Skip to main content
sharethis

 


หมายเหตุประชาไท : พิธีศพอันสมกียรติของ 2 นาวิกโยธินที่ถูกรุมสังหาร ณ บ้านตันหยงลิมอ ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ดูเหมือนแรงอาฆาตแค้นที่คุกกรุ่นในสังคมไทยจะยังไม่จางหายไปด้วย แต่หากเราถือว่าวีรกรรมของวีรชน 2 นาวิกโยธินคือความยิ่งใหญ่และเสียสละเพื่อสันติ ถ้าเช่นนั้นแรงอาฆาตแค้นและมาตรการตาต่อตาฟันต่อฟันจะเป็นอะไรได้ หากมิใช่การหมิ่นเกียรติผู้สละชีวิต


 


หนังสือพิมพ์ "บางกอกทูเดย์" ฉบับวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เพื่อไขคำตอบและข้อสงสัยในสันติวิธี ประชาไท ขออนุญาตนำลงเผยแพร่อีกครั้ง


 


..................................................


 


            กระแสความรุนแรงที่ปกคลุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมาสร้างความสูญเสียให้กับชีวิตสมาชิกของสังคมไทยไปเป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งที่เป็นไทยพุทธ มุสลิม ชาวบ้านร้านตลาดและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสร้างบาดแผลในจิตใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความไว้เนื้อเชื่อใจจางหายไปพร้อมกับการรุกคืบของความหวาดระแวงที่แผ่กระจายไป โดยไม่มีผู้ใดคำนวณได้ว่าจะสิ้นสุดลงที่จุดใด


            การเสียชีวิตของ ร.ต.วินัย นาคะบุตร และ จ.อ.คำธร ทองเอียด ทหารหน่วยนาวิกโยธิน


 ภายหลังถูกปิดล้อมของชาวบ้าน ที่ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 กันยายน ได้สร้างความตื่นตระหนกและก่อให้เกิดปฏิกริยาจากสังคมอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านความคิดและอารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนความกังวลว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปสู่ความเลวร้ายที่ยากแก่การแก้ไข


ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสารสันติภาพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสมานฉันท์ ในฐานะนักวิชาการที่ทุ่มเทและมีผลงานการศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และในฐานะที่เป็นมุสลิมที่มีความเชื่อมั่นในแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี อธิบายเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างไร และอะไรคือแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อนำสังคมไทยกลับสู่ความสงบมั่นคง นี่คือทัศนะของเขาที่สื่อสารผ่าน "บางกอกทูเดย์"


 


อาจารย์จะอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาสอย่างไร


เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าคิด คือเรากำลังพูดถึงความตายของคนในสองส่วน คือความตายของชาวบ้านที่ ตันหยงลิมอคืนก่อนหน้า ซึ่งมีการกราดยิงชาวบ้านและมีคนตายและคนเจ็บ หลังจากนั้นมีเหตุชาวบ้านไม่ไว้วางใจและพยายามป้องกันตัวเอง และจากนั้นนาวิกโยธินสองท่านนั้นก็ถูกจับโดยชาวบ้านสงสัยว่าอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง ที่สุดนาวิกโยธินทั้งสอง ร.ต.วินัย นาคะบุตร และ จ.อ.คำธร ทองเอียด ถูกทำร้ายและเสียชีวิต เราต้องพิจารณาความตายจากสองเหตุการณ์นี้ไปพร้อมกัน


มองจากภายนอก สองเรื่องนี้เกี่ยวกัน เป็นไปได้ที่จะมีความเชื่อมโยงกัน เราบอกได้แน่ว่า ถ้าเราเป็นชาวบ้านในตันหยงลิมอ ภายหลังเกิดเหตุการณ์การกราดยิง ก็คาดเดาได้ว่าจะมีความหวาดระแวงเกิดขึ้น ความหวาดระแวงเป็นภัยคุกคามสังคมไทย ตอนนี้มีหลายอย่าง ความกลัว ความเกลียดชัง ความหวาดระแวง สิ่งเหล่านี้เป็นภัยคุกคามสังคมไทย คงต้องหาวิธีลดแรงผลักดันสิ่งเหล่านี้


