอล์ฟ ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในกรุงเทพฯ ได้ลงไปทำงานกับศูนย์ข่าวอิศราด้วย กล่าวถึงการทำงานว่า "ในการทำงานจะมีปัญหาในเรื่องการเดินทางกับภาษามากกว่า ส่วนเรื่องความปลอดภัยนั้นส่วนตัวไม่เป็นกังวล เพราะพยายามนำเสนอสิ่งดีๆ ให้กับพื้นที่ แต่ยอมรับว่า ต้องเผชิญกับสายตาที่ไม่เป็นมิตรจริง เพราะที่ผ่านมามีการเอาอาชีพนักข่าวไปใช้ในทางที่ไม่ดีด้วย"


 


กอล์ฟ เล่าต่ออีกว่า เมื่อมาอยู่ในพื้นที่แล้วก็พบว่า ความรุนแรงไม่ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ แม้แต่ในพื้นที่ที่เรียกว่าพื้นที่สีแดงก็ตาม เขามีความเห็นด้วยว่า การกระทำความรุนแรงในหลายๆ ครั้ง มีเป้าชัดเจน คือมักมีนัยยะในเชิงสัญลักษณ์ ดังนั้นแม้กอล์ฟจะเป็นคนต่างถิ่นแต่ไม่ได้เกร็งในการทำงานในพื้นที่นัก


 


"ที่ อ.เจาะไอร้อง อ.สุไหงปาดี เขาพูดกันว่าเป็นพื้นที่สีแดง แต่พอเข้าไปจริงๆ ก็เป็นอีกแบบ คนในพื้นที่เขาดูแลกันเอง บางหมู่บ้านก็ไม่เคยเกิดอะไรขึ้นเลย หรือเกิดน้อย วันศุกร์เขาก็ยังขายของกันตามปกติ แต่บางหมู่บ้าน ถ้าเกิดก็เกิดเกือบทุกวัน ในพื้นที่แบบนั้นชาวบ้านจะไม่ไว้วางใจใครเลย แต่ก็พอจะพูดคุยสอบถามข้อมูลได้ แต่ถ้าถามชื่อ เขาจะไม่ให้ใครเลย แม้แต่นักข่าว ไม่ว่าจะคนไหน"


 


ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 กันยายน มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นที่ตันหยงลิมอ ชาวบ้านปิดหมู่บ้านคล้ายๆกับที่เคยเกิดขึ้นที่บ้านละหาน ทีมจากศูนย์ข่าวอิศรา ได้ลงไปเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แม้ว่าทางกลุ่มชาวบ้านจะยังไม่ไว้ใจใครก็ตาม เวลาประมาณ 15.36 น.ของวันนั้น ศูนย์ข่าวอิศราก็เสนอข่าวแรกขึ้น ด้วยการตั้งคำถามกับความเชื่อมั่นของชาวบ้านกับสื่อไทยด้วยหัวเรื่อง "เมื่อชาวบ้านไม่ไว้ใจสื่อ! เขตปลอดนักข่าวไทยที่ตันหยงลิมอ"


 


ในชั่วโมงถัดมา ศูนย์ข่าวอิศราได้สรุปสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาเปิดเผยอย่างต่อเนื่อง เริ่มด้วย "19 ชั่วโมงวิกฤติ ที่ตันหยงลิมอ" "ปากคำเหยี่ยวข่าวอิศรา" "คำประกาศแม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อไม่ต้องการสันติต้องใช้ความเข้มข้น" และอื่นๆ อีก เพียงวันเดียวรวมแล้วเกือบ 10 ข่าวด้วยคนไม่ถึง 10 คน


 


ศูนย์ข่าวอิศรายังมีความพยายามนำเสนอมุมมองที่รอบด้าน ไม่เพียงแต่มุมมองที่เป็นกระแสในบ้านเรา แม้แต่มุมจากเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียที่มักถูกพาดพิงถึงเสมอก็ได้นำเสนอไว้เช่นกันใน "เสียงสะท้อนจากมาเลเซีย" และ"ท่าทีของ PAS ต่อปัญหาชายแดนใต้ : สิ่งที่รัฐไทยต้องตระหนัก"


