รายงานเสวนา : บทเรียน14 ตุลา กับการแก้ปัญหาภาคใต้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ








วันที่ 14 ตุลาคม 2516 หรือเมื่อ 32 ปีที่แล้ว สังคมไทยได้มีโอกาสสัมผัสกับพลังของประชาชนที่มีพลวัตรในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองการปกครองได้เป็นครั้งแรก อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จที่มีทั้งกองกำลังและอาวุธอยู่ในมือ รวมทั้งปกครองประชาชนอย่างกดขี่อย่างต่อเนื่องกันมาตลอด 16 ปี กลับถูกสั่นคลอนโดยการรวมตัวกันของประชาชนที่ส่วนมากมีเพียงมือเปล่าได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

เรื่องราวในวันนั้นคล้ายกับกลายตำนานหรือเรื่องที่เล่าขานนอกบทเรียนที่สืบต่อกันมาในหมู่ปัญญาชนจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ทุกๆ ปีจะมีการจัดงานเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน งานรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ได้จัดขึ้นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ริมถนนราชดำเนิน ท่ามกลางความสนใจของประชาชนทั่วไป

 

แต่ในขณะเดียวกัน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนนี้ก็กำลังร้อนระอุไปด้วยอำนาจที่ไม่เป็นธรรมบางอย่าง ในบางครั้งมีการใช้ความรุนแรงกันในพื้นที่ โดยความรุนแรงส่วนหนึ่งนั้นก็มาจากฝ่ายรัฐบาลเอง จนทำให้หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่า อำนาจที่รัฐบาลใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังกลายเป็นอำนาจลักษณะเดียวกับที่เคยใช้กับประชาชนก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อ 32 ปีก่อนหรือไม่

 

คำถามนี้จึงทำให้สังคมเริ่มกลับมาทบทวนถึงบทเรียนของ 14 ตุลา อีกครั้ง ที่งานรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ปีนี้

 

 

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี : สื่อมวลชน

 

เหตุการณ์ 14 ตุลา ควรจะเป็นสิ่งที่เล่าต่อๆ กันไป ผมมอง 14 ตุลา ผ่านการศึกษา หรือคำบอกเล่าเท่านั้น ไม่ได้มองจากบรรยากาศ เพราะไม่ได้ร่วมในเหตุการณ์ตอนนั้น

 

ในการอธิบายเรื่องกระบวนการใน 14 ตุลา มีชุดความคิดหรือวาทกรรมอยู่หลายชุดด้วยกัน ชุดหนึ่งคือ วาทกรรมเรื่องชาตินิยม ซึ่งก็แยกได้อีกเป็น 2 ชุด ที่ไม่เหมือนกัน

 

ชุดแรกเป็นชาตินิยมของขบวนการนักศึกษาประชาชน คือคิดเกี่ยวกับการต่อต้านการครอบงำของสหรัฐฯในเวลานั้น ประชาธิปไตยในทรรศนะของกลุ่มนี้ก็คือการต่อต้านเผด็จการทหารและทำให้เกิดการลุกขึ้น ส่วนชาตินิยมอีกชุดเป็นของฝ่ายรัฐบาลซึ่งจะคิดเกี่ยวกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์ เพราะในยุคนั้นเป็นเรื่องใหม่มาก

 

แนวคิดต่อมาที่เริ่มพูดกันมากในช่วงนั้น คือ แนวคิดแบบราชานิยม จะเป็นการกล่าวโทษการทำงานที่ไม่เสร็จสิ้นของคณะราษฎร์ ว่าทำให้เกิดเผด็จการทหาร

 

ส่วนชุดความคิดสุดท้าย คือ วาทกรรมว่าด้วยสังคมนิยม เป็นการอธิบายถึงความไม่เป็นธรรมในเชิงเศรษฐกิจและการต่อต้านระบบทุนนิยม

 

ต้องยอมรับ ว่า14 ตุลา จบลงด้วยความรุนแรง มีคนเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง แต่ชัยชนะของประชาชนคือ การนำไปสู่การเปิดกว้างทางการเมืองที่มากขึ้น มีการอนุญาตให้คนที่อยู่นอกองคาพยพทางการเมือง หรืออยู่นอกกระบวนการทำมาหากินทางเศรษฐกิจได้เข้าไปมีสิทธิ์มีเสียงในสังคมมากขึ้น ส่วนเศรษฐกิจก็พัฒนาไปในทางที่เอนเอียงไปหาทุนนิยมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีการถกเถียงกันว่า ทิศทางเศรษฐกิจในเวลานั้นสมควรหรือไม่ที่จะเป็นทุนนิยม

 

เมื่อมาถึงปัจจุบัน จากชุดความคิดต่างๆ ใน 14 ตุลา ที่กล่าวมา เราคิดว่าเราเหลืออะไรบ้าง  คือเราเหลือเสรีภาพอยู่เล็กๆ น้อย ๆ ที่จะแสวงความเป็นธรรม และตั้งคำถามกับทุนนิยม เพราะปัจจุบันเราเองก็ถูกครอบงำด้วยระบบที่เป็นทุนนิยมอย่างเต็มที่

 

แต่ปัญหาที่กำลังท้าทายในเวลานี้คือ แนวคิดว่าจะต่อสู้ในระบบทุนนิยมแบบนี้อย่างไร โดยเลิกพูดถึงสังคมนิยมไปได้ เพราะสังคมนิยมที่ยังเหลือให้เห็นอยู่ในลักษณะรัฐในอุดมคติในปัจจุบัน ก็เป็นเพียงส่วนขยายของเผด็จการเท่านั้น แต่กลุ่มใหญ่ที่สำคัญและน่าสนใจที่ขึ้นมาท้าทายระบบทุนนิยม ณ เวลานี้ ก็คือ กระบวนการต่อสู้ของพี่น้องชาวมุสลิม

 

การต่อสู้ของพี่น้องชาวมุสลิม ได้ท้าทายทุกๆ ปริมณฑลของทุนนิยม เพราะปฏิเสธ Globalization ที่มาจากระบบทุนนิยม แต่ที่รับไม่ได้ในแง่ของการต่อสู้มีเพียงอย่างเดียว คือ การใช้ความรุนแรงหรือการก่อการร้าย ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องพูดในปัจจุบัน

 

ปัญหาทางภาคใต้ในปัจจุบัน คือการท้าทายระบอบทุนนิยมแบบ "ทักษิณ"  ซึ่งเข้าใจว่า "ทักษิณ" กลัวยิ่งกว่ากระบวนการต่อสู้ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมีชุดความคิดที่แตกต่างและท้าทายทุกอย่าง

 

ความรุนแรงในภาคใต้ มีเนื้อหาทางการเมืองอยู่ คือในขณะที่ไม่มีใครออกมาเขียนแถลงการณ์หรืออ้างความรับผิดชอบ แต่ก็กลับมีชื่อขบวนการต่างๆ ที่สื่อมวลชนเสนออกมา ซึ่งหากเชื่อคำอ้างนั้นมากๆ จะกลายเป็นสูตรสำเร็จที่ทำให้เจ้าหน้าที่อ้าง ผลที่ตามมาคือจะหาความจริงไม่พบ โดยจะโยนไปให้องค์กรเหล่านั้น หากพยายามหาขบวนการเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่อันตรายมาก

 

สาส์นที่อ่านพบจากความรุนแรงอีกอย่าง คือมีคนจำนวนหนึ่งพยายามจะหาวิถีชีวิตของตัวเอง ที่ไม่เหมือนและต่อต้านการครอบงำแบบทุนนิยม และต้องการอยู่ในวิถีชีวิตแบบมลายูมุสลิม

 

เหตุการณ์ที่กรือเซะ ให้ถ้อยแถลงชัดเจนในจุดนี้ มีเอกสารชิ้นหนึ่งที่ได้จากศพผู้เสียชีวิตพูดว่า หากเราปฏิวัติได้สำเร็จ ผู้ที่จะเป็นผู้ปกครอง คือผู้ที่สืบเชื้อสายชาวมลายูที่เป็นมุสลิม

 

ส่วนจากเหตุการณ์ตันหยงลิมอ ก็มีสาส์นที่อ่านพบ คือมีความชัดเจนมากที่พยายามจะควบคุมการสื่อสาร  อาจอธิบายได้ว่าสื่อไทยไม่มีราคาพอที่ชาวบ้านจะไว้วางใจ แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ มีความพยายามที่จะกำหนดทิศทางของข่าวสารและชุดความจริงที่แตกต่างจากของรัฐบาล ดังนั้นการต่อสู้ของประชาชนในจังหวัดภาคใต้อาจไปไกลกว่าที่รัฐบาลไทยคิดเสียอีก

 

นอกจากนี้ที่ภาคใต้ยังมีคำที่น่าสนใจว่า "สร้างเชื้อชาติ ศาสนา และมาตุภูมิ"  ซึ่ง เชื้อชาติ คือ มลายู ศาสนา คืออิสลาม มาตุภูมิ คือ ปัตตานีดารุสซาลาม เป็นวาทกรรมที่สำคัญมาก และไม่เข้ากับที่รัฐอธิบายเรื่อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

 

นอกจากนี้ รัฐยังได้เสนอวิถีการพัฒนาจากทุนนิยมซึ่งเข้ากับสภาพปัจจุบัน แต่ในพื้นที่กลับต่อต้านอย่างมาก เช่น ยูบีซี หรือการโปรยนกกระดาษ นกในทรรศนะของของชาวมุสลิม คือสัญลักษณ์ของความหายนะ มีคนท้วงติงมาก แต่ที่นราธิวาสก็สร้างอนุสาวรีย์นกเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความล่มจมและหายนะ รัฐอ่านสารเหล่านี้ค่อนข้างบกพร่องและไม่ครอบคลุม

 

คำอธิบายบางอย่างก็เป็นไปในลักษณะแบ่งแยกและปกครอง ซึ่งตกค้างทางความคิดมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น เช่น การแบ่งโซนสี หรือการใช้ศัพท์บางอย่าง เช่น โจร ผู้หลงผิด หรืออื่นๆ

 

ส่วนชุดความคิดเรื่องการประนีประนอมที่มีอย่าง สมานฉันท์ ต้องทำ 2 เรื่อง แต่ยังทำไม่ได้ คือเรื่องความยุติธรรม และเรื่องความจริง

 

เรื่องความยุติธรรมมีความจำเป็นมาก  เนื่องจากยังสร้างความเป็นธรรมให้พื้นที่ไม่ได้เลยซักกรณีเดียว และอาจนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจ

 

ส่วนเรื่องความจริง มีหลายอย่างในภาคใต้ที่เราไม่ทราบ ทั้ง ตากใบ กรือเซะ  หรือสะบ้าย้อย มีความหมายมาก ถ้าทำความจริงให้ทั้งหมดปรากฏไม่ได้ ชาวบ้านจะติดใจและมีคำอธิบายเป็นของตัวเองในทุกๆ กรณี

                                                                                                   

 

จรัล ดิษฐาอภิชัย : คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

ขอฟันธงว่า บทเรียน 14 ตุลา ส่วนใหญ่ใช้กับการแก้ไขปัญหาในภาคใต้ไม่ได้ เพราะบทเรียน 14 ตุลา เป็นบทเรียนของการต่อสู้

 

ทั้งนี้ บทเรียนจาก 14 ตุลา บทเรียนแรก คือ พลังประชาชนสำคัญที่สุด ส่วนจะใช้ในภาคใต้ได้หรือไม่นั้น ขึ้นกับการตีความ

 

บทเรียนที่สอง คือ คนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยจิตใจที่กล้าหาญ แม้มือเปล่าก็ชนะอำนาจเผด็จการทหารหรืออำนาจใหญ่ที่ต่อเนื่องมา 16 ปี

 

บทเรียนที่สาม มีผู้ใหญ่บางคนไปเจรจากับจอมพลถนอม จอมพลประภาส เพื่อไม่ให้มีการปราบแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะทางนั้นระบุว่าพวกที่มารวมตัว คือ คอมมิวนิสต์  อันนี้พอเป็นบทเรียนให้รัฐบาลใช้ได้บ้าง ว่า เหตุที่ใช้สันติวิธีไม่ได้ผล เพราะรัฐบาลมองการเคลื่อนไหวหรือการต่อสู้ของคนกลุ่มนี้ เป็นอีกแบบหนึ่ง

 

กล่าวโดยสรุป คือ บทเรียนของ 14 ตุลา ใช้ไม่ได้ ในสมัยก่อนมีความคิดหรือกลไกสันติวิธีที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพราะมีผู้อาวุโสในหมู่บ้านคอยแก้ปัญหา แต่ปัจจุบันระบบกลไกดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยระบบกลไกที่เป็นการเมือง ทำให้รัฐแทบจะไม่มีกลไกในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง หรือที่มีอยู่ก็ไม่ดีพอ

 

ในแง่สังคมก็มีความพยายามไปรับฟังปัญหากันมาก ซึ่งอาจจะสำเร็จในระยะยาวก็ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ผลเพราะคนในพื้นที่ไม่เชื่อไม่ไว้ใจ

 

ในขณะที่ถ้ามีความเชื่อเรื่องสิทธิมนุษยชนก็จะต้องไม่มีการใช้ความรุนแรง แต่คณะกรรมการสิทธิฯเมื่อลงไปภาคใต้ก็ยอมรับว่าทำอะไรไม่ได้มาก เพราะสถานการณ์ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ ความโกรธ ความเคียดแค้นในพื้นที่มันก็โตพอที่หล่อเลี้ยงตัวเองได้ จนไม่ต้องอาศัยเหตุอะไรแล้ว

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิฯ เคยเสนอแนะการแก้ปัญหาภาคใต้ที่แทบไม่ต้องใช้เงินเลย คือการเรื่องการเคารพในเรื่องสิทธิความเป็นมนุษย์ของพี่น้องมุสลิม ซึ่งพูดได้ง่ายแต่ทำได้ยากมาก พอเสนอไปก็ไม่มีน้ำหนัก ตอนนี้เลยบานปลาย จนใช้เงินไปหมื่นกว่าล้านแล้ว แต่ยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลาย ปัญหาก็เพิ่มขึ้น ถ้ารัฐและสังคมเคารพสิทธิฯของพี่น้องภาคใต้ก็จะแก้ปัญหาได้เยอะโดยแทบไม่ต้องใช้เงิน

 

ต่อมา รัฐต้องยึดหลักนิติธรรมหรือหลักกฎหมายในการแก้ปัญหา คือจับให้ถูกฝาถูกตัว แม้ว่าจะมีการปรับได้ดีขึ้นหลังจากเหตุการณ์ตากใบ แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะทำให้สถานการณ์คลี่คลาย  เห็นด้วยกับความคิดว่าการรู้ความจริง จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ได้ แต่เรื่องนี้ทำยากที่สุด เพราะในพื้นที่สู้รบ ไม่ว่าในสังคมไหน หรือยุคไหน จะหาคนพูดความจริงยากมาก ในภาคใต้ก็เช่นกัน

 

ตัวอย่างจาก เหตุการณ์ตันหยงลิมอ ความจริงก็ยังมี 2 แบบ ฝ่ายรัฐบอกว่าชาวบ้านรู้จักนาวิกโยธินทั้งสองนายเป็นอย่างดี และข่าวก็เปิดเผยไปทั่ว แต่ความจริงที่ฝ่ายชาวบ้านบอกคือไม่รู้จักนาวิกโยธินทั้งสองนาย ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือทำให้คนทุกฝ่ายพูดความจริงให้ได้ 

 

ความยุติธรรมก็เป็นเรื่องสำคัญ ตัวอย่างที่ตันหยงลิมอ เมื่อนาวิกฯ 2 คนตาย ชาวบ้านที่ตายไปก่อนหน้านั้นก็ไม่พูดถึงอีก นี่เป็นแค่ความยุติธรรมเรื่องข่าว ยังไม่รวมเรื่องอื่น ถ้าใช้ภาษาเรียกว่า สามานย์  ข่าวที่เกี่ยวกับการยิงในภาคใต้ตอนนี้ไม่ว่ากรณีใด ก็วิเคราะห์ว่าเป็นการยิงกันเองมาเรื่อยๆ จนทำให้ตอนนี้หาความจริงไม่ได้แล้ว

 

 

 

พิภพ ธงไชย : ที่ปรึกษา ครป.

