Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis











 


 


เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางชมรมนักศึกษากับการเมืองเพื่อการพัฒนา สโมสรนักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มโครงการกาดนัดละอ่อนเชียงใหม่ จัดเสวนาเรื่อง "พื้นที่สันติ บทสนทนาสันติสุข ว่าด้วยจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยในวงเสวนาดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง


 


ชี้กรณีการเสียชีวิต 2 นาวิกโยธิน เหตุชาวบ้านระแวงเหตุการณ์ปี 2518


รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาภาคใต้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งหลายระดับหลายมิติที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นภาวการณ์แตกเป็นเสี่ยงๆ ของระบบเดิมของรัฐไทย


 


"กรณีปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาที่ชี้ให้เห็นถึงความหวาดระแวงทางชาติพันธุ์ จนกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากย้อนกลับศึกษาถึงปัญหาในอดีต ไม่ต้องย้อนไปถึงสมัยรัชการที่ 5 แต่ขอให้ย้อนไปดูเหตุการณ์ในช่วงปี พ.ศ.2518 ซึ่งยังคงมีความฝังใจกับความทรงจำอันเลวร้าย กรณีที่มีทหารนาวิกโยธินได้บุกเข้าไปยิงชาวบ้านเสียชีวิต และมีเด็กคนหนึ่งรอดตาย วิ่งมาบอกพี่น้องชาวบ้านจนเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในปัตตานี"


 


รศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวต่อว่า จึงมีความระแวงในเรื่องการใช้ความรุนแรง ระแวงในชาติพันธุ์มาตั้งแต่นั้นมา แต่ไม่ใช่ว่าความหวาดระแวงและความรุนแรงนั้นจะเกิดขึ้นได้อีกง่ายๆ หากไม่มีอะไรไปกระตุ้น ซึ่งตนคิดว่า ปัญหาของรัฐไทยที่แก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ ก็เพราะว่า เรายังไม่สามารถจัดการความระแวงนี้ได้ แต่กลับมีความพยายามที่จะนำไปสู่ความเกลียดชังเพิ่มขึ้น


 


ในขณะที่ รศ.ใจ อึ้งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า


เมื่อดูประวัติศาสตร์ของรัฐไทยแล้ว เราจะพบว่า มีการกระทำความรุนแรงต่อพี่น้องมุสลิม และมีการดูถูกอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น ฟันธงได้เลยว่า รัฐไทยนั้นใช้ความรุนแรงมากที่สุด มากกว่าประชาชน มีการผูกขาดความรุนแรงทั้งหมด อีกทั้งคนที่ถูกฆ่าในรัฐไทย ส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้บริสุทธิ์


 


"จริงๆ แล้ว นาวิกโยธิน นั้นถูกฝึกไว้เพื่อฆ่า ดังนั้น หากรัฐไทยต้องการแก้ปัญหาจริงๆ ทำไมไม่ส่งนักสังคมสงเคราะห์ ผู้ที่ไม่ใช้อาวุธอะไรเข้าไปตรงนั้นไม่ดีกว่าหรือ แต่เราก็ไม่ควรไปเหมารวมทหารทั้งหมด เพราะว่าทหารก็ถูกเป็นเหยื่อด้วย เป็นคนยากคนจนด้วย และทหารนาวิกโยธินที่เสียชีวิตก็ไม่ใช่ระดับผู้บังคับบัญชา ฉะนั้น ไม่ว่ากรณีเหตุการณ์กรือเซะ สะบ้าย้อย ตากใบ หรือตันหยงลิมอ ตนคิดว่า เราจะต้องวิจารณ์และประณามรัฐไทย ไม่ใช่มาวิจารณ์ชาวบ้าน เราจะต้องสร้างกระแสที่ทวนกระแสของรัฐให้ได้" รศ.ใจ กล่าว


 


ทั้งนี้ รศ.ใจ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ชาวบ้านปิดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปในหมู่บ้านว่า ภาพที่มีชาวบ้าน ซึ่งเป็นทั้งผู้หญิงและเด็ก ออกมากีดกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยเข้าไปในหมู่บ้านนั้น นี่หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นโจร ตนคิดว่า ไม่ใช่ แต่นี่เป็นเพราะชาวบ้านไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จัดการความรุนแรงได้อย่างไร นอกจากจะหาวิธีการอย่างไรไม่ให้โจรเข้ามาในหมู่บ้านของพวกเขามากกว่า


 


การขยายตัวของรัฐและทุน นำมาสู่ความขัดแย้ง


รศ.ดร.อรรถจักร์ ยังได้กล่าวถึงปัญหา 3 ชายแดนภาคใต้ว่า สิ่งที่เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นนั้นมีอยู่อย่างน้อย 2 ระดับ คือการขยายตัวของรัฐโดยใช้ระบบทุนเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งทุนได้เข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้าน ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนชาวบ้านให้กลายเป็นคนงานในโรงงาน รวมไปถึงหลายๆ โครงการของรัฐที่เข้าไปทำลายวิถีชาวประมงพื้นบ้าน แต่ไม่ได้ให้ชาวบ้านมีส่วนรับรู้ในการตัดสินใจและการจัดการ จึงทำให้ชาวบ้านยิ่งอับจนมากยิ่งขึ้น ทำให้ความหวาดระแวง และนำไปสู่ความเกลียดชังรัฐเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ


 


"นอกจากนั้น ความหวาดระแวงทางชาติพันธุ์ของรัฐไทยยังได้ก่อตัวมายาวนาน ในอดีตรัฐไทยหลายรัฐบาล มีอคติมาโดยตลอด มีการสนับสนุนพ่อค้าจีนเข้าไปรุกในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้เป็นปราการที่จะหยุดยั้งขบวนการมลายู แม้กระทั่งในช่วงนั้น มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนหนึ่ง ได้บังคับให้นำพระพุทธรูปไปวางไว้ในทุกโรงเรียนของชาวมุสลิม ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านไม่เข้าใจ หวาดระแวงและเพิ่มความเกลียดชังมากยิ่งขึ้น"


 


รศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวต่อว่า ตัวชนวนที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงอีกอย่างหนึ่งในขณะนี้ ก็คือ ตัวของนายกรัฐมนตรีเอง ที่มีความพยายามต้องการจะเป็นรัฐบุรุษ โดยคิดว่าตนเองจะสามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งแท้จริงแล้ว ไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ปัญหา แต่เป็นการยื้อเวลา เพื่อนำงบประมาณลงไปผลาญเท่านั้น ซึ่งความเขลาของนายกรัฐมนตรี ได้เปิดช่องให้พวกมือข้างนอก ไม่ว่าพวกกลุ่มก่อการร้าย หรือซีไอเอ เข้ามาปั่นป่วนในพื้นที่ 3 ชายแดนภาคใต้ได้ ซึ่งก็ไม่แปลกใจแต่อย่างใดเลย


 


เสนอให้ "ศูนย์ข่าวอิศรา" เปิดเผยจดหมายคนมุสลิมที่ถูกกระทำ


"ทางออก ก็คือ ภาคสังคมจะต้องกดดันให้นายกรัฐมนตรีได้กล้าที่โปร่งใสในข้อมูลข่าวสารความเป็นจริงทั้งหมดให้สาธารณชนได้รับรู้ โดยเสนอให้นายกรัฐมนตรีกล้าให้ "ศูนย์ข่าวอิศรา" เปิดเผยจดหมายของพี่น้องมุสลิมที่เดือดร้อนออกมาได้อย่างเปิดเผย ซึ่งคิดว่าจะเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะช่วยลดความเกลียดชังลงได้ และจะเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะช่วยสยบข่าวลือที่ออกมา เหมือนเมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่มีผู้ที่พยายามปล่อยข่าวลือว่า จะมีการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ซึ่งล้วนเป็นแต่ข่าวลวงทั้งสิ้น หากรัฐกล้ายอมให้มีการเปิดเผยข้อมูลความจริงทั้งหมด เชื่อว่า ท้ายสุดสังคมไทยก็จะรับรู้ว่า แท้จริงแล้วผู้ก่อการร้ายคือใครกันแน่" รศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าว


 


อธิการ ม.เที่ยงคืน ชี้เรากำลังเข้าสู่ "การฆ่ายุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่"


รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรากำลังเข้าสู่ "การฆ่ายุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่" ช่วงยุคเปลี่ยนผ่านในขณะนี้ เราไม่สามารถจะแบ่งแยกศาสนากับทางโลกออกจากกันได้ ซึ่งในกลุ่มของคริสเตียนได้ข้ามเส้นแบ่งแยกออกมาอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่โลกมุสลิมไม่ได้มีการแบ่งแยก


 


"ตนคิดว่านี่มีส่วนในเรื่องกระบวนทัศน์ เป็นเรื่องที่ทุกอย่างมันเข้ากันไม่ได้ ในขณะที่พวกหนึ่ง มุ่งไปทางด้านโลกียะ แต่ในอีกพวกหนึ่ง มุ่งไปทางด้านโลกุตระธรรมกำกับ ในขณะเดียวกัน โลกมุสลิม ซึ่งมีปราชญ์ชาวบ้านชาวมลายูมุสลิม ได้พูดถึงวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้า หรือวิถีชีวิต 3 ประการของมนุษย์ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับพระผู้เป็นเจ้า"


 


รศ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า คนมุสลิมนั้นตระหนักอยู่ในใจตลอดเวลา ในขณะที่คนอีกจำพวกหนึ่งไม่ได้มีพระผู้เป็นเจ้า และคนมุสลิมนั้นได้มองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ นั่นคือความเสมอภาค มีความเท่าเทียมกัน


 


และสุดท้าย ในพระคัมภีร์อัลกุรอ่านนั้นระบุชัดว่า มุสลิม เชื่อในเรื่องของมนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงทรัพยากรธรรมชาติ ในฐานะที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้กับมนุษย์ทุกคน มิใช่ให้คนใดคนหนึ่งครอบครองทรัพยากรฯ มากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งตนคิดว่า เรื่องนี้มีความสำคัญ ถ้าหากเราจะปรับ เปลี่ยนแปลง หรือทำความเข้าใจและพัฒนา เหมือนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตรัสไว้ เพราะฉะนั้น เราจะต้องเข้าใจการข้ามเส้นแบ่งประวัติศาสตร์สมัยใหม่นี้ด้วย


 


การต่อสู้ระหว่างโลกทุนนิยมกับการต่อสู้ของมูลรากศาสนา


อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกล่าวด้วยว่า ห้วงเวลานี้ เรากำลังต่อสู้กันระหว่างโลกของทุนนิยม หรือเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่ กับการต่อสู้ของมูลรากศาสนา ซึ่งเป็นสองกระบวนทัศน์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง


 


"โลกของทุนนิยม หรือเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่ นั้นจะมุ่งทำกำไร โดยได้ทำลายกฎเกณฑ์ข้อบังคับของท้องถิ่น แล้วเปิดให้มีการเปิดทำธุรกรรมทางการเงินอย่างกว้างๆ ซึ่งนี่คือรากเหง้าของปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร ไปทำลาย ทำร้ายกฎเกณฑ์ของสังคมท้องถิ่น และทำให้เห็นได้ชัดว่า รัฐและทุนมีการเข้าไปตักตวงทรัพยากร ซึ่งในรายงานวิจัยพบว่า ป่าพรุ ซีฟูดแบงก์ การออกโฉนดทะเล และอีกหลายๆ โครงการ ที่รัฐบาลชุดนี้กำลังดำเนินการอยู่ เป็นผลลัพธ์ของการเข้าไปควบคุม ครอบงำ และแย่งชิงทรัพยากรของชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง"


 


