งานหินคิด GPP จังหวัด หวั่นเป็นตัวเลขขี้โม้ รายงาน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การที่จังหวัดเชียงใหม่เร่งระดมหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Products : GPP) ขึ้นมานั้น จริงแล้วตัวเลข GPP คือปัจจัยตัวชี้วัดหนึ่งของการพัฒนาจังหวัด ที่ทุกจังหวัดได้เซ็นสัญญากับทางรัฐบาล นั่นคือการสร้างฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีผลลัพธ์คือ อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดหรือ GPP นั่นเอง

 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่ทางจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญ - ช่ำชองในด้านการเก็บตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ อันเป็นองค์ประกอบของการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดได้อย่างแม่นยำให้ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริง ซึ่งอาจต่างกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญ เช่น สภาพัฒน์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักวิจัยต่าง ๆ

 

สิ่งที่เห็นได้ชัดในการระดมสมองของจังหวัดเพื่อให้ได้ตัวเลข GPP จึงเป็นเรื่องยากและหนักใจไม่น้อยของผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการเก็บตัวเลขของบางหน่วยงานเป็นการปั้นตัวเลขและเก็บข้อมูลแบบหยาบและไม่สมบูรณ์นำมาประกอบการคำนวณ GPP จังหวัด

 

ทั้งนี้ ตามที่จังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานจัดทำตัวเลขผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) เพื่อดำเนินการจัดทำตัวเลขผลิตภัณฑ์จังหวัดรวม 16 สาขา ตามที่ได้รับถ่ายโอนภารกิจจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน และได้เริ่มดำเนินการจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2546 (ปีฐาน) และปี 2547 เป็นต้นไป และจังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินการในการจัดทำตัวเลขผลิตภัณฑ์จังหวัดให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีงบประมาณ 2548

 

คลังจังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจ 8 ด้าน ที่สามารถบ่งชี้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ 1.ข้อมูลด้านการผลิตทั้งภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร 2.ข้อมูลด้านการบริโภค 3.ข้อมูลด้านการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน 4.ข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศ 5.ข้อมูลด้านการเงิน 6.ข้อมูลด้านการใช้จ่ายภาครัฐ 7.ข้อมูลด้านราคา 8.ข้อมูลด้านการจ้างงาน

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2548 ได้มีการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาและคณะทำงานจัดทำผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) โดยแต่ละสาขารายงานความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการจัดทำตัวเลขผลิตภัณฑ์จังหวัด ตัวอย่างเช่น

 

สาขาอุตสาหกรรม วิธีดำเนินการคือ ส่งแบบสอบถามไปยังกลุ่มเป้าหมาย 500 ราย ได้รับแบบสอบถามกลับมาจำนวน 99 ราย คิดเป็น 20% ของแบบสอบถามที่ส่งไป หรือคิดเป็น 40% ของเป้าหมายที่ต้องการ

 

สาขาเหมืองแร่ รายงานว่า จำนวนแบบสอบถามที่ส่งไปแล้วได้รับการตอบกลับมาน้อย ทำให้จำนวนตัวอย่างไม่เพียงพอกับความต้องการ งบประมาณในการดำเนินการไม่ชัดเจน ไม่ได้รับความช่วยเหลือในการจัดเก็บข้อมูล ไม่เคยมีประสบการณ์ในการจัดทำ GPP มาก่อนจึงอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ ทั้งยังมีงานประจำต้องทำปกติจึงไม่มีเวลามาดำเนินงานเต็มที่ โดยสาขาเหมืองแร่มีข้อแนะนำว่า ควรมีการวางระบบการจัดเก็บข้อมูล GPP ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย โดยอาจว่าจ้างที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยวางระบบ โดยในปีแรกๆอาจให้ที่ปรึกษาร่วมกับหน่วยงานในการจัดทำ GPP ก่อน เป็นการเรียนรู้พร้อมกับปฏิบัติการจริง เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้จัดทำ และที่สำคัญควรจัดสรรงบประมาณให้เหมาะกับกิจกรรม

 

สาขาการก่อสร้าง วิธีจัดเก็บข้อมูลคือ กรอกแบบสอบถาม โดยเก็บข้อมูลจากส่วนราชการที่มีงบลงทุนและจัดเก็บข้อมูลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ปัญหาที่พบคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรอกแบบสอบถามไม่ถูกต้องและได้รับแบบสอบถามคืนกลับมาน้อย

 

สาขาโรงแรมและภัตตาคาร  จัดเก็บข้อมูล 2 ทางคือ ข้อมูลจากสรรพากร และข้อมูลจากการสุ่มตัวอย่างโดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งปัญหาที่พบคือ ผู้ประกอบการยังไม่เข้าใจในแบบสอบถามและสอบถามกลับมาถึงความจำเป็นในการกรอกแบบสอบถาม นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางรายย้ายที่อยู่ทำให้แบบสอบถามถูกตีกลับมาหรือบางแห่งปิดกิจการไม่สามารถให้ข้อมูลได้

 

