ศธ.เสนอ ใช้ภาษาถิ่นคู่ภาษาไทยในชั้นเรียนชายแดนใต้

การประชุมคณะกรรมการพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนการสอนสองภาษา (ภาษาไทยและมาลายูถิ่น) ในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้ข้อสรุป ยกเลิกการห้ามพูดภาษามาลายูถิ่นในชั้นเรียน และให้หันส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนทั้งภาษาไทยและมาลายูถิ่นในโรงเรียนควบคู่กันไป เพื่อให้การเรียนภาษามาลายูถิ่นเป็นสะพานเชื่อมไปสู่การเรียนภาษาไทย และตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น เตรียมเสนอรัฐมนตรีใช้ในปีการศึกษา 2549

 

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เผยผลการประชุมว่า จากนโยบายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ศึกษาแนวทางการเรียนการสอนภาษาไทยและมาลายูถิ่น โดยให้เชิญผู้ชำนาญการด้านภาษา เช่น สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรม มหาวิทยามหิดล มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ฯลฯ เพื่อศึกษาว่าควรนำภาษาไทยและภาษามาลายูถิ่นเข้าไปในโรงเรียนโดยวิธีใดได้บ้าง ที่ประชุมมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า      

 

"ต่อจากนี้ไปจะให้มีการยกเลิกการห้ามไม่ให้พูดภาษาท้องถิ่นในห้องเรียน และหันไปสนับสนุนให้ครูสามารถนำภาษาถิ่นมาเสริมในห้องเรียนได้ ทั้งนี้จะเป็นลักษณะแลกเปลี่ยนภาษาซึ่งกันและกัน อย่างครูที่ไม่มีความรู้ภาษามาลายูถิ่นจะเรียนรู้จากเด็ก แล้วสอนภาษาไทยให้เด็ก ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้เข้าใจกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในสังคม"

      

ทั้งนี้ปลัด ศธ. เผยด้วยว่า สำหรับการเรียนการสอนไทย-มาลายูถิ่นจะเริ่มในปีการศึกษา 2549 โดยเริ่มจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ด้วยเหตุผลที่ว่า เด็กจะใช้ภาษาไทยได้ดีจะต้องใช้ภาษาแม่ตัวเองเชื่อมเข้าไป และเป็นการเตรียมพร้อมให้เด็ก และลดความรู้สึกแปลกแยก

 

"ในขั้นต้นอาจจะมีภาษามาลายูถิ่นอยู่ในสัดส่วนที่สูงแต่จะต้องเฉลี่ยน้อยลงมาจนมีภาษาไทยที่อยู่ในสัดส่วนที่สูงกว่าและสอนควบคู่กันไป"

      

นอกจากนี้ คุณหญิงกษมา ยังกล่าวว่า ที่ประชุมได้เสนอให้มีการฟื้นฟูการศึกษาปฐมวัยในพื้นที่ และเตรียมความพร้อมทางด้านภาษาในระดับอนุบาลเพิ่มมากขึ้น โดยให้ศึกษาจากโรงเรียนใน จ.ยะลา เขต 2 ที่มีการสอนมาลายู โดยใช้อักษรยาวีในการเขียน 28 โรงเรียนนำร่อง รวมไปถึงให้มีการพัฒนาครู สนับสนุนครู โดยข้อเสนอทั้งหมดจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างหาแนวทางการจัดการเรียนการสอนและนำเสนอนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศธ.ภายใน 1 เดือน อย่างไรก็ตามจะให้มีการตั้งโรงเรียนนำร่องในเขตพื้นที่การศึกษาอย่างน้อยเขตละ 2 โรงในปีการศึกษา 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท