Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "ลุ่มน้ำโขงสายสัมพันธ์เศรษฐกิจ" เพื่อเป็นการให้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจการลงทุนในภูมิภาค และเป็นการเตรียมความพร้อมต่อการแข่งขันด้านเศรษฐกิจการลงทุนในอนาคต มีผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป และนักศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมประมาณ 100 คน โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการลงทุนในแถบประเทศลุ่มน้ำโขง ถ่ายทอดข้อมูล


 


ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหมาย ชินนาค รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และกรรมการศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้กับไทยมากที่สุดคือ ประเทศในกลุ่มอินโดจีน ประกอบด้วยกัมพูชา ลาวและเวียดนาม และนับเป็นคู่ค้าที่สำคัญ เมื่อมองในแง่ตลาดทั้ง 3 ประเทศนับเป็นตลาดใหญ่ไม่น้อย เพราะมีประชากรรวมกันร่วม 100 ล้านคน สำหรับประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงหรือ GMS ได้แก่ จีน (ยูนนาน) พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนใหญ่เน้นการพึ่งพาปัจจัยภายในประเทศ


 


 โดยขณะนี้ทุกประเทศเปิดรับการลงทุนจากทุกประเทศอย่างเต็มที่ โดยตระหนักว่าเงินลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลในกลุ่มประเทศอินโดจีน จึงได้ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติ เช่น การอนุญาตให้ต่างชาติร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจในภาคการเงิน การก่อสร้าง ตลอดจนอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือกรรมสิทธิ์ในกิจการบางอย่างได้ 100 %


 


นอกจากนี้ ยังมีกรอบความร่วมมือในโครงการต่าง ๆ ที่เป็นตัวกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจและการลงทุนในภูมิภาคนี้ เช่น การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) กรอบความร่วมมือการพัฒนาอาเซียน-ลุ่มน้ำโขง โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ หรือล่าสุดคือ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS


 


สำหรับการเข้าไปลงทุนในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หากดูศักยภาพแล้วการลงทุนในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวมีความเป็นไปได้มาก เพราะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางการท่องเที่ยว ที่น่าสนใจอยู่มากมาย ทั้งในแง่ของความงดงามตามธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรม ซึ่งการลงทุนอาจทำในลักษณะร่วมลงทุนกับบริษัทท่องเที่ยวลาว ที่เป็นกิจการของรัฐบาลทั้งหมด โดยการลงทุนด้านการเกษตรเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ


 


โดยเฉพาะการลงทุนในการผลิตพืชผักปลอดสารพิษ เพราะลาวเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากทั้งดินและน้ำ


 


ส่วนกัมพูชา การลงทุนที่น่าสนใจคือธุรกิจก่อสร้าง เนื่องจากปัจจุบันกัมพูชากำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วทั้งประเทศ เช่น การสร้างถนน การวางระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น ขณะที่การลงทุนเกี่ยวกับการทำธุรกิจภาคบริการก็มีโอกาสที่ดี เพราะทุกวันนี้กัมพูชาถือเป็นจุดหมายทางการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ ให้ความสนใจ แต่ธุรกิจภาคบริการ เช่น โรงแรม บริษัทนำเที่ยว ของกัมพูชายังขาดคุณภาพ และการเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ยังเป็นอีกการลงทุนหนึ่งที่น่าจะมีโอกาสที่ดี ด้วยการย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่นั่นเพราะมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำและมีแรงงานเหลือเป็นจำนวนมาก จากการที่มีการปิดโรงงานทอผ้าหลายแห่งทั่วกัมพูชา


 


สำหรับเวียดนาม เนื่องจากเป็นประเทศที่มีชายฝั่งทะเลยาว ตั้งแต่เหนือถึงใต้ ธุรกิจที่น่าจับตามอง คือ ด้านการประมง โดยเฉพาะการผลิตเครื่องมือในการทำประมงทางทะเล เช่น แห อวน เพราะปัจจุบันเวียดนามยังไม่สามารถผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้การลงทุนทำธุรกิจด้านการขนส่ง ก็น่าสนใจ จากโครงการก่อสร้างถนนสายEast-West Corridor ที่เป็นเส้นทางผ่านทั้งไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม


 


อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศกลุ่มนี้มีศักยภาพและน่าสนใจที่จะเข้าไปลงทุน แต่ก็จำเป็นต้องศึกษารายละเอียด กฎระเบียบ ข้อบังคับให้ชัดเจน ทั้งนี้ในด้านการบริหารกิจการแล้ว ควรจะต้องส่งคนไทยด้วยกันเข้าไปควบคุมดูแลเองจะดีที่สุด เพียงแต่ว่าควรจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับภาษาท้องถิ่นเป็นอย่างดีด้วย" ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหมาย กล่าว


 


เวียดนามเป็นประเทศคู่แข่งทางเศรษฐกิจของไทยที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาเวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นอย่างมาก ปัจจุบันศักยภาพและความสามารถของบุคลากรของเวียดนาม แทบจะไม่แตกต่างจากไทย ซึ่งไทยเองมีความจำเป็นที่จะต้องรู้เท่าทันและให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้มากขึ้นด้วย


 


ขณะที่ด้านการเกษตรแม้ปัจจุบันไทยจะเป็นประเทศที่มีการส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่เวลานี้เวียดนามได้มีการพัฒนาการผลิตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับข้อได้เปรียบของเวียดนามที่มีอัตราผลผลิตข้าวต่อพื้นที่ปลูกสูงกว่าไทย จึงทำให้ไม่อาจนิ่งนอนใจใดๆ ได้


 


ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า บทบาทของ GMS กับประเทศไทยอาจไม่ใหญ่เท่าไรนัก ตรงข้ามกับมีบทบาทใน 19 จังหวัดภูมิภาคที่มีอาณาเขตใกล้เคียงกันมาก กว่า  ซึ่งบทบาทของประเทศในกลุ่ม GMS ที่จะมาลงทุนในประเทศไทยคงไม่มาก ยกเว้นจีนที่เตรียมขยายฐานการลงทุนมายังประเทศไทยมากขึ้นในอนาคต


 


ทั้งนี้ เป้าหมายทางเศรษฐกิจในการลงทุนในกลุ่ม GMS คือ การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายในกลุ่ม GMS การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การต้องคิดเรื่องการลดต้นทุนการผลิต ขณะเดียวกันมีเป้าหมายอีก 5 ด้านในการดำเนินธุรกิจที่ต้องคำนึงคือ กำไรสูงสุด ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำสุด ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนและเป็นผู้นำตลอดกาล นอกจากนี้ การเจาะตลาดกลุ่ม GMS รัฐบาลแต่ละประเทศต้องลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน


 


ดร.ธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่น่าจับตามมองมากที่สุดและเป็นประเทศที่น่าลงทุนเป็นอันดับ 1 ซึ่งมีแนวโน้มว่ากฎหมายของเวียดนามจะเปิดรับการลงทุนมากยิ่งขึ้นในอนาคต ขณะที่จีนเป็นประเทศที่ใหญ่เกินไป แต่ก็น่าสนใจเข้าไปลงทุนเป็นอันดับ 2 ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า ภาพการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในกลุ่ม GMS หรือกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงที่น่าสนใจมากที่สุดคือ ธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะเป็นธุรกิจขนาดกลาง-เล็กที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net