สาขาตัวกลางทางการเงิน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างจากแบบสอบถามในหมวดกิจกรรม 4 ประเภทคือ ประเภทธนาคาร สถานธนานุบาล บริษัทเงิน-หลักทรัพย์ และบริษัทประกันภัย-ประกันชีวิต-ตัวแทนขายประกัน ทั้งนี้ปัญหาที่พบของสาขานี้คือ ข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ค่อนข้างเป็นความลับ ทำให้ไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดของรายได้และค่าใช้จ่ายได้ หรือจากการส่งแบบสอบถามให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทไม่สามารถให้ข้อมูลได้โดยอ้างว่าเป็นความลับของกิจการ

 

สาขาบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ปัญหาที่พบคือ รายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับมาบางรายเลิกกิจการไปแล้ว บางรายย้ายที่อยู่ไม่ได้แจ้ง กลุ่มตัวอย่างไม่เข้าใจแบบสอบถามทำให้การกรอกข้อมูลไม่ครบถ้วนเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ขณะที่ส่วนราชการยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด

 

สาขาการศึกษา ใช้แบบสอบถามในการจัดเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานพบว่า ทุกเขตพื้นที่การศึกษาและอาชีวศึกษา กลุ่มโรงเรียนปริยัติธรรมได้ตอบข้อมูลกลับมาร้อยละ 70 จากแบบสอบถามทั้งหมด ในส่วนของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยยังไม่ได้ข้อมูลกลับมา ซึ่งทำให้การสรุปรวมตัวเลขผลิตภัณฑ์จังหวัดสาขาการศึกษายังไม่สามารถทำไก้ โดยปัญหาสำคัญที่พบคือ โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล การส่งข้อมูลล่าช้าไม่ตรงตามกำหนด ขณะที่โรงเรียนบางแห่งไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล และส่วนราชการยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด

 

นายสุรพันธ์ จุ่นพิจารณ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ เปิดเผย "พลเมืองเหนือ" ว่า การถ่ายโอนภาระหน้าที่การจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดให้กับจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการเองนั้น ยอมรับว่าในระยะเริ่มต้น 1 - 3 ปีแรกอาจมีปัญหาบ้าง เนื่องเพราะเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบอาจไม่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญ จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ โดยระยะแรกสภาพัฒน์จะให้คำปรึกษาและดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งการที่จังหวัดทำเองจะทำให้เห็นข้อมูลที่แท้จริงได้กว้างขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องการให้ทางจังหวัดโดยเฉพาะผู้ว่าซีอีโอ มีข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดในแต่ละด้านที่แท้จริง เพื่อให้รู้ภาพเศรษฐกิจในจังหวัดของตนเอง

 

สำหรับตัวเลขที่ทางคณะทำงานแต่ละสาขาจัดทำนั้น หากมีความแตกต่างจากของสภาพัฒน์นั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะตัวเลขผลิตภัณฑ์จังหวัดที่ทางจังหวัดจัดทำนั้นจัดเก็บโดยวิธี Bottom up ที่เก็บข้อมูลจากฐานล่างขึ้นบน ซึ่งเป็นคนละวิธีกับทางสภาพัฒน์คือ Top down ซึ่งการจัดเก็บของจังหวัดจะครอบคลุมมากกว่า แต่ทั้งนี้ ปัญหาคือการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ การวางระบบการจัดเก็บข้อมูล วิธีการคิด หลักเกณฑ์การหามูลค่าเพิ่ม มีวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งการจัดระบบฐานข้อมูลเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้การจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดหรือ GPP ที่ทางจังหวัดทำเสร็จแล้ว แต่คงไม่สามารถประกาศใช้อย่างเป็นทางการได้ เพราะถือเป็นบทเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งคาดว่าต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงอีกมาก

 

ด้านนายธิเดช จันทราเดช เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 8 สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่จังหวัดต่าง ๆ เริ่มทำ GPP ของจังหวัดเอง ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เวลาถึง 3 ปีในการพัฒนาและปรับปรุงข้อมูล โดยสภาพัฒน์จะช่วยกำกับดูแลจนถึงปี 2550 จากนั้นอาจจะเริ่มใช้ฐานข้อมูลที่ทางจังหวัดทำขึ้นมาประกาศใช้อย่างเป็นทางการ และจะชี้ได้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปัจจุบันและอนาคตจะเป็นอย่างไร โดยขณะนี้สภาพัฒน์ได้ยกให้จังหวัดน่านและกำแพงเพชรเป็นจังหวัดนำร่องตัวอย่างในการจัดทำ GPP จังหวัด เนื่องจากเป็นจังหวัดเล็กและมีความร่วมมือของหน่วยงานภายในจังหวัดค่อนข้างดี

 

จะเป็นได้ว่าการจัดเก็บข้อมูล วิธีการคิดต่าง ๆ มีความยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งหากผู้จัดทำไม่มีความเชี่ยวชาญมากเพียงพอและหากคิดคำนวณแปรตัวเลขผิดพลาด ก็น่าเป็นห่วงไม่น้อยว่า อนาคตการพัฒนาประเทศ-ภูมิภาค-กลุ่มจังหวัดและจังหวัดเอง ที่ขึ้นอยู่กับตัวชี้วัดที่มีผลงานไม่แน่นอน หากเป็นเช่นนั้นจะมั่นใจได้อย่างไรว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับจังหวัดเป็นของจริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท