Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


การออกแถลงการณ์ของคณะสงฆ์จังหวัดปัตตานี เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนบทบาทของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. (ตามที่ปรากฏเป็นข่าว) ว่ากันให้ถึงที่สุด คือภาพสะท้อนความตกต่ำของสถาบันสงฆ์ไทย ในฐานะสถาบันซึ่งดำรงไว้ซึ่งหลักธรรมขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า


 


หากกล่าวกันด้วยภาษาชาวบ้าน น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้ายุคสมัยนี้พระพุทธเจ้ายังอยู่ พระองค์จะทรงแก้ปัญหากรณีวัดพรมประสิทธิ์ ที่อำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานีถูกเผา พระสงฆ์และลูกวัดถูกสังหารอย่างไร


 


แต่หากเราเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้ เราย่อมมั่นใจได้ว่า พระองค์ย่อมไม่เลือกมรรคหรือหนทางที่นำไปสู่การแก้แค้น พระองค์ย่อมแตกฉานว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุแห่งทุกข์ และอะไรคือทางดับทุกข์ โดยไม่ถูกความกลัว ความหลง ความโกรธ เข้าครอบงำ


 


มีข้อเท็จจริงอยู่ที่ว่า อย่างไรเสียคนใน 3 จังหวัดส่วนใหญ่นั้นเป็นคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม มีวัฒนธรรมมุสลิม-มลายูเป็นเอกลักษณ์ มีประวัติศาสตร์ของตนเองและเคยเป็นเอกราชจากรัฐไทย ไม่ว่าจะอย่างไร เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนี้ เช่นเดียวกับที่เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับเรา


 


คณะสงฆ์ไทยน่าจะได้ตั้งคำถามว่า คนใน 3 จังหวัดภาคใต้ ที่หลากหลายวัฒนธรรม หลากเชื้อชาติ หลากภาษา หลากความเชื่อทางศาสนาจะอยู่กันอย่างไร มากกว่าจะตั้งคำถามเพียงแค่เราจะแก้ปัญหาให้กับคณะสงฆ์อย่างไร เพราะการแก้ปัญหาให้กับกลุ่มบุคคลใด นอกจากจะเข้าไปไม่ถึงเหตุแห่งทุกข์อันเป็นแก่นหลักและหัวใจของพุทธธรรมแล้ว ยังสะท้อนว่าไม่เข้าใจแม้แต่พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า "เข้าใจ" เข้าถึง และพัฒนาด้วย


 


แน่ละที่ว่าบทบาทและท่าทีในการแสดงออกและการให้น้ำหนักต่อเรื่องราวปัญหาของ กอส. มีปัญหา แต่ใช่ว่าแนวทางนั้นจะผิดเสมอไป น่าแปลกตรงที่ว่า ข้อเสนอยุบ กอส. ที่ออกจากคณะสงฆ์ กลับไม่ได้พิจารณาข้อจำกัดของ กอส. ตลอดไปถึงอำนาจหน้าที่ที่ กอส. ได้รับ


 


อย่าลืมว่า มาตรการรูปธรรม 5 ด้าน 14 ข้อ ที่ กอส. เสนอต่อรัฐบาลหลังการออกพระราชกำหนดบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แทบจะไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลเลยสักข้อ แม้เวลาจะล่วงเลยมากกว่า 3 เดือนแล้ว


 


แต่แทนที่คณะสงฆ์จะพิจารณาขับไล่รัฐบาลที่มีหน้าที่โดยตรงในการแก้ปัญหาและคุ้มครองผู้คนรวมถึงพระสงฆ์ในพื้นที่ คณะสงฆ์ปัตตานีกลับเลือกที่จะยุบ กอส.


 


จึงเป็นเรื่องไม่แปลกที่จะมีคนตั้งคำถามถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังแรงผลักดันที่ทำให้คณะสงฆ์ต้องออกแถลงการณ์ฉบับนี้ ราวกับว่า มีใครใช้คณะสงฆ์ปัตตานีเป็นเครื่องมือ


 


น่าเป็นห่วงเข้าไปอีก เมื่อพบว่ามีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มเหล่าต่างๆ ที่ดูเหมือนจะสอดคล้องและไปในทางเดียวกับคณะสงฆ์ ไม่ว่า ข่าวการจัดตั้งลูกเสือชาวบ้านอย่างน้อยหมู่บ้านละหนึ่งคน หรือการรวมพลังในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแสดงความสามัคคี


 


เราเห็นว่า การแสดงความสามัคคีเป็นหลักและรากฐานสำคัญของสังคม แต่ความสามัคคีที่ว่านี้จะต้องไม่ไปกีดกันคนที่แปลกแตกต่างให้กลายเป็นอื่น ตลอดจนกลายเป็นศัตรู มิเช่นนั้น ความสามัคคีก็จะเป็นอาวุธชนิดหนึ่งในการสร้างความรุนแรงเท่านั้น

เอกสารประกอบ

ข้อเสนอมาตรการรูปธรรม 5 ด้าน 14 ข้อของ กอส.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net