Skip to main content
sharethis


ศูนย์ข่าวอิศรา - วันอังคารที่ 27 กันยายน 2005 14:31น. 


 


ผู้นำศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้หวั่นชาวบ้านน้อยใจ ถูกตรวจสอบสัญชาติจากการนำบัตรสมาร์ทการ์ดมาใช้ ทำให้รู้สึกว่าถูกกดดันเพราะรัฐจับตามองอย่างใกล้ชิด อธิบดีกรมการปกครองไม่มั่นใจว่าแก้ปัญหาคนสองสัญชาติได้ เพราะข้อมูลที่บันทึกในบัตรยังทำได้เพียงน้อยนิดเท่านั้น ดีเดย์เริ่มทำในสามจังหวัดชายแดนใต้ 6 ตุลาคมนี้


 


นายนิมุ มะกาเจ รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามจังหวัดยะลา กล่าวว่า อยากให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงผลดีและผลเสียของการนำบัตรสมาร์ทการ์ดมาใช้ในชัดเจน และควรต้องบอกด้วยว่าข้อมูลใดบ้างที่จะนำมาบรรจุไว้ ทุกวันนี้ทราบเพียงว่าข้อมูลที่นำมาบรรจุลงในบัตรนั้นเป็นการยืนยันสัญชาติไทย เพื่อแก้ปัญหาบุคคล 2 สัญชาติเท่านั้น หากเป็นเช่นนี้จะทำให้ชาวบ้านรู้สึกกดดัน และน้อยใจที่พวกเขาต้องถูกตรวจสอบประวัติอย่างละเอียดเป็นพื้นที่แรก ทั้งที่คน 2 สัญชาติก็มีกระจายอยู่ทั่วไปหมดทั้งประเทศ


 


นายนิมุ แนะนำว่า นอกจากข้อมูลทะเบียนราษฎร หรือข้อมูต่างๆของทางราชการแล้วควรจะใส่ข้อมูลในแง่ดีของคนแต่ละคนลงไปด้วย เช่น ประวัติทางการศึกษา คุณวุฒิ ประวัติการช่วยเหลือสังคม และ ผลงานที่สำคัญของบุคคลนั้นๆ เป็นต้น เพื่อลดกระแสต่อต้านและกดดัน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านเห็นว่าเขาไม่ได้ถูกจับตามองจากรัฐ เพราะบัตรยังได้บันทึกความดีของพวกเขาไว้ด้วย


 


"ชาวบ้านบางส่วนรู้สึกน้อยใจ เพราะเขากลัวว่าถูกรัฐจับตามองอยู่ทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะเรื่องคน 2 สัญชาติ เพราะคน 2 สัญชาติในพื้นที่ถือเป็นเรื่องปกติมาช้านานแล้ว ในภาคอื่นๆของประเทศก็มีคน 2 สัญชาติจำนวนมาก แต่ทำไมคนใน 3 จังหวัดกลับถูกตรวจสอบก่อน ผมกลัวว่าชาวบ้านจะไม่เข้าใจ และจะต่อต้านรัฐมากขึ้น" รองประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดยะลา กล่าว


 


นายนิมุ กล่าวต่อว่า ไม่อยากให้รัฐมองเพียงว่าคน 2 สัญชาติเป็นตัวการของปัญหา เพราะกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเป็นเพียงคนส่วนน้อยในพื้นที่เท่านั้น รัฐจึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลจากชาวบ้าน และใส่ข้อมูลในแง่ดีของแต่ละคนเข้าไปในบัตรด้วย ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับชาวบ้านให้ชาวบ้านเห็นว่าได้รับความเป็นธรรมเหมือนกับคนต่างๆทั่วประเทศ


 


"ผมเชื่อว่าชาวบ้านไม่ปฏิเสธที่จะใช้สมาร์ทการ์ด แต่อย่ากดดัน อย่าให้ชาวบ้านคิดว่า   เป็นอาวุธร้าย ที่จะมาตรวจสอบหรือทำร้ายเขา ต้องสร้างภาพให้เขามองไปในทางที่ดี" นายนิมุกล่าว


 


นายอับดุลเราะมาน อับดุลซามัด ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า เห็นด้วยถ้า กรมการปกครอง จะบรรจุข้อมูลด้านการศึกษา หรือเกียรติประวัติต่างๆ ของแต่ละคนเข้าไปด้วย เพื่อให้ชาวบ้านไม่รู้สึกว่าถูกควบคุมมากเกินไป ชาวบ้านไม่น่าจะมีปัญหาในการใช้บัตร เพราะต่อไปก็ต้องนำมาใช้กับคนทั้งประเทศ


 


ทั้งนี้งานวิจัยเรื่อง "ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้" ของ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ วิทยาลัยอิสลามยะลา ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อต้นปี 2548 ระบุถึงการนำบัตรสมาร์ทการ์ด มาใช้ในพื้นที่ว่า ประชาชนมีความรู้สึกว่าถูกควบคุมมากขึ้น โดยข้อมูลที่บรรจุไว้ในบัตรทำให้อึดอัดใจ เพราะไม่ทราบว่าข้อมูลที่ระบุในบัตรจะตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาข้อมูลที่ปรากฏในบัตรประชาชนแบบเดิมก็ยังมีข้อผิดพลาดอยู่มาก