บาดแผลประวัติศาสตร์แห่งความลวง คือบ่อเกิดการก่อการร้าย


รศ.สมเกียรติ กล่าวถึงบาดแผลประวัติศาสตร์ของชายแดนภาคใต้ว่า การที่มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามจะก่อขบถ โดยไม่ได้มาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง และตนเชื่อว่า ไม่ใช่เพียงแค่การแย่งชิงทรัพยากรฯ เท่านั้น เงื่อนไขอีกประเด็นหนึ่ง คือประวัติศาสตร์บาดแผล หรือประวัติศาสตร์แห่งความลวงของรัฐปัตตานี ซึ่งถือว่า เงื่อนไขนี้ เป็นชนวนที่จุดประกาย หรือจุดระเบิดให้เกิดการก่อการร้ายด้วยเช่นเดียวกัน เพราะว่ามันมีความซับซ้อนในเชิงประวัติศาสตร์ ในการแย่งชิงทรัพยากรฯ และความไม่เสมอภาค


 


ยกตัวอย่าง เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา บาทหลวงท่านหนึ่ง เคยพูดเอาไว้ว่า เด็กผิวดำ อายุ 12 ปี ทำไมถึงเริ่มกลายเป็นเด็กเกเร ซึ่งบาทหลวงได้อธิบายให้คนผิวขาวฟังว่า จริงๆ แล้ว เด็กผิวดำมีความฉลาดเฉลียวเท่ากับเด็กผิวขาวทุกประการ เมื่อเขาเป็นเด็กนักเรียนด้วยกัน


 


แต่เมื่อเด็กผิวดำ อายุได้ 12 ปีเมื่อใด หรือโตพอที่จะรับรู้ว่าสังคมพอจะยอมรับเขาแค่ไหน อนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ความเสมอภาคในสังคมอเมริกันมีหรือไม่ เขาได้คำตอบว่า ในสังคมอเมริกันนั้น ไม่ได้เปิดโอกาสให้กับคนผิวดำอย่างเขา การที่เขาเป็นเด็กฉลาด มีความรู้ความสามารถ จึงไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คน ต่อตัวเขาได้เท่าใดนัก


 


เหตุการณ์นี้ ได้เกิดขึ้นมาเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว แต่ปัจจุบัน กลับปรากฏให้เห็นชัดในวิกฤติการณ์พายุเฮอริเคน เกิดน้ำท่วมใหญ่ในอเมริกา ในรัฐที่มีคนผิวดำอาศัยอยู่ ในขณะที่ก่อนหน้านั้นมีการเตือนภัยล่วงหน้ามาหนึ่งสัปดาห์ แม้มีคนอพยพหนีออกไปเป็นขบวนยาว แต่ล้วนมีแต่คนผิวขาวทั้งนั้น ทิ้งให้คนผิวดำนั้นเป็นเหยื่อให้เผชิญกับความตาย


 


ฉะนั้น จึงเป็นเหตุการณ์ที่ไม่แปลกที่คนผิวดำที่เจอกับสภาวการณ์เช่นนั้น ต้องเข้าไปปล้นสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้ตัวเองนั้นอยู่รอด เพราะทรัพยากรทั้งหมดล้วนถูกคนผิวขาวแย่งชิงยึดครองทั้งหมด ซึ่งเมื่อหันมามองเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ ก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก


 


"ใจ" ชี้สาเหตุรัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน


ด้าน รศ.ใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมักใช้ความรุนแรงโดยอ้างว่าทำตามหน้าที่เพื่อรักษาความสงบ ไม่ใช่โจร ฉะนั้น ถ้ารัฐใช้ความรุนแรงเหมือนกรณีที่ตากใบ หรือการฆ่าเยาวชนที่เป็นทีมนักฟุตบอลที่สะบ้าย้อย มันก็ยิ่งจะแย่ลงไปอีก เพราะเขาจะอ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดภัย


 


"และที่รัฐอ้างเพื่อรักษาความสงบนั้น ก็เพื่อนำกองกำลังมาใช้ในสังคมของการใช้อาวุธ ไม่ว่าจะดูมุมไหน รัฐนั้นมีอาวุธเหนือประชาชน และมีอำนาจทางการเมือง อำนาจทางเศรษฐกิจอยู่เหนือกว่าประชาชนในเกือบทุกเรื่อง ซึ่งการที่รัฐได้ใช้อาวุธ ใช้อำนาจที่เหนือกว่ามาทำร้ายประชาชนผู้ที่อ่อนกว่า ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เลวร้ายอย่างยิ่ง"


 


รศ.ใจ กล่าวอีกว่า รัฐมีความพยายามที่จะใช้ความรุนแรงผูกขาดอย่างต่อเนื่อง โดยการอ้างความชอบธรรม โดยการอ้างว่าเป็นการลงโทษ แต่จริงๆ แล้ว ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา แต่การทำสงครามของรัฐ การฆ่าหมู่ ก็ไม่ได้ถูกมองว่า การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นอาชญากรรมแต่อย่างใด


 


ความรุนแรงของภาคประชาชน ล้วนเกิดขึ้นหลังจากรัฐใช้ความรุนแรง


รศ.ใจ ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า การที่เกิดความรุนแรงของภาคประชาชนนั้น มักเกิดจากปฏิกิริยาตอบโต้หลังจากถูกรัฐใช้ความรุนแรงก่อนทั้งสิ้น ไม่ว่าการถูกอุ้มฆ่า 70 กว่าศพ หลังจากนั้น ก็มีเหตุการณ์ปล้นปืน มีการจับชาวบ้านไปทรมานให้รับสารภาพ ซึ่งนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่เข้าไปช่วยเหลือป้องกันและเปิดโปง ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยจาก 3 หน่วยงานจับไปฆ่าทิ้ง ซึ่งเชื่อว่า มันจะต้องมีคำสั่ง ไฟเขียวจากเบื้องบนแล้ว นี่คือการกระทำของรัฐไทย


 


รศ.ใจ กล่าวอีกว่า ดูจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ไม่ว่ากรณีเหตุการณ์กรือเซะ สะบ้าย้อย ตากใบ หรือตันหลงติมอร์ ทำให้เห็นว่า การกระทำความรุนแรงต่อพี่น้องมุสลิม ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นี่คือปัญหา และตนคิดว่า เราจะต้องวิจารณ์และประณามรัฐไทย ไม่ใช่มาวิจารณ์ชาวบ้านที่ถูกกระทำ เราจะต้องสร้างกระแสที่ทวนกระแสของรัฐให้ได้


 


"นอกจากความขัดแย้งของ 2 เครือข่ายข้างบน บวกกับการที่รัฐมีความคิดแบบชาตินิยม มีอคติต่อคนมุสลิม ว่าพวกนี้มันเลว จนนำไปสู่การยึดครองพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการส่งกองกำลังทหาร ตำรวจ ซึ่งไม่ใช่คนในพื้นที่เข้าไปควบคุมยึดครองนั้น ตนถือว่า นี่เป็นลักษณะของการล่าอาณานิคมในอีกรูปแบบหนึ่งของรัฐไทย ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการค้าขายข้ามพรมแดนเถื่อน หรือตลาดมืด ซึ่งในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย" รศ.ใจ กล่าว


 


ทางออกเพื่อสันติภาพ : ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน


รศ.ใจ เสนอทางออกว่า วิธีที่จะแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้คือ รัฐจะต้องลดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน ยกเลิกกฎอัยการศึก และกฎหมายพิเศษใดๆ ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ด้วยการถอนทหารและตำรวจออกจากพื้นที่ เพื่อสร้างเขตสันติภาพปลดอาวุธ


 


และต้องเปิดพื้นที่ให้พลเมืองใน 3 จังหวัดภาคใต้ ได้หารือกันว่าจะอยู่กันอย่างไร ปกครองตนเองอย่างไร เพื่อใช้ "การเมืองประชาธิปไตย" แก้ปัญหา นอกจากนั้น จะต้องเคารพพี่น้องชาวมุสลิม ทั้งในด้านวัฒนธรรม ภาษา และความเชื่อที่หลากหลายในสังคม เช่น ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาทั่วประเทศให้สะท้อนเปิดกว้าง และประกาศให้วันสำคัญของศาสนาอิสลาม เป็นวันหยุดทั่วประเทศ ควบคู่กับเทศกาลอื่นๆ ด้วย รวมไปถึงการออกมายอมรับอย่างเป็นทางการว่า รัฐไทยก่ออาชญากรรม 3 จังหวัดภาคใต้









ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net