Skip to main content
sharethis


"สุรนันท์"ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ผลิตรายการสร้างสันติสุขชายแดนใต้ จ้องตรวจสอบรายการวิทยุภาษามลายู หวั่นยุยงป่วนใต้ แต่ไม่แทรกแซงนักจัดรายการร้องรัฐบาลเพิ่มรายการภาษามลายูหวังผ่อนคลายชาวบ้านจากปัญหาใต้ ชี้รัฐอาจระแวงเกิดไป


 


เมื่อเช้าวันที่ 28 กันยายน นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายดุษฎี ศิลป์เจิมศิริ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้ร่วมประชุมกับผู้บริหารสถานวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เพื่อให้มีส่วนร่วมผลิตรายการเสริมสร้างสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


นายสุรนันท์ กล่าวว่า หน่วยงานของรัฐได้เฝ้าจับตาวิทยุท้องถิ่นภาคภาษามลายูอยู่ด้วยว่า จัดรายการมีเนื้อหาสาระไปในทิศทางที่หมิ่นเหม่ต่อความมั่นคงหรือไม่ แต่ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงรายการหรือเนื้อหาสาระ เนื่องจากทุกวันนี้มีรายการวิทยุชุมชนอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก จึงต้องคอยดูและตรวจสอบจนกว่า คณะกรรมการกิจการ (กสช.) จะเข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้


 


 "รัฐไม่มีอำนาจไปเซ็นเซอร์ ผู้บริโภคตรวจสอบเองจะดีที่สุด แต่บางเรื่องต้องทำความเข้าใจ ต้องขอร้องให้เสนอเนื้อหาให้ตรงกับมุมมองของรัฐบาลบ้าง เพราะเราเป็นประเทศประชาธิปไตย ควรจะต้องมีมุมมองจากหลายฝ่าย"


 


อย่างไรก็ตามหากพบว่า คลื่นวิทยุไหนจัดรายการในลักษณะที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายอยู่แล้ว" นายสุรนันท์ กล่าว


 


นายดุษฎี กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์คอยตรวจสอบเนื้อหาและนักจัดรายการวิทยุท้องถิ่นภาคภาษามลายูร่วมกับทหาร  แต่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับรายการ เพียงแต่ตรวจสอบและฟังรายการตามปกติเท่านั้น


 


นายมะยูโซ๊ะ เซ็น นักจัดรายการวิทยุภาษามลายูชื่อดังใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าของรายการ "กาเซ๊ะซายัง" (ด้วยรักและผูกพัน) ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่า รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีรายการวิทยุและโทรทัศน์ภาษามลายูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่านี้ เพราะจะมีจำนวนผู้ฟังมาก เนื่องจากเข้าใจง่าย และจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐเอง


 


"ที่ผ่านมาชาวบ้านมุสลิมไม่มีจุดผ่อนคลาย เพราะรายการบันเทิงที่เป็นภาษามลายู และไม่ผิดต่อหลักศาสนามีอยู่น้อย หากรัฐมาจัดทำรายการให้ก็จะช่วยให้ชาวบ้านผ่อนคลายจากความตึงเครียดในพื้นที่ได้"นายมะยูโซ๊ะกล่าว


 


นายมะยูโซ๊ะ กล่าวอีกว่า รายการวิทยุภาคภาษามลายูที่มีอยู่ ส่วนใหญ่เป็นรายการสอนศาสนาคล้ายกับรายการธรรมะของคนไทยพุทธ เนื่องจากคนมุสลิมไม่นิยมฟังรายการบันเทิงเพราะติดขัดในคำสอน ซึ่งเนื้อหารายการจะเป็นการสอนให้เด็กและเยาวชนเป็นคนดี ไม่เกี่ยวกับการยั่วยุหรือส่งเสริมให้คนในพื้นที่ก่อความไม่สงบอย่างที่รัฐคอยจับตามอง


 


 "ปกติจะมีการตรวจสอบอยู่แล้ว ถ้าเป็นรายการยั่วยุก็ถือว่าผิดกฎหมาย และคิดว่าผู้ฟังแยกแยะออก แต่การเข้าตรวจสอบของรัฐนั้นจะต้องดูด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ หากเป็นการตรวจสอบที่ละเมิดรัฐธรรมนูญก็ไม่ควรจะทำ เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิได้" นายมะยูโซ๊ะ กล่าว


 


นายสุขเกษม จารงค์ นักจัดรายการวิทยุภาษามลายูใน จ.ยะลา เจ้าของรายการ "เปาะจิกอเซ็ม" (คุณน้ากอเซ็ม) กล่าวว่า หากรัฐจะเข้าตรวจสอบรายการวิทยุภาษามลายูโดยมองว่าบางคลื่นเป็นการยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่นั้นเป็นการระแวงเกินไป และเป็นมุมมองที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เกิดจากภาษา แต่เกิดจากสามัญสำนึกของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ก่อความไม่สงบเท่านั้น


 


"ถ้ารัฐมัวแต่คิดว่ารับไม่ได้กับภาษาที่ 2 ที่เป็นภาษามลายู ผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะในสังคมย่อมมีความหลากหลาย อย่าว่าแต่ภาษามลายู ภาษาจีนก็น่าที่จะสามารถจัดรายการได้ ฉะนั้นรัฐควรจะเข้ามาส่งเสริมเพราะเป็นการเพิ่มความรู้ให้กับชาวบ้าน อย่าปิดกั้นการรับรู้ของชาวบ้าน"นายสุขเกษมกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net