Skip to main content
sharethis




 


เพียงเพราะชาวบ้านเชื่อว่า การยิงถล่มร้านน้ำชากลางหมู่บ้านตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อช่วงค่ำวันที่ 20 กันยายน 2548 ทำให้คนในหมู่บ้านเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บอีก 4 คน เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ


เหตุการณ์ที่ตามมาหลังจากนั้น จึงลุกลามรุนแรงเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด


สถานการณ์กลุ่มชาวบ้านกักตัวทหารนาวิกโยธิน 2 นายเอาไว้ นานร่วม 20 ชั่วโมง จึงจบลงด้วยการสูญเสียชีวิตของทหารทั้งสองนาย


ปฐมเหตุแห่งโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น มาจากความเชื่อของชาวบ้านว่า ความสูญเสียของพวกเขา เกิดจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐโดยแท้


ไม่เฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ตันหยงลิมอเท่านั้น


ทว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะเหตุลอบยิง ลอบฆ่าชาวบ้าน มีแนวโน้มสูงงมาก ที่ชาวบ้านจะเชื่อว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ


สองสัปดาห์ก่อนวิกฤตการณ์ที่ตันหยงลิมอ โต๊ะอิหม่ามแห่งบ้านละหาน ตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ก็ถูกกลุ่มคนร้ายลอบยิงเสียชีวิต


คำสั่งเสียสุดท้ายก่อนที่อิหม่ามสะตอปา ยูโซ๊ะ จะสิ้นลม ก็คือ อย่าให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาดูศพ เพราะปักใจเชื่อมั่นว่า ความตายของตน เป็นฝีมือคนของรัฐ


เหตุการณ์นั้น ลุกลามจนถึงขั้นชาวบ้านรวมตัวกันปิดหมู่บ้าน ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าหมู่บ้าน ตามมาด้วยกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง 131 คน ขอลี้ภัยเข้าไปอยู่ในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย


อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านปักใจเชื่อเช่นนี้


"เกิดเหตุยิงกันหลายหน ยังจับคนยิงไม่ได้ ไม่รู้ใครยิง ชาวบ้านเขาเลยสงสัยว่า ทำไมยังจับไม่ได้ เพราะทั้งทหาร ตำรวจก็มีอยู่เต็ม ยิ่งถ้าคนร้ายใช้ปืนเอ็ม 16 อย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ ชาวบ้านจะสงสัยก่อนว่า คนร้ายต้องไม่ใช่คนธรรมดาแน่นอน"


นี่คือ เสียงสะท้อนจาก "ชาวบ้านคนหนึ่งอำเภอสุไหงปาดี" ชาวบ้านคนนี้บอกว่า อาวุธพวกนี้ชาวบ้านจะไปเอามาจากไหน ถ้ามีก็ต้องเคยเห็น


จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ชาวบ้านจะกลัวทหาร


"มันก็น่ากลัวอยู่หรอก เพราะทหารมีปืน ตำรวจก็มีปืน ยิ่งเป็นปืนยาว ทั้งเอ็ม 16 ทั้งอาก้า" เป็นคำบอกเล่าของ "ชาวบ้านรายนี้"


ข้อกังขาและสงสัยของชาวบ้าน ประกอบกับการคลี่คลายคดีที่เป็นไปอย่างล่าช้า ขณะที่เหตุลอบยิง ลอบฆ่า เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวัน กระบวนการข่าวลือจึงเกิดขึ้น ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐในสายตาชาวบ้าน ติดลบหนักขึ้นทุกที


"พอสงสัยมากๆ มีการพูดต่อๆ กันไปว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนทำ ความกลัวก็ยิ่งขยายวงออกไป ความเกลียดและโกรธเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ขยายวงตามไปด้วย พอมีโอกาสเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดก็เกิดขึ้น ไม่ต้องถึงขั้นรักหรอก เพียงแค่ชาวบ้านไม่โกรธไม่เกลียด เหตุการณ์แบบตันหยงลิมอ ไม่เกิดขึ้นแน่นอน" เป็นคำยืนยันจาก "ชาวบ้านในอำเภอสุไหงปาดี"


