Skip to main content
sharethis


เชียงใหม่-27 ก.ย.2548    กลุ่มผู้ใช้น้ำจากฝายทั้ง  3 แห่ง ชุมนุมขวางอำเภอ  หลังนำเครื่องจักรเข้ารื้อฝายท่าวังตาล หน้า อบต.ป่าแดด  อ.เมือง จ.เชียงใหม่   จนรัฐยอมล่าถอย นำเครื่องจักรออกไปจากจุดดังกล่าว  ซึ่งหลังจากตรวจสอบพื้นที่  พบว่า มีการรื้อฝายหินทิ้งด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำปิงไปส่วนหนึ่ง 


 


นอภ.รับ "ผู้ว่าฯ"สั่งรื้อฝาย


นายธานินทร์ สภาแสน นายอำเภอสารภี  ให้สัมภาษณ์ว่า  ได้รับคำสั่งจาก นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้นำเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าไปนำหินทิ้งจากฝายท่าวังตาล ในพื้นที่หมู่ 12 ต.ท่าวังตาล อ.สารภี ออกให้หมด แก้ปัญหาเฉพาะหน้ารองรับพายุดอมเรย ที่คาดว่าในช่วงดึกของวันนี้ (27 กันยายน 2548) จะเข้าสู่ประเทศไทย อีกทั้งเพื่อให้กระแสน้ำในแม่ปิงได้ไหลอย่างสะดวกป้องกันน้ำท่วมในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จอีกประมาณ 2-3 วัน


 


ในส่วนของอำเภอสารภี ได้เรียกประชุม อบต. เทศบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยเตรียมทำแนวกระสอบทรายไว้ตามจุดที่คาดว่าแม่น้ำปิงจะไหลทะลักเข้าท่วม โดยเฉพาะบริเวณ เวียงกุมกาม เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งได้ประกาศเตือนให้ประชาชนที่อยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำปิงให้เตรียมพร้อม และฟังคำประกาศจากทางราชการตลอดเวลา


 


อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พายุโซนร้อนดอมเรยได้ผ่านไปแล้ว ก็จะนำหินทั้งหมดกลับไปไว้ที่เดิมเพื่อทำเป็นฝายต่อไป


          


ชาวบ้านยันน้ำท่วมอย่าโทษฝาย


นายทูน  หินโชติ  ชาวบ้านบ้านป่าเส้า  ต.ท่าวังตาล  อ.สารภี  จ.เชียงใหม่  กล่าวว่า ชาวบ้านทุกคนไม่ยอมให้มีการรื้อฝาย  ก็เพราะว่า หากมีการรื้อฝายทิ้ง  จะทำให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำทั้งหมดได้รับความเดือด ร้อนกันทั้งหมด  และขอยืนยันว่า  ฝายเหล่านี้ไม่ได้เป็นสาเหตุของน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่  แต่สาเหตุจริงๆ คือ  แม่น้ำปิงมีความตื้นเขินและแคบลงต่างหาก 


 


"ทำไมรัฐไม่บอกกล่าวกันเสียก่อน  ไม่สอบถามหรือมีการทำประชาพิจารณ์กันเสียก่อน  ทั้งๆ ที่ฝายท่าวังตาลนี้  ชาวบ้านเป็นคนสร้างกันขึ้นมา  และเป็นฝายที่องค์ในหลวง เสด็จมาเป็นประธานเปิดฝายด้วย  ซึ่งชาวบ้านไม่พอใจการกระทำในครั้งนี้เป็นอย่างมาก" นายทูน  กล่าว


 