ถ้าเราคิดถึงความตายของคนสี่คนนี้ไปพร้อมกัน  เราจะเห็นความหมายบางอย่าง ถ้าเราเริ่มที่ความตายของชาวบ้านก่อน ความตายของชาวบ้านสองคน สำหรับผมหมายความว่ารัฐไม่สามารถปกป้องเขาได้ ไม่สำคัญว่าเขาตายเพราะใคร บางคนอาจจะเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายเขา บางคนอาจจะเชื่อว่าฝ่ายผู้ร้ายเป็นฝ่ายลงมือเพื่อสร้างสถานการณ์ แต่ผลคือเขาเสียชีวิต


การตายเช่นนี้ต้องนับเนื่องไปกับการตายที่เกิดขึ้นราวกับใบไม้ร่วงที่เกิดขึ้นทุกวัน นี่คือกรณีการตายรายวัน ซึ่งเกิดมานานแล้วในพื้นที่ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงตอนนี้คนที่ตายรายวันเกินกว่าแปดร้อยคนแล้ว เพราะฉะนั้นคนเหล่านั้นคือส่วนหนึ่ง ทั้งที่เป็นพุทธ มุสลิม ชาวบ้าน หรือราชการ ในเหตุการณ์ตันหยงลิมอถ้าจะนับไปด้วยคือส่วนหนึ่งของเหตุการณ์เหล่านั้น ซึ่งหมายความว่ารัฐไม่สามารถปกป้องคุ้มครองเขาได้ เหมือนที่ไม่สามารถคุ้มครองคนอีกแปดร้อยคนได้ ทำไมทำไม่ได้อีกเรื่องหนึ่งนะ


ถามว่าในกรณีของนาวิกโยธินสองคนที่เสียชีวิต ร.ต.วินัย นาคะบุตร และ จ.อ.คำธร ทองเอียด ทหารหน่วยนาวิกโยธิน ที่ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 กันยายน เป็นการตายที่มีเกียรติมาก เป็นการตายในหน้าที่ เป็นการตายโดยที่ทั้งตัวเขาเอง เจ้าหน้าที่ และเจ้านายของเขาเองพยายามอย่างที่สุดที่จะช่วยเหลือเขาในขณะเดียวกันที่จะอดทน ใช้ขันติธรรม และพยายามใช้สันติวิธี ซึ่งสำคัญมาก


ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ การทำงานของเจ้าหน้าที่สำคัญมาก เป็นการต่อสู้และมีการสูญเสีย ผมคิดว่าการตายนี้เป็นการตายที่มีเกียรติ สังคมไทยจึงรู้สึกเสียใจ และควรจะตระหนักว่ามีเรื่องที่ต้องคิดในกรณีนี้อีกหลายอย่าง


 


อาจารย์ไม่คิดหรือว่าจะไม่เกิดการสูญเสียขึ้นหากฝ่ายรัฐลุยเข้าไปชิงตัวออกมา


การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่ใช้วิธีนี้ เป็นการพยายามไม่ให้ตัวเอง ไม่ให้เจ้าหน้าที่ ไม่ให้ฝ่ายรัฐ ตกลงไปในหลุมของความรุนแรง เขาตั้งใจทำอย่างนั้น ในทางกลับกัน มีผู้ใหญ่บางคนในฝ่ายราชการอาจจะรู้สึกว่าต่อไปนี้จะต้องทำอีกอย่างคือใช้กำลัง แต่ผมกลับคิดว่าสิ่งที่เขาไปนั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว


เราลองจินตนาการไปถึงภาพที่กลับกันอีกอย่างหนึ่ง คือในวันนั้น ถ้าเจ้าหน้าเลือกที่จะใช้ความรุนแรงในการเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งมีโอกาสผิดพลาดได้ ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีการวางแผน ซึ่งทางฝ่ายบ้านเมืองเองหลายคนคิดว่ามีการวางแผน คนเหล่านั้นก็คงจะต้องวางแผนให้มีการบาดเจ็บล้มตายในส่วนของชาวบ้านขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร คือรัฐูสร้างความชอบธรรมให้ผู้ร้าย และรัฐกลายเป็นผู้ร้ายในอีกทางหนึ่ง


