Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 26 ก.ย. 48 นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มองการเปลี่ยน "วันยุทธหัตถี" ไม่มีปัญหาถ้าความเชื่อมีประโยชน์ ขณะที่นักวิชาการด้านสังคมมองว่าการถกเถียงเรื่องความทรงจำเป็นสิ่งดี

จากกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ การเปลี่ยนแปลงวันยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราช จากเดิมวันที่ 25 มกราคม เป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี เพื่อให้ถูกต้องตามพงศาวดาร โดยจะไม่มีการยกเลิกหรือเปลี่ยนวันกองทัพไทยจากวันที่ 25 มกราคมของทุกปีไปเป็นวันอื่นตาม

 

 

รศ.ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า "บางทีประวัติศาสตร์ถูกสร้างขึ้นมาให้คนเชื่อ เป็นธรรมดาของมนุษย์ ถ้าเขาจะย้ายวันไปวันไหนก็เป็นเรื่องที่เขาเชื่อ ถ้าความเชื่อนั้นทำให้เกิดผลดีกับสังคมเราก็ไม่ขัดข้อง

 

 

"ส่วนหลักฐานมันเป็นเรื่องของตำนาน ตำนานคือสิ่งที่คนเชื่อว่าเป็นจริง ถ้าหากว่าสิ่งที่คนเชื่อว่าเป็นจริงนั้นเป็นประโยชน์ต่อสังคมก็ทำไป ส่วนประเด็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ผมว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะยังหาข้อยุติกันไม่ได้

 

 

"ในมุมของนักประวัติศาสตร์เราคงไม่ตัดสิน ถ้าเชื่อแล้วเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของเขาก็ทำไป หลายๆ อย่างเรื่องประวัติศาสตร์พูดมาจากความเชื่อ แต่ถ้าความเชื่อนั้นมีผลกระทบมากๆ เราก็ต้องพูดกัน" รศ.ดร.ศรีศักร กล่าว

 

 

ด้าน นางสาวมาลินี คุ้มสุภา อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า ในทางทฤษฎีเขาเรียกว่า Autentive หรือการพยายามหาความดั้งเดิม หาความจริงแท้ของอะไรก็ได้ในอดีต แล้วเชื่อว่าเป็นความจริงแท้สำหรับนักประวัติศาสตร์ ในที่สุดเมื่อมีข้อมูลใหม่มา คนก็ไปตั้งคำถามกับอันเก่า แล้วถ้าเกิดเป็นอย่างนั้นเขาจะรู้ได้ยังไงว่าอันไหนมันถูกต้อง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยาก

 

 

ประเด็นที่ 2 กรณีดังกล่าว เป็นเรื่องของความทรงจำทางสังคม หรือ Social Memory ถ้าเกิดว่ามันมีอะไรที่แน่นอนชัดเจน เช่นวันสงครามโลกที่มีการระบุวันที่ชัด มันก็จะไม่เกิดการถกเถียง แต่ว่าถ้ามันเป็นอะไรที่มันหลายร้อย หลายพันปี ถ้าเขาอยากรำลึกมันก็เป็นเรื่องของความทรงจำ

 

 

"ถ้าเป็นความทรงจำก็ต้องมาแตกว่าเขาอยากจำแบบไหน เกิดเขาอยากจำแบบยุทธหัตถีก็ทำไป ถ้าเขาไม่ยอมเปลี่ยนวันกองทัพไทย ก็แสดงว่าเขาอยากจำทั้ง 2 อย่าง คือจำแบบวันกองทัพไทยด้วย แล้วก็จำอันใหม่อีก

 

 

 

"ถ้าเป็นอย่างนี้การเมืองทางวัฒนธรรมมันจะสู้กันว่าอะไรมันจะหายไป เช่น วันที่ 24 มิถุนายน (วันคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง) มันก็หายไปเมื่อคุณเอาวันที่ 10 ธันวาคมมา มันเป็นเรื่องความทรงจำ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจำได้ทุกอันหรือเปล่า  ถ้าคนเขารู้สึกว่าอยากจำหมดเขาก็คงจำได้ แต่ว่าถ้าปล่อยให้ต่อสู้กันทางวัฒนธรรมก็ดี เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ได้ถกเถียง" อาจารย์ มาลินี กล่าว

 

 

 

 

อ่านประกอบ มติชนรายวัน...เปลี่ยนวันยุทธหัตถี"นเรศวร" 18มกราคม  http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01p0109260948&day=2005/09/26

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net