Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สมรภูมิ "สงครามข่าว"ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐบาลไทยตกเป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำมาโดยตลอด เมื่อฝ่ายตรงข้ามส่งอาวุธ "ข่าวลือ"  มาจู่โจมครั้งใด ก็จะมีผลกระทบที่สะเทือนต่อสังคมแทบจะทันทีทุกครั้งไม่มากก็น้อย แต่ที่เห็นฤทธานุภาพการทำลายล้างที่ชัดเจนที่สุดของอาวุธดังกล่าว ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับนาวิกโยธิน 2 นาย ที่บ้านตันหยงลิมอ เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา


 


การถูกโจมตีด้วยข่าวลือดังกล่าว ยังหมายถึงการสูญเสียมวลชนไปจำนวนหนึ่ง เพราะข่าวลือได้ถ่ายทอด "ความจริง" แบบหนึ่งที่ชาวบ้านเลือกจะเชื่อหรือรับฟัง มีศักยภาพเข้าสู่กระบวนการรับรู้ได้โดยง่ายและทรงพลังด้วยลักษณะปากต่อปาก ในขณะที่สื่อมวลชนไทยที่มีอยู่อย่างครอบคลุม กระนั้นก็โดนข่าวลือเล่นงานจนแทบจะหมดความน่าเชื่อถือไปเรียบร้อย เพียงแค่มีการปล่อยข่าวให้คนในพื้นที่เชื่อว่า สื่อไทยทุกอย่างตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาล


 


ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือการหาเครื่องมือใหม่ที่สร้างกระบวนการรับรู้ "ความจริง" ที่เป็นจริง เพื่อทำให้ชาวบ้านในพื้นที่กลับมาเชื่ออีกครั้ง ทั้งนี้ เครื่องมือดังกล่าวจะต้องเข้าถึงมวลชน และสร้างกระบวนการปากต่อปากที่สามารถทำลาย "ข่าวลือ" ได้เช่นกัน


 


ล่าสุด นโยบายที่รัฐเลือกที่จะทำคือ การใช้พื้นที่ โทรทัศน์ช่อง 11 สร้าง "ทีวีกีตอ" ที่มีความหมายว่า "ทีวีของเรา" จะเป็นรายการโทรทัศน์ที่มีทั้งภาษาไทย และภาษามลายู มีรายการท้องถิ่น 8 ชั่วโมง มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ศิลปวัฒนธรรม สารคดี ละครและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิม


 


แต่ก็น่าเป็นห่วงว่า "ทีวีกีตอ" จะสามารถแก้ไขปัญหาข่าวลือได้ดีแค่ไหน และจะเสี่ยงต่อการโดนข้อกล่าวหาว่าเป็นการยัดเยียดเนื้อหาจากฝ่ายรัฐที่เปลี่ยนจากภาษาไทยมาเป็นมลายูหรือไม่ และการจะหลุดจากข้อหานั้น นั่นก็หมายความว่า ทีวีดังกล่าว จะต้องทำหน้าที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสำหรับทุกๆ ฝ่ายได้จริงๆ ไม่ใช่จัดการโดยส่วนกลาง โดยบุคคล หรือโดยวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง หรือก็คือ ต้องเป็นพื้นที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมจริงๆ


 


อย่างไรก็ตามยังมีสื่ออีกประเภทหนึ่งที่เข้าถึงคนในพื้นที่ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว เพียงแต่รัฐบาลอาจยังนึกไม่ถึง หรือไม่คิดจะนึกถึง นั่นก็คือ "สื่อพื้นบ้าน" ซึ่งหากนำมาปรับใช้กับการแก้ปัญหาข่าวลือในภาคใต้ ก็อาจส่งผลสำเร็จได้อย่างมากทีเดียว


 


ในบทความ "สื่อพื้นบ้านกับการประชาสัมพันธ์" ของ หนังผวน สำนวนทอง นายหนังตะลุง จังหวัดพัทลุง เขียนถึงพลังของสื่อพื้นบ้านเอาไว้ว่า ศิลปินพื้นบ้านจะมีความใกล้ชิดกับประชาชนสูง ดังนั้น การนำเสนอเรื่องต่างๆ จะได้รับการตอบรับจากประชาชนมาก 


แต่ข้อควรระวังของศิลปินพื้นบ้านคือ ต้องมีความบริสุทธิ์ใจ และมีความเป็นกลางทางความคิดทางการเมือง นั่นคือต้องนำเสนอทั้งทางบวกและทางลบ เพื่อให้ผู้ชมเป็นผู้พิจารณาตัดสินเอาเอง มิฉะนั้นอาจเป็นการชี้นำสังคมไปในทางที่ผิดๆ ถือเป็นจรรยาบรรณของศิลปินพื้นบ้าน ตราบใดที่ศิลปินพื้นบ้าน ยังไม่ผิดจรรยาบรรณก็ยังสามารถที่จะสร้างความศรัทธาให้กับผู้ชมอยู่ต่อไป  และจะเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่ใครจะมองข้ามไม่ได้ อย่าลืมว่า เคยมีบางประเทศใช้ศิลปินพื้นบ้านเป็นสื่อปลุกระดมเพื่อการปฏิวัติจนสำเร็จมาแล้ว


ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีสื่อพื้นบ้านหลายชนิด ที่กำลังเป็นที่นิยมก็ได้แก่ "ลิเกฮูลู" ซึ่ง เราอาจจะพอคุ้นๆ ตา กันใน โฆษณาชุด "สำนึกรักบ้านเกิด"  นอกจากนี้ตัว "ลิเกฮูลู" เอง ก็มีศักยภาพพอที่จะสามารถเป็นเครื่องมือที่ขับเคลื่อนสังคมมุสลิมภาคใต้ได้ในฐานะเดียวกับ "สื่อมวลชน" กระแสหลัก เพียงแต่จะมีความเป็นอิสระ และเข้าถึงคนมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดียิ่งกว่า


 


แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวการลอบสังหารศิลปิน "ลิเกฮูลู"  คนหนึ่ง จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2548 ทำให้ได้ข้อสังเกตว่า "สื่อมวลชน" แบบ "ลิเกฮูลู" ก็อาจเป็นเป้าหมายในการปิดปาก เพราะมีการสันนิษฐานขั้นต้นว่า มูลเหตุการสังหารอาจมาจากการที่ "ลิเกฮูลู" ดังกล่าวเริ่มเป็นเสียงที่มีพลังในการต้านไฟใต้ จนสามารถสร้างการตอบรับในมวลชนได้ ทว่าตอนนี้ฝ่ายรัฐบาลเองอาจจะยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของสื่อแบบนี้เท่าใดนัก 


 


ที่ผ่านมาในมุมมองของรัฐบาล มีแนวโน้มที่จะปฏิเสธบทบาทและหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ควบคุมไม่ได้หรือเห็นต่าง จนทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการแทรกแซงสื่ออย่างหนาหู  "ลิเกฮูลู" เอง  แม้จะพูดถึงเรื่องการแก้ปัญหาภาคใต้ก็ตาม แต่หลายครั้งก็พูดถึงเรื่องราวที่กระทบกระทั่งกับนโยบายของรัฐอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และปฏิเสธการสะท้อนความจริงในพื้นที่ อาจเพราะไม่อยากยอมรับความจริงในด้านลบของตน


 


นอกจากนี้ รัฐไม่เพียงไม่สามารถนำสื่อที่เข้าถึงชาวบ้านแบบ "ลิเกฮูลู"  มาใช้ประโยชน์ แต่กลับส่งเสริมการปิดกั้นสื่อ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม


 


ความพยายามที่จะสร้างความเป็นไทยใหม่ขึ้นมาสวมให้กับ "ลิเกฮูลู" โดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นผู้แปรรูป จนทำให้ศิลปะพื้นบ้านชนิดนี้เป็นเพียงสินค้าวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว ที่สามารถนำความแปลกมาขายคนภาคกลางและต่างชาติได้


 


"ลิเกฮูลู"  ในปัจจุบันนี้จึงถูกนำมา "ขาย" ในกรุงเทพฯจนเกือบหมด คนในพื้นที่เองกลับแทบไม่ได้ดู


 


หากรัฐบาลอยากจะทำความรู้จักและเข้าใจชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ในหลายๆ มิติ และเพิ่มแนวร่วมจากชาวบ้าน ก็ควรหันมาใส่ใจสื่อพื้นบ้านอย่าง  "ลิเกฮูลู" ที่กำลังถ่ายทอดความจริงในพื้นที่ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้ 


 


ดังนั้น ก่อนอื่นก็ควรมารู้จักกับ "ลิเกฮูลู" ให้มากขึ้นเสียก่อน


 


"ลิเกฮูลู" ไม่ใช่วัฒนธรรมในศาสนาอิสลาม แต่เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมมากของชาวไทยมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้ มักแสดงในงานต่างๆ ของชาวมุสลิม เช่น มาแกปูโละ งานสุหนัด งานเมาลิด งานฮารีรายอแล้ว  ปกติการแสดงแต่ละครั้งจะแสดงในช่วงกลางคืน และโดยทั่วไปจะนิยมแสดงเป็นสองคืน ในส่วนของความสนุกสนานนั้นเรียกได้ว่าหากผู้มาชมยังไม่ลุกก็จะแสดงกันจนฟ้าสว่างเลยทีเดียว


 


ทั้งนี้ คำว่า "ลิเก" หรือ "ดิเกร์" เป็นศัพท์เปอร์เซีย มีความหมายไปในทางการสวดสรรเสริญพระเจ้า ส่วน "ลิเกฮูลู" บ้างว่ารับแบบอย่างมาจากคนพื้นเมืองเผ่าซาไก เรียกว่า มโนห์ราคนซาไก บ้างก็ว่าเอาแบบอย่างการเล่นลำตัดของไทยผสมเข้าไป



การละเล่น "ลิเกฮูลู" จะมีลักษณะคล้ายกับการตั้งวงลำตัดหรือเพลงฉ่อยของภาคกลาง คณะหนึ่งมีลูกคู่ประมาณ 10 กว่าคน ผู้ขับร้องมีประจำคณะอย่างน้อย 2 - 3 คน และหากมีคนดูที่นึกสนุกก็เข้าร่วมละเล่นได้ ส่วนลูกคู่ขึ้นไปนั่งล้อมวงร้องรับและตบมือ โยกตัวเข้ากับจังหวะดนตรี


 


"ลิเกฮูลู" แบบดั้งเดิม ขับร้องกันด้วยภาษามลายูท้องถิ่น  ความสนุกสนานอยู่ที่ท่วงทำนองที่มาจากกลองรือบานา (รำมะนา) อันคึกคัก ผสานกับเสียงฆ้อง และการรำร่ายอย่างมีลูกเล่นของมือเขย่าลูกแซ็ก ที่สอดคล้องไปกับท่วงท่าอันพร้อมเพรียงของลูกคู่ ทำให้ผู้ชมรอบข้างข้างเกิดอาการ "อิน" ไปกับบรรยากาศอันคึกครื้น โดยเฉพาะเด็กๆจะถึงกับโยกย้ายส่ายมือตามกันเป็นแถวเลยทีเดียว


 


เจ๊ะห์ปอ สาแม หัวหน้าคณะแหลมทรายเล่าว่า เนื้อเพลงของ "ลิเกฮูลู" ที่ขับร้องแต่ละครั้งนั้น จะแต่งขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวของแต่ละชุมชนที่ไปแสดง ไม่ว่าจะเป็นทั้งสิ่งที่กำลังจะเกิด สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว สะท้อนให้เห็นภาพชุมชนของเขาออกมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายในชุมชน หรือสิ่งดีๆในชุมชนที่ควรรักษา เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนในการสร้างชุมชนจากภายในเอง  ดังนั้นไม่ว่าจะไปแสดงที่ชุมชนใดก็ตามจะต้องเข้าไปทำการศึกษาพื้นที่นั้นเสียก่อน 


 


เจ๊ะห์ปอ  เล่าต่อว่า บางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ชอบการนำเสนอเนื้อหาของ "ลิเกฮูลู" เพราะมีบางส่วนไปขัดแย้งกับนโยบายที่เขากำลังจะทำ แต่หากศิลปินพิจารณาแล้วเห็นว่านโยบายดังกล่าวไม่เหมาะสม หรือมีผลกระทบอะไรบางอย่างกับชุมชน ก็จะสะท้อนความคิดสอดแทรกผ่านทางบทเพลงของ "ลิเกฮูลู" เพื่อให้ชุมชนนั้นมาคิดร่วมกัน ความเห็นต่างๆ สามารถถกกันผ่านเวที "ลิเกฮูลู" ตรงนั้นได้เลย


 


"แรกๆ ผมจะได้รับผลกระทบมากจากหน่วยงานของรัฐ เวลาแสดงในพื้นที่ตัวเอง จะกระทบกับหน่วยงานพวกทางอำเภอ หรือการประมง เขาจะไม่ชอบ เช่น เวลาคุยเรื่องทะเล แล้วยกปัญหาเรื่องป่าชายเลนที่ชุมชนนั้นๆ บางแห่งมีป่าชายเลน 1,500ไร่ เอามาทำนากุ้งได้อย่างไร ใครเป็นคนอนุมัติ พื้นที่ป่าชายเลน 1,500 ไร่ เหลือ 1,000 ไร่ อีก 500 ไร่ ไปไหน ใครตัดต้นไม้ไป ตัดทำไม มันอยู่ในเพลงที่เราเสนอ เขาจึงไม่ชอบ แต่สุดท้ายเขาก็ต้องชอบ ผู้ว่าฯก็ลงมาดูป่าชายเลนที่เราปลูกไว้ เวลาแสดงในเมืองให้ผู้ว่าฯฟัง เราก็แสดงแรงๆ หน่อย คือเอาปัญหาไปบอกเลย


 


"ผมเคยไปแสดงในเมือง เรื่องบ่อบำบัดน้ำเสีย ผมจะร้องเพลงฟ้องผู้ชมว่า การจะขออนุญาตเปิดโรงงานจะต้องมีระเบียบของอุตสาหกรรม การสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียจะต้องมี 3 บ่อๆ ที่ 1 คือบ่อบำบัดน้ำเสีย บ่อที่ 2 คือบ่อบังนาย บ่อที่ 3 คือบ่อบังหน้า ดังนั้น คนที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดู ถ้ายอมรับว่ามี ให้บอก ผมจึงจะแสดงต่อ เขาจะมองเราหัวแข็งเหมือนกัน เลยบอกไปบนเวทีว่า ทำอย่างนี้มันไม่ได้กระทบผมหรอก ผมไม่ได้เดือดร้อน ผมอยู่กรุงเทพฯ แต่ลูกหลานที่อยู่ที่นี่จะมีผลกระทบ คุณก็เป็นคนข้างนอก โรงงานมาก็เป็นคนข้างนอก ดังนั้นอย่าบอกว่าผมปากร้าย ผมมาช่วยบอกเท่านั้น ไม่อย่างนั้นชุมชนรอบอ่าวก็ต้องย้ายไป"


 


"ลิเกฮูลู" จึงทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวที่เข้าถึงชาวบ้าน มิหนำซ้ำยังมีพลังใน "การดึงดูดมวลชน" ในชุมชนอย่างมหาศาล


 


ครั้งหนึ่ง ลิเกฮูลูคณะแหลมทราย เคยแสดงที่ริมหาดบริเวณหมู่บ้านแหลมทรายให้กลุ่มทัวร์วัฒนธรรมจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยชม สังเกตได้ว่า ผู้ชมดูจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างไม่ขาดสาย คนที่มาก่อนก็ไม่ลุกไปไหน ราวกับถูกพลังแห่งดนตรีและนาฏลีลาสะกดไว้ เพียงเวลาไม่นานนักก็มีผู้มาชมลิเกฮูลูเป็นร้อยคน


 


หัวหน้าคณะคุยว่า การแสดงในครั้งนั้นไม่ได้บอกกล่าวกับคนในหมู่บ้านมาก่อน เมื่อเขารู้เขาได้ยินเสียง ก็บอกกันปากต่อปาก ซึ่งหากบอกกันก่อนหน้านี้ว่าจะมีการแสดง "ลิเกฮูลู" อาจมีคนมาเป็นพันคนเลยทีเดียว


 


