Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 27 ก.ย.48     หลังจากวานนี้(26ก.ย.) กรีนพีซได้แถลงข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับสิทธิบัตรมะละกอตัดแต่งพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) ว่า สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสพีทีโอ) ได้ปฏิเสธการให้สิทธิบัตรไวรัสใบด่างวงแหวนกับมูลนิธิวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล  สหรัฐอเมริกาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.48 โดยสิทธิบัตรดังกล่าวมีนักวิจัยไทยเข้าร่วมศึกษาวิจัย อีกทั้งข้อถือสิทธิก็ครอบคลุมไวรัสใบด่างวงแหวนสายพันธุ์ไทยด้วย


 


กรีนพีซระบุอีกว่า ขณะเดียวกันวานนี้(26 ก.ย.) กรมวิชาการเกษตรกลับเพิ่งจัดระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียหากสหรัฐได้รับสิทธิบัตรไวรัสใบด่างวงแหวน โดยไม่ตรวจสอบข้อมูลว่าสิทธิบัตรดังกล่าวถูกปฏิเสธไปแล้ว ทำให้การจัดประชุมเป็นไปโดยเปล่าประโยชน์ แทนที่จะให้ความสำคัญกับการได้รับสิทธิบัตรใหม่ในการควบคุมมะละกอสุกช้าที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลเพิ่งอนุมัติไปเมื่อเดือนก.พ.48 ซึ่งเมื่อประกอบกับสิทธิบัตรในมะละกอจีเอ็มโอต้านทานไวรัสใบด่างวงแหวนที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลได้รับสิทธิบัตรไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกมะละกอของไทยที่มีมูลค่าในขณะนี้กว่า 2.8 พันล้านบาท โดยทำให้เกษตรกรไทยต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์และธรรมเนียมการส่งออกให้แก่เจ้าของสิทธิบัตร เนื่องจากขณะนี้มะละกอจีเอ็มโอได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ


 


ด้านดร.ธนิต ชังถาวร นักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และหนึ่งในคณะกรรมการศึกษาคำขอสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกากรณีมะละกอจีเอ็มโอ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจน แต่หาก USPTO ปฏิเสธการให้สิทธิบัตรไวรัสใบด่างวงแหวนแก่มูลนิธิวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนลตามที่กรีนพีซออกมาระบุจริงก็เป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตาม เรื่องการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) แบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ ของไทยกับมหาวิทยาลัยคอร์แนลก็ยังต้องพิจารณากันต่อไป


 


"ผมยังไม่เห็นข้อมูล ถ้าเขาปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรจริง ก็ดีไป เป็นทางออกที่ดีที่บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ถ้ารู้เร็วกว่านี้นิดหนึ่ง เมื่อวานไม่ต้องจัดประชุมเลย องค์กรต่างๆ น่าจะทำงานประสานข้อมูลกับกรมวิชาการเกษตรให้มากขึ้น ผมว่าเขาก็ยินดีเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ" ดร.ธนิตกล่าว  


 


ดร.ธนิต กล่าวขยายความเรื่องเอ็มโอยูว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าเอ็มโอยูจะเป็นประโยชน์มาก เพราะสหรัฐอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับจีเอ็มโอในขั้นตอนของการศึกษาวิจัย และอนุญาตให้ใช้ผลผลิตจากการวิจัยได้ภายในประเทศ ส่วนการส่งออกนั้นก็สามารถส่งออกได้ในภูมิภาคเอเชีย แต่ส่วนที่ต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเจ้าของสิทธิบัตรคือภาคธุรกิจการส่งออกมะละกอรายใหญ่


 


"การเซ็นเอ็มโอยู จะทำให้เราได้องค์ความรู้เรื่องจีเอ็มโออย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนการเอาไปใช้ประโยชน์มันขึ้นกับกฎระเบียบภายในประเทศเรา หากไทยไม่ยอมรับให้ปลูกพืชจีเอ็มโอก็จบไป ก็ใช้เฉพาะงานวิจัย" ดร.ธนิตกล่าว


 


ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก หนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรของสหรัฐระบุว่า การเซ็นเอ็มโอยูจะให้ความคุ้มครองเกษตรกรรายย่อยให้สามารถปลูกพืชจีเอ็มโอได้ แต่อาจเพิ่มภาระการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้ส่งออกซึ่งก็คงไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ในเอ็มโอยูมีการระบุเรื่องความเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรของสหรัฐได้สรุปจุดอ่อนจุดแข็งของการยอมรับเรื่องสิทธิบัตรในเอ็มโอยูไปแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจว่าจะตัดสินใจอย่างไร


 


"ทางกรมวิชาการเกษตรบอกว่ายินดีจะเปิดเผยข้อมูล น่าจะไปขอดู และอย่าเพิ่งวาดรูปเสือหรือรูปแมวกันเอาเองในเรื่องสิทธิบัตร" ดร.เจษฎ์กล่าว


 


อนึ่ง มูลนิธิวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา นำโดยดร.เดนิส กอนซาเวส เป็นผู้นำในการวิจัยเทคโนโลยีมะละกอจีเอ็มโอต้านทานไวรัสใบด่างวงแหวน เคยมีความร่วมมือในการวิจัยมะละกอจีเอ็มโอกับกรมวิชาการเกษตรตั้งแต่ปี 2529 โดยนักวิจัยไทยได้นำมะละกอแขกดำท่าพระและไวรัสใบด่างวงแหวนสายพันธุ์ไทยไปทำการทดลองกับดร.เดนิส จนได้มะละกอจีเอ็มโอมาปลูกในแปลงทดลองของสถานีวิจัยพืชสวนจ.ขอนแก่น ในปี 2540 กระทั่งพบการหลุดรอดของมะละกอจีเอ็มโอเมื่อก.ค.47 ขณะที่มูลนิธิวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนลได้รับอนุมัติสิทธิบัตรในการสร้างดีเอ็นเอและวิธีการที่ใช้ในการทำมะละกอจีเอ็มโอต้านทานไวรัสใบด่างวงแหวนแล้วเมื่อ 15 มิ.ย.47


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net