Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 4 ต.ค. 48 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เครือข่ายภาคประชาชนร่วมรณรงค์คัดค้านการขึ้นค่าไฟฟ้าและขาย กฟผ.ในตลาดหุ้น เชิญชวนประชาชนเขียนโปสการ์ดส่งถึงนายกรัฐมนตรี หวังปลุกพลังปกป้องผลประโยชน์แผ่นดิน


 


ตามที่บริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) มีแผนที่จะกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ภายในเดือน พ.ย.นี้ ทำให้เครือข่ายภาคประชาชน อาทิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายศิลปิน เครือข่ายเกษตรทางเลือก เครือข่ายสลัม4 ภาค เป็นต้น กังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยตัวแทนเครือข่ายเห็นว่า การกระจายหุ้นของ กฟผ.จะทำให้จุดประสงค์ของ กฟผ.ในฐานะหน่วยงานบริการเปลี่ยนมาเป็นการดำเนินกิจการที่เน้นผลทางธุรกิจมากขึ้นและผลประโยชน์ทั้งหมดจะตกอยู่กับผู้ถือหุ้นโดยมีประชาชนเป็นผู้เสียประโยชน์ โดยมีแนวโน้มว่าค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น ซึ่งขณะนี้ กฟผ.ยังไม่มีแผนการรองรับที่ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด


 


ทั้งนี้ นางสาวรสนา โตสิตระกูล เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวถึงการเดินรณรงค์คัดค้านฯ ในครั้งนี้ว่า เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนตื่นตัวเพิ่มมากขึ้น และออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการนำการไฟฟ้าไปเข้าตลาดหุ้น เพราะสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ  กฟผ.เป็นกิจการผูกขาด 100% ขณะที่ในประเทศไทยไม่มีองค์กรอื่นที่ให้บริการผลิตไฟฟ้าจึงทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิ์ที่จะไปใช้บริการที่อื่นได้ ดังนั้น กฟผ.จึงไม่สมควรเข้าตลาดหุ้น เพราะจะเป็นการเปิดช่องให้คนจำนวนน้อยเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ 


 


"โดยปกติแล้วรัฐวิสาหกิจจะต้องดูดซับความยากลำบากของประชาชน ซึ่งความจริงแล้วรัฐวิสาหกิจก็สามารถแปรรูปเป็นบริษัทได้ แต่รัฐจะต้องถือหุ้น 100% เพื่อที่จะสามารถกำหนดนโยบายผ่านบริษัทเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนเอาไว้ แต่ถ้าเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อไรก็เท่ากับเปิดช่องให้มีคนเข้ามาเทคโอเวอร์ และรัฐก็จะทำอะไรไม่ได้เพราะอ้างว่าเป็นบริษัท" นางสาวรสนา กล่าว


 


"ตอนนี้ต้องขึ้นกับประชาชนว่าจะลุกขึ้นมาหรือไม่ ซึ่งเราน่าจะหยุดยั้งได้หากเสียงของประชาชนมากพอ แต่ก็พบว่าประชาชนหลายส่วนอึดอัดใจ ส่วนใหญ่คิดว่าจะไปสู้อะไรกับรัฐบาลได้ ซึ่งเป็นการคิดในลักษณะยอมจำนน" นางสาวรสนา แสดงความเห็นพร้อมบอกว่าจะรวบรวมโปสการ์ดที่แจกจ่ายแก่ประชาชนเพื่อส่งถึงนายกฯ ให้มากที่สุดด้วย


 


นางสาวรสนา กล่าวทิ้งท้ายว่า การรณรงค์จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีเครือข่ายในจังหวัดต่างๆ ด้วย ซึ่งตนคาดหวังผลสูงสุดให้ประชาชนได้ตื่นตัว ไม่คิดว่าจะแพ้หรือชนะ แต่คิดว่าต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องให้ประชาชนได้เห็น ทั้งนี้ หากประชาชนไม่เข้าร่วมคัดค้านหยุดยั้ง กฟผ.ก็ถือเป็นกรรมร่วมกันของสังคม


