Skip to main content
sharethis

เหตุการณ์ความไม่สงบที่ภาคใต้ กรณีที่บ้านตันหยงลิมอดูเหมือนจะมีผลกระทบเป็นระลอกคลื่นตามมาไม่หยุด


 


ล่าสุด พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลในเรื่องสื่อ ต่างออกมาพูดเรื่องปัญหาข่าวในพื้นที่ว่า สิ่งหนึ่งที่จะต้องจับตา คือ วิทยุชุมชน


 


ก่อนหน้านี้ บุคคลในรัฐบาลต่างออกความเห็นสอดคล้องกัน เรียกร้องให้สื่อมวลชนปรับตัวในการเสนอข่าว


 


สงครามข่าวลือ


 


ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้นั้น เจ้าหน้าที่ยอมรับว่า ทำงานยากลำบาก เพราะเสมือนต้องสู้กับสงครามข่าวลือ ขณะที่ชาวบ้านก็ไม่เชื่อรัฐ เจ้าหน้าที่เชื่อว่า สภาพแบบนี้ทำให้กลุ่มผู้ก่อการหาแนวร่วมได้ง่าย


 


คำถามหนึ่งจากผู้สื่อข่าวถึงนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2548  ก็คือ จะแยกแยะชาวบ้านผู้บริสุทธิ์กับกลุ่มผู้ก่อการได้อย่างไร เพราะเห็นได้จากกรณีเหตุการณ์บ้านตันหยงลิมอว่า ทำได้ยากยิ่ง


 


นายกรัฐมนตรีบอกว่า จุดหนึ่งที่จะต้องจับตา คือ วิทยุชุมชน เพราะอาจมีการส่งสัญญาณผ่านสื่อประเภทนี้


 


วันเดียวกัน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ ก็บอกเช่นกันว่า ต้องจับตาวิทยุชุมชน


 


ก่อนหน้านี้ นายสุรนันท์ได้ลงไปประชุมในภาคใต้ เพื่อหารือมาตรการในอันที่จะสื่อสารกับชาวบ้านในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่ขีดเส้นไว้ว่า สื่อต่างชาติโดยเฉพาะสื่อมาเลเซีย ถ้ารายงานพลาดก็จะมีการร้องเรียนทันที


 


ทำไมต้องสื่อมาเลย์


 


ผู้สื่อข่าวมาเลเซียจากรัฐกลันตันที่ปกติเดินทางเข้ามาทำข่าวในภาคใต้ได้ตลอด ตอนนี้บางคนบอกบีบีซีว่า พวกเขาถูกตรวจค้น และบ้างก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำข่าว


 


กรณีบ้านตันหยงลิมอ เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนระบุชัดว่า ความพยายามที่จะดึงสื่อมาเลเซียเข้ามาทำข่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของฝ่ายก่อการ ที่จะให้สื่อในประเทศนั้น เสนอภาพความรุนแรงในไทย ซึ่งนักวิเคราะห์บางรายมองว่า จะไปช่วยเสริมน้ำหนักคำร้องขอลี้ภัยในมาเลเซียของกลุ่มบุคคลร้อยสามสิบเอ็ดคน


 


เจ้าหน้าที่รัฐดูจะเชื่อว่า นี่คือ การเปิดแนวรบของฝ่ายก่อการ ที่จะยืมมือประชาคมโลกบีบไทย ความเชื่อนี้เอง ทำให้ฝ่ายรัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะปรามสื่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เตือนสื่อว่า อย่ายอมตนตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้าม


 


กระจกสะท้อนสังคมและตัวเอง


 


สื่อเองจะขานรับหรือไม่ก็ตาม แต่ก็น่าสังเกตว่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเมื่อสำนักข่าวเอเอฟพีออกบทสัมภาษณ์สมาชิกแกนนำของขบวนการพูโล มีสื่อที่นำมาเสนอเพียงไม่กี่รายทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ มีจำนวนมากที่พยายามติดต่อกับคนในขบวนการนี้


 


ในขณะเดียวกัน ผลอีกด้านของกรณีบ้านตันหยงลิมอ การที่ชาวบ้านที่นั่นปฏิเสธไม่พูดกับสื่อไทย แม้จะมีบางส่วนของสื่อที่คล้อยตามทางการว่า เรื่องนี้เป็นแผนของกลุ่มผู้ก่อการ แต่มีสมาชิกของสื่ออีกไม่น้อย ก็ดูจะแยกแยะว่า แท้จริงแล้วการทำงานของสื่อก็อาจต้องปรับด้วย


 


ความจริงแล้วประเด็นนี้ไม่ใหม่สำหรับคนในวงการสื่อ เพราะไม่เช่นนั้นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คงไม่ก่อตั้งศูนย์ข่าวอิศราขึ้นที่ปัตตานี เพื่อจะพยายามเสนอข่าวสองด้านโดยไม่เข้าข้างใคร


 


หลายคนในวงการข่าวมองว่า ในเมื่อชาวบ้านไม่เชื่อทางการ คนที่จะเป็นสะพานเชื่อมได้ ก็น่าจะเป็นสื่อ โดยที่สื่อจะต้องเป็นกลางถึงจะมีคนเชื่อ


 


ทว่า ในเวลาอย่างนี้พื้นที่สื่อกลายเป็นสนามรบไปแล้ว นอกจากจะต้องทำงานหนักแยกข่าวลือและข่าวลวงที่กระฉ่อนในพื้นที่ สื่อยังเจอเสียงปรามจากเจ้าหน้าที่รัฐ นับเป็นภาวะที่หลายคนบอกว่า ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง


 


นวลน้อย ธรรมเสถียร รายงาน


 


ที่มา : http://www.bbc.co.uk/thai/highlights/story/2005/09/050930_thai_south_media.shtml


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net