 


ส่วนเสียงของชาวบ้านที่ขณะนี้หลายๆ ฝ่ายกำลังมองข้ามหรือหากไม่ตั้งใจก็อาจจะเข้าไม่ถึง แต่ข่าว "ใครถล่มร้านน้ำชา? คำถามที่ดังก้องตันหยงลิมอ" ก็น่าจะช่วยท้วงกระแสอารมณ์ของสังคมที่กำลังกระหน่ำใส่ชาวบ้านทั้งๆ ที่หลายๆ อย่างยังคลุมเครือ หรือในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีการสังหารโหด 2 นาวิกโยธิน เพราะสื่อมวลชนกลุ่มนี้ ไม่ลืมให้ความสำคัญในต้นเหตุของการจับ 2 นาวิกโยธินเป็นตัวประกัน อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการมองอีกมุมหนึ่งที่สังคมควรจะต้องหันไปตั้งสติฉุกคิดก่อนที่จะใช้อารมณ์ตัดสินตามอย่างที่ท่านผู้นำกำลังเป็น


 


แม้ว่า ศูนย์ข่าวอิศรา จะพยายามทำงานอย่างตรงไปตรงมา และนำเสนอข้อมูลในมุมที่เป็นวิถีชีวิตของผู้คนและวัฒนธรรมมากกว่าที่จะนำเสนอภาพความรุนแรงที่ขายได้เหมือนสื่ออื่นๆ ทว่าความพยายามของนักข่าวกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ก็ยังอาจไม่พอที่จะรื้อฟื้นเรียกศักดิ์และศรีของสื่อมวลชนไทย ที่มักจะเสนอข่าวในมุมของเจ้าหน้าที่รัฐตามยอมแพ้ต่อข้อจำกัด หรือไม่ก็ร้ายไปกว่านั้น คือยั่วยุเพียงเพื่อให้ขายได้


 


เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นที่บ้านตันหยงลิมอ ด้วยเสียงเล็กๆของชาวบ้านคนหนึ่งว่า เขาไม่ไว้ใจสื่อไทย จึงกลายเป็นคำถามที่ยิ่งใหญ่ที่สื่อมวลชนไทยต้องตอบ


 


เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นที่บ้านตันหยงลิมอ คงทำให้สถานการณ์ใน 3 จังหวัด เลวร้ายลง และความไม่ไว้วางใจคงจะสูงขึ้นจนอาจแพร่กระจายต่อไปอีกหลายพื้นที่ และสำหรับศูนย์ข่าวอิศราเอง ก็คงจะทำงานได้ลำบากและต้องแบกความเสี่ยงที่มากขึ้นไปอีกเท่าตัว


 


แน่นอน การแก้ไขปัญหาวิกฤติศรัทธาในสื่อมวลชนไทย ย่อมไม่ใช่ภารกิจหน้าที่โดยตรงของศูนย์ข่าวอิศรา ยังคงจะเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนไทยต้องหันกลับมาทบทวนกัน ก่อนที่วิกฤติศรัทธานี้จะบานปลายไปมากกว่าที่แค่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


สุดท้ายนี้ ขอฝากวาทะ ของ ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ผู้จัดการโครงการสื่อสันติภาพ โต๊ะข่าวภาคใต้  หนึ่งในแกนนำการก่อตั้งศูนย์ข่าวอิศรา ที่เปิดเจอในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 กันยายน 2548 ว่า


 


"ถ้าวันนี้เราไม่ทำอะไรเลย อีก 20 ปีข้างหน้า ในฐานะสื่อมวลชน เราจะตอบตัวเองอย่างไรกับสถานการณ์ความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net