 


ด้านนางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ตอนนี้ทั้ง 3 การไฟฟ้ายังเกลี่ยรายได้ไม่เสร็จ ซึ่งเป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของการไฟฟ้า แต่สำหรับการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนยังไม่เคยพูดถึง นั่นคือยังไม่ตั้งองค์กรกำกับกิจการไฟฟ้า ส่วนโครงสร้างค่าไฟฟ้าก็ยังไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนมั่นใจในหลักประกันว่าค่าไฟจะไม่แพงกว่าที่เป็นอยู่ จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากสำหรับการที่ กฟผ.จะเข้าสู่ตลาดหุ้นในตอนนี้


 


"สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งยังไม่มีการพูดถึงเลย ทั้งการพยากรณ์ไฟฟ้าก็ยังเป็นประเด็นใหญ่ที่จะทำให้ กฟผ.ผลักดันแผนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นขณะที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่ผลิตส่วนเกินนี้" นางสาวสายรุ้ง กล่าว


 


ทั้งนี้ ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มองว่า การที่ กฟผ.ต้องเร่งเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อใช้ กฟผ.เป็นแหล่งหากินหรือผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจการเมือง เพราะการที่ตลาดหุ้นได้สินค้าใหม่ลงไปนั้นสามารถหวังกำไรได้แน่นอน ทั้งยังไม่มีความเสี่ยงแต่อย่างใดเนื่องจากมีผู้บริโภคเป็นผู้รับประกัน


 


ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า "วันที่ 6 ต.ค.นี้ เครือข่ายภาคประชาชนจะยื่นหนังสือแก่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา เพื่อให้ตรวจสอบกรณีการขึ้นค่าไฟฟ้าและแปรรูป กฟผ.ในประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งอาจจะพบคำตอบว่า ทำไม กฟผ.จึงต้องรีบเข้าตลาดหุ้นขณะที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่"


 


หลังจากเครือข่ายต่างๆ ได้เดินรณรงค์คัดค้านฯ และแจกเอกสารพร้อมโปสการ์ดแก่ประชาชนบริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้ว ประชาไทได้สอบถามความคิดเห็นของพ่อค้าแม่ขายบริเวณดังกล่าว โดยนางฉัจฉลัดดา เขียวหลี เชื่อว่าค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้นแน่นอน แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ และคิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีเวลามาสนใจหรือรวมตัวเรียกร้อง เช่นเดียวกับนายสกล คำทิพย์ พนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ที่กล่าวว่า "ตอนนี้ไฟฟ้าเป็นของรัฐบาลค่าไฟก็แพงอยู่แล้ว ถ้า กฟผ.เป็นของเอกชนการบริการก็น่าจะดีขึ้น แต่ค่าไฟก็อาจจะแพงขึ้นอีก ก็ต้องคอยดูกันต่อไปจะเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ ผมเห็นด้วยที่มีการรณรงค์ แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่กันเฉยๆ ไม่ได้ตื่นตัวกันซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา"


 


ขณะที่ นางบังอร หรั่งช้าง แม่ค้ารถเข็น กล่าวในเรื่องนี้ว่า ไฟฟ้าเป็นของหลวงดีแล้ว แต่ถ้าเป็นของเอกชน ค่าไฟก็จะแพงขึ้น น้ำประปาก็อยากให้เป็นของหลวง ถ้าเป็นของเอกชนหมดก็ตายกันพอดี  ตอนนี้ที่บ้านค่าไฟเกือบ 600บาท ยิ่งเป็นของเอกชนก็เชื่อว่าค่าไฟก็จะขึ้นตลอด แต่ถ้ายังเป็นของรัฐบางทีค่าไฟก็ลดบางทีก็เพิ่ม ส่วนการเดินรณรงค์ถ้าไม่ช่วยให้ค่าไฟลดก็ไม่มีประโยชน์อะไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net