เพราะฉะนั้น ถ้าผมอธิบาย การเสียชีวิตของนายทหารทั้งสองท่านก็คือการทำให้ฝ่ายราชการยังคงสามารถยืนหยัดอยู่บนฐานของความชอบธรรมในเหตุการณ์อย่างนี้ได้ ในแง่นี้การตายของนายทหารทั้งสองท่านจึงมีเกียรติอย่างยิ่ง และทำให้ความชอบธรรมของรัฐเข้มแข็งอย่างยิ่ง


ในทางกลับกันถ้ามีการปะทะกันและมีการเสียชีวิต  รัฐจะกลายเป็นผู้ร้ายเหมือนในกรณีที่เกิดขึ้นมาแล้ว ภาพที่อาจจะได้เห็นคือชาวบ้านซึ่งอาจจะรวมผู้หญิงและเด็กด้วยถูกทำร้าย ลองจินตนาการดู


 


นี่คือความกล้าหาญ


ใช่ สิ่งนี้เป็นความกล้าหาญที่ยิ่งใหญ่มากของทหารไทยที่มีอาวุธแล้วไม่ใช้  กลับเลือกที่จะใช้สันติวิธี เลือกที่จะใช้ความอดทน เลือกที่จะใช้ขันติธรรมเพื่อพิทักษ์คุ้มครองสังคมการเมือง เลือกที่จะพิทักษ์ประเทศชาติ ยิ่งใหญ่และเสียสละมาก ผมอยากให้สังคมไทยเข้าใจปรากฏการณ์การเสียชีวิตครั้งนี้ เพราะอะไร เพราะถ้ารัฐรักษาแนวทางสันติวิธีและแนวทางสมานฉันท์แบบนี้เอาไว้ได้ รัฐก็จะได้หัวใจของคน ความชอบธรรมในการแก้ปัญหา สิ่งที่จะได้มาคือความเข้มแข็งทางการเมืองของรัฐ


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความตายของทั้งสองคน คนเสียใจ เห็นใจเจ้าหน้าที่ เป็นเรื่องแปลกและดูเหมือนจะกลายเป็นกฎทั่วไป เมื่อผู้มีอำนาจกลายมาเป็นเหยื่อ ก็จะได้ความเห็นอกเห็นใจจากคนทั้งมวล แต่เมื่อไรก็ตามที่คนที่มีอำนาจใช้อำนาจนั้น ถึงแม้จะบอกว่าใช้ไปตามหลักกฎหมาย แต่เมื่อใช้กับผู้ที่อ่อนแอกว่า มันจะเกิดผลเสียมากกว่า เกิดภาวะแบบนี้เสมอ


ในสหรัฐอเมริกาก็เหมือนกัน เมื่อเกิดเหตุร้าย 9/11 คนทั้งโลกก็เทใจให้ เห็นใจ สงสาร ที่ผู้คนสามัญในมหาประเทศกลายเป็นเหยื่อความรุนแรง  ถ้าวิธีการแก้ไขปัญหาในตอนนั้นเป็นการหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการร่วมกัน ร่วมแรงร่วมใจก็อาจได้ผลอย่างหนึ่ง  แต่ภายหลังสหรัฐฯทำอีกอย่างหนึ่งคือ บุกอัฟกานิสถาน เข้าไปทำสงครามในอิรัก ความเห็นอกเห็นใจของผู้คนไม่น้อยในโลกในเวลานั้นจึงหายไป 


อย่างนี้จะเรียกว่าชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ก็ต้องดูที่ภาพใหญ่และในระยะยาว


 


อาจารย์ไม่คิดว่าเป็นความพ่ายแพ้หรือ


การตัดสินใจนี้ จะขึ้นอยู่กับว่าเราอ่านสถานการณ์นี้อย่างไร เข้าใจความตายนี้อย่างไร ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก ถ้าเข้าใจว่าเป็นการพ่ายแพ้ของรัฐ เพราะไม่ใช้กำลัง มันจะนำไปสู่อีกอย่างหนึ่ง นำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรง แต่ถ้าคิดว่าสิ่งนี้เป็นความเข้มแข็งของรัฐไทย เป็นความเข้มแข็งของกองทัพ ก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง จะยิ่งใหญ่มากเลย แต่ต้องพูดให้ชัดเจนด้วยว่า ผมไม่ได้พูดว่า จะไม่จัดการคนร้ายให้ถูกต้องตามกฎหมาย ผมไม่ได้พูดอย่างนั้น ท่านนายกฯให้สัมภาษณ์ว่า ทั้งสองคนนี้จะไม่ตายฟรี ผมอยากจะพูดต่อไปอีกนิดว่าในบ้านเมืองนี้ไม่ควรมีใครต้องตายฟรีทั้งนั้น  ไม่ว่าจะเป็นนาวิกโยธิน หรือคนธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นพุทธ หรือมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นราชการหรือชาวบ้าน ไม่ควรมีใครต้องตายฟรีทั้งนั้น กระบวนการทางกฎหมายต้องทำไป แต่ไม่ควรมาเปลี่ยนวิธีการทางการเมือง


ถ้าเราเชื่อว่าสงครามหรือการต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้เพื่อฟื้นฟูตำแหน่งแห่งที่ของรัฐกับประชาชน เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในรัฐของประชาชน ซึ่งมีปัจจัยต่างๆมากมาย จะทำเช่นนี้ได้อย่างไร วิธีเดียวคือต้องหาวิธีเอาใจเขามาอยู่ข้างภาครัฐให้ได้ ดังนั้นข้อเสนอหลายข้อที่หลายคนเสนอ รวมทั้งกรรมการสมานฉันท์เสนอไป คือการเอาใจเขามาอยู่กับรัฐให้ได้ วิธีการให้รัฐเป็นที่พึ่งของคน ไม่ใช่ด้วยการแจกของ แต่ควรจะสถาปนาสิ่งที่ควรมีควรเป็นในสังคมการเมือง สถาปนาความจริงในสังคมนี้ เช่น กระบวนการยุติธรรม กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนที่จะฟื้นฟูความไว้วางใจกลับมาได้ คนทำผิดก็ต้องได้รับโทษ ถ้าสังคมไทยทำอย่างนี้ได้โดยไม่ต้องเห็นแก่หน้าใคร สังคมไทยจะเข้มแข็งขึ้น ไม่ควรมีใครต้องตายฟรี


ถ้าเราคิดว่ามีคนบางคนเท่านั้นที่ไม่ควรตายฟรี ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบหนึ่ง วิธีการแก้ปัญหาแบบนั้นอาจจะจับคนผิดได้ในบางส่วนและไม่ดูแลในอีกบางส่วน สิ่งที่เราจะเสียไปคือประชาชนก็จะไม่รู้สึกว่าสังคมนี้น่าอยู่อีกต่อไป เพราะไม่ยุติธรรมอีกต่อ่ไป นี่คือปัญหาพื้นฐานของสังคมนี้ เราควรจะคิดว่าทำอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหาระดับโครงสร้างของสังคมนี้พร้อมกันไป


 


คิดว่าหัวใจของปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ที่ไหน


หัวใจของเรื่อง ผมไม่อยากจะตอบว่าคืออะไร ผมอยากจะตอบว่าความยุติธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้แน่ ความจริงเกี่ยวแน่ คนที่ทำผิดแล้วไม่มีความพร้อมรับผิดเกี่ยวแน่  ประวัติศาสตร์เกี่ยวแน่ ของพวกนี้มารวมกันเป็นปรากฎการณ์อย่างที่เราเห็น ต้องอธิบายให้ได้ว่าทำไมข่าวลือจึงแพร่เร็วเหลือเกิน ชาวบ้านเชื่อว่าคนนั้นจะมาบุก คนนี้จะมาล้อม คำอธิบายง่ายคือว่า อ๋อ เขาลือกันในภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจ แต่ผมอยากจะบอกว่าอาจจะลือและเชื่อเพราะมีสิ่งที่บอกเหตุ มีพื้นฐานบางอย่างมาก่อน


 


กลัวไหมว่าจะนำไปสู่การแก้แค้น


กลัว ทำให้จำเป็นต้องอธิบายถึงความจำเป็นในการใช้สันติวิธีและผลที่จะตามมา การตายของชาวบ้านหมายความว่า รัฐไม่สามารถปกป้องเขาได้ ขณะที่การตายของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะเลือกที่จะใช้สันติวิธี ประโยคนี้คงไม่ผิด


การใช้สันติวิธีไม่ได้หมายความว่าอีกฝ่ายจะใช้สันติวิธีตอบโต้ด้วย และไม่ได้หมายความว่าถ้าใช้สันติวิธีแล้วจะไม่มีการสูญเสีย ไม่ใช่เลย เพราะถ้าดูประวัตินักสันติวิธีอย่าง มหาตมะคานธี หรือ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จะพบว่าคนเหล่านี้จบชีวิตลงด้วยความรุนแรงทั้งนั้น แต่ถ้าเราบอกว่าเพราะอย่างนี้สันติวิธีแพ้ การใช้สันติวิธีเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่ถูกต้อง เป็นการยอมจำนน ก็เป็นการเข้าใจผิดมหาศาล เพราะเท่ากับบอกว่าการตายของมหาตมะคานธี แล้วทำให้อังกฤษยอมถอยออกไป คือการพ่ายแพ้คงไม่ถูก หรือจะถือว่าการสถาปนาสิทธิพลเมืองของชาวอัฟริกันอเมริกันจนสำเร็จในแผ่นดินอเมริกา เป็นความพ่ายแพ้ เพราะมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถูกฆ่าตายก็คงไม่ใช่ จะเข้าใจว่าอย่างไร ปัญหาคือเราต้องการชัยชนะของอะไร 


ผมคิดว่าปัญหาของสังคมไทยปัจจุบันต้องทำสำรวจตรวจสอบส่วนลึกในสำนึกจิตใจของตนอย่างจริงจัง (soul searching) ว่าเราต้องการให้รัฐบาลชนะหรือใครชนะ แต่ถ้าเราบอกว่าต้องการให้สังคมทั้งสังคมชนะเราต้องทำอย่างหนึ่งและวิธีการจะเป็นตัวกำหนดด้วยว่าเราจะไปสู่เป้าหมายนั้นในลักษณะแบบไหน


 


อาจารย์เชื่อว่าการใช้สันติวิธีได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว


ใช่ และจะนำไปสู่เป้าหมายได้หรือไม่ ผมคิดว่ามีโอกาสที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้นได้ มีโอกาสที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมไทยได้ ถ้าเราเชื่อว่าสังคมไทยขณะนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดเพราะชาวบ้านเป็นฝ่ายผู้ร้าย ทำอย่างไรที่จะแยกผู้ร้ายออกจากคนดี พูดง่ายแต่ทำยาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย  โดยเฉพาะในจังหวะซึ่งความไม่ไว้วางใจมีสูง การแบ่งแยกทำได้ลำบากและราคาของมันสูง ต้องคิดให้ละเอียด โจทย์ประการหนึ่งคือชุมชนอย่างตันหยงลิมอ คิดอย่างไรกับการตายของนาวิกโยธินสองคน นั่นก็เป็นประเด็นเหมือนกัน


 


คิดอย่างไรที่นาวิกโยธินทั้งสองเสียชีวิต ทั้งที่เคยรู้จักสนิทสนมกับชาวบ้านมาก่อน


น่ากลัวมากกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้นในรวันดา ที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัน เพียงเพราะข้อมูลที่ปรากฏในบัตรประจำตัว (สมัยนั้นยังไม่มีสมาร์ทการ์ด) ที่รัฐออกให้ว่าใครเป็นคนเผ่าฮูตู กับตุดซี่  คนที่เคยรู้จักกัน เป็นเพื่อนบ้านกัน  ก็ฆ่ากันได้ การ์ดนี้กลายเป็นการ์ดมรณะ ผลที่เกิดขึ้นคือการแบ่งแยกทำให้เกิดความรุนแรง เพื่อนบ้านที่เล่นกันมาตั้งแต่เด็กฆ่ากันได้เพียงเพราะถือบัตรซึ่งระบุว่าพวกตนสังกัดคนละเผ่า พอฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หมด เขาก็ยกเลิกการ์ดนี้


กรณีนี้ก็เช่นกัน ถ้าข้อมูลที่ว่าสองนาวิกโยธินที่เสียชีวิตครั้งนี้เป็นคนที่ชาวบ้านคุ้นเคยอยู่แล้ว ย้อนกลับไป ถ้ารัฐล้มเหลวในการปกป้องชาวบ้าน ในทางทฤษฎีเรียกว่า "failed state" อาจกล่าวได้ว่ากรณีที่นาวิกโยธินทั้งสองเสียชีวิตก็เรียกได้ว่าชุมชนก็ล้มเหลว ในการดูแลเพื่อน หรือแม้กระทั่งการดูแลคนแปลกหน้า


ในชุมชนมุสลิมเรื่องสำคัญมากคือความอารีต่อคนแปลกหน้า คนเดินทาง ใครมาบ้านเราเราก็ต้องดูแลหาข้าวหาน้ำให้เขาได้กินได้พักตามที่ควร  นี่เป็นเกียรติยศของชุมชน การที่นาวิกโยธินเสียชีวิตแสดงว่ามันเกิดปัญหาขึ้นในชุมชน ถ้าถามว่าอะไรคืออันตราย ผมคิดว่าเราอยู่ในโลกที่รัฐไม่สามารถคุ้มครองประชาชนได้ ชุมชนเองก็ไม่สามารถคุ้มครองแขกของเขาได้ด้วย ยิ่งถ้าเป็นเพื่อนแล้วไม่สามารถคุ้มครองได้ ยิ่งหนักไปอีก ยิ่งถ้าใช้ความรุนแรงลงไปในสภาพสองอย่างนี้ ก็น่าจะจินตนาการได้ว่าจะพาสังคมไปทางไหน


 


ถ้าอย่างนั้นเรื่องนี้จะอธิบายได้อย่างไร


ผมคิดว่าน้ำมิตรไมตรีส่วนตัวไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองสิ่งนี้ได้ แปลว่าจะเอาดาบไปสะบั้นไมตรีมากขึ้นไปอีกหรือ หรือว่าจะต้องหาวิธีสนับสนุน สร้างเสริมสายพันธ์นี้ให้หนักแน่นกว่าเดิม มันป้องกันได้ทำไมถึงไม่ป้องกัน ยกตัวอย่าง ในต่างประเทศ ตอนที่นาซีกำลังกวาดล้างชาวยิวในยุโรป ปรากฏว่าในเดนมาร์กในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวยิวตายน้อย เพราะชาวเดนมาร์กปกป้องคนเหล่านั้น ผมถึงคิดว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้คนไทยพุทธปกป้องมุสลิม และคนมุสลิมปกป้องคนไทยพุทธในพื้นที่เหล่านี้ ถ้าเราเอาแต่ปกป้องคนของเราเอง บอกว่าคนของเราเองเท่านั้นที่สำคัญ เช่นนี้ไม่น่าจะถือว่าเป็นชัยชนะของสังคมไทย


 


เกรงไหมว่าต่อจากนี้ไปการแบ่งแยกจะเด่นชัดและรุนแรงขึ้น


ถ้ามีการแบ่งแยก จะเกิดปรากฎการณ์คนส่วนใหญ่คนส่วนน้อย ซึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้มันกลับกันระหว่างคนส่วนใหญ่กับคนส่วนน้อยของประเทศ ในประเทศไทยชาวมุสลิมเป็นคนกลุ่มน้อย ไทยพุทธเป็นคนส่วนใหญ่ แต่ที่นั่นมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ ไทยพุทธเป็นคนส่วนน้อย ในแหลมสุวรรณภูมิ ในเอเชียอาคเนย์นี้ คนเชื้อสายมลายูมุสลิมก็เป็นคนส่วนใหญ่ ถ้านับอินโดนีเซียด้วย อย่างนี้คิดได้หลายชั้น ในบริบทเช่นนี้ผมชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่ได้ทำงานและเสียสละถึงเพียงนี้ สังคมไทยอยูรอดได้ด้วยความเสียสละของคนเหล่านี้


            เป็นไปได้ว่าคนที่อยู่ใกล้กับสันติวิธีที่สุดคือทหาร เขารู้ว่าหน้าที่ของเขาคืออะไร เขามีวินัย เขาถูกฝึกมาให้ใช้ความรุนแรงอย่างมีความรับผิดชอบ ให้รู้ว่าราคาของความรุนแรงคืออะไร ถ้าเกิดความรุนแรงขึ้น เขารู้ว่าเขามีหน้าที่ในการปกป้องประเทศชาติประชาชน เขาตายก่อนทั้งนั้น  ดังนั้นเขาเข้าใจดี ผมคิดว่าคนอื่นต่างหากที่เข้าใจเรื่องนี้น้อยกว่าเขา


ผมเคยฟังนายตำรวจในจังหวัดชายแดนภาคใต้สั่งลูกน้องที่จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ความขัดแย้งครั้งหนึ่งว่า ไม่ต้องเอาปืนไป ลูกน้องก็บอกว่าในสถานการณ์นั้น น่าจะเกิดการปะทะกันแน่ นายตำรวจผู้นั้นตอบว่า ก็ถ้ามันต้องมีคนต้องเจ็บระหว่างประชาชนกับตำรวจ เราต้องยอมเจ็บ


ผมคิดว่าตราบใดที่เรามีข้าราชการคิดแบบนี้ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐแบบนี้ สังคมไทยน่าจะไปรอด ที่ตันหยงมัสประมาณปีก่อน ตชด.สองคนที่เสียชีวิตก็เข้าใจว่ามีอาวุธอยู่กับตัว  แต่เขาไม่ได้ใช้ เขาเสียสละ ผมคิดว่าคนเหล่านี้ยอมเสียชีวิตเพื่อสิ่งที่สำคัญกว่า นี่คือเกียรติยศ


 


เป็นการยอมจำนนหรือเปล่า


ผมคิดว่ามันไม่ใช่ยอม ถ้าเราไปเข้าใจว่ายอม และไม่ทำอะไรเลย ถึงที่สุดความรุนแรงก็ต้องหยุด จะต้องจับคนที่ทำร้ายประชาชนและราชการให้ได้ กฎหมายก็ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอกัน แต่จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องได้รับความไว้วางใจ จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ต้องไปด้วยกัน เพียงแต่ว่าถ้าเราเชื่อว่าคนกระทำความผิดมีน้อย ถ้าอย่างนั้นจริง เราก็ต้องหายุทธศาสตร์ให้จัดการกับคนส่วนใหญ่เป็นหลัก แล้วเรื่องการจัดการกับผู้ร้ายให้เป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหญ่ อย่าทำสลับกัน ไม่งั้นผลักคนดีไปอยู่กับคนร้าย และจะยิ่งสูญเสีย


 


เป็นไปได้ไหมที่จะมีคนใช้เหตุการณ์เหล่านี้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง


ทุกครั้งที่เกิดความรุนแรงขึ้นสิ่งเหล่านี้จะถูกใช้ แต่ไม่อยากจะพูดว่าคนสร้างปรากฎการณ์เหล่านี้ขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง แต่เมื่อมันดำรงอยู่ก็ย่อมกลายเป็นปัจจัยที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ ยกตัวอย่างเช่น ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคยดำรงอยู่ในอดีต เหตุการณ์มาถึงขณะนี้ พวกเขาก็คงต้องเอาเรื่องนี้ไปใช้ จะนั่งเฉยๆ ไปทำไม มีให้ใช้ก็ต้องใช้ ทุกครั้งที่รัฐบาลทำผิด ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร อย่างในทางการเมือง คนที่ไม่เห็นด้วยก็เอาไปใช้เหมือนกัน


            ผมคิดว่าโจทย์ของความมั่นคงของชาติไทย เหมือนกับการสร้างบ้าน แต่ไม่ใช่บ้านในความหมายของอิฐ หิน แต่บ้านในความหมายที่พักพิงของคนในครอบครัว ในภาษาอังกฤษมีคำกล่าวว่า" A house is made of brick and stone,  but a home is by heart alone." บ้านนี้ไม่ได้มีเงินแล้วสร้างได้ถ้าไม่ร้อยเอาน้ำจิตน้ำใจ ด้วยไมตรี  ถ้าเราจะสร้าง home เราก็ทำอย่างหนึ่ง แต่ถ้าต้องการสร้าง house ก็หาอิฐหาปูน ซื้อกุญแจ คงต้องเป็นอย่างนั้น โดยเชื่อว่าคนในบ้านจะมีความสุข ผมไม่มั่นใจ เพราะเชื่อว่ามีเครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่าง แต่คนในบ้านไม่มีความสุข มีความร้อนใจ ไม่มีความไว้วางใจ บ้านอย่างนี้ไม่น่าจะอยู่กันด้วยความสุข


 


เกรงไหมว่าสถานการณ์นี้จะถูกใช้เพื่อปลุกกระแสชาตินิยม


สังคมไทยมีทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่ร่ำรวย ผมหวังว่าคนในสังคมการเมืองฉลาดกว่านั้น บางคนอาจจะคิดว่าไม่เป็นไรหรอก อาจจะใช้เหตุการณ์แบบนี้ปลุกกระแสชาตินิยมชนิดนี้เป็นครั้งเป็นคราว อันตรายอยู่ที่ว่าถ้าเขาเชื่อจริงๆว่าทำได้  ผมไม่แน่ใจว่าเขารู้จักและเข้าใจพลังอำนาจของชาตินิยมที่ถูกปลุกขึ้นมาอย่างไร เขาเข้าใจความสามารถของเขาในการควบคุมอำนาจเหล่านี้ได้แค่ไหน คนที่ทำอย่างนี้บางทีเข้าใจว่าเขามีความสามารถในการคุมมันได้ ถึงจุดหนึ่งอาจคุมไม่ได้ แล้วจะกลายเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเสียใจ ประเทศไทยก็เคยมีประสบการณ์แบบนี้มาแล้ว


 


เหตุการณ์จะพัฒนาไปเหมือนอาเจะห์และติมอร์ไหม


ติมอร์กับอาเจะห์เป็นคนละปัญหากับชายแดนภาคใต้ กรณีของติมอร์คือทางอินโดนีเซียไปยึดครองในเวลายี่สิบสามสิบปีที่ผ่านมาอินโดนีเซียทุ่มทุนไปเยอะ ทั้งที่ติมอร์ไม่ได้มีทรัพยากรอะไร ตอนที่ติมอร์ตัดสินใจจะแยก ตอนนั้นผมอยู่อินโดนีเซียด้วย คนอินโดนีเซียรู้สึกว่าเหมือนหัวใจถูกฉีกออกไป แต่ว่าถ้าถามคนติมอร์ พวกเขาจะบอกว่าอยู่กับอินโดนีเซียมากว่ายี่สิบปี ไม่มีครอบครัวไหนเลยที่ไม่ได้สูญเสียชีวิตไปกับการต่อสู้กับอินโดนีเซีย ถ้าอย่างนี้ ทุ่มเงินเท่าไรก็ซื้อไม่ได้ ส่วนสังคมไทย คนยังรู้สึกว่าเป็นคนที่นี่ คำถามคือเราจะสามารถทำให้เขารู้สึกได้ไหมว่าบ้านเขาอยู่ที่นี่ ผมคิดว่าเราเคยทำเกือบสำเร็จมาแล้ว  แล้วทำไมถึงเลวร้าย หรือเสื่อมลง จะคิดอย่างไร ความรุนแรงไม่ว่าจะใครก่อมีส่วนสำคัญ พอความกลัวเกิดขึ้น ความหวาดระแวงก็ตามมา ความเกลียดชังก็ตามมา นี่คืออันตราย


 


ข้อเสนอของอาจารย์คืออะไร


ข้อเสนอของผมคือพยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อย่าเหมารวมผู้คน อย่าไปคิดว่านี่คือความพ่ายแพ้ พยายามให้เกียรติคนที่ตัดสินใจและเสียสละ และให้เกียรติเขาในการเลือกในเส้นทางที่จะทำให้สังคมการเมืองไทยเข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่ความอ่อนแอลงด้วยความรุนแรง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net