นอกจากนี้ "ลิเกฮูลู" ยังยึดถือสิ่งสำคัญที่สื่อมวลชนต้องมี นั่นคือ การคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระในการนำเสนอเนื้อหา ใครจะมาแทรกแซงไม่ได้


 


"เวลาเราแสดง เราจะบอกผู้จัดว่า เราขอมีอิสระนะ อย่ามากำหนดหัวข้อให้ผมแสดง เช่น กองทุนหมู่บ้านละล้านในชุมชนเป็นอย่างไร ผมจะไม่แสดง เพราะเรารู้ว่ากองทุนหมู่บ้านที่เอามามีปัญหา ผมไม่อยากไปยุ่ง เดี๋ยวจะหาว่าผมปากร้าย พูดไม่ดี แสดงไม่ดี


 


"มีความพยายามติดต่อให้ไปแสดงอย่างงาน โอท็อป ผมเห็นว่าไม่สร้างประโยชน์แท้จริงก็ไม่รับ วงของผมไปแสดงทั่วประเทศแล้ว ผมจะไปบอกวงอื่นๆ ว่า คิดอย่างนี้ แสดงอย่างนี้ เพื่อจะได้ไปพร้อมๆ กับผม เพราะประเทศชาตินี้ไม่ใช่ของผม เป็นของทุกคน แล้วลิเกฮูลูนี้ก็ไม่ใช่ของผม เป็นของทุกคน มันเป็นมรดก"


 


แม้ว่าในปัจจุบัน "ลิเกฮูลู" กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น หลายชุมชนมีความสนใจการละเล่นดังกล่าว  แต่ในความเป็นจริง ชุมชนในพื้นถิ่นเองกลับไม่ค่อยได้ดู "ลิเกฮูลู" ของตนเองนัก กล่าวคือ "ลิเกฮูลู" กลายเป็นสิ่งที่ไปทำรายได้จากการเปิดแสดงในกรุงเทพฯมากกว่า ดังนั้น การทำหน้าที่ "สื่อมวลชน"ของชุมชนจึงกำลังหายไป


 


เธียรชัย อิศรเดช อาจารย์ประจำสาขาสื่อการแสดง และสาขาวิทยุโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายถึงกระบวนการต่างๆที่ "ลิเกฮูลู" ถ่ายทอดออกมา ว่าเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการมีอิทธิพลต่อชุมชน เพราะโดยทั่วไปสื่อพื้นบ้านจะเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกร่วมกันของคนแต่ละที่ เป็นอะไรบางอย่างที่บ่งบอกว่านี่คือพวกเรา  มันจะผูกพันกันในตัวที่ทำหน้าที่ให้คนได้สื่อสารกัน


 


"มันมีตัวสุนทรียภาพอยู่ในนั้น ตัวสุนทรียภาพเป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่มคน เฉพาะของแต่ละวัฒนธรรม คนแต่ละที่ก็จะดูสื่อพื้นบ้านแล้วรู้สึกสวยงามพออกพอใจ คนนอกวัฒนธรรมอาจจะเห็นหรือไม่เห็น แต่คนในวัฒนธรรมจะเห็น เพราะฉะนั้นคนที่ได้รับการหล่อหลอมในแต่ละวัฒนธรรมก็จะรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน คล้ายกับว่าเราชอบของแบบเดียวกัน"


 


เธียรชัย อธิบายต่อว่า ปัจจุบันหน้าที่ความเป็นสื่อมวลชนของสื่อพื้นบ้านเปลี่ยนไปมาก รวมทั้ง "ลิเกฮูลู" ด้วย แต่หากส่งเสริมให้กระบวนการดังกล่าวกลับคืนมาและพัฒนาขึ้น ก็จะทำให้รัฐมีสื่อที่สร้างความเข้าใจและเข้าถึงคนใน 3 จังหวัดได้มากกว่าสื่อปกติ เพราะสื่อพื้นบ้านจะทำให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยน


 


"สมัยก่อนสื่อพื้นบ้านทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าว เป็นกลุ่มเดินทางจากหมู่บ้านหนึ่ง ไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง คนส่วนใหญ่จะไม่เดินทาง เพราะคมนาคมไม่สะดวก และภาระงานด้านเกษตรกรรมทำให้เขาอยู่ติดที่ ดังนั้นตัวสื่อพื้นบ้านจะเป็นผู้สื่อคอยบอกเล่าเก้าสิบ