"หนุ่มวัยรุ่นจากอำเภอเจาะไอร้อง" จังหวัดนราธิวาสรายหนึ่ง เล่าว่า ร้านน้ำชาในหมู่บ้าน คือ แหล่งกระจายข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมทั้งข่าวลือที่ทำให้ชาวบ้านเคลือบแคลงสงสัยกลไกรัฐ


"คนที่ชอบพูดว่าทหารเป็นคนก่อเหตุ มักจะเป็นผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน มีการพูดกันปากต่อปาก คนแก่ๆ มักจะพูดว่า ที่อื่นยังจับคนร้ายได้ แต่ทำไมพอเกิดเหตุในอำเภอเจาะไอร้อง ถึงจับคนร้ายไม่ได้ พวกวัยรุ่นก็เลยเชื่อว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนทำ"


เด็กหนุ่มผู้นี้บอกว่า สำหรับวัยรุ่นส่วนใหญ่ รู้สึกเฉยๆ ไม่ยินดียินร้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


"พวกเราเคยอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น มีบ้างบางคนพูดว่า หลายเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐน่าจะเป็นคนทำ แต่เราไม่ได้คิดอะไรมาก ตอนนี้ผู้ใหญ่เตือนว่า เวลาออกไปไหนให้ระวังตัว แต่ก็ยังไม่เคยมีใครแสดงอาการระแวงสงสัยพวกเรา" เป็นคำกล่าวจาก "เด็กหนุ่มนายนั้น"


ทว่า สำหรับ "นางบีเดาะห์ วาเมาะ" ชาวบ้านตำบลบางปอ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ผู้เป็นแม่ของเด็กหนุ่ม ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ประท้วงหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เมื่อเดือนตุลาคม 2548 แล้ว….


เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะทหาร คือ ความน่าพรั่นพรึง


"ปกติเราก็กลัวทหารอยู่แล้ว หลังจากวันเกิดเหตุที่ตากใบ เรายิ่งกลัวทหาร เราไม่อยากยุ่งด้วย ยิ่งตำรวจอยู่ไกลๆ ยิ่งดี ไม่กี่เดือนก่อนก็มีทหารเข้ามาในหมู่บ้านบ่อย เพราะช่วงนั้นมีเหตุการณ์ระเบิดแถวหมู่บ้าน เขาขับรถผ่านไปมา ช่วงหลังๆ ทหารจะอยู่บนถนนใหญ่มากกว่า ไม่เข้ามาในหมู่บ้าน" เธอเล่าให้ฟัง


ส่วนข่าวเล่าลือที่ว่า เหตุการณ์ร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ เธอบอกว่า ได้ยินมาเหมือนกัน แต่น่าจะเป็นที่อื่น สำหรับหมู่บ้านของเธอ ไม่มีคำร่ำลือเช่นนั้น เพราะไม่ค่อยเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง


นี่คือ มุมมองของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


ขณะที่ความเห็นของทหาร ซึ่งสะท้อนผ่านความคิดของ "พ.ท.ชาญชัย เอมอ่อน" ผบ.พัน ร.312 รับผิดชอบพื้นที่อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาสแล้ว


ทหารยึดมั่นในสันติภาพ และดำเนินการภายใต้สันติวิธีตลอดมา


"ก่อนเกิดเหตุ จะมีแนวร่วมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบออกมาปล่อยข่าวว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐลอบยิงชาวบ้าน  จากนั้นจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ตามมาด้วยการปล่อยข่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนก่อเหตุ แม้แต่ในพื้นที่ผมก็เป็นอย่างนั้น"


            "ผบ.พันร.312" เห็นว่า แนวทางสกัดการทำลายภาพลักษณ์กลไกรัฐนั้น ทุกฝ่ายจะต้องชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจให้ได้ว่า คนของรัฐไม่ทำอย่างนั้น ต้องทำให้ชาวบ้านรู้จักใช้เหตุผล และยอมรับความจริง จึงจะแก้ปัญหานี้ได้


            "ในพื้นที่ที่ผมรับผิดชอบ ชาวบ้านเชื่อมาตลอดว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนยิงชาวบ้าน พอเกิดเหตุหลายครั้ง ชาวบ้านเขาก็เห็นจะจะว่า คนก่อเหตุเป็นแกนนำผู้ก่อความไม่สงบจริงๆ ชาวบ้านเขาก็กลับมามั่นใจในเจ้าหน้าที่รัฐ การแก้ปัญหานี้ทางรัฐจะต้องจับตัวคนทำผิดมาลงโทษให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีใครกล้าเป็นพยาน"


            "พ.ท.ชาญชัย เอมอ่อน" อธิบายถึงกระบวนการปล่อยข่าวว่า เริ่มต้นจากคำบอกเล่าในหมู่บ้าน หรือตามร้านน้ำชา ของแนวร่วมก่อความไม่สงบ ซึ่งรับหน้าที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ จากนั้น จะมีคนรับลูกนำไปพูดต่อๆ กันไป ชาวบ้านบางคนก็เชื่อ เพราะเข้าไม่ถึงสื่ออื่น


"ต้องยอมรับว่า การประชาสัมพันธ์ของเขา เข้าถึงชาวบ้านมากกว่า เพราะเขาอยู่หมู่บ้านเดียวกัน กินนอนด้วยกัน ก็มีชาวบ้านบอกผมเหมือนกันว่า คนนั้นคนนี้พูดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เอาผิดเขาไม่ได้ นอกจากเป็นการปลุกระดม หรือยุยงชาวบ้าน อันนี้ผิดแน่นอน บางครั้งชาวบ้านก็ไม่เชื่อว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนทำ แต่เขาก็ไม่บอกเรา เขาต้องระมัดระวังรักษาตัวเองให้รอด"


ขณะที่ "นายทหารระดับผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ" นายหนึ่งเชื่อว่า ขบวนการปล่อยข่าวลือคนของรัฐยิงชาวบ้าน เป็นกลุ่มเดียวกับขบวนการข่มขู่ประชาชน ที่เริ่มจากข่มขู่จะทำร้ายคน ทำงานในโครงการจ้างงานของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้


ต่อมา ขู่ฆ่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จากนั้นเปลี่ยนมาเป็นขู่ชาวบ้านไม่ให้ทำงานวันศุกร์


คนกลุ่มนี้ คือ ผู้ปล่อยข่าวเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นผู้ก่อเหตุร้าย ผ่านลักษณะการก่อเหตุที่จงใจจะให้ชาวบ้านเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนทำจริงๆ


อย่างกรณียิงโต๊ะอิหม่ามที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ขณะเดินลงมาจากมัสยิด คนยิงแต่งตัวเหมือนชุดฝึกของทหาร ยิงเสร็จก็เดินออกมาอย่างใจเย็น ต้องการให้ชาวบ้านเห็นแล้วเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนทำ หรือทิ้งหลักฐานให้เข้าใจว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ก่อเหตุ


            "คำถามของผม ก็คือว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนทำ แล้วทำไมต้องแสดงตัวให้เห็นว่า เป็นคนของรัฐด้วย"


เป็นคำถามจากปาก "นายทหารระดับผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ" ในลักษณะการตอบโต้ข่าวลือสารพัดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


นี่คือ เสียงสะท้อนของทั้งสองฝ่าย ภายใต้สถานการณ์ที่ข่าวสาร กลายเป็นยุทธปัจจัยในการช่วงชิงความได้เปรียบ












 ข่าวประกอบ
 ผลตรวจหัวกระสุนยันทหารไม่ได้ยิงร้านน้ำชาตันหยงลิมอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net