Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis









"Contract Farming" หรือเกษตรพันธสัญญา เป็นชื่อเรียกระบบการเกษตรชนิดหนึ่งที่น่าจะคุ้นหูคนไทยพอสมควร เพราะกลุ่มนักพัฒนา นักวิชาการ และเครือข่ายเกษตรกรหัวก้าวหน้าจำนวนหนึ่ง ได้วิพากษ์วิจารณ์กันมายาวนานแล้วว่า มันคือกลยุทธการกอบโกยกำไรของบริษัทด้านการเกษตรขนาดใหญ่ อันมีขีดความสามารถสูงยิ่งในการแปรสภาพ "เกษตรกรอิสระ" ที่ยากจน ให้เป็น "แรงงาน" หนี้สินล้นพ้นในไร่นาตัวเอง


 


จนถึงวันนี้ ขณะที่สภาพการณ์ในระดับพื้นที่ไม่ได้รับการพูดถึง ไม่มีใครยืนยันว่าปัญหาดังกล่าวมีการคลี่คลายไปบ้างหรือไม่เพียงใด แต่ในระดับนโยบาย "คอนแทรค ฟาร์มิ่ง" ได้ก้าวขึ้นมาเป็น "พระเอก" เต็มตัวที่รัฐบาลมุ่งเน้นและขับดันมันออกไปทุกทิศทาง เพื่อยกระดับชีวิตชาวนาชาวไร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคณะรัฐมนตรีรับรอง "แผนแก้ไขปัญหาความยากจน" ของกระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา


 


ภายใต้แผนที่ว่านี้ จะมีการจัดที่ดิน ส.ป.ก.กว่า 2,000 ไร่ ในลักษณะแปลงเกษตรรวมขนาดใหญ่ 100 ไร่ขึ้นไปให้เกษตรกรผู้อยู่ใน "ทะเบียนคนจน" เช่าทำกินในนามของกลุ่มหรือสหกรณ์ โดยรัฐจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อย่างการเตรียมดินเบื้องต้น การจัดสร้างแหล่งน้ำ พร้อมกันนั้นก็จะดึง "บริษัทเอกชนด้านการเกษตรรายใหญ่" ร่วมกำหนดทิศทางการผลิตสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ให้แก่เกษตรกร ดำเนินการแบบคอนแทรค ฟาร์มมิ่ง


 


และแน่นอน บริษัทเอกชนรายแรกๆ ที่ได้รับเลือกให้ร่วมโครงการนี้ หนีไม่พ้นยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจการเกษตรครบวงจรอย่าง "ซีพี" หรือ บมจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์


 


โดยรัฐบาลประเมินว่า ในสถานการณ์น้ำขึ้นที่ประเทศไทยสามารถเปิดตลาดกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน ผ่านการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) นั้น เส้นทางแบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ และขยายตลาดให้กับภาคการเกษตรได้อย่างยั่งยืน


 


"แต่ละครัวเรือนจะมีรายได้เดือนละ 5 พันบาท เป็นการเอางานไปหาคน  รัฐบาลพร้อมจะหาเอกชนมาช่วยเรื่องนี้เต็มที่ เพราะถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประชาชนจะมีรายได้เพิ่ม" พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์


 


มองผิวเผิน เส้นทาง "เกษตรพันธสัญญา" เหมือนจะเป็นทางออกที่ดี แต่ในฐานะที่เส้นทางนี้ "เคย" และ "ยัง" เป็นที่ครหาในทางเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร จึงหลีกเลี่ยงคำถามจำนวนมากที่จะตามมาได้ยาก และคำถามจะชัดเจนขึ้นโดยปริยาย เมื่อย้อนดูความเคลื่อนไหวที่ผ่านมา


 


เมื่อ 20 พฤษภาคม 2548 นายกรัฐมนตรีระบุชัดเจนในการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ(กสจ.) ว่า


 


"ผู้ว่าฯจะต้องเตรียมพร้อมในการสำรวจแต่ละหมู่บ้านภายในจังหวัดอย่างละเอียด เพราะรัฐบาลมีแนวคิดให้ภาคธุรกิจเข้ามาร่วมรับผิดชอบกันเป็นหมู่บ้าน ล่าสุด ทางเครือเจริญโภคภัณฑ์จะรับผิดชอบ 500 หมู่บ้าน บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจส์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ช้าง) รับผิดชอบ 500 หมู่บ้าน โดยจะลงทุนภาคเกษตร อาจจะตั้งโรงเรือนเลี้ยงไก่ระบบปิด แล้วจ้างตัวแทนแต่ละครัวเรือนมาทำงาน"


 


นอกจากนี้ ราวเดือนสิงหาคม 2548 คณะทำงานของนายกรัฐมนตรี หรือ Prime Minster's Task Force ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างต้นแบบตามโครงการภาคธุรกิจช่วยเหลือคนจน โดยมีนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน


 


กระบวนการเริ่มจากการคัดเลือกหมู่บ้านต้นแบบความยากจนของประเทศมาวิเคราะห์ว่า ควรส่งเสริมให้ประชาชนประกอบอาชีพใด จากนั้นก็จะให้ภาคเอกชนเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งสอดคล้อง-รองรับกับแผนแก้ปัญหาความยากจนที่เพิ่งผ่าน ครม.เป็นอย่างยิ่ง


 


ทั้งนี้ ในคณะทำงานของนายกฯ 14 คน มีผู้บริหารของ "ซีพี" อีก 3 คน คือ นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ที่ดูแลภาพรวมธุรกิจในเครือซีพีทั้งหมด นายพงษ์ วิเศษไพฑูรย์ ดูแลธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์น้ำของเครือซีพี และนายมนตรี คงตระกูลเทียน ดูแลธุรกิจพืชไร่ครบวงจรของเครือซีพี อยู่ด้วย ซึ่งถึงตอนนี้ซีพีได้รับเข้าไปดำเนินการนำร่องให้กับหมู่บ้านต้นแบบแล้ว


 


"เกษตรนายทุนครบวงจร เกษตรกรครบวงจน"


เมื่อบริษัทใหญ่ที่ก่อร่างสร้างตัวด้วยเกษตรพันธสัญญามาตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เข้าไปอยู่ ณ ศูนย์กลางอำนาจอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ขณะนี้ดูเหมือนนโยบายของบริษัทได้ขยับฐานะขึ้นมาเป็นนโยบายของประเทศไปแล้ว ดังนั้น จึงน่าสนใจที่จะสำรวจเส้นทางสายนี้สักเล็กน้อย


 


"คอนแทรค ฟาร์มิ่ง มันเป็นอย่างที่เขาว่า เกษตรนายทุนครบวงจร เกษตรกรครบวงจน จริงๆ" อุบล อยู่หว้า จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน สรุปรวบยอดความหมายของคอนแทรค ฟาร์มิ่ง


 


ในฐานะที่ทำงานรณรงค์ด้านเกษตรอินทรีย์กับเกษตรกรในภาคอีสานมายาวนาน เขาเล่าสถานการณ์ในพื้นที่ว่า เกษตรกรจะมีพันธสัญญากับบริษัทในการเลี้ยงไก่เสียเป็นส่วนมาก โดยเกษตรกรจะเป็นผู้ลงทุนในโรงเรือน ส่วนบริษัทใหญ่จะให้ "เชื่อ" ลูกเจี๊ยบ อาหารไก่ และเวชภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งจะนำมาหักลบกลบหนี้กันตอนขายไก่ให้บริษัท ซึ่งในการขายไก่นั้น มีเงื่อนไขว่า ไก่ฝูงนั้นต้องมีอัตราการตายไม่เกิน 5% ของไก่ทั้งหมด และมีอัตราการแลกเนื้อ (น้ำหนักไก่ทั้งหมดเทียบกับอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ทั้งหมด) ตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด


 


"ปัญหาคือ น้ำหนักไก่มันขึ้นกับอาหารของบริษัท ถ้าบริษัทจะกดราคาก็ส่งอาหารที่มีโปรตีนต่ำมาให้ ชาวบ้านไม่มีทางรู้ แล้วข้อตกลงเองก็ไม่ชัดเจน บริษัทจะให้ไก่รุ่นใหม่มาเลี้ยงเมื่อไหร่ เกษตรกรกำหนดไม่ได้เลย ซึ่งตั้งแต่มีไข้หวัดนก ชาวบ้านก็ไม่ได้เลี้ยงไก่มานานแล้ว โรงเรือนที่ลงทุนก็กลายเป็นโรงเรือนร้าง เพราะบริษัทไม่ส่งลูกเจี๊ยบมาให้ โดยไม่ได้ค่าชดเชยอะไรทั้งนั้น" อุบลกล่าว


 


ในส่วนพืชผลการเกษตรนั้น อุบลให้ข้อมูลว่า ในภาคอีสานจะเน้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ ทั้งมะเขือเทศ แตงกวา มะเขือเทศ พริกชนิดต่างๆ ฯลฯ โดยบริษัทจะสนับสนุนพันธุ์ สารเคมี ปุ๋ย ไปก่อนแล้วนำมาหักลบกลบหนี้ตอนขายผลิตผลเช่นเคย โดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ และอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ บริษัทจะเป็นผู้นำไปทดสอบเอง


 


"เกษตรกรที่สกลนครเคยเจอว่า บริษัทเอาไปทดสอบ เสร็จแล้วบอกว่าไม่ผ่าน ก็เลยไม่จ่ายเงินให้ พอชาวบ้านบอก ถ้างั้นเอาเมล็ดพันธุ์คืนมา ทางบริษัทก็บอกว่าส่งไปต่างประเทศแล้ว เอาค่าเครื่องบินมาสิจะเอากลับมาให้ พอเป็นแบบนี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็เลิกทำไป" อุบลสะท้อนตัวอย่างส่วนหนึ่งให้ฟัง


 


อย่างไรก็ตาม หากจะดูตัวเลขกลมๆ เฉพาะ "ซีพี" บริษัทเดียวก็จะพบว่า ในปี 2546 บริษัทนี้มีพันธสัญญากับเกษตรกรเลี้ยงไก่ 12,000 ราย เกษตรกรเลี้ยงหมู 5,000 ราย เกษตรกรปลูกข้าว 10,000 ราย เกษตรกรปลูกข้าวโพด 10,000 ราย (บทความ "เกษตรพันธสัญญา จากไร่นาสู่ห่วงโซ่อาหารจานด่วนและซูเปอร์มาร์เก็ต" ของ อิซาเบล เดลฟอร์ซ ในเว็บไซต์ของโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (focus))


 


นอกจากนี้ การศึกษาเรื่อง ตลาดข้อตกลง (Contract Farming) ของกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ในปี 2546 รายงานว่าประเทศไทยมีบริษัทธุรกิจการเกษตร 14 บริษัทที่ใช้ระบบเกษตรพันธสัญญา และธุรกิจแต่ละรายมีสัญญาข้อตกลงในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 ราย


 


เกษตรพันธสัญญา สัญญาไกลถึงเพื่อนบ้าน


เรื่องราวของพระเอกเกษตรพันธสัญญา ไม่ได้โด่งดังเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดย ครม.มีมติเมื่อ 28 มิถุนายน 2548 ให้มีการดำเนินงาน Contract Farming บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะมีมาตรการลดหย่อนภาษีให้ โดยกำหนดพื้นที่นำร่อง 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ภายใต้กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS เพื่อส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 8 ชนิด ได้แก่ ถั่งเหลือง ถั่งลิสง ละหุ่ง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันฝรั่ง มะม่วงหิมพานต์ และยูคาลิปตัส เนื่องจากไทยยังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ


 


ขณะที่ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานกรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เคยแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยในพม่า โดยปัญหาอย่างหนึ่งที่เขาวิตกคือ การที่ชาติพันธุ์ในพม่าถูกขับไล่จากการบริหารที่ไร้มนุษยธรรม มีการเผาหมู่บ้านเพื่อยึดพื้นที่มาทำ Contract Farming กับกลุ่มทุนไทย


. . . . . . . . . . . .


 


ทั้งหมดนี้คือข้อสังเกตและคำถามหลักๆ เกี่ยวกับเกษตรพันธสัญญา ซึ่งรัฐบาลควรสร้างความชัดเจน เพื่อเป็นหลักประกันว่าเกษตรกรที่ยากจนอยู่แล้ว จะไม่พากันกลายเป็นแรงงานภาคเกษตรเพิ่มกำไรให้บริษัทภายใต้นโยบายนี้


 


นี่ยังไม่นับรวมคำถามที่ "เศรษฐกิจพอเพียง" ตามแนวพระราชดำริของในหลวงฯ ก็ปรากฏอยู่ในแผนนี้ คู่กับเกษตรพันธสัญญาอย่างไม่เคอะเขิน ใครรู้บอกทีว่ามันเชื่อมโยงกันยังไง !!!









ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net