Skip to main content
sharethis

สถานการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้เลวร้ายลง ผู้คนทั้งพุทธและมุสลิมตกอยู่ในความหวาดกลัว ต่อมาเมื่อคืนวันที่ 20 กันยายน 2548 เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงกราดใส่ร้านน้ำชากลางหมู่บ้านตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอีก 4 คน จนเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้นาวิกโยธิน 2 นายถูกควบคุมตัวไว้เป็นประกัน โดยชาวบ้านเข้าใจว่าบุคคลทั้งสองอาจจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กราดยิงคนที่ร้านน้ำชา ท้ายที่สุดในวันที่ 21 กันยายน 2548 พบว่า ทหารนาวิกโยธินทั้ง 2 นาย ถูกทำร้ายเสียชีวิตอย่างทารุณในหมู่บ้านดังกล่าว ความรุนแรงเช่นนี้ดูเป็นการจงใจแสดงความโหดร้ายเพื่อยั่วยุให้ประชาชนและรัฐบาลโกรธแค้นจะได้ทำการปราบปรามอย่างรุนแรง ซึ่งจะทำให้สถานการณ์บานปลายลุกลามยากต่อการแก้ไข


 


คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) รู้สึกเศร้าสลดต่อเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง และขอประณามผู้ที่อยู่เบื้องหลังและผู้ที่กระทำการประทุษร้ายต่อชาวบ้านและทหารนาวิกโยธินดังกล่าว และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อบุคคลในครอบครัว ญาติมิตรของทั้งทหารนาวิกโยธินทั้ง 2 นายและชาวบ้านตันหยงลิมอทั้ง 6 คน


 


กอส.จึงขอเสนอมาตรการทั้งเพื่อลดความแตกแยกระหว่างผู้คนในสังคมไทย และป้องกันมิให้เหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้เกิดซ้ำขึ้นอีก ดังนี้


 


1.ขอให้ทางราชการรีบดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและจับกุมผู้กระทำผิดทั้ง 2 กรณี มาลงโทษตามกฎหมายให้ได้เป็นนกรณีพิเศษโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นเรื่องสะเทือนขวัญแก่สาธารณชนทั้งหลาย และจะมีผลกระทบต่อแนวทางการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในชาติเป็นอย่างยิ่ง


 


2. สนับสนุนแนวทางสันติวิธีของกองทัพ และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพราะเมื่อนาวิกโยธินทั้ง 2 นายถูกควบคุมตัวไว้ ผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในพื้นที่ก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะแก้ปัญหาด้วยขันติธรรมและสันติวิธี กอส.เห็นว่าการตายของนาวิกโยธินทั้ง 2 ท่านเป็นการสละชีพในหน้าที่อย่างมีเกียรติและกล้าหาญ การยอมเสียสละเช่นนี้ทำให้การใช้ความรุนแรงของฝ่ายที่คิดร้ายต่อสังคมไทยไม่ประสบผลสำเร็จ และส่งผลให้รัฐและสังคมไทยเข้มแข็งขึ้นด้วยแรงใจสนับสนุนจากผู้คนในสังคมไทยทุกฝ่าย กอส.จึงสนับสนุนให้รัฐบาล กองทัพ และข้าราชการในพื้นที่ยึดมั่นในแนวทางสันติวิธีเช่นนี้ต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะและการเสียเลือดเนื้อ


 


3. เพื่อป้องกันเหตุร้ายทำนองนี้ในอนาคต กอส. เสนอให้เร่งรัดตั้งคณะกรรมการสันติสุขชุมชนเพื่อเป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ ทำหน้าที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ ได้ติดต่อสื่อสารกันเพื่อรื้อฟื้นความไว้วางใจระหว่างกันกลับคืนมา อันเป็นหนึ่งในมาตรการระยะสั้นทั้ง 14 ข้อที่ กอส. เคยนำเสนอต่อรัฐบาลและสังคมไทยไว้แล้ว


 


4. เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่สำคัญยิ่งของชาวมุสลิม เป็นเดือนแห่งสันติ แต่ก็แฝงไว้ด้วยความเสี่ยงถ้าหากมีความเข้าใจผิดเกิดขึ้น ดังนั้น กอส. ขอให้ภาครัฐตระหนักและเข้าใจในโอกาสและความอ่อนไหวของช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะใน 10 วันสุดท้ายของเดือนที่ชาวมุสลิมจะใช้เวลาอยู่ในมัสยิดกันมาก ภาครัฐจึงควรทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้นำศาสนา ด้วยการมอบความไว้วางใจ รวมทั้งหลักประกันในเรื่องความปลอดภัยให้ผู้นำเหล่านี้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือการเผชิญหน้า จะได้ขอให้ผู้นำศาสนาช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ทันท่วงที


 


5. กอส. ขอเสนอให้รัฐบาลดำเนินการรุกทางการเมืองเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งสร้างความเป็นเอกภาพในยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ โดยจัดการประชุมเรื่องยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ ให้ผู้เกี่ยวข้องในยุทธศาสตร์ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม กอส. ยินดีร่วมมือกับรัฐบาลในการจัดประชุมครั้งนี้ และจะช่วยประสานงานกับองค์กรสาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะภาคีองค์กรสื่อมวลชนอันประกอบด้วยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย


 


26 กันยายน 2548


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net