Skip to main content
sharethis

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ออกคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเปิดฝายในแม่น้ำปิง  หลังจากมีการแอบรื้อฝายท่าวังตาล  จนทำให้ชาวบ้านออกมาประท้วงคัดค้านอย่างหนัก  ซึ่งหลังการประชุมได้ชะลอการรื้อฝาย เพื่อทำการศึกษาผลกระทบเสียก่อน 


 


ตามที่ทางจังหวัดได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการรื้อฝายท่าวังตาลเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา  จนเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านกลุ่มผู้ใช้น้ำไม่ให้ทำการรื้อฝาย  เนื่องจากส่งผลกระทบหลายด้านนั้น


 


ล่าสุด(28 ก.ย.) นายสุวัฒน์  ตันติพัฒน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเปิดฝายในแม่น้ำปิง ขึ้น  โดยระบุว่า ตามที่ได้เกิดเหตุอุทกภัยขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่  ตั้งแต่เดือน ส.ค.- ก.ย.ที่ผ่านมา  ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันขึ้นในหลายพื้นที่  โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่  และอำเภอใกล้เคียง  เป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน


 


จากเหตุการณ์ดังกล่าว  สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน  เกิดจากสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ก่อสร้างบริเวณในลำน้ำแม่ปิง  ซึ่งทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ช้า  จึงจำเป็นต้องทบทวนการก่อสร้างต่างๆ  และพิจารณารื้อถอน  หรือเปิดทางน้ำ  เพื่อให้น้ำในแม่ปิงไหลสะดวกยิ่งขึ้น


 


ดังนั้นผู้ว่าราชการจังหวัด ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ โดยมีนายขวัญชัย  วงศ์นิติกร  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธาน  และมีผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่  นายอำเภอเมืองและสารภี   กำนันผู้ใหญ่บ้าน  นายก อบต.ที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่ อ.เมือง และอ.สารภี รวมทั้งประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายท่าวังตาล เป็นกรรมการ  เพื่อพิจารณาเปิดฝายในแม่น้ำปิงซึ่งกีดขวางทางน้ำในแม่น้ำปิง 


 


นายขวัญชัย  วงศ์นิติกร  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า  ที่ผู้ว่าราชการฯ มีคำสั่งแต่งตั้งกรรม


การชุดนี้  ก็เพราะว่ามีสาเหตุอยู่สองสามประเด็นคือ ปริมาณน้ำฝนมีจำนวนมากกว่าปกติ  ลำน้ำปิงแคบลง  รวมทั้งสาเหตุที่มีฝาย 3 แห่ง คือฝายพญาคำ ฝายท่าวังตาลและฝายหนองผึ้ง ซึ่งเป็นการกีดขวางทางน้ำ  ทำให้ระบายไม่ทัน จึงท่วมในพื้นที่เขต อ.เมือง เชียงใหม่  ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องมีการประชุมเพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขร่วมกัน 


 


"หากเราไม่ลงมือทำ ก็จะไม่เกิดการพัฒนา  และจะต้องเกิดปัญหาอย่างนี้  แล้วต่อไปใครจะมาเที่ยวเชียงใหม่  อีกทั้งรัฐจะต้องเสียค่าชดเชย  เสียงบประมาณกับปัญหาน้ำท่วมอยู่อย่างนี้ต่อไป" นายขวัญชัย กล่าว


 


ด้านนายแสงรัตน์  เบญจพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 จ.เชียงใหม่กล่าวว่า  ปัญหาที่คำนึงถึงหากมีการรื้อฝายท่าวังตาล  เราจะต้องศึกษาว่าการรื้อฝายจะเกิดความเสียหายต่อตลิ่งและบ้านเรือนชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านล่างหรือไม่  เพราะอาจทำให้เกิดการพังทลายเสียหายได้  นอกจากนั้น  การรื้อฝายท่าวังตาล จะทำให้น้ำมีความเร็วและแรงขึ้น เพราะกระแสน้ำจะพัดดึงตะกอนทรายจากทางเหนือเมืองทะลักเข้ามา ซึ่งอาจทำให้บ้านเรือนราษฎรถูกน้ำกัดเซาะเสียหาย  รวมไปถึงสะพานมหิดล  เราไม่รู้ว่าฐานรากแข็งแรงหรือไม่ ซึ่งอาจพังลงได้  และหากจะมีการรื้อฝายจริงๆ  จะต้องฟังเสียงชาวบ้านด้วย  ว่าได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายหรือไม่


 


ผู้อำนวยการชลประทานที่ 1 จ.เชียงใหม่  ยังกล่าวอีกว่า  การที่จะรื้อฝายท่าวังตาลในส่วนข้างบนออกเพื่อเปิดทางน้ำนั้น  อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของฝายหินทิ้ง  เพราะฐานจะถูกความแรงของน้ำเซาะพังทั้งหมดได้  ก็อาจส่งผลกระทบต่อฐานรากทั้งหมด


 


ในขณะที่ นายสมบูรณ์  บุญชู   อนุกรรมการการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน  กรรมการเหมืองฝายพญาคำ  กล่าวว่า  ทำไมจังหวัดไม่ยอมฟังเสียงของชาวบ้าน  ทุกคนไม่เห็นด้วยที่จะมีการรื้อฝาย  เพราะฝายทั้ง  3  แห่งไม่ได้เกี่ยวกับการการเกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่เลย  สาเหตุมาจากปริมาณน้ำมากกว่าปกติ  แม้กระทั่งท้ายน้ำก็ถูกน้ำท่วมเหมือนกันหมด  ทำไมถึงจ้องจะรื้อฝายอย่างเดียว


 


"จังหวัดไม่เคยศึกษาเลยว่า  ฝายทั้ง 3 แห่งนั้น  ช่วยกันอุ้มโยงกันไว้  หากรื้อฝายใดฝายหนึ่ง ก็จะทำให้ฝายอีก 2  แห่งพัง  ซึ่งสามารถสังเกตได้หลังจากที่มีการแอบรื้อฝายท่าวังตาลทางริมฝั่งด้านตะวันตก  ตอนนี้  กระแสน้ำเริ่มพุ่งเข้าไปกัดเซาะตลิ่งพังเสียหายแล้ว  จึงอยากให้จังหวัดได้พิจารณาศึกษาให้ดีเสียก่อน  ไม่ใช่มาแอบรื้อฝายกันอย่างนี้" นายบุญชู  กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net