 

เรื่อง 14 ตุลา ต้องแยกระหว่างบทเรียนกับรูปแบบ รูปแบบ 14 ตุลา ไม่ใช่รูปแบบเดียวกับรูปแบบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ แต่บทเรียนต้องแยก คือแล้วแต่ว่าใครจะเรียนอะไร การที่เหตุการณ์ภาคใต้ขยายไปมากขึ้นก็เพราะภาครัฐไม่ได้ใช้บทเรียนของ 14 ตุลา

 

"ทักษิณ" ไม่ได้ใช้บทเรียนของการต่อสู้ทางประวัติศาสต์ภาคประชาชน ทั้ง 14 ตุลา 6 ตุลา และพฤษภาเลย เหตุเพราะไม่เคยมีประสบการณ์ และไม่เคยเข้าร่วม รวมทั้งไม่เข้าใจเรื่องการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

แม้ว่าคนของรัฐบางส่วนจะเข้าใจก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นเอกภาพ และนอกจากนี้ยังกลับมีการปิดกั้นสื่อเพื่อปิดบังความจริงเหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลา ยิ่งแสดงว่าภาครัฐไม่ใช้บทเรียนจาก 14 ตุลาเลย

 

ในเรื่องอิสลามต้องแยกผู้ก่อการร้ายออกจากชาวมุสลิมให้ชัดเจน แต่รัฐแยกไม่ได้ จึงทำให้สาธารณะแยกไม่ได้ ตอนนี้ทำให้ชาวพุทธแยกไม่ได้ด้วย จนเกิดแนวคิด พุทธนิยมหรือชาตินิยม และตกอยู่ในกรอบแนวคิดของรัฐ หากปล่อยต่อไปต่อไปอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกับ 6 ตุลา โดยที่ไม่ใช่เกิดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เหมือนในอดีต แต่อาจเป็นที่หมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งในภาคใต้

 

ส่วนเหตุที่คนไทยไม่ใช้บทเรียนจาก 14 ตุลา เพราะ มีการตัดตอนไม่ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้เรื่องนี้ และรัฐก็จงใจ คือไม่ต้องการให้คนไทยได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์2475  เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 หรือประวัติศาสตร์กระบวนการสันติภาพ มีการขวางกั้นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเคลื่อนตัวในพัฒนาการประชาธิปไตยของไทย โดยไม่ให้อยู่ในบทเรียนที่คนรุ่นใหม่ต้องเรียน ดังนั้น จึงเกิดประวัติศาสตร์ที่ซ้ำซากในเรื่องการปฏิบัติที่ผิดพลาดต่อประชาชนที่ลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม

 

เมื่อมีการปิดกันการเรียนรู้ดังกล่าวแล้ว ศักยภาพในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยก็ลดลง  "สันติวิธี" เองก็ถูกตั้งคำถามและมีการถกเถียงกัน เป็นผลมาจากการที่สังคมไทยไม่เข้าใจ สุดท้ายก็ถูกรัฐทำให้เข้าใจไปว่า สันติวิธี เป็นลัทธิยอมจำนน  ศักยภาพที่ด้อยลงดังกล่าวทำให้ความคิดเรื่อง ความดี ความจริง ความงาม ก็ด้อยลงไปด้วย

 

ความจริง ในสังคมไทยกำลังถูกปิดกั้น คือสื่อโดนปิดกั้นจนต้องรวมตัวกันเองเพื่อตั้งโต๊ะข่าวสันติภาพขึ้น แต่ก็ไม่กล้าใช้ชื่อนี้จึงตั้งชื่อว่า "ศูนย์ข่าวอิศรา" ศูนย์ข่าวนี้ตั้งขึ้นเพื่อเอาความจริงที่เกิดขึ้นในภาคใต้อีกด้านออกมา

 

ความงาม ก็คือ ความงามบนความหลากหลายทั้งในวัฒนธรรมหรือเชื้อชาติ แต่คนไทยไม่เข้าใจ และไม่ยอมรับว่า คนใน 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นมุสลิมเชื้อสายมลายู แต่คนใน 3 จังหวัดภาคใต้ก็ไม่กล้ายอมรับ เหมือนกับเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ที่คนจีนไม่กล้าพูดว่าตัวเองมีเชื้อสายจีน และอายที่จะเรียกตัวเองว่า เจ๊ก

 

เรื่องความงามบนความหลากหลายนี้เป็นประเด็นใหญ่ของสังคมไทย ซึ่งถ้าไม่เข้าใจจะมีความขัดแย้ง เพราะคนไทยมีหลายเชื้อชาติ ความผิดพลาดนี้มีมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทย เพราะทำให้เชื้อชาติไทเด่นขึ้นมา ขณะที่เชื้อชาติอื่นก็เกิดความสงสัยว่าตัวเองเป็นไทยหรือเปล่า คือเดิมคำว่า สยาม หมายถึง คนหลายเชื้อชาติ หลายภาษาปนกันอยู่ นักวิชาการเองก็บอกว่าประเทศไทยมีกลุ่มภาษาถึง 64 ภาษา

 

ส่วนความดี มีความชัดเจนว่าคนไทยก็กำลังละเลยความดี คนไทยปัจจุบันไม่ต้องการนายกฯที่เป็นคนดี แต่ยกย่องคนเก่งให้มาจัดการกับบ้านเมือง

 

ศักยภาพอีกเรื่องในการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี คือ สังคมไทยในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงรอยต่อของการต่อสู้ระหว่างศักดินากับประชาธิปไตย ดังนั้นเวลาสร้างความคิดว่าด้วยวัฒนธรรมประชาธิปไตยขึ้น ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ ดังที่คณะกรรมการสิทธิฯ ถูกมองว่าเป็นตัวร้าย เพราะสิทธิมนุษยชนไม่ใช่วัฒนธรรมของระบบศักดินา และต่อไปหากไม่ระวัง คือไม่ยอมรับและศึกษาความแตกต่าง การต่อสู้ระหว่างวัฒนธรรมอิสลามกับวัฒนธรรมพุทธก็อาจจะเกิดขึ้น

 

ดังนั้น การแก้ปัญหาภาคใต้ต้องเข้าใจอิสลาม เข้าใจพระคัมภีร์ ทั้งนี้ วัฒนธรรมพุทธศาสนา และวัฒนธรรมมุสลิมที่เคยอยู่ด้วยกันอย่างสงบมาช้านาน แต่ทันทีที่มีรัฐส่วนกลางเข้าไปจัดการปัญหาก็เกิดขึ้น

 

รัฐต้องมีกลไกเครื่องมือมากำกับในการแก้ปัญหา ซึ่งกลไกดังกล่าวมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ไม่นำมาใช้ และในขณะนี้กลไกตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวกำลังถูกทำลายไปโดยการไม่ออกกฎหมายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว และรัฐบาลทักษิณก็พยายามทำลายกลไกตัวนี้อีกจนเกือบหมด

 

การแก้เรื่องภาคใต้ จะต้องทำให้สังคมไทยเข้าใจประวัติศาสตร์ ทั้งปัตตานี เชียงใหม่ อีสาน เพราะจุดอ่อนของสังคมไทย คือ เรียนประวัติศาสตร์ของตระกูลเดียว สถาบันเดียว กลุ่มเดียว แต่ไม่เรียนประวัติศาสตร์ของตระกูลในท้องถิ่น หรือกลุ่มในท้องถิ่น

 

ประเด็นสุดท้าย คือ ความแตกต่างในทิศทางการพัฒนา รัฐบาลกลางคิดว่าระบบทุนนิยมเท่านั้นที่จะทำให้คนมีความสุข แต่มุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปฏิเสธ เพราะการปฏิบัติตามศาสนาอิสลามนั้นเป็นความสุขอยู่แล้ว ตรงนี้เป็นความไม่เข้าใจที่พยายามยัดเยียดการพัฒนาแบบทุนนิยมลงไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

วรวิทย์ บารู: นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

การที่ 14 ตุลา มีผลต่อประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ก็มีส่วนสรรสร้างสังคมในภาคใต้ได้บ้าง ถ้าผู้นำมีความเข้าใจ แต่ถ้าจะเอากระบวนการต่อสู้มาใช้คงไม่ใช่

 

คน 14 ตุลาในรัฐบาลหลายคนที่รู้จักก็มีส่วนต่อการประท้วงใหญ่ 45 วันที่ปัตตานี เมื่อปลาย พ.ศ.2518  ซึ่งน่าจะมีความเข้าใจ แต่ตอนนี้กลับมีปัญหาเรื่องความเข้าใจ และนายกฯก็ควรเข้าใจ เรื่องโครงสร้างของสังคมหรือประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน

 

โครงสร้างสังคมของพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ก็คือ  80 เปอร์เซ็นต์ เป็นมลายูมุสลิม แต่กลับเอาคนพื้นที่อื่นมาปกครองโดยขาดความเข้าใจ ยกตัวอย่างได้จาก กรณีสตูลที่ผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรกก็สืบเชื้อสายมาจากอดีตเจ้าเมืองสตูล จึงทำให้ไม่มีปัญหา ไม่เหมือนกับปัตตานี ที่เจ้าเมืองคนสุดท้าย พอออกมาจากการถูกควบคุมตัวที่พิษณุโลก ต้องหนีไปตายที่กลันตัน ประเทศมาเลเซีย

 

ถ้ากระบวนการ 14 ตุลา สร้างการเลือกตั้งขึ้นมา คนใน 3 จังหวัดก็เคยผ่านประสบการณ์แบบเดียวกันมาแล้ว คือ กรณี ตาย 4 ไม่ตาย 1 เมื่อปลาย พ.ศ.2518 จนเกิดเหตุการณ์ทวงความเป็นธรรมตามมา โดยคู่กรณี คือ นาวิกโยธิน

 

จากครั้งนั้นการต่อสู้ก็มีมาเรื่อยๆ จนเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อเกิดองค์กรที่ร่วมมือกันระหว่างภาคประชาชนกับราชการขึ้น องค์กรที่พอจะยกตัวอย่างได้คือ ศอ.บต. เพราะมีความสำเร็จ

 

หน่วยงานดังกล่าวสำเร็จเพราะสามารถสร้างกระบวนการที่สืบหาข้อเท็จจริงในพื้นที่ได้ในทันที เช่น การทำลายลองกอง ชาวบ้านสามารถที่จะแจ้ง ศอ.บต.ได้เลย และสามารถรู้ตัวคนทำได้ในวันเดียว องค์กรแบบนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ถ้าไม่รู้ว่าใครทำอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ก็คิดว่าอีกนานกว่าจะแก้ปัญหาได้ และยืนยันได้เลยว่า ความรุนแรงไม่สามารถจะสถาปนาสันติสุขได้เลยใน 3 จังหวัด เพราะประสบการณ์การใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่เคยสำเร็จ

 

เราแก้ปัญหาโดยกล่าวหาบางกลุ่มว่าอยู่เบื้องหลัง ทั้งๆ ที่กลุ่มเหล่านี้เคยสรรสร้างความปรองดอง ความสันติ และแก้ไขปัญหา ในสมัยที่ยังมี ศอ.บต. เช่น กลุ่มผู้นำศาสนา ทั้งพุทธและมุสลิม กลุ่มนี้เป็นกรรมการใน ศอ.บต.

 

กลุ่มนักธุรกิจถูกกล่าวหาเรื่องยาเสพติดซึ่งเกี่ยวข้องในเรื่องการแยกดินแดน แต่กลุ่มนี้ก็เป็นกรรมการที่ปรึกษาใน ศอ.บต.เหมือนกัน

 

กลุ่มต่อมาคือนักการเมือง ทั้งท้องถิ่นและระดับชาติซึ่งเคยเป็นกรรมการ ศอ.บต. ก็โดนรัฐบอกว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย

 

ใน 3 จังหวัดภาคใต้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนมุสลิมมาปกครอง แต่จะต้องยึดเอาความดีเป็นหลัก เพราะในอัลกุรอานก็ระบุให้มุ่งในเรื่องความดี แต่เมื่อรัฐใช้วิธีการที่ไม่ดีเหมือนที่หลายคนบอกว่าล่าสังหารหรืออะไรต่างๆ ก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาให้สำเร็จได้ ในมุมกลับกันในทรรศนะอิสลามคือความชั่วร้าย

 

อีกเรื่อง คือ สันติวิธีใน 3 จังหวัดภาคใต้ คือกล่าวถึงการยอมจำนนที่มีนัยยะ ว่าจะยอมให้พวกเชื้อชาติ ศาสนาที่ต่างไปไม่ได้ เพราฉะนั้นผู้ที่นิยมอำนาจจะระแวง เพราะยังไม่เข้าใจเรื่องความต่างที่ปกครองอยู่ หลายคนมองว่ารัฐบาลนี้เก่งเฉพาะการเลือกตั้งแต่บริหารไม่เก่งเลย ยังพูดกันเสียด้วยซ้ำว่า ไม่เคยมีรัฐบาลใดที่ไม่เข้าใจใน 3 จังหวัดเท่ากับในรัฐบาลนี้

 

อีกอย่างที่ควรจะรู้คือเรื่องพลวัตรของสังคมที่เป็นมลายูมุสลิม และเรื่องโลกของวัฒนธรรมมลายู ซึ่งต้องเข้าใจว่าไม่มีทางเข้าหาสู่ศูนย์กลางได้ ยิ่งทำก็ยิ่งหมุนลงไปทางใต้ เพราะศูนย์กลางวัฒนธรรมมลายูอยู่ทางมาเลเซีย อินโดนีเซีย ดังนั้นรูปแบบการพลวัตรทางสังคมจะดูตามซีก มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ต้องใจกว้างและเข้าใจพอจึงจะนำภาคใต้ได้ได้

 

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ : ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา

 

14 ตุอง

าิปไตอำนาจของวัมนธรรมเผด็จกร                                                                                             ลา มาพูดกันเรื่องรักใคร่วีรชน เรื่องประชาธิปไตยตลอด  ทั้งๆ ที่สังคมมันไปไหนแล้ว มันไม่สนใจประชาธิปไตยแล้ว นี่คือความจริง และคนที่บิดเบือนประชาธิปไตยก็คือคน 14 ตุลา ที่ไปนั่งอยู่ในรัฐบาลทั้งนั้น

 

หลังจากที่รายงานให้รัฐบาลทราบเรื่องตากใบและเรื่องภาคใต้ทั้งหมด คุณสมัครออกมาด่าผมว่าไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่ลูกคุณชาติชายเสียอีก โกหกกันซึ่งๆ หน้า ถ้าใส่ร้ายป้ายสีกันขนาดนี้ แล้วยังอนุญาตให้เกิดขึ้น  อสมท.จะอยู่ได้อย่างไร

 

อสมท. คือ สัญลักษณ์ของปฏิกิริยาที่อื้อฉาว ใส่ร้ายป้ายสีประชาชน จนโดนเผามาแล้วสองครั้ง เป็นสัญลักษณ์อำนาจของวัฒนธรรมเผด็จการ และเหมือนว่าตั้งแต่ คุณทักษิณ เข้ามามีอำนาจ ประชาธิปไตยก็ดูจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปมาก เหมือนกับเรากำลังย้อนยุค คือกำลังเป็นยุคขวาครองเมือง

 

ในสมัยรัฐบาลคุณชวน สิ่งที่อึดอัดมากที่สุด คือความอนุรักษ์นิยม ไม่กล้าคิด ไม่กล้าแก้ปัญหา เอะอะก็ขั้นตอน ครรลอง แต่สิ่งที่คุณชวนพยายามทำคือการปฏิรูปที่ดิน เพราะเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุด อย่างในภาคเหนือก็เป็นของนายทุนอย่างเบ็ดเสร็จไปหมดแล้ว แต่ท่านกลับกล้าตัดสินใจทำ

 

ทว่าเมื่อต้องจัดการกับเรื่องที่ดินในภูเก็ต ทุกอย่างก็ล้มละลาย เพราะเกี่ยวข้องกับคนในพรรคซึ่งเป็นเศรษฐี ดังนั้นสิ่งที่คุณชวนพยายามทำก็พังพินาศไปหมด ผมก็อภิปรายเรื่องนี้ในสภาอย่างเต็มที่ แต่จากการวิพากษ์วิจารณ์คุณชวน ก็มีส่วนที่สนับให้คุณทักษิณขึ้นมาเป็นนายกฯ และหลายคนก็สนับสนุน รวมทั้งผมด้วย เพราะคุณทักษิณแสดงตัวเอง ที่กล้าแก้ไขหรือตัดสินใจ

 

ปีแรก ทูตยุโรปเกือบทุกคนพอใจมาก โดยบอกว่าเป็นยุคแรกที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้า เพราะมีนโยบายที่ชัดเจนพอที่จะแปรประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีการบริการสังคม มีการประกันชีวิต มีการบริการสาธารณะสุข และการปฏิรูปการศึกษา

 

แต่มาถึงวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 3,000 ศพ ในเรื่องการปราบยาเสพติด ส่วนในภาคใต้ที่กรือเซะวันเดียวตายไป 108 คน ทีมฟุตบอลสะบ้าย้อยทั้งทีมโดนยิงหัวหมดเลย ลากกันเข้าไปยิงกันในคาราโอเกะ

 

ความรุนแรงนี้มันระเบิดออกมาได้อย่างไร ผมเลยกลับมาคิดว่า สังคมไทยมันป่วยมาตลอด แต่พอมีคนป่วยเป็นผู้นำ คนบ้ามันเลยออกมาอาละวาดกันหมด ผมคิดว่าคุณทักษิณไม่ปกติแล้วที่อนุญาตให้เหตุการณ์มันรุนแรงขึ้น ตราบใดที่คุณทักษิณยังเป็นนายกฯก็มองไม่เห็นลู่ทางว่ามันจะดีขึ้นได้อย่างไร เพราะไม่เคยได้ยินว่าคุณทักษิณจะออกมายอมรับว่าทำผิดไปแล้ว

 

พื้นฐานคือเราไม่มีความเท่าเทียมกันในด้านสังคม การศึกษา นอกจากนี้การพัฒนาของลัทธิทุนนิยมสากล หรือโลกาภิวัตน์ก็ทำให้ศีลธรรม และวัฒนธรรมเสื่อมลง

 

สิ่งที่ไม่เคยสร้างเลยจากเหตุการณ์ 14 ตุลามาจนถึงวันนี้ คือการสร้างศีลธรรมประชาธิปไตยที่เคารพในชนชั้นและเชื้อชาติ คือเมื่อมีความแตกต่างทางชนชั้นอย่างมากในตอนนี้แล้วจะให้ไปเคารพกันทางเชื้อชาติได้อย่างไร

 

การยกเลิกสิทธิความเป็นคนไทยในภาคเหนือ 1,000 กว่าคน ก็เป็นสัญญาณแรกที่บอกว่ารัฐบาลนี้และคุณทักษิณไม่ปกติ รัฐที่คลั่งชาติโดยไม่แยแสเชื้อชาติ หรือไม่แยแสทางสังคม ผมคิดว่ามันหลุดออกมาเต็มรูปแบบในรัฐบาลนี้ โดยกล่าวหาคนอื่นทั่วไปหมดว่าไม่ใช่คนไทย แต่ถามหน่อยว่าใครไปไหว้ทวดที่เมืองจีน ผมอยากจะรู้?

 

14 ตุลา ต้องเริ่มทำกันใหม่ ในโฉมหน้าศักดินาไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ต้องเพิ่มเติมบทปักษ์ใต้ ลาว ชนกลุ่มเหนือ หรือต่างๆ ว่ามีส่วนในการเสริมสร้างรัฐไทยอย่างไร และกลุ่มเหล่านั้นเติบโตขึ้นได้อย่างไร

 

14 ตุลา ไม่มีการปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง คือไม่ปฏิวัติทางด้านความคิด ทางด้านวัฒนธรรม เด็กส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร เราก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องไปแก้ปัญหานั้นมาก สิ่งที่ตามมาคือ 3 จังหวัดภาคใต้กลายเป็นเหมือนไม่มีตัวมีตน เพราะไม่เคยอนุญาตให้ชาวมุสลิมแสดงวันสำคัญที่สุดของเขา ซึ่งก็คือ วันของดารุสซาลามปัตตานี

 

ดารุสซาลาม แปลว่า บ้านแห่งสันติภาพ ซึ่งแทนที่จะให้เขาเฉลิมฉลองวันนี้กันในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เขาภาคภูมิใจ เพราะเป็นวัฒนธรรมสำคัญที่ครอบคลุมถึง 3 ประเทศ ควรยกให้เป็นวันสำคัญของประเทศชาติด้วย แต่เรากลับไปให้เขามีงานฉลองของเจ้าแม่กอเนี๊ยะ ซึ่งเป็นคนจีนที่มี 3 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นของประชากรใน3 จังหวัดภาคใต้

 

ในอดีตเจ้าแม่กอเนี๊ยะสร้างศาลเจ้าไว้เล็กๆ แต่ปัจจุบันไปเสริมศาลให้ใหญ่จนล้ำไปในพื้นที่มัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในภาคใต้ และศักดิ์สิทธ์ที่สุดของชาวมุสลิมมลายูซึ่งรวมถึงชาวมาเลเซียด้วย แต่คนมุสลิมก็ไม่กล้าที่จะพูดเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เป็นเรื่องการกดขี่ทางวัฒนธรรมที่สำคัญมาก

 

สาเหตุที่คุณทักษิณมีนโยบายในเรื่องเกี่ยวกับภาคใต้ลักษณะนี้ ก็คือแนวคิดการสะสมทุนเมื่อผ่านไปตามกาลเวลาทุนยิ่งมากก็ยิ่งมีความเสี่ยงมาก ตั้งแต่เรื่องโทรคมนาคม โรงพยาบาล อสังหาริมทรัพย์ โฆษณา และอีกเรื่อยๆ เมื่อยิ่งมีมากศัตรูก็ยิ่งมาก ยิ่งผูกขาดโดยอำนาจก็ยิ่งมีคนกลัวซึ่ง เขาจะเก็บข้อมูลนี้ไว้หมด การเก็บข้อมูลดังกล่าวจะทำให้ตัวเขาเองหวาดกลัวไปด้วย พอยิ่งหวาดกลัวยิ่งต้องใช้อำนาจเพื่อรักษาอำนาจต่อไป ซึ่งก็จะหลุดจากการเป็นรัฐบุรุษไปเลย

 

การบกพร่องเกิดอย่างกะทันหันและคาดไม่ถึง คือเมื่อ 2 ปีกว่าๆ มาแล้ว มีช่วงหนึ่งที่ตำรวจโดนยิงตายเยอะมาก เป็นปัญหาที่อยู่ดีๆ ก็โผล่ขึ้นมาเป็นนั่นปัญหาแรก

 

ปัญหาที่ 2 เป็นปัญหาที่ทำให้ความรุนแรงระเบิดออกมา และต่อมากลายเป็นความรุนแรงที่คาดไม่ถึงอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือการหายไปของปืน 400 กระบอก

 

เหตุการณ์เหล่านี้เกือบทุกคนอธิบายว่าเริ่มต้นมาจากการที่เจ้าหน้าที่ชอบไปอุ้ม หรือไปทรมานคนในพื้นที่ เป็นจำนวนมาก และในทันทีที่ประกาศอัยการศึกหลังการหายไปของปืน 400 กระบอก ก็ทำให้ภาคใต้กลายเป็นเหมือนประเทศที่ถูกเข้าไปยึดครองมากกว่าการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย

 

หรือจากเดิมที่เคยมี ศอ.บต.ที่สามารถทำให้ความกดดันของสังคมได้มีช่องทางระบายออกมาบ้าง ก็โดนยกเลิก และผูกขาดโดยเอาตำรวจของตัวเองเข้าไปยึดครองพื้นที่เพียงเจ้าเดียว ซึ่งต้องการเพียงการปราบปราม เพื่อเอาปืน 400 กระบอกกลับคืนมาให้ได้ทุกวิถีทาง

 

การยกเลิก ศอ.บต. ก็คือการยกเลิก กอ.รมน.ในภาคใต้ด้วย หน่วยงานนี้มีเส้นสายเป็นพันคน กลับถูกยกเลิกงบประมาณ จึงทำให้ข้อมูลในภาคใต้หายไปอย่างสิ้นเชิง มวลชนก็หายไปด้วย เหลือเพียงการใช้ความรุนแรงวิธีเดียว วิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดที่ดึกดำบรรพ์ที่สุด และเกือบจะป่าเถื่อนที่สุดก็ได้ การลงโทษลงทัณฑ์ทั้งชุมชนนี้มีปรัชญาอันเดียวคือ ทำให้มันเข็ด ทั้งนี้ คนในภาคใต้มีความแตกต่างกับคนในภาคอื่นๆ เมื่อญาติพี่น้องถูกฆ่า วันรุ่งขึ้นเขาก็จับปืนยิงเลย

 

ยังมีข้อมูลอีกประการที่ได้มาจากตำรวจที่บอกกับผม คือ คนที่ยิงเขาในช่วงแรกเป็นคนจากสายทหาร ซึ่งที่เทรนไว้เกือบ 4,000 คน ยิงแม่นมาก แต่ปัจจุบันเหตุการณ์ไปไกลยิ่งกว่านั้นแล้ว

 

ขณะนี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยต้องเป็นจำเลยของสหประชาชาติ เพราะเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงที่สุดในภูมิภาค มีข้อกล่าวหาถึง 20 กว่าข้อ และส่งคนไปอธิบายกับสหประชาชาติไม่รู้เรื่อง จนสหประชาชาติต้องให้ออกจากห้องและให้ทำหนังสืออธิบายไปเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้เวลา 10 วัน

 

เรื่องตากใบเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ตรรกะของสหประชาชาติชัดเจน คือความรุนแรงอาจจะนำไปสู่สถานการณ์ที่ปาเลสไตน์ สหประชาชาติก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นจึงเรียกรัฐไทยไปอธิบาย

 

กับมาเลเซีย เราไม่เคยอยู่ในสถานการณ์ที่ทะเลาะกับมาเลเซียรุนแรงถึงขั้นโต้แย้งกันคำต่อคำ

แบบตอนนี้ และมาเลเซียก็พยายามประนีประนอมมากที่สุด

 

และครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่นโยบายของรัฐบาลกดดันจนทำให้มีผู้ลี้ภัยไปมาเลเซีย 131 คน กลายเป็นเรื่องเสียหน้าเหลือเกินของคุณทักษิณ

 

ความยุติธรรมในภาคใต้เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ เช่น กรณีตากใบ แทบไม่มีการสอบสวนเจ้าหน้าที่ คือ สอบสวนแค่เรื่องผิดวินัยแล้วกลับเลื่อนขั้น ทั้งที่การกระทำในเหตุการณ์ตากใบเป็นเรื่องที่บาดใจชาวมุสลิมมาก

 

ผมคิดว่ารัฐบาลที่ชั่วร้ายที่สุด คือรัฐบาลเมื่อ 6 ตุลา ที่เอาประชาชนมาฆ่า มาแขวนที่สนามหลวง แต่ก็ไม่มีใครติดคุก เหตุการณ์พฤษภายิงกันเป็นเป็ด 70 กว่าคน ก็ไม่มีใครติดคุก เหตุการณ์ตากใบ กรือเซะ และสะบ้าย้อย ก็ไม่มีคนติดคุก ลักษณะนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย เรากำลังอยู่ในความฝัน เพราะไม่มีความยุติธรรมในกระบวนทางกฎหมายแล้ว ต่อไปจะให้ประชาชนเชื่อในกระบวนการยุติธรรมแบบนี้ได้อย่างไร

 

14 ตุลา น่าจะเป็นวันที่มาเสนอแนะต่อกันและกันว่าควรจะพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้สวยงาม ให้ดีเด่น ให้ก้าวหน้าและเป็นสากลมากกว่านี้ได้อย่างไร คือควรเป็นการสร้างภูมิภาคนิยม มีดนตรี ศิลปะในรูปแบบที่หลากหลาย แทนที่จะมานั่งประณามในเรื่องฆ่าคนแล้วไม่ติดคุกแบบในวันนี้ รวมทั้งผมกลับต้องมาพูดเรื่องนี้ด้วย ตอนนี้มันเหมือนกับการถอยหลังไปแล้ว  

 

ขอบอกว่าผิดหวังต่อรัฐบาลนี้โดยเฉพาะตั้งแต่เรื่องตากใบและความไม่เป็นธรรมหลังจากนั้นมา ในสายตาของผม มันทำให้ความดีของรัฐบาลทักษิณที่เคยมีในสายตานั้นหายไปหมดเลย








ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท