พื้นที่สื่อกับความแตกต่าง - ข่าวลือกับความแตกแยก

วันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2005 18:04น. 

 

มูฮำหมัด ดือราแม

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

.............................

 

ช่วงสัปดาห์แรกของเดือนรอมฎอน ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2548 สถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงรุนแรงไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันที่กรมประชาสัมพันธ์ โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 จังหวัดยะลา ได้ปรับผังรายการใหม่ให้เป็นโทรทัศน์ 2 ภาษา คือภาษาไทยและภาษามลายู โดยตั้งเป้าใช้ภาษามลายูมากขึ้น และปรับรายการต่างๆ ให้เป็น "ทีวีกีตอ"หรือโทรทัศน์ของเรา ตามนโยบายคิดใหม่ทำใหม่

 

แต่ดูเหมือนเป้าประสงค์หลักกลับพุ่งไปที่การแย่งชิงพื้นที่ข่าวกับฝ่ายตรงกันข้าม คือต้องการสยบข่าวลือนานัปการที่ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล อันจะส่งผลต่อการแก้ปัญหาทางด้านความมั่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ถามว่า แล้วมุมมองของผู้ชมและชาวบ้านคิดอย่างไรเกี่ยวกับการจัดกระบวนทัพใหม่ของสื่อรัฐครั้งนี้ ???

 

นายอิบรอฮีม ฮะ ประธานมูลนิธิโรงเรียนวัฒธรรมอิสลาม(ปอเนาะพ่อมิ่ง) อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่เสนอให้เปิดทีวีรอมฎอนต่อนายสุรนันท์ เวชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งเดินทางมาประชุมร่วมกับผู้นำศาสนา บอกว่า ในส่วนของรายการภาษามลายู ดูแล้วยังมีอีกหลายอย่างที่ไม่ถูกต้องในเรื่องการใช้ภาษา จนบางครั้งรู้สึกอายคนทางฝั่งมาเลเซีย โดยเฉพาะที่รัฐกลันตัน เพราะว่าสัญญาณส่งไปถึงแล้วก็มีคนติดตามดูอยู่ด้วย ซึ่งเขาฟังดูแล้วภาษาที่เราใช้มันแปลกๆ เราจะอายเขา ต้องปรับปรุงเรื่องภาษา

 

นายอิบรอฮีมกล่าวอีกว่า รายการโทรทัศน์ 2 ภาษา น่าจะให้มีตลอด ไม่ใช่เดือนรอมฎอนหมดก็เลิก โดยเฉพาะการเปิดเสียงอาซาน(การประกาศเชิญชวนให้มาละหมาดที่มัสยิด) เมื่อถึงเวลาละหมาด แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่ ต่อไปก็อยากให้มีการถ่ายทอดการอ่านคุตบะห์(การเทศนาธรรมก่อนละหมาดวันศุกร์)ด้วย

 

"แม้เปิดช้าไปหน่อยก็ไม่เป็นไร ดีกว่าไม่มีเลย แต่ว่าจะแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้หรือไม่นั้น มันต้องใช้เวลา การเปิดโทรทัศน์ 2 ภาษา ก็เป็นการแก้ปัญหาส่วนหนึ่ง พร้อมกับการแก้ปัญหาส่วนอื่นๆด้วย แก้ตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย ในที่สุดก็แก้ปัญหาทั้งหมดได้ เป้าหมายคือเพื่อต้องการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพราะฉะนั้นภารกิจคือทำอย่างไรให้คนเข้าใจอิสลามมากขึ้น"เขาให้ความเห็นทิ้งท้าย

 

ขณะที่นายอูมาร์ อุมะ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)รูสะมิแล บ้านบางปลาหมอ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่าตั้งแต่ช่อง 11 ปรับผังรายการ ยังไม่ได้ติดตามชมแต่อย่างใด อย่างไร ก็ตามคนดูที่เป็นชาวบ้านคงทำอะไรไม่มากนัก และคงไม่เอาเนื้อหาในรายการไปพูดต่อ เพราะในสถานการณ์อย่างนี้ชาวบ้านยังกลัวอยู่ เช่น ถ้าเอาไปคุยต่อในลักษณะเห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดนก็จะถูกเพ่งเล็ง แต่ถ้าพูดต่อตามที่รัฐขอความร่วมมือก็เกรงว่าอาจจะอยู่ได้ไม่นาน ทางที่ดีที่สุดคือไม่พูด