 


"แต่ปัจจุบันฟังก์ชันนี้ไม่เวิร์คแล้ว เพราะมีทั้งโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ ดังนั้นจึงได้รับรู้เท่ากัน ศิลปินก็จะไม่มีบทบาทในตรงนี้ แต่สิ่งที่มีคือสื่อพื้นบ้านทำหน้าที่เหมือน สรยุทธ สุทัศนะจินดา คือทำหน้าที่ย่อยข่าว  วิพากษ์ ประมวล ช่วยกันคิดทำให้ข้อมูลที่ได้เกิดการไตร่ตรอง ซึ่งตัวศิลปินโดยจุดยืนก็จะเป็นคนที่มีจริยธรรมสูงและมีมุมมองที่ละเอียดอ่อน เพราะเขาเป็นศิลปินในตัว คนจะเข้าใจได้มากกว่าข้อเท็จจริง โดยผ่านความรื่นเริงความบันเทิงที่จะทำให้เราได้รู้สึกว่า ไม่ซีเรียสเกินไป แต่ทันทีที่เราเคลิ้มหรือคล้อยตาม เราก็รับแนวคิดนั้นโดยไม่รู้ตัว


 


"ดังนั้นหน้าที่นี้จะช่วยชี้นำทางความคิดจะดีมากกว่า แต่สิ่งที่ขาดก็คือต้องช่วยให้ศิลปินเข้าถึงข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลได้ลึกซึ้งไม่น้อยไปกว่า สรยุทธ ซึ่งตรงนี้ยังขาดอยู่ ต้องเสริมหลายๆทาง เพราะเขามีพรสวรรค์จากการสนใจเรื่องรอบๆ ตัว และมีพรสวรรค์ที่จะเล่าให้คิดลึกซึ้งอยู่แล้ว"


 


สุดท้าย คงต้องมาตั้งคำถามกันใหม่ว่า รัฐให้ความสำคัญกับสื่อชนิดนี้มากน้อยแค่ไหน และขณะนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กำลัง "เทคโอเวอร์" สื่อมวลชนชาวบ้านไปอย่างไม่รู้ตัวหรือไม่


 


ในขณะที่สังคมส่วนกลางกำลังต้องการความจริงที่เป็นกลางและหนักแน่น จนต้องเรียกร้องการคงอยู่ (แบบเดิม) ของ "มติชน"และ "บางกอกโพสต์"ที่ไม่มีนายทุนด้านการบันเทิงเป็นผู้บริหารด้วยเกรงว่าจะไม่สามารถทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดีได้ 


 


สิ่งที่ "ลิเกฮูลู" เปิดประเด็น วิพากษ์ วิจารณ์  ถ่ายทอด เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเขาเองด้วยสายตาแห่งความเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ก็ควรเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่และคนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ต้องมีเช่นกัน


 


อย่าลืมว่า ในขณะที่ภาครัฐยังมองไม่เห็นพลังซ่อนเร้นในจุดนี้มากพอที่จะนำมาใช้  ฝ่ายผู้ไม่หวังความสงบอาจก้าวล่วงหน้าไปก่อน อย่างที่ได้จัดการกับ ศิลปิน "ลิเกฮูลู" ไปคนหนึ่งแล้ว


 


ถึงเวลาหรือยังที่ภาครัฐควรจะมองเห็น "ลิเกฮูลู" เป็นมากกว่าสินค้าทางวัฒนธรรม โดยคืน "ลิเกฮูลู" กลับสู่ท้องถิ่น ให้ได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความจริง 


 


"ข่าวลือ" ที่เป็นเหมือนเสี้ยนเล็กๆ ทว่าทำให้ รัฐบาลช้ำหนอง และกำลังลามกลายเป็นบาดทะยัก  อาจจะได้รับบ่งเสี้ยนจาก "ความจริง" ที่ผ่านสื่อพื้นบ้านนี้ และบางทีอาจจะมีประโยชน์มากกว่าการตั้งช่องกระบอกเสียง "ภาษามลายู" ของรัฐ อย่างที่กำลังจะทำอยูในเวลานี้ก็ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net