Skip to main content
sharethis

นายแพทย์แวมาหะดี แวดาโอ๊ะ อดีตนายแพทย์ประจำโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์และอดีตจำเลยคดีเจ.ไอ. กล่าวในการประชุมวิชาการทางรัฐศาสตร์และรัฐประสานศาสนศาสตร์ภาคใต้ จัดโดยภาควิชารัฐประสานศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อ วันที่ 29 กันยายน 2548 ที่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


 


ผมไม่อาจปฏิเสธการมาร่วมในเวทีครั้งนี้ได้ เนื่องจากเป็นศิษย์เก่าของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ หากเป็นเวทีอื่นตนคงปฏิเสธแล้ว ด้วยเหตุผลเนื่องจากตนเป็นอดีตจำเลยคดีที่เกิดมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ เนื่องจากมีผู้พยายามโยงว่าเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นเรื่องการก่อการร้าย นั่นคือจำเลยคดี เจ.ไอ.


           


ผมถูกจำนานถึง 2 ปี ตอนกลับมาที่บ้านพบว่า สภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเปลี่ยนแปลงมาก มีการตรวจค้นอย่างเข้มงวดเป็นระยะ กลับไปถึงบ้านก็อยู่แต่ในบ้าน แต่ทุกครั้งที่ตนออกนอกบ้านก็มักจะมีรถยนต์ติดฟิล์มกรองแสงทึบขับติดตามทุกครั้ง จนทำให้ผมเกิดความหวาดระแวงขึ้นมา คืนหนึ่งขณะที่ผมนั่งคุยอยู่หน้าบ้านปรากฏว่ามีรถยนต์คนหนึ่งประสบอุบัติเหตุตรงหน้าบ้าน ซึ่งรถคันนั้นติดป้ายทะเบียนหน้ารถระบุจังหวัดเชียงใหม่แต่ป้ายหลังรถกลับเป็นจังหวัดนราธิวาส ต่อมาคนอยู่ในรถได้โทรศัพท์และพูดว่า "นาย ! มารับผมหน่อย เดี๋ยวชาวบ้านจะมาทำร้าย" ซักพักก็มีรถตำรวจคันหนึ่งมารับตัวไป


           


ผมลงไปในชุมชน 400 แห่งในจังหวัดนราธิวาส จากทั้งหมด 607 มัสยิด วันหนึ่งขณะที่ผมกำลังจะเดินทางไปที่ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ขณะยืนคุยกับนักข่าวบีบีซี นักข่าวจากประเทศอังกฤษและสิงคโปร์อยู่ก็ได้รับโทรศัพท์เตือนว่าอย่างลงพื้นที่ ซักพักก็มีข่าวว่ามีคนถูกยิงตายที่ตันหยงมัส


           


วันที่ผมลงไปที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งที่นั่นมีชาวบ้าน และโต๊ะครูถูกยิงเสียชีวิตมาแล้ว 6 คน ไปพบกับคนแก่อายุ 80 ปี คนหนึ่ง เขาพูดว่า ไม่รู้จะเรียนศาสนากับใครอีกแล้ว เพราะโต๊ะครูถูกฆ่าตาย ซึ่งฟังแล้วสะเทือนใจมาก พอผมไปที่อำเภอสุไหงโก-ลก ก็มีระเบิดห่างจากผมเพียง 100 เมตรถึง 2 ลูก ในวันรุ่งขึ้นเมื่อตนขับรถกลับบ้านขณะขับผ่านปั้มน้ำมันเอสโซ่แห่งหนึ่งก็เกิดระเบิดขึ้นห่างจากรถผมเพียง 20 เมตรเท่านั้น


           


ผมจะเดินทางเข้าหมู่บ้านตันหยงลีมอก็มีคนโทรศัพท์มาบอกว่าชาวบ้านจับทหาร 2 นายเอาไว้ รุ่งเช้าจึงเปลี่ยนใจเดินทางไปที่อำเภอรือเสาะ ก็ทราบมาว่าทหารที่ถูกจับทั้ง 2 นาย เพราะชาวบ้านเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนยิงชาวบ้านในร้านน้ำชา


           


วันที่ผมเดินทางไปที่ตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ขณะกำลังจะละหมาดวันศุกร์ก็พบว่าที่บนหิ้งของแท่นบรรยายธรรมในมัสยิดมีใบปลิวข่มขู่ตั้งอยู่ด้วย ในใบปลิวระบุว่า "เราไม่ได้แบ่งแยกดินแดน แต่ขอทวงดินแดนคืนเท่านั้น"


           


ขากลับก็มีทหารตั้งด่านตรวจค้น แต่เนื่องจากตนไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เนื่องจากหายไปตั้งแต่ถูกจับกุมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ด้วยความรำคาญกลัวว่าจะถูกตรวจค้นก็เลยแนะนำตัวว่า ตนคือหมอแว อดีตจำเลยคดีเจ.ไอ. เจ้าหน้าที่ก็ให้ความเคารพแล้วให้ผ่านไปได้


           


ความขัดแย้งในพื้นทีจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมานานแล้ว มีความแตกต่างจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยหลายอย่าง แต่ทำไมความรุนแรงจึงเกิดขึ้นในช่วงนี้ ความแตกต่างที่มีอยู่หลายประเด็นประกอบด้วย เรื่องศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา แต่ในมุมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยังมีความเข้าใจที่แตกต่างกับรัฐไทยคือ ประวัติศาสตร์พื้นที่และความเข้าใจเรื่องเชื้อชาติที่ผิด จนนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ผิดด้วย


           


ถามว่าผมเป็นคนไทยหรือเปล่า ผมตอบว่าผมเป็นคนถือสัญชาติไทย นับถือศาสนาอิสลาม แน่นอนว่าคนในพื้นที่เป็นคนมลายู ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและคนใต้ชินกับความหลากหลาย ยกตัวอย่างการทำสวนผลไม้ในพื้นที่ ซึ่งเรียกว่า ดูซง ที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืชไม้ผล หลักการคือการสร้างความสมดุลทั้งทางด้านชีวภาพและทางเศรษฐกิจ เช่น เมื่อผลเงาะขายไมได้ มะพร้าวก็ยังมีราคาสูงอยู่ เป็นต้น แต่ความหลากหลายดังกล่าวกำลังถูกทำลายด้วยพืชจีเอ็มโอ มีการใช้ปุ๋ยเคมี วัชพืชต่างๆ ก็ต้องทำลายเพื่อนำไปสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว


           


คนในพื้นที่กำลังเรียกร้องดูซงกลับคือมา ปกติดูซงไม่มีการทวงโฉนด แต่เมื่อมีพืชจีเอ็มโอเข้า ก็มีการขอแบ่งโฉนดจนเกิดความขัดแย้งกับคนในพื้นที่ เพราะฉะนั้นการขอโฉนดต่างกับการทวงโฉนดคืน
           


ผมว่าชาวบ้านขัดแย้งกับรัฐในเรื่องของความยุติธรรม แม้แต่ฝ่ายรัฐเองก็มีความขัดแย้งกันระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติ เหมือกับว่าข้องบนมีการเติมน้ำเข้าไปในภาชนะแต่ข้างล่างกลับมีคนเจาะรู้ ทำให้น้ำไม่เต็มซักที เรื่องความสามัคคีแตกต่างกับการผสมผสาน แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้เราอยู่ด้วยกันได้


           


ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้คือเรื่องมวลชน จากข้อมูลภาครัฐที่เคยบอกว่ามีแนวร่วมอยู่ประมาณ 20,000 คน  แต่การทำสงครามชิงมวลรัฐแพ้ ไม่ใช่ว่าชาวบ้านจะเข้าไปอยู่ฝ่ายก่อความไม่สงบ แต่การให้ความร่วมมือกับรัฐน้อยลง


           


การทวงคืนในมุมมองชองชาวบ้าน ต้องให้ไปฟังจากชาวบ้านเอง แต่ตนไม่ได้ถามต่อ เนื่องหากจี้ถามต่อไปชาวบ้านก็จะไม่ตอบ เพราะเขาอึดอัดที่จะตอบคำถามหากมีคนไปถามแบบจี้ถาม เราก็จะไม่ได้คำตอบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net