นางจันทร์  ขัติสาร  ชาวบ้านบ้านดอนแก้ว  ต.ท่าวังตาล อ.สารภี  จ.เชียงใหม่  กล่าวว่า  พอได้ยินผู้นำชาวบ้านประกาศผ่านเสียงตามสาย ว่ามีการรื้อฝาย  ก็รีบพากันมาคัดค้านทันที  เพราะไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง  ที่จะมารื้อฝายตรงนี้ทิ้ง  เพราะเป็นฝายที่ทุกคนได้ดึงน้ำเข้าเหมืองไปใช้ในการเกษตรเพื่อทำนา  ทำสวนลำไย  ซึ่งหากรื้อฝายออกไป  น้ำต้องแห้ง และทุกคนก็ต้องอดตายกันทั้งหมู่บ้าน


 


"ตั้งแต่เกิดใหญ่มาจนอายุ 60 ปี  ไม่เคยมีใครบอกว่าฝายคือสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วม  ซึ่งจริงๆ  แล้วเป็นเพราะลำน้ำปิงมันแคบลง  เพราะมีกลุ่มนายทุน คนต่างชาติเข้ามาจับพื้นที่ริมฝั่ง  แล้วยังมีการนำดินมาถมรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำจนแคบ  ทำไมไม่ไปแก้ปัญหาจัดการกับคนกลุ่มนั้น  ทำไมต้องมารื้อฝายของชาวบ้านด้วย  และอยากบอกไปถึงนายกรัฐมนตรีว่า  หากยังคิดจะรื้อฝายอีก  สมัยหน้าชาวบ้านจะไม่ลงคะแนนเลือกตั้งให้อย่างแน่นอน" นางจันทร์  กล่าวด้วยสีหน้าวิตกกังวล


 


ด้านนายนิพนธ์  เงาธรรม  ชาวบ้านจากบ้านดอนแก้ว ก็ได้ออกมากล่าวว่า จะไม่ยอมให้มีการรื้อฝายเป็นเด็ดขาด  เพราะว่า ฝายคือหัวใจของชาวบ้าน  ของเกษตรกร  แต่ทำไมต้องมารื้อ  โดยที่ไม่มีการประชาพิจารณ์  ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐทำไม่ถูกต้อง


 


อย่างไรก็ตาม  หลังจากชาวบ้านได้ออกมาคัดค้าน  ทางจังหวัดเชียงใหม่  ได้ส่งปลัดจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายชุมพร  แสงมณี  นายอำเภอเมือง  จ.เชียงใหม่  ลงมาประชุมร่วมกับกลุ่มตัวแทนของกลุ่มผู้ใช้น้ำ  ที่ห้องประชุม อบต.ป่าแดด  เพื่อร่วมเจรจาหาทางออกร่วมกัน


 


ซึ่งทางนายช่างชลประทานพยายามเสนอทางออกให้มีการรื้อฝายทั้ง 3 แห่งทิ้ง  และมีการสร้างฝายยาง ตรงบริเวณวัดป่างิ้ว  ต.ท่าวังตาล แทน  และรับปากว่า จะรับผิดชอบในเรื่องการผันน้ำเข้าลำเหมืองให้กับผู้ใช้น้ำในการเกษตร  โดยจะมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากลำน้ำปิง ไปยังลำเหมืองของชาวบ้าน  ซึ่งตัวแทนชาวบ้านออกมาโจมตีว่า  เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้  ที่จะสูบน้ำขึ้นไปให้เพื่อทำการเกษตรซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 20,000  ไร่


 


ทั้งนี้  ได้มีมติออกมาว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการรื้อฝายทิ้ง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาน้ำแล้ง ไม่ไหลเข้าไปสู่ลำเหมือง  ทำให้เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้ง 3 อำเภอได้รับความเดือดร้อน  และการรื้อฝายจะทำให้กระ แสน้ำเร็วและแรงมากขึ้น  ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ตลิ่งสองฝั่งแม่น้ำปิง รวมทั้งพนังที่ใช้หินฉาบริมตลิ่งพังทลาย  ซึ่งมติดังกล่าว  ยืนยันให้นายสุวัฒน์  ตันติพัฒน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ระงับคำสั่งการรื้อฝายดังกล่าวไว้ก่อน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net