 

ส่วนการเพิ่มรายการโทรทัศน์ภาษามลายูมากขึ้นจะแก้ปัญหาความไม่สงบได้หรือไม่นั้น นายอูมาร์ กล่าวว่า คงไม่สามารถบอกได้เพราะตนไม่ทราบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร ไม่มีข้อมูลที่จะตอบได้ ในอิสลามต้องระวังมากในการพูดโกหก และการโกหกจะคบคนได้ไม่นาน แต่ส่วนที่ดีก็คือว่าคนที่พูดภาษาไทยไม่ได้หรือพูดได้น้อยก็จะได้เข้าใจมากขึ้น ได้ฟังมากขึ้นและมีประสบการณ์เพิ่มขึ้น

 

"รายการวิทยุภาษามลายูได้ฟังบ้าง แต่ไม่บ่อย ช่วงนี้ก็จะฟังตอนเย็นก่อนจะถึงเวลาละศีลอด มัสยิดที่บ้านจะเปิดผ่านเครื่องขยายเสียงให้ฟังกัน เพื่อรอประกาศเวลาละศีลอดแล้ว"

 

ด้านนักพัฒนาในองค์กรเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายเดนภาคใต้ ให้ความเห็นว่า แนวทางแก้ปัญหาข่าวลือควรจะใช้ทฤษฎี "รู้แล้วบอกต่อ" หรือ "ทฤษฎีบาซ (Buzz)"เข้ามาใช้ ซึ่งจะได้ผลมากในพื้นที่ที่มีการปล่อยข่าวมากที่สุด เป็นทฤษฎีการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง

 

ทฤษฎีนี้เคยใช้มากในสงครามในอดีต โดยใช้ศาสนาสถานเป็นที่ปล่อยข่าว เพราะจะเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ปัจจุบันมีการนำมาปรับใช้ในทางธุรกิจ เรืยกว่าระบบ MLM (Multi - Level Marketting) ซึ่งเป็นระบบการบอกต่อถึงคุณภาพของสินค้า ปัจจุบันมีสินค้าหลายชนิดที่ใช้วิธีการนี้ เช่น แอมเวย์ เป็นต้น

 

หลักการคือการจับจุดไปที่ความสนใจของคน หรือเรื่องความอยากรู้ของมนุษย์ เป็นการใช้หลักจิตวิทยา เช่น กรณีตันหยงลีมอที่มีคนตะโกนว่ามีทหารเข้ามาหลังหมู่บ้าน ผู้คนก็ตื่นตระหนก เนื่องจากความสนใจหรืออารมณ์ของชาวบ้านในขณะนั้นคือไม่พอใจทหาร  การใช้ข่าวลือจึงลือสัมฤทธิผล อาจกล่าวได้ว่า วิธีการเช่นนี้จะใช้ได้ผล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาจากการที่สังคมมีความตื่นตระหนก

 

"แม้ว่าแต่ละคนจะมีทัศนคติที่ต่างกัน แต่การคุยในเรื่องที่ตัวเองสนใจ คนที่คุยด้วยก็อยากจะคุยต่อ ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ การพูดคุยเรื่องความขัดแย้งหรือการก่อการร้ายยังอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วไป"

 

จึงไม่แปลกที่จะมีการมาคุยในร้านน้ำชาว่า "ที่หมู่บ้านโน้นมีการยิงกัน ชาวบ้านเขาเห็นว่าคนยิงเป็นทหาร" เริ่มแรกอาจคุยที่ร้านน้ำชาก่อน ครั้นพอวันศุกร์มีการละหมาดร่วมกันทั้งหมู่บ้าน คนที่ฟังมาจากร้านน้ำชาก็มาพูดต่อ

 

"แล้วคนที่ฟังแน่นอนว่าต้องมีคนที่ออกไปงานแต่งงานที่หมู่บ้านอื่นบ้าง ก็ต้องมีคนที่เอาไปพูดต่อ ขยายออกไป จนเต็มพื้นที่"

 

เขายังกล่าวถึงอีกตัวอย่างหนึ่งเคยเกิดขึ้น คือ "กรณีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง" ที่ครั้งหนึ่งเกือบจะขายไม่ได้เลยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพราะชาวบ้านไม่เชื่อถือ หรือแม้แต่ "กรณียาสีฟันคอลเกต" ซึ่งมีข่าวลือว่า พบหนังหมูอยู่ในยาสีฟันด้วย เดือดร้อนถึงเจ้าของบริษัทที่ต้องนำผู้นำศาสนาเข้าไปตรวจสอบในโรงงาน

 

เขาเสนอว่า วิธีการแก้ไขปัญหาข่าวลือที่จะนำมาใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือต้องสร้างคนให้เป็นวิทยากรขึ้นมาในหมู่บ้าน อาจจะทำในลักษณะเป็นใบบอกข่าวหรือปล่อยข่าวในทางที่ถูกต้อง ซึ่งก็ต้องออกแบบวิธีการว่าจะทำอย่างไร จะให้ชาวบ้านรู้จักการจะแบ่งลำดับชั้นความน่าเชื่อถือของข่าวลือที่เกิดขึ้นอย่างไร

 

"การแก้ข่าวลืออยากให้แก้ด้วยตัวของชาวบ้านเอง เพราะอะไรก็ตามข่าวสารที่ออกมาจากรัฐ ชาวบ้านจะไม่เชื่อถือ ต่อให้เป็นเรื่องจริงมีความชัดเจนอย่างไร เขาก็ไม่เชื่อเพราะเขาฟังธงไปแล้วว่า ฝ่ายรัฐผิด"

 

เขาย้ำต่อว่า ต้องให้ชาวบ้านในพื้นที่รู้เท่าทันสังคม ด้วยการสร้างกระแสบอกต่อให้ถูกต้อง แต่ไม่ใช่การแก้ต่างให้รัฐ  เช่น ให้ชาวบ้านเชื่อว่าอิสลามคือศาสนาแห่งสันติ เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งขันติธรรมและเดือนแห่งการให้อภัย เพราะฉะนั้น คนที่ก่อเหตุในเดือนนี่ก็ไม่ใช่คนที่มีความศรัทธาในศาสนา ควรจะต้องหยุดใช้ความรุนแรง

 

 "ส่วนทีวีรอมฎอนของช่อง 11 จังหวัดยะลา จะดีหรือไม่นั้น ต้องเทียบเรตติ้งกับช่อง 9 และช่องไอทีวี ที่รายการทีวีรอมฎอนเช่นกัน แล้วมาปรับปรุงว่าจะพัฒนาอย่างไร นอกจากนี้ หากลองเทียบกับทีวีรอมฎอนของมาเลเซียดูว่าเขาทำอย่างไร ซึ่งของมาเลเซียดูแล้วน่าสนใจ เพราะมีเกือบทุกภาษา แม้แต่ภาษาอุรดูก็ยังมี เพราะประชาชนในมาเลเซียมีความหลากหลาย แต่ไม่ทำให้คนแตกแยกกัน แม้แต่ในโฆษณาก็ยังมีความหลากหลาย"

 

ผลสำเร็จของมาตรการเปิดพื้นที่สื่ออาจต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ ผ่านความเชื่อถือที่ชาวบ้านมอบให้กับข่าวสารเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่าความแตกต่างหลากหลายหาใช่ความแตกแยก เพราะการเปิดพื้นที่ข่าวสารให้กับความแตกต่างในสังคมย่อมส่งเสริมให้สังคมมีความเข้มแข็ง สวนทางกับกระแสข่าวลือที่มุ่งสร้างความแตกแยกในสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท