Skip to main content
sharethis


พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีสังหารพระสุพจน์ สุวโจ พระกลุ่มเสขิยธรรม เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมเมตตาธรรมรักษ์ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ว่า ทางดีเอสไออยู่ระหว่างการสอบปากคำพยานบุคคลในพื้นที่ เพื่อหาเบาะแสคดีสะเทือนขวัญดังกล่าว


 


ทั้งนี้ดีเอสไอได้รับโอนคดีดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. และเริ่มสืบสวนในเชิงลึก เนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่ตอนนี้คนไม่กล้าให้ข้อมูล ซึ่งรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ความเห็นสอดคล้องในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากปรากฏว่า มีพยานบางคนหนีการสอบสวนข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน  


 


กองปราบถอนชุดคุ้มครอง


"จริงๆ แล้ว เรื่องคดีพระสุพจน์  ยังไม่จบลงง่ายๆ  เพราะขณะนี้ทางดีเอสไอ ก็กำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนกันอยู่  โดยมีแนวโน้มของรูปคดีว่ามีความซับซ้อนและเริ่มมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  แต่ทำไมจู่ๆ ทางกองปราบกลับเรียกเจ้าหน้าที่กลับ  ซึ่งถือว่า สวนทางการทำงานของดีเอสไอ  จึงทำให้สงสัยว่า  ต้องมีอะไรบางอย่างที่มีผิดสังเกตอย่างยิ่ง" พระกิตติศักดิ์  กิตติโสภโณ ประธานกลุ่มเสขิยธรรม กล่าวกับ"ประชาไท"


 


ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุฆาตกรรมพระสุพจน์ สุวโจ พระกลุ่มเสขิยธรรม เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมเมตตาธรรมรักษ์ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ร้องขอทางกองปราบให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 4  นาย  คุ้มครองพระกิตติศักดิ์  กิตติโสภโณ ประธานกลุ่มเสขิยธรรม โดยเฉพาะระหว่างจำพรรษาอยู่ในพื้นที่สำนักปฏิบัติธรรมเมตตาธรรม เนื่องจากเห็นว่า คดีดังกล่าวมีความซับซ้อนไม่ชอบมาพากล และอาจเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ทั้งเป้าหมายอาจไม่ใช่พระสุพจน์องค์เดียว


 


อย่างไรก็ดี หลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้โอนคดีพระสุพจน์ มาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เป็นผู้ทำคดี โดยดีเอสไอได้ตั้งประเด็นการสอบสวนเหตุจูงใจให้ฆาตกรรมพระสุพจน์ในเรื่องอื่นๆ แทนที่จะเป็นการทะเลาะวิวาทเพราะการเข้าไปตัดไม้ประเด็นเดียว


 


ทั้งนี้ล่าสุดการสอบสวนมีความคืบหน้า และมีการพบหลักฐานโยงใยไปถึงกลุ่มผู้มีอิทธิพลและขุมข่ายการค้ายา( อ่าน แกะรอยคดีพระสุพจน์ โยงยาเสพติด-ฟอกเงิน-อิทธิพลท้องถิ่น?)


 


พระกิตติศักดิ์  กล่าวว่า ได้ติดต่อไปยัง พล.ต.ต.วินัย  ทองสอง ผู้บังคับการกองปราบปราม  เพื่อสอบ ถามถึงสาเหตุที่มีคำสั่งดังกล่าว  ซึ่งทางพล.ต.ต.วินัย แจ้งว่า  เนื่องจากทางกองปราบเห็นว่า ไม่มีเหตุการณ์ที่ส่อให้เห็นว่ามีอันตราย


 


"อาตมาก็ได้บอกไปว่า ที่ไม่มีเหตุการณ์ก็อาจเป็นเพราะว่ามีชุดคุ้มครองของกองปราบอยู่ด้วย  แต่หากไม่มีตำรวจชุดคุ้มครองก็อาจจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นได้  อีกทั้งทางอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้ร้องขอ  แต่ทำไมถึงมีคำสั่งนี้ออกมาเช่นนี้"พระกิตติศักดิ์  กล่าวและว่า


 


"จริงๆ แล้ว  ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  หรือรัฐมนตรีต่างก็ออกมาพูดกันว่า หากผู้นำชุมชน หรือนักเคลื่อนไหวที่ไม่มีความปลอดภัยในชีวิต  ก็สามารถร้องขอชุดคุ้มครองกันได้  แต่ในความเป็นจริง ระดับผู้ปฏิบัติกลับพยายามบ่ายเบี่ยงไม่รับผิดชอบ  ซึ่งทำให้รู้สึกว่ามีอะไรเคลือบแฝงหรือไม่  และอาตมาไม่แน่ใจว่า  คดีนี้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางกลุ่มบางนายเข้าไปเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมพระสุพจน์หรือไม่"


 


อย่างไรก็ตาม  เมื่อผู้สื่อข่าว สอบถามไปยังนายชาติชาย  โทสินธิติ  หัวหน้าชุดสอบสวนคดีพระสุพจน์  กรมสอบสวนคดีพิเศษ  ได้รับการชี้แจงว่า  ทางกองปราบปราม มีคำสั่งให้ถอนเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดคุ้ม


ครองออกจากพื้นที่ อ.ฝาง  ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมาจริง  แต่ได้อนุโลมให้ชุดคุ้มครองปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนถึงวันที่ 18 ต.ค.นี้ หรือถึงวันออกพรรษา  แล้วหลังจากนั้น  ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองเข้าไปรับช่วงต่อ ซึ่งจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองต่อไป  เพราะว่าเรื่องคดียังไม่เสร็จสิ้น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net