 


งานวิจัยดังกล่าวได้ระบุถึงข้อดีของบัตรสมาร์ทการ์ดไว้ว่า ไทยกับมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านมีการพัฒนาระบบดังกล่าวร่วมกันอยู่แล้ว การใช้บัตรนี้ซึ่งบรรจุข้อมูลของผู้ถือบัตรอย่างละเอียด จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งมีข้อมูลที่จำกัดกว่าในการเดินทางเข้าออกทั้ง 2 ประเทศ


 


ด้าน นายศิวะ แสงมณี อธิบดีกรมการปกครอง ได้เดินทางมาเปิดการอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อเร่งรัดการทำบัตรสมาร์ทการ์ด ที่ จ.ปัตตานี โดยกล่าวว่า ได้จัดส่งชุดจัดทำบัตรด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพิ่มเติม จำนวน 50 ชุด มาที่สำนักงานอำเภอ และ กิ่งอำเภอ จากเดิมที่มีอยู่แห่งละ 1 ชุด ขณะเดียวกันยังได้ส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคอีก 200 คน เข้ามาเสริมเจ้าหน้าที่เดิมที่มีอยู่แล้ว 156 คน เพื่อเร่งจัดทำบัตรในพื้นที่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด


 


นายศิวะ กล่าวต่อว่า กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ ได้จัดส่งเครื่องและบัตรมาให้กรมการปกครองแล้วซึ่งจะเริ่มทำบัตรในวันที่ 6 ตุลาคมเป็นวันแรกที่ อ.เมืองปัตตานี จากนั้นอีก 2 วันจะเริ่มทำที่ อ.เมืองยะลา และถัดมาอีก 2 วันจะทำที่ อ.เมืองนราธิวาส ก่อนที่ขยายไปยังสำนักงานอำเภอแต่ละแห่ง โดยแต่ละเครื่องจะสามารถผลิตบัตรได้ 400ใบ/วัน คาดว่าภายใน 60 วัน จะออกบัตรให้กับประชาชนกว่า 900,000 คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เสร็จสิ้น และจะสามารถทำให้กับคนทั่วประเทศได้ภายใน 4 เดือนที่จะถึงนี้


 


นายศิวะ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลที่จะบรรจุลงในบัตรนั้นประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ข้อมูลส่วนบุคคลของกรมการปกครอง และ ข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือ ส่วนข้อมูลต่างๆ เช่น ประกันสังคม หรือ ประกันสุขภาพ รวมทั้งข้อมูลอื่นๆนั้นจะบรรจุเข้าไปภายหลัง โดยก่อนหน้านี้กรมการปกครองได้ส่งเจ้าหน้าที่จัดเก็บข้อมูลของประชาชนพร้อมทั้งถ่ายรูปไว้เรียบร้อยแล้ว และได้ออกใบรับคำขอมีบัตร หรือใบเหลืองแทนไว้ให้ ขั้นตอนต่อไปชาวบ้านก็เพียงแค่นำในเหลืองมาแล้วพิมพ์ลายนิ้วมือโดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที ก็สามารถรับบัตรไปได้เลย


 


สำหรับการแก้ไขปัญหาคน 2 สัญชาตินั้น อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า ไม่ได้บรรจุข้อมูลเกี่ยวกับการถือสัญชาติลงไปในบัตร แต่ใครที่มีบัตรก็ถือว่าเป็นคนไทยเป็นการพิสูจน์ว่าใครมีสัญชาติไทยเท่านั้น การทำบัตรดังกล่าวไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาคน 2 สัญชาติ แต่เป็นการพิสูจน์ว่าใครเป็นคนไทยก็เท่านั้น เพราะยังไม่สามารถระบุได้ว่าใครมี 2 สัญชาติ แต่ก็สามารถตรวจสอบจากลายนิ้วมือได้ว่าผู้ที่ถือบัตรเป็นตัวจริง และยังสามารถตรวจสอบต่อไปได้ว่าใครมีประวัติอย่างไรบ้าง ถือว่าสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆได้ละเอียดกว่าบัตรแบบเดิม และช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ในระดับหนึ่ง


 


"กำลังเตรียมนำเครื่องไปตั้งตามด่านตรวจแต่ละด่านด้วย เพราะจะสามารถตรวจสอบข้อมูลของบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้สะดวกขึ้น ที่โครงการนี้ล่าช้าไปบ้างนั้นเพราะต้องตรวจสอบข้อมูลด้วยความปลอดภัย รวมทั้งต้องปิดกั้นระบบข้อมูลเป็นความลับ ป้องกันการแฮกเกอร์ เพราะถือเป็นข้อมูลส่วนตัว ในส่วนของการประสานงานกับมาเลเซียนั้นได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปประสานงานแล้ว และกำลังเสนอไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ให้ประสานกับประเทศเพื่อนบ้านให้ทราบแล้ว"นายศิวะ กล่าว


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net