Skip to main content
sharethis

         


 


            เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 กันยายน 2548 ที่โรงแรมเจบี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการประชุมวิชาการทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ประจำปี 2548 โดยภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน


            พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ บรรยายพิเศษเรื่องแนวทางการสร้างความสมานฉันท์และการฟื้นฟูท้องถิ่นภาคใต้ว่า จากประสบการณ์ที่ตนเคยเป็นผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษมาก่อน พบว่าส่วนสำคัญอยู่ที่คน การได้รับความร่วมมือจากประชาชน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เหมา เจ๋อ ตุง อดีตประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน เคยกล่าวไว้ว่า คนคือน้ำ โจรคือปลา เพราะฉะนั้น การแยกปลาออกจากน้ำ ต้องทำให้น้ำเป็นพิษ เพื่อให้ปลาอยู่ไม่ได้ หน่วยรบพิเศษมีกำลังน้อย ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนก็ทำงานลำบาก  


พล.อ.สุรยุทธ กล่าวว่า การนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือให้ทำความเข้าใจก่อน ต้องทำด้วยความจริงใจ จึงจะแก้ปัญหาภาคใต้ได้ คนที่จะแก้ปัญหาต้องมีความเมตตา เพราะควมเมตตา เป็นสิ่งที่มีค่าและยืนยาวมากที่สุด


            "สำหรับโครงการสายใจไทยสู่ใจใต้ ได้นำเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ในภาคกลาง เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยรุ่นที่ 2 ได้คัดเลือกเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสถาบันปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐบาล 60 คน โดยวันเดียวกันนี้ จะเดินทางถึงกรุงเทพมหานคร จากนั้น จะเข้าพบนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี และเดินทางไปเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ" พล.อ.สุรยุทธ กล่าว


พล.อ.สุรยุทธ กล่าวว่า จากนั้น จะแยกย้ายไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ซึ่งจะนำไปสู่ความสมานฉันท์ในสังคมได้ โดยวันที่ 3 ตุลาคม 2548 นี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ จะเป็นประธานเปิดโครงการนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง


หลังจากพล.อ.สุรยุทธบรรยายเสร็จ มีการเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อร่วมกันสร้างความสมานฉันท์และร่วมฟื้นฟูท้องถิ่นภาคใต้ โดยมีนายวศิน สาเมาะ เจ้าหน้าที่โครงการชุมชนเป็นสุขที่ปากใต้ ดับบ้านดับเมือง นายอิสมาอิล เบ็ญจสมิทธิ์ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนายอารือมัน ยามา เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชายฝั่งทะเลจังหวัดนราธิวาส สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ดำเนินรายการ


            นายวศิน กล่าวว่า จากการลงไปเก็บข้อมูลจากชาวบ้านในนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการตั้งคำถามตรงกันว่า อยากจะทำอะไรบ้างให้มีความสุข ได้รับคำตอบจากชาวบ้านว่า ต้องอยู่อย่างสงบ สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างอิสระเสรี และได้รับโอกาสทางการศึกษาทางศาสนา


            นายวศิน กล่าวต่อไปว่า ถ้าต้องการเห็นกระบวนทัศน์อิสลามกับการพัฒนา ให้ดูตัวอย่างโรงเรียนบูรณาการหลักสูตรวิชาสามัญกับหลักสูตรศาสนาอิสลามได้ที่ปอเนาะดารุลนาอีม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ส่วนเรื่องการบริหารจัดการชุมชน ดูได้จากหมู่บ้านที่ใช้ระบบซูรอ หรือสภาที่ปรึกษาตามแนวทางของศาสนาอิสลามในการพัฒนาชุมชน ที่บ้านตาแปด ตำบลท่ามวง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา แสดงให้เห็นว่า ศาสนาอิสลามสนับสนุนเรื่องการกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการท้องถิ่นเอง


            "ในระบบซูรอที่ทางโครงการสนับสนุนอยู่ จะเน้น 5 ร. คือ 1. ร่วมใจทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม 2. ร่วมกันคิดแก้ปัญหาเพื่อสร้างความสมานฉันท์ 3. ร่วมกันทำ 4. ร่วมกันรับผิดชอบ 5. ร่วมกันรับรอง" นายวศินกล่าว


            นายอิสมาอิล กล่าวถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เมื่อประมาณ 500 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งหลังจากกษัตริย์แห่งรัฐปาตานี เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ได้มีการเปิดปอเนาะแห่งแรกขึ้นมา เพื่อเป็นสถานศึกษาทางด้านศาสนาอิสลามที่สำคัญ มีชื่อเรียกว่า ปอเนาะกอลอบือเกาะ ซึ่งปัจจุบันอยู่ตรงที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สิ่งเหล่านี้เป็นเสน่ห์ส่วนหนึ่งของพื้นที่ ที่ควรจะหวงแหน เนื่องจากกำลังจะหายไป อันเป็นผลมาจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้


            นายอิสมาอิล กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาพระมหากษัตริย์ของไทยได้ให้ความสำคัญกับภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จนกระทั่งสัญลักษณ์บางอย่างของมุสลิมในพื้นที่ ถูกนำไปเป็นอาภรณ์ของพระมหากษัตริย์ เช่น หมวกสีดำแบบมุสลิม เป็นต้น จังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะกำหนดให้เป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และมีความหลากหลาย โดยรวมจังหวัดสตูลเข้ามาอยู่ในเขตวัฒนธรรมพิเศษนี้ด้วย เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน


            นายอารือมัน กล่าวต่อไปว่า เมื่อประมาณปี 2539 - 2540 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความขัดแย้งเรื่องประมงอวนรุนอย่างรุนแรง จนเกือบจะมีการฆ่ากัน แต่เนื่องจากเจ้าของเรือประมงพาณิชย์บางรายในจังหวัดนราธิวาส ที่ขัดแย้งกับชาวประมงพื้นบ้าน นับถือศาสนาอิสลามด้วยกัน การแก้ปัญหาข้อพิพาท จึงมีการใช้ศาสนาอิสลามเป็นหลักยึดในการไกล่เกลี่ย ทำให้สามารถหาทางออกร่วมกันได้ด้วยสันติวิธี ดังนั้น ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จำเป็นจะต้องหาจุดร่วมของแต่ละฝ่ายมาเป็นหลักยึดร่วมกัน


            นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวว่า ตนต้องการให้รัฐมนตรี ศึกษาในเชิงกระบวนการในการแก้ปัญหากันเองของประชาชนในพื้นที่ ประชาชนต้องช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน มีความไว้วางใจกันมากขึ้น ร่วมกันสร้างความสมานฉันท์ ขจัดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความรุนแรง ทำอย่างไรให้รัฐบาลสนับสนุนวัฒนธรรมที่ไม่ใช่การนำเอาวัฒนธรรมอื่นมาทำลายวัฒนธรรมเดิม และทำอย่